สงครามยูเครน เข้าสู่ ‘ยุทธการยืดเยื้อ’/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

สงครามยูเครน

เข้าสู่ ‘ยุทธการยืดเยื้อ’

สงครามยูเครนเข้าสู่เดือนที่ 4 ทำให้เริ่มมีการใช้คำว่า “สงครามยืดเยื้อ” หรือ War of attrition กันอย่างกว้างขวาง

เพราะเริ่มมีความหวั่นกลัวกันว่าการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ได้รับการสนับสนุนจากตะวันตกนั้นอาจจะลากยาวไปอีกหลายเดือน

หรืออาจะเป็นปี

เข้าข่าย “ยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อ” หรือ Attrition warfare ซึ่งเคยมีตัวอย่างในประวัติศาสตร์มาแล้ว

อันว่า “ยุทธศาสตร์สงครามยืดเยื้อ” นั้นย่อมแปลได้ว่าคือความพยายามที่จะบดขยี้ความสามารถของคู่ต่อสู้ในการทำสงครามอย่างต่อเนื่อง

เป้าหมายถึงทำให้อีกฝ่ายหนึ่ง “สึกกร่อน” ไปก่อนฝ่ายตน

วิธีการที่จะเอาชนะด้วยยุทธวิธีเช่นนี้คือการมุ่งทำลายทรัพยากรทางทหารของอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่หยุดยั้ง

ไม่ว่าจะด้วยวิธีรบแบบกองโจรหรือสงครามประชาชน

หรือยุทธการ “เผาทุกอย่างที่ขวางหน้า” (Scorched-Earth tactics)

รวมไปถึงการสู้รบทุกประเภท

ยกเว้นยังไม่ถึงจุดเด็ดขาด…ยังไม่อาจ “เผด็จศึก” ได้

นักยุทธศาสตร์ทางทหารบางคนเรียกมันว่า “ยุทธการสร้างความอ่อนล้าของฝ่ายปรปักษ์”

ฝ่ายที่มองว่าตนเองเสียเปรียบอย่างเห็นได้ชัดอาจจงใจทำสงครามยืดเยื้อเพื่อขจัดข้อได้เปรียบของคู่ต่อสู้

แม้ว่า “ซุนหวู่” เคยกล่าวไว้ว่าไม่มีประเทศใดได้ประโยชน์จากการทำสงครามที่ยืดเยื้อ แต่รัสเซียในปี ค.ศ.1812 ก็ใช้วิถีแห่ง War of attrition เอาชนะสงครามกับนโปเลียนมาแล้ว

สงครามในยูเครนเข้าสู่เดือนที่ 4 แล้ว

ไม่มีฝ่ายไหนสามารถประกาศชัยชนะได้

กองกำลังรัสเซียคิดว่าจะควบคุมส่วนใหญ่ของเมือง Severodonetsk ทางตะวันออก

เมืองนี้อยู่บริเวณชายขอบด้านตะวันออกของแนวรบยูเครน

ประธานาธิบดีเซเลนสกีบอกว่าการการปะทะกันในเมืองนี้เป็น “ศึกชี้เป็นชี้ตาย” ของแนวรบด้านตะวันออก

การต่อต้านของยูเครนต่อทหารรัสเซียถูกจำกัดอยู่ในเขตอุตสาหกรรมทางตะวันตกสุดของเมือง

มีการประเมินกันว่า “กำไรสุทธิ” ของรัสเซียในยูเครนตะวันออกระหว่างกลางเดือนเมษายนถึงปลายเดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเพียง 450 ตารางกิโลเมตร

ทั้งนี้ ตามรายงานของ Rochan Consulting บริษัทที่ติดตามสงคราม ทั้งรัสเซียและยูเครนไม่อยู่ในฐานะที่จะ “เผด็จศึก” ได้อย่างเด็ดขาด

ต่างหวังที่จะบดขยี้อีกฝ่ายในสงครามยืดเยื้อนี่แหละ

ฝั่งข่าวกรองตะวันตกอ้างว่ารัสเซียต้องเผชิญกับความสูญเสียหนักมาก

โดยอ้างว่าพอถึงเดือนพฤษภาคม กองกำลังรัสเซียได้หดหายเหลือประมาณ 58% ของกำลังก่อนสงคราม

ข่าวกรองตะวันตกอ้างด้วยว่ารัสเซียได้รับความเสียหายด้านอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง

เช่น สูญเสียรถถังไปอย่างน้อย 761 คัน หรือเท่ากับหนึ่งในสามนับตั้งแต่เริ่มเปิดสมรภูมิ Donbas ทางตะวันออกเมื่อวันที่ 18 เมษายนปีนี้

นักยุทธศาสตร์ทางทหารบอกว่ารัสเซียกำลังส่งยุทโธปกรณ์เก่าเข้าสู่สนามรบ

มีการพบซากรถถัง t-62 ซึ่งเริ่มเข้าประจำการตั้งแต่ปี 1961 และมีการปรับปรุงยกเครื่องในช่วงทศวรรษ 1980 ที่แนวรบ Donbas ในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้

 

แต่ทหารยูเครนก็บาดเจ็บและล้มตายไม่น้อย

ประธานาธิบดียูเครนยอมรับว่าทหารยูเครนเสียชีวิตวันละ 60 ถึง 100 นาย และได้รับบาดเจ็บอีก 500 นายต่อวัน

อัตราการสูญเสียเทียบได้กับการสู้รบในสงครามโลกครั้งที่สองกันเลยทีเดียว

มีคำถามว่าฝ่ายไหนจะ “อึด” กว่ากันหากสงครามถูกลากยาวไปอีกหลายเดือน…หรือนานกว่านั้น?

คำตอบก็คืออยู่ที่ฝ่ายไหนสามารถป้อนกำลังคน อุปกรณ์และกระสุนได้อย่างต่อเนื่อง

และฝ่ายไหนจะสามารถรักษาขวัญและกำลังใจของนักรบของตนได้ดีกว่ากัน

ว่ากันว่าจนถึงขณะนี้ วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังปฏิเสธที่จะระดมกำลังพลสำรองและเกณฑ์ทหารทั่วประเทศ

แต่ก็มีหลักฐานว่ากระทรวงกลาโหมรัสเซียกำลังพยายามชักชวนผู้มีประสบการณ์ทางการทหารให้กลับมาด้วยคำมั่นสัญญาว่าจะจ่ายเงินตอบแทนก้อนโต…ประมาณ 5,000 ดอลลาร์ต่อเดือน-ซึ่งเท่ากับ 6 ถึง 8 เท่าของเงินเดือนผู้หมวดโดยเฉลี่ยของกองทัพรัสเซียปกติ

 

ฝั่งยูเครนมีปัญหาอีกแบบ มีคนมาสมัครที่มีแรงจูงใจพอสมควร แต่ขาดครูฝึกที่ประสบการณ์ที่จะส่งให้ออกไปปฏิบัติการในสนามรบได้ทันกับความต้องการ

หนึ่งในคนที่ติดตามเรื่องนี้คือ Konrad Muzyka ผู้ก่อตั้ง Rochan Consulting เขาบอกว่าจำนวนผู้สมัครเข้าร่วมกองกำลังติดอาวุธของฝั่งยูเครนสูงมาก

มีรายชื่อรอคิวอยู่นานกว่าหนึ่งเดือนก่อนจะได้รับการมอบหมายให้เข้าทำการรบ

สะท้อนว่าในอย่างนั้นในระยะสั้น เป็นเรื่องยากมากที่จะสร้างกองพลน้อยใหม่ 6 ชุดเพื่อให้มีนักรบรุ่นใหม่ 25,000 นายเข้าสู่แนวรบสู้กับรัสเซีย

ตัวเลขนี้มาจากเจ้าหน้าที่ยูเครนที่ให้สัมภาษณ์ Financial Times เป็นตัวเลขของหน่วยรบที่ยูเครนจำเป็นต้องสร้างขึ้นมาอย่างเร่งด่วนเพื่อเปิดเกมตอบโต้ครั้งใหญ่ในปฏิบัติการยึดครองดินแดนทางตะวันออกและใต้ที่ฝ่ายรัสเซียรุกอย่างหนักในขณะนี้

สำหรับอาวุธยุทโธปกรณ์นั้นได้รับมาอย่างเร่งด่วนจากอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในยุโรป

ประเทศต่างๆ เหล่านี้ส่งปืนใหญ่ กระสุน และอาวุธอื่นๆ ไปยังยูเครนในช่วงเดือนที่ผ่านมา

สหรัฐ อังกฤษ และเยอรมนี ยังให้คำมั่นสัญญาด้วยว่าเครื่องยิงจรวดจะสามารถโจมตีได้ไกลกว่าระบบปืนใหญ่ถึงสามเท่า

แต่อาวุธประสิทธิภาพสูงเหล่านี้อาจจะมาถึงไม่ไวพอที่จะหยุดยั้งการพิชิต Severodonetsk ของรัสเซียและเมืองใกล้เคียง เช่น Lysychansk

ซึ่งเป็นเมืองที่ประธานาธิบดีเซเลนสกีไปเยี่ยมด้วยตนเองเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจทหารของตน

เพราะกระทรวงกลาโหมสหรัฐบอกว่าจะต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการฝึกกองกำลังยูเครนในการใช้เครื่องยิงจรวดรุ่นใหม่ที่มีรัศมีการยิงไกลขึ้นและสามารถเคลื่อนตัวได้คล่องแคล่วกว่าเดิม

แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อไปหลายเดือนหรือหลายปีตามที่เจ้าหน้าที่ของอเมริกาและยุโรปคาดการณ์ไว้ อาวุธจากข้างนอกเหล่านี้จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง

เดิมทหารยูเครนใช้อาวุธยุทโธปกรณ์มาตรฐานโซเวียตบางประเภทหรือที่ใกล้เคียงกัน

แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้บอกว่าคลังกระสุนในอดีตรัฐในสนธิสัญญาวอร์ซอ เช่น โปแลนด์ก็กำลังจะหมดสภาพแล้วเช่นกัน

หากกองทัพของยูเครนสามารถเปลี่ยนไปใช้อาวุธมาตรฐานของนาโตได้ ก็จะช่วยให้ประเทศตะวันตกรับประกันการที่จะหนุนส่งให้ทหารยูเครนตั้งรับทหารรัสเซียได้ดีขึ้น

 

ผู้เชี่ยวชาญในภาคสนามคนหนึ่งบอกว่า “แม้ว่าดุลยภาพทางการทหารใน Donbas ดูเหมือนจะเอื้อต่อรัสเซีย แต่แนวโน้มโดยรวมของความสมดุลทางการทหารยังคงสนับสนุนยูเครน

แต่นั่นมีความหมายซ่อนเร้นว่าทหารยูเครนจะยังสู้สงครามยืดเยื้อได้หากตะวันตกไม่เจอกับอาการ “ล้าสงคราม” (war fatigue) เสียก่อน

คนใกล้ชิดประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐเชื่อว่าชุดความช่วยเหลือมูลค่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์ที่ประธานาธิบดีลงนามเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม จะช่วยให้ “ความช่วยเหลือทางทหารระดับสูง” ดำเนินต่อไปได้จนถึงเกือบสิ้นปี

แต่ในทางปฏิบัติ ทั้งสองฝ่ายอาจจะต้องการ “หยุดยิงชั่วคราว” เพื่อพักรบและตั้งหลักใหม่

แต่ดูเหมือนโอกาสที่ทหารทั้งสองฝ่ายจะมีจังหวะหยุดหายใจเพื่อชาร์จแบตเตอรี่มีน้อยมาก

เพราะการสู้รบในหลายๆ จุดก็ยังดำเนินต่ออย่างร้อนแรง

 

นายปูตินมีความเห็นในทางถากถางตะวันตกว่าคงไม่มีเรี่ยวแรงอึดได้นานนัก

เพราะเขาเชื่อว่ายุโรปจะแตกกันเอง และจะมีเรื่องระหองระแหงกับอเมริกาด้วยในแง่ยุทธศาสตร์

ยิ่งต้องเจอกับราคาพลังงานที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อ และการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจในวงกว้างก็อาจจะทำให้โลกตะวันตกอ่อนเปลี้ยเพลียแรงเสียก่อน

แต่นายกรัฐมนตรีของเอสโตเนีย Kaja Kallas ก็เตือนว่าโลกตะวันตกประมาทไม่ได้เป็นอันขาด

เขาอ้างกรณีที่รัสเซียบุกเข้าจอร์เจียในปี 2008 รวมถึงข้อตกลงมินสค์ที่เจรจาโดยฝรั่งเศสและเยอรมนีหลังจากการรุกรานยูเครนครั้งแรกของรัสเซียในปี 2014 ที่จบไม่สวยสำหรับนาโต

“เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่ยาวนาน” เขาย้ำ

แต่ปัญหาก็คือคำว่า “ยาวนาน” ในทีนี้ไม่มีใครบอกได้ว่ามันหมายถึงเดือน, ไตรมาส หรือปีนั่นเอง