สงวน โชติสุขรัตน์ : หนึ่งศตวรรษนักประวัติศาสตร์ล้านนา กับงานสัมมนาในวาระชาตกาล / ปริศนาโบราณคดี : เพ็ญสุภา สุขคตะ

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ปริศนาโบราณคดี

เพ็ญสุภา สุขคตะ

 

สงวน โชติสุขรัตน์

: หนึ่งศตวรรษนักประวัติศาสตร์ล้านนา

กับงานสัมมนาในวาระชาตกาล

 

ตามที่ดิฉันได้เคยเขียนบทความเรื่อง “100 ปีชาตกาลนักประวัติศาสตร์ล้านนา อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ไว้สองตอนเมื่อหลายเดือนที่ผ่านมานี้ โดยทิ้งท้ายไว้ว่า หากจะมีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปีชาตกาลอาจารย์สงวนเมื่อไหร่ ดิฉันจะประชาสัมพันธ์ให้ทุกท่านรับทราบ

และแล้ววันนั้นก็มาถึง เมื่อนักวิชาการด้านล้านนาศึกษาหลากหลายสถาบัน ทั้งรุ่นเก่า รุ่นกลาง รุ่นใหม่ ต่างพร้อมใจกันเห็นความสำคัญว่า “อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ควรได้รับการเชิดชูว่าเป็นผู้มีคุณูปการต่อแวดวงประวัติศาสตร์ล้านนาอย่างแท้จริง

จึงสมควรมีการจัดงานดังกล่าว ทำให้เกิดกิจกรรมสำคัญภายใต้ชื่องาน “100 ปีชาตกาล อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” ในวันอังคารที่ 21 มิถุนายน 2565 อันเป็นวันครบรอบวันเกิดของท่านพ่อดี (ชาตะวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ.2464) ณ ห้องประชุม 1 “สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่” ผู้เป็นเจ้าภาพหลัก

รายละเอียดกิจกรรมมีดังนี้

 

เวลา 08.30-08.50 น. ลงทะเบียนรับเอกสารแจก (หนังสือประวัติพระมหาหมื่น ญาณวุฑฺโฒ ปราชญ์คนสำคัญวัดเจดีย์หลวง หนึ่งในบรมครูของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์) และสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อโหลดเอกสารประกอบการเสวนา

เวลา 08.50-09.00 น. เปิดการเสวนาโดย รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์ ผอ.สถาบันวิจัยสังคม

เวลา 09.00-09.40 น. ปาฐกถานำ “ผลงานของอาจารย์สงวน โชตสุขรัตน์” โดยศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์

เวลา 09.40-10.45 น. “ประวัติและผลงานของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” โดยคุณพันธุ์นพิต โชติสุขรัตน์ ธิดาของอาจารย์สงวน พร้อมด้วย อ.ชยันต์ หิรัญพันธุ์ หัวหน้าหอจดหมายเหตุและประวัติศาสตร์ สภาคริสตจักรในประเทศไทย มหาวิทยาลัยพายัพ ท่านนี้จะพูดถึงผลงานด้านเอกสารจดหมายเหตุของอาจารย์สงวน โชติรัตน์ ที่ได้รับการจัดเก็บในมหาวิทยาลัยพายัพ หัวข้อนี้นำเสวนาโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

เวลา 10.45-12.00 น. “ผลงานของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ : คุณูปการต่อล้านนาคดี” เวทีนี้ระดมความเห็นจากผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนมาก ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ประคอง นิมมานเหมินท์, ศาสตราจารย์อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว (สองท่านแรกนี้เสวนาผ่านระบบซูม) และศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ผู้ดำเนินรายการ อาจารย์แสวง มาละแซม

เวลา 12.00-13.00 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

เวลา 13.00-15.00 น. “ผลงานปราชญ์ล้านนาในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา” วิทยากร อาจารย์เกริก อัครชิโนเรศ, ดร.ดิเรก อินจันทร์, อาจารย์ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี ดำเนินรายการโดย ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ

เวลา 15.00-16.30 น. “คุณค่าทางวิชาการงานอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ในสายตานักวิชาการรุ่นใหม่” วิทยากร, นายเมธี ใจศรี, นายเฉลิมวุฒิ ต๊ะคำมี ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย ดร.สุวิภา จำปาวัลย์

เวลา 16.45 น. กล่าวปิดการประชุมสัมมนาโดย รศ.ดร.วรลัญจก์ บุณยสุรัตน์

 

จากนั้นเป็นพิธีมอบหนังสือผลงานประพันธ์ของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ และหนังสือที่เขียนโดยบุคคลอื่น แต่อาจารย์สงวนเคยใช้ค้นคว้า เคยอยู่ในครอบครองของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ มาก่อน ทว่า ต่อมาหลังจากที่ท่านมรณกรรมได้ 2 ปี นักวิชาการของสถาบันวิจัยสังคม กอปรด้วย ดร.เกษม บุรกสิกร ดร.ฮันส์ เพนธ์ ดร.สมหมาย เปรมจิตต์ ฯลฯ ได้เดินทางไปขอซื้อจากนางอัมพร ภรรยาอาจารย์สงวนที่บ้านพระนอนขอนตาล เพื่อนำมาใช้ศึกษาค้นคว้าและเก็บรักษาไว้ที่ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นระยะเวลานานกว่า 36 ปี

ในการนี้สถาบันวิจัยสังคมจะทำพิธีส่งมอบเอกสาร Collection ทั้งหมดจำนวนเกือบ 100 เล่มคืนให้แก่ทายาท เพื่อนำไปจัดเก็บในห้องสมุดบ้านปราชญ์ล้านนา “สงวน โชติสุขรัตน์”

หมายเหตุ ในงานมีนิทรรศการแสดงผลงานหนังสือ บทความ ลายมือเขียนของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ พร้อมมีรูปเหมือนเท่าคนจริงเป็น Standy ให้ถ่ายรูปคู่ได้ รวมทั้งมีมุมออกร้านหนังสือของสำนักพิมพ์ศรีปัญญา (ส่วนใหญ่เป็นผลงานของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์) ในราคาย่อมเยาอีกด้วย

ผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมสามารถติดตามข่าวการเปิดรับลงทะเบียนได้จากเพจประชาสัมพันธ์ของสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยรับจำนวนจำกัดเพียง 60 คนเท่านั้น

หรือหากใครไม่สะดวกเข้าเพจลงทะเบียนของสถาบันวิจัยสังคม สามารถเคาะกล่องข้อความของดิฉันในเฟซบุ๊กได้ จะช่วยรวบรวมรายชื่อส่งให้ผู้จัดค่ะ

Standy ที่จัดทำขึ้นสำหรับถ่ายรูปคู่กับอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ในงานทั้งสองวัน 18 และ 21 มิถุนายน

พิธีสืบชาตา เปิดบ้านปราชญ์ล้านนา

อีกกิจกรรมหนึ่ง ที่ทายาทของอาจารย์สงวนตั้งใจจัดขึ้นคู่ขนานกันไปในวาระ 100 ปีชาตกาลอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ได้แก่ “พิธีสืบชาตา (ชะตา)” เป็นพิธีกรรมของทางล้านนา จัดขึ้นเพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสิริมงคลให้แก่ครอบครัว “โชติสุขรัตน์” และแขกผู้มาร่วมงาน ในวาระการเปิดห้องสมุด จัดแสดงผลงาน Collection ของอาจารย์สงวน พร้อม “เปิดป้ายบ้านปราชญ์ล้านนา”

กิจกรรมนี้จัดขึ้นก่อนในวันเสาร์ที่ 18 มิถุนายน 2565 ณ นิวาสสถานหลังสุดท้ายที่อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ได้เคยใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวคือภรรยาและบุตรีสองคน ก่อนจะวายชนม์เมื่ออายุ 54 ปี เมื่อ พ.ศ.2518 คือบ้านเลขที่ 4 หมู่ 5 เยื้องวัดพระนอนขอนตาล ต.แม่ริมใต้ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

งานนี้ไม่ใช่งานสัมมนาทางวิชาการ แต่เป็นงานบุญทางพุทธศาสนาและเป็นงานเชิงศิลปวัฒนธรรม ไฮไลต์สำคัญของงานก่อนที่จะมีการสวดสืบชาตา ได้แก่ การแสดงรำ “ฉุยฉายทศกัณฐ์ลงสวน” จัดเป็นการแสดงชุดหนึ่งในโขนรามเกียรติ์ ตอนทศกัณฐ์ลักนางสีดามาไว้ที่สวนขวัญ แล้วพยายามแต่งองค์ทรงเครื่องให้งดงามเพื่อลงไปเกี้ยวพาราสีนางสีดา แสดงโดย ร้อยเอก ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการด้านการจัดการมรดกทางวัฒนธรรมและศิลปินสาขาการแสดง

นอกจากนี้ ช่วงบ่ายยังมีการอ่านบทกวีประกอบดนตรีโดยเพื่อนพ้องน้องพี่ที่มีความรักและศรัทธาในตัวอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ อาทิ ไพฑูรย์ พรหมวิจิตร เพ็ญ ภัคตะ เป็นต้น

ผู้สนใจที่จะร่วมงานสามารถสแกนคิวอาร์โค้ดขับรถตรงมายังสถานที่ดังกล่าวได้เลยค่ะ ไม่ต้องลงทะเบียนล่วงหน้าค่ะ

ผลงานของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

เอกสารค้นพบใหม่

ของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

ในระหว่างการเตรียมจัดงานครั้งนี้ ดิฉันพร้อมด้วยคุณพันธนิต โชติสุขรัตน์ ธิดาคนโตของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ได้เดินทางไปขอสัมภาษณ์บุคคลจำนวนมากที่คิดว่าน่าจะพอมีข้อมูลเกี่ยวกับอาจารย์สงวนอยู่บ้าง

อาทิ ดร.สมหมาย เปรมจิตต์ พ่อหนานศรีเลา เกษพรหม พระครูโสภณกวีวัฒน์ (ท่านจันทร์) วัดเจดีย์หลวง ฯลฯ

ในการนี้ได้ข้อสรุปว่า มีแหล่งข้อมูลที่ทำการจัดเก็บรวบรวมผลงานต้นฉบับประเภทหนังสือ พับสา ลายมือเขียนของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ ไว้ประมาณสามแห่ง (คือเท่าที่ทราบ ณ ตอนนี้) มีดังนี้

หนึ่ง ห้องสมุดสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ส่วนนี้ทางสถาบันวิจัยสังคม มช.จะรวบรวมมอบคืนให้แก่ทายาท ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นในกำหนดการ) เอกสารส่วนนี้แบ่งเป็นสองส่วนย่อยๆ ได้แก่

ส่วนแรก เป็นผลงานเขียนของอาจารย์สงวนเอง ซึ่งบางเล่มทายาทคือคุณพันธนิตยินชื่อมานานแล้ว แต่เพิ่งพบตัวหนังสือเป็นครั้งแรก เช่น เรื่อง “ของดีในเชียงราย”

และอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีปริมาณมากกว่า เป็นหนังสือที่อาจารย์สงวนเก็บรวบรวม ดั้นด้นหามาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อนำข้อมูลมาใช้ศึกษาค้นคว้าเรียบเรียงเป็นบทความทางวิชาการของท่าน

น่าสนใจว่า ในกลุ่มนี้มีหนังสือของท่านเสฐียรโกเศศ บรมครูผู้เป็นไอดอลของอาจารย์สงวน อยู่กว่า 10 เล่ม หนังสือของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพอีกจำนวนมาก หนังสือด้านโบราณคดี ผลการขุดค้นขุดแต่งโบราณสถานของกรมศิลปากร จำนวนไม่น้อยเลย หนังสือประวัติวัดต่างๆ ที่หาอ่านไม่ได้ตามห้องสมุดทั่วไป อีกจำนวนมหาศาล

เอกสารทั้งหมด ถือได้ว่าเป็นคลังสมองที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นปราชญ์ล้านนาอย่างเอกอุของอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์

สอง เอกสารที่เก็บรักษาไว้ที่หอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยพายัพ งานกลุ่มนี้มีทั้งลายมือเขียน ทั้งฉบับพิมพ์ มีทั้งต้นฉบับที่ยังเขียนไม่เสร็จค้างอยู่ และต้นฉบับที่ปรับแก้ใหม่อีกหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังมีงานกฤตภาค (คำว่า “กฤตภาค” ปัจจุบันไม่ค่อยมีการใช้กันแล้ว หมายถึงข่าวตัดจากหนังสือพิมพ์และบทความ ที่บรรณารักษ์เลือกมาเป็นบางชิ้น นำมารวมในแฟ้มเดียวกันเพื่อสะดวกต่อการศึกษาค้นคว้า)

งานกฤตภาคใน Collection ของอาจารย์สงวนที่มหาวิทยาลัยพายัพนี้ พบว่าตัวท่านเองได้ตัดเก็บบทความงานเขียนที่ตีพิมพ์แล้วทั้งของตัวท่านเองและของนักเขียนผู้อื่นในหัวข้อที่ท่านสนใจ นำมารวบรวมใส่แฟ้มแบ่งเป็นหมวดหมู่

นักเขียนคนที่อาจารย์สงวนติดตามมากเป็นพิเศษในกลุ่มงานบทความปกิณกะ นอกจากเสฐียรโกเศศแล้ว ยังมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช, “อาจารย์ชุ่ม ณ บางช้าง” ผู้มีอายุมากกว่าอาจารย์สงวน 20 ปี, “ส. ธรรมยศ” นักเขียนใหญ่เมืองลำปาง ผู้มีอายุมากกว่าอาจารย์สงวนประมาณ 8 ปี”, “อาจารย์ศักดิ์ รัตนชัย” ปราชญ์ใหญ่เมืองลำปาง ผู้มีอายุน้อยกว่าอาจารย์สงวน 5 ปี และพ่อหนานอินทร์ สุใจ สหายรักปราชญ์ใหญ่แห่งเมืองพาน เชียงราย ผู้ล่วงลับไปแล้วราว 8 ปี น่าจะมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับอาจารย์สงวน เป็นต้น

สาม เอกสารที่เก็บรักษาไว้ ณ บ้านพ่อหนานศรีเลา เกษพรหม อยู่หลังวัดไชยสถาน อ.สารภี จัดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้และเอกสารโบราณ

พ่อหนานศรีเลาเป็นนักภาษาโบราณคนสำคัญ เคยทำงานเป็นผู้ช่วย ดร.ฮันส์ เพนธ์ ที่สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปัจจุบันท่านอายุ 74 ปี ท่านบอกว่ายังไม่ทันได้รู้จักพูดคุยกับอาจารย์สงวน เนื่องจากอาจารย์สงวนอายุสั้น เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2518 ช่วงนั้นพ่อหนานศรีเลายังไม่ได้เข้ามาร่วมงานกับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ แต่อย่างใด

ทว่า พ่อหนานศรีเลาได้ยินได้ฟังเรื่องราวของอาจารย์สงวนจากคำบอกเล่าของ ดร.ฮันส์ เพนธ์ บ่อยมาก ในทำนองว่า อาจารย์สงวนคือผู้มีคุณูปการต่อ ดร.ฮันส์ เพนธ์ อย่างสูงสุด โดยเฉพาะในด้านการตระเวนเก็บข้อมูลในพื้นที่ชนบทห่างไกล อาจารย์สงวนจะเอารถจี๊ปมารับ ดร.ฮันส์ เพนธ์ กอดคอกันไปไหนต่อไปทั่วทุกหนทุกแห่ง

ที่บ้านพ่อหนานศรีเลา ได้พบเอกสารชิ้นสำคัญยิ่ง เป็นลายมือเขียนของอาจารย์สงวนด้วยอักษรธรรมล้านนาบนปกพับสา (ปั๊บสา) เช่น ตำนานเมืองเชียงใหม่ ตำนานโยนกเชียงแสน เป็นต้น

ในงานประชุมสัมมนาทางวิชาการ “100 ปีชาตกาลอาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์” วันที่ 21 มิถุนายนนี้ พ่อหนานศรีเลาจะนำปั๊บสาชิ้นดังกล่าวไปจัดแสดงให้ชมในงานด้วย

ใครอยากเห็นลายมือที่อาจารย์สงวน โชติสุขรัตน์ เขียนตัวอักษรธรรมล้านนา เชิญมาชมได้ในงานสัมมนาวันที่ 21 มิถุนายนศกนี้ ณ สถาบันวิจัย มช. นะคะ •