ความดีงามที่ยังไม่ปรากฏ/เหยี่ยวถลาลม

เหยี่ยวถลาลม

 

ความดีงามที่ยังไม่ปรากฏ

 

จนถึงวันนี้ 1,386,215 เสียงของคน กทม.ที่เลือก “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” เป็นผู้ว่าฯ กทม. ยังคงส่งผลสะเทือนหรือเป็น “อาฟเตอร์ช็อก”

แม้แต่คนที่ไม่เคยคิดตั้งข้อสงสัยก็บังเกิดความสงสัย ทำไมน้ำในคลองแสนแสบดำและเหม็น ทำไมรถติด ทำไมฝุ่นละอองในเมืองกรุงหนาทำลายสุขภาพ ทำไมถนนของเมืองหลวงถึงเหมือนพื้นผิวดาวอังคาร เต็มไปด้วยหลุมบ่อมีน้ำท่วมขัง ทำไมสายอะไรต่อมิอะไรยึดโยงพันพัวกันยุ่งเหยิงบนเสาไฟฟ้าที่เอียงกระเท่เร่ ทำไม ทำไม ทำไม และทำไม ทำไม ฯลฯ

พร้อมตั้งคำถามกับ “ผู้ว่าฯ กทม.” คนใหม่หมาดๆ ว่า เมื่อไหร่ เมื่อไหร่ และเมื่อไหร่-ปัญหาพวกนั้นจะหมดไป

 

การตั้งข้อสงสัย ตั้งคำถาม ตรวจสอบ ถ่วงดุล เป็นเรื่องที่ดีงามเสมอ!

ที่ผู้แทนราษฎรตั้งข้อสงสัยและอภิปรายเกี่ยวกับการตั้งงบประมาณ 7.57 ล้านบาทของกรมสรรพาวุธ กองทัพบกซึ่งทำสัญญาจ้างให้ “สวทช.” ตรวจเครื่องตรวจสารเสพติดและวัตถุระเบิด “จีที 200” นั้นก็ถือเป็นเรื่องดีงามเพราะประเทศชาติได้ประโยชน์

ยิ่งต่อมา “สำนักงานอัยการสูงสุด” ถูกอ้างอิงพาดพิงจนถึงกับต้องออกมาแถลงให้ได้ยินกันชัดๆ ว่า อัยการว่าความชนะคดี เอาเงินคืนให้กองทัพบกกว่า 683 ล้านบาท “คดีสิ้นสุดแล้ว” ไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเสียเงินจ้างให้ “สวทช.” ตรวจพิสูจน์เครื่องจีที 200 อีกแล้ว ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีงาม เพราะเป็นเหตุให้ “กองทัพบก” ตัดสินใจถอย และ “คืนงบฯ” 7.57 ล้านบาทให้กับประเทศ

ถึงแม้ท่วงทำนอง พล.อ.สันติพงศ์ ธรรมปิยะ เสนาธิการ ทบ.จะยังคง “ไว้ท่า” ด้วยการให้สัมภาษณ์ว่า “กองทัพบกตั้งงบฯ เอาไว้ก่อนมีคำพิพากษา” ก็อย่าได้ถือสาหาความ

“ข้อเท็จจริง” ย่อมเป็นไปตามที่ “ประยุทธ์ เพชรคุณ” รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแถลงเอาไว้ นั่นคือ

1 กันยายน 2564 ศาลมีคำพิพากษาว่า เครื่องจีที 200 ไม่มีคุณลักษณะเฉพาะตามเอกสารแสดงคุณสมบัติของเครื่อง จึงให้บริษัท เอวิเอ แซทคอมฯ ชำระเงิน 683,441,561 บาทให้แก่กองทัพบก

8 กันยายน 2564 อัยการแจ้งผลให้กองทัพบกทราบ

29 กันยายน 2564 กรมสรรพาวุธ กองทัพบก ทำสัญญาว่าจ้างให้ สวทช.ตรวจสอบเครื่องจีที 200 ราคาเครื่องละ 10,000 บาท

การตรวจสอบและอภิปรายเกี่ยวกับการใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชน จึงนับเป็นเรื่องที่ดีงาม

 

“ชัชชาติ” มาจากการเลือกตั้ง เคลื่อนไหวทำอะไรย่อมตรวจสอบได้ การประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ก่อนนี้มีกี่วาระ มีเรื่องอะไร ไม่เคยถูกเปิดเผย แต่ในวันนี้เปิดให้ “รับรู้ได้” ต้องนับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีงาม

การฟื้นกิจกรรม “ดนตรีในสวน” ของผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาจากคนธรรมดาไร้รอยต่อกับผู้คนทุกชั้นทุกช่วงวัยนั้นเป็นสิ่งดีงาม

หากแต่เมื่อ “กองทัพบก” กระชับพื้นที่จัด “ดนตรีในสวน” บ้างก็ย่อมบังเกิดความรู้สึกสงสัย

พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ. มอบหมายสั่งการให้กรมกิจการพลเรือน ทบ. กับกรมดุริยางค์ ทบ. นำวงดุริยางค์ไปบรรเลงขับกล่อม จัด “ดนตรีในสวน” ที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่งใน กทม. คือ สวนป่าเบญจกิตติ เขตคลองเตย กับสวนหลวง ร.9 เขตประเวศ ทุกวันศุกร์, เสาร์ และอาทิตย์ ตั้งแต่ 5 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม

ทำไมเพิ่งจัด!

พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และอดีตรองเลขาธิการ สมช.จึงได้โพสต์ด้วยการจั่วหัวว่า “เรื่องประหลาดในการคิดและวิสัยทัศน์เกี่ยวกับดนตรีในสวนและการเมืองใน กทม.”

พร้อมให้คำอธิบายว่า สินค้าที่ตั้งราคาเท่ากัน คนจะเลือกซื้อจาก 4 เรื่องที่สำคัญคือ 1.คุณภาพ 2.ถูกจริต 3.การนำเสนอ และ 4.ความแตกต่าง ฉีกแนว

คสช.แต่งตั้ง “อัศวิน ขวัญเมือง” นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.นานถึง 5 ปีกับ 188 วัน ไม่น่าปล่อยให้โอกาสสร้างความสุขแก่ประชาชนล่วงผ่านไปอย่างสูญเปล่า

 

ในเวลาค่ำของวันที่ 11 มิถุนายน 2565 ขณะกองทัพบกกระชับพื้นที่จัดดนตรีในสวน “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” ยังอยู่ที่ซีแอตเติล สหรัฐอเมริกา ไลฟ์ชวนเที่ยวงาน “นั่งเล่น บนลานหญ้า” ของมิวเซียมสยาม ซึ่ง “วงนั่งเล่น” ร่วมกับธีร์ ไชยเดช และศิลปินรับเชิญ ปาน ธนพร เจี๊ยบ วรรธนา มาบรรเลงและขับกล่อม

ผู้คนเข้าร่วมเนืองแน่นเต็มลานจนล้นไปถึงราวระเบียงอาคารมิวเซียมสยาม

“วงนั่งเล่น” ถึงกับกล่าวว่า “ตั้งวงมา 10 กว่าปี นี่เป็นครั้งแรกที่มีผู้ชมมากขนาดนี้”

ต่างกันชนิดชวนให้ใจหายกับบรรยากาศที่เวทีดนตรีจากกองทัพบก!

อย่าได้เผลอใจปล่อยให้อารมณ์ย้อนยุคไปเหมือนยุคที่ใช้การโฆษณาชวนเชื่อช่วงชิงมวลชนกับพรรคคอมมิวนิสต์

คนที่ฝักใฝ่เสรีภาพไปกันไม่ได้กับคอมมิวนิสต์

ไม่มีใครทำลายกองทัพ ถ้าจะมีก็แต่ “คนทะเยอะทะยาน” ที่ไม่นิยมประชาธิปไตยจำนวนหยิบมือที่ทำลายด้วยการใช้กองทัพเป็นเครื่องมือในการช่วงชิงและรักษาอำนาจของตัวเองและพวกพ้อง

ดังมีตัวอย่างให้เห็น เช่น วิลเลียม คาลิแมน อดีต ผบ.ทบ.ซึ่งถูกศาลโบลิเวียตัดสินจำคุกพร้อมอดีตประธานาธิบดีหญิง “ยานิเน อันเญซ” คนละ 10 ปี ฐานร่วมกันปลุกระดม สมคบคิด และก่อรัฐประหาร ล้มรัฐบาล “อีโว โมราเลส” ที่มาจากการเลือกตั้ง

วิกฤตการเมืองไม่ใช่ “ข้ออ้าง” ที่ทหารจะใช้ปืนเข้าช่วงชิงอำนาจบริหารประเทศ

ถึงแม้ “ยานิเน อันเญซ” จะยึดครองอำนาจได้ระยะหนึ่ง แต่ระบบกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของโบลิเวียก็ยังคงเดินหน้า เมื่อการเลือกตั้งเดือนตุลาคม 2563 จบลง ประชาชนยังคงเทเสียงให้พรรคของ “อีโว โมราเลส” อย่างถล่มทะลาย ในเดือนมีนาคม 2564 “ยานิเน” กับพวกก็ถูกจับกุมดำเนินคดี

การเปลี่ยนถ่ายอำนาจในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นไปอย่าง “สันติ”

การใช้อาวุธชิงทรัพย์แย่งอำนาจเป็นความผิด เป็นความชั่ว การก่อรัฐประหารไม่ใช่วิถีทางของรัฐธรรมนูญ ศาลโบลิเวียจึงพิพากษาให้จำคุกอดีตประธานาธิบดีกับอดีต ผบ.ทบ.

คนทำผิดไม่มีโอกาสลอยหน้าลอยตาออกมาเที่ยวเทศนาผู้อื่นให้เคารพกฎหมาย

เรื่องดีงามอย่างนี้เมื่อไหร่จะมีให้เห็นที่ประเทศไทย!?!!