นิธิ เอียวศรีวงศ์ : อนาคตในความทรงจำ

นิธิ เอียวศรีวงศ์
AFP PHOTO / PORNCHAI KITTIWONGSAKUL

คณะกรรมการค้นหาความจริงและสร้างความสมานฉันท์นั้น แม้จะมีใครตั้งขึ้นแล้วในเมืองไทย หรือถึงหากจะตั้งกันอีกในอนาคต ก็ทำงานไม่ได้ผลหรอกครับ ไม่ใช่เพราะคณะกรรมการเก่งหรือไม่เก่ง เบี้ยวหรือไม่เบี้ยว นะครับ แต่เป็นเพราะคนไทยไม่ได้ฆ่ากันตายอย่างเดียว แต่ยังมีความทรงจำเกี่ยวกับอดีตที่ต่างกันเป็นตรงข้ามเลย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยึดทำเนียบ, ยึดสนามบิน, ยึดราชประสงค์ และการล้อมปราบ, ไปจนถึงปิดกรุงเทพฯ และขัดขวางการเลือกตั้ง ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ของเรื่องเหล่านี้อาจตรงกันในระหว่างสองฝ่าย แต่ประวัติศาสตร์คือคำอธิบาย ไม่ใช่ประมวลเหตุการณ์เฉยๆ ตรงนี้แหละครับที่สองฝ่ายมีประวัติศาสตร์คนละสำนวน

หรือพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ต่างฝ่ายต่างมีความทรงจำที่แตกต่างกันเป็นคนละด้าน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดความปรองดองสมานฉันท์ขึ้นได้

ในรวันดา อย่างน้อยทั้งสองฝ่ายก็ยอมรับว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทำความเสียหายแก่ทุกฝ่ายในที่สุด ในแอฟริกาใต้ อย่างน้อยทั้งสองสีผิวก็ยอมรับว่า นโยบายแบ่งแยกสีผิวในที่สุดก็ไม่ทำงานอย่างที่มุ่งหวัง สร้างแต่ปัญหามากกว่าสร้างทางออก ในที่สุดก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกันให้ได้

คณะกรรมการสมานฉันท์และค้นหาความจริงจะทำงานสำเร็จได้ ก็ต้องมีฉันทามติในหลักสำคัญอย่างน้อยสักเรื่องหนึ่งในสังคมนั้น แต่ไม่มีฉันทามติในหลักการสำคัญสักเรื่องในสังคมไทย

การยอมรับอดีตร่วมกัน แม้เพียงบางประเด็น ก็เป็นไปได้ที่จะสร้างอนาคตร่วมกัน

ผมนึกถึงเรื่องนี้ด้วยความตระหนกว่า ตายห่ะ แม้ไม่มีความทรงจำร่วมกันสักเรื่อง แต่เราถูกบังคับให้มีอนาคตร่วมกันนี่หว่า เราจะเลือกไปเป็นพลเมืองของรัฐอื่นก็ไม่ได้ หรือไม่ง่าย จึงต้องเป็นพลเมืองของรัฐไทยนี้ไปชั่วลูกชั่วหลาน

ผิดจากในสามจังหวัดภาคใต้ เขามีความทรงจำร่วมกัน และด้วยเหตุดังนั้นจึงสามารถฝันถึงอนาคตที่มีอิสระเสรีร่วมกันได้ จะเป็นอิสระเสรีในรัฐเอกราชใหม่ หรือในเขตปกครองพิเศษ หรือในระบบกระจายอำนาจที่ทำให้คนสามารถเลือกวิถีชีวิตของตนได้ก็ตาม แต่เราสิที่ถูกจองจำไว้ในอนาคตที่เราเลือกไม่ได้ คือถึงอย่างไรก็ต้องเป็นคนไทยต่อไป

ความทรงจำเป็นส่วนสำคัญของการสร้างอัตลักษณ์ แต่ความทรงจำของเราต่างกันมากเสียจน อัตลักษณ์ที่ถูกสร้างขึ้นไม่มีส่วนใดที่ตรงกันเลย แต่ต่างฝ่ายต่างไม่มีทางเลือกนอกจากต้องเรียกตัวเองว่าคนไทย ทั้งๆ ที่มีความหมายคนละอย่าง

พอคิดได้อย่างนี้แล้ว ก็เริ่มจะเห็นใจฝ่ายขวาที่พร้อมจะไล่คนเห็นต่างให้ออกไปจากประเทศ ก็เขาเองไม่มีทางเลือกเหมือนเรา จะคิดถึงอนาคตที่มีเราอยู่ร่วมด้วยได้อย่างไร พูดอีกอย่างหนึ่งคือ แม้ไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่เริ่มเข้าใจความรุนแรงที่ทุกฝ่ายกระทำต่อกัน

ในสังคมที่ไม่มีอนาคตร่วมกัน จะขจัดความเห็นต่างได้อย่างไร หากไม่ใช้ความรุนแรงหรือการบีบบังคับด้วยความรุนแรง

 

หาก คสช. ไม่เที่ยวไล่จับคนเห็นต่างไปปรับทัศนคติ เขาก็ต้องนั่งลงถกเถียงเรื่องความทรงจำกับคนอื่นอย่างเท่าเทียม โดยไม่มีปืนวางบนโต๊ะ เขามีความสามารถจะทำเช่นนั้นได้หรือ

ความทรงจำของคนไทยก่อนสมัยใหม่ ตั้งอยู่บนประเพณีเก็บรวบรวมความทรงจำของสามสำนักด้วยกัน คือของราชสำนัก ของพระสงฆ์ และของชาวบ้าน ซึ่งส่งผ่านทางมุขปาฐะเป็นส่วนใหญ่ ข้อที่น่าสังเกตกับประเพณีความทรงจำสามสำนักนี้ก็คือ ไม่มีสำนักใดเก็บความทรงจำของรัฐไทยปัจจุบัน (ก็มันไม่เคยมีรัฐไทยแบบปัจจุบันมาก่อน จะให้เก็บได้อย่างไร) ข้อสังเกตประการที่สองก็คือ ความทรงจำเหล่านั้น มุ่งจะอธิบายสถานะของปัจจุบัน เช่น พระธาตุองค์นี้มาได้อย่างไร พระเจ้าแผ่นดินองค์นี้ขึ้นครองราชย์ได้อย่างไร ใครพาพรรคพวกและเครือญาติมาตั้งบ้านนี้ขึ้นก่อน ฯลฯ

จะว่าไม่มีอนาคตก็ได้ ถึงจะกล่าวถึงอุดมคติที่อยู่ในอนาคต ก็มักเป็นอุดมคติที่เชื่อว่าเคยเกิดขึ้นในอดีตมาแล้ว เช่นบ้านเมืองจะสงบสุขรุ่งเรืองเหมือนสมัยพระเจ้าอโศก หรือบ้านเมืองจะดีเหมือนเมื่อสมัยบ้านเมืองดี ซึ่งอยู่ในอดีต

ในแง่นี้ อนาคตฝังอยู่ในอดีตก็จริง แต่เป็นอนาคตที่เหมือนอดีต ไม่ใช่อนาคตใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ในโลกที่ไม่ได้คิดถึงความเปลี่ยนแปลง มนุษย์จะฝันถึงอนาคตที่แตกต่างจากเดิมได้อย่างไร

ผมขอยกตัวอย่างของการคิดถึงอนาคตที่แตกหักจากอดีตโดยสิ้นเชิง ในชายฝั่งแอฟริกาตะวันตก ศาสนาคริสต์นิกายหนึ่งแพร่หลายมาก พวกมิชชันนารีทำให้ชาวพื้นเมืองที่เปลี่ยนศาสนาเชื่อว่า ความทรงจำที่เกี่ยวกับอดีตของพวกเขาจนทำให้เกิดสภาวะปัจจุบันขึ้นนั้น คือภาพจำลองของปีศาจนั่นเอง ฉะนั้น อนาคต (ซึ่งกลายเป็นคริสเตียนแล้ว) ของพวกเขา จึงไม่มีอะไรเหมือนอดีตในความทรงจำของเขาอีกเลย

ที่แตกหักกับอดีตถึงเพียงนี้คงไม่เกิดขึ้นในหลายสังคมนัก แม้กระนั้น อนาคตที่ฝังอยู่ในอดีตของคนปัจจุบัน ซึ่งมอง”ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์” ก็ไม่ใช่อุดมคติของอดีตอีกต่อไป แต่เป็นอะไรที่ไม่มีในอดีตต่างหาก

 

เมื่อตอนที่เกิดรัฐรวมศูนย์แบบสมัยใหม่ขึ้นใน ร.5 จำเป็นต้องสร้างความทรงจำร่วมกันให้แก่รัฐใหม่นี้ เนื้อหาของความทรงจำอาจมีให้เลือกได้หลายอย่าง เช่น ถึงแม้ไม่ตัดขาดจากอดีตอย่างสิ้นเชิง แต่ไม่ควรให้ปัจจุบันสืบเนื่องกับอดีตอย่างกลมกลืนเสียจนแทบจะไร้รอยต่อ เพราะเท่ากับจำกัดขอบเขตของความเปลี่ยนแปลงที่ระบอบใหม่สามารถทำได้ไปในตัว

แต่นี่ไม่ใช่ทางเลือกของปัญญาชนสมัย ร.5 ท่านเหล่านั้นเลือกที่จะพูดถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย (โดยเฉพาะที่ท่านทำเอง) ว่าคือการย้อนกลับไปหาอุดมคติของอดีต

น่าสังเกตนะครับว่า พระบรมราชาธิบายของ ร.5 เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ซึ่งที่จริงแล้วคือการแบ่งงานราชการออกตามหน้าที่ ไม่ใช่แบ่งกันคุมคนตามพื้นที่แบบเก่า ทว่ากลับทรงอธิบายว่า แต่เดิมระบบปกครองไทยก็แบ่งตามหน้าที่มาก่อน เพิ่งมาแบ่งตามพื้นที่ในภายหลัง เพราะขุนนางแย่งอำนาจและผลประโยชน์กันเอง

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งได้รับยกย่องจากคนสมัยหลังว่าเป็นบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย ทรงใช้วิธีวิทยาแบบใหม่ที่รับมาจากตะวันตก ในการเล่าประวัติศาสตร์ไทยใหม่ แต่เป้าหมายของการเล่ากลับไม่ต่างไปจากประเพณีความทรงจำของสำนักหลวงแต่เดิมอย่างไร ประวัติศาสตร์หรือความทรงจำหมุนไปรอบแกนสถาบันพระมหากษัตริย์ (หรือสมัยโบราณถือว่าคือองค์อวตาร-พงศาวดาร)

พระนิพนธ์ประวัติศาสตร์ในพระองค์ท่านไม่มียุคสมัย มีแต่รัชสมัย หรือราชธานี ความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์จึงเหลือเพียงการเปลี่ยนหน้าตัวละครหรือฉากเท่านั้น

ความทรงจำสำนวนนี้แหละที่ถูกเผยแพร่ผ่านหลักสูตรของการศึกษามวลชน จนกลายเป็นความทรงจำร่วมของ “ชาติ”

ไม่ได้หมายความว่าความทรงจำสำนวนนี้ไม่เคยถูกทักท้วงทางวิชาการเลย แต่เป็นการทักท้วงที่ไม่เปลี่ยนท้องเรื่อง เช่น ที่จริงแล้วราชวงศ์พระร่วงมีกษัตริย์กี่พระองค์กันแน่ กษัตริย์ราชวงศ์สุพรรณกับราชวงศ์พระร่วงมีสายสัมพันธ์ที่เกิดจากการสมรสหรือไม่ เมื่อไร และก่อให้เกิดผลอะไร ปีรัชกาลที่ถูกต้องของกษัตริย์อยุธยาคืออะไร ฯลฯ

การท้าทายความทรงจำสำนวนนี้มาเกิดจริง เมื่อ คุณจิตร ภูมิศักดิ์ ผลิตงานวิชาการออกมาต่างหาก ตัวท้องเรื่องเปลี่ยน จากสถาบันพระมหากษัตริย์มาเป็นระบบเศรษฐกิจ-การเมือง พระราชกรณียกิจก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าก็คือกระทบต่อคนอื่นๆ ที่ร่วมสังคมอย่างไร นับแต่ขุนนางมาถึงข้าไพร่

หลัง 14 ตุลา ผลงานของท่านได้รับการเผยแพร่สืบมาจนทุกวันนี้ และมีผลทำให้คนไทยจำนวนหนึ่ง ซึ่งมากพอสมควร มีความทรงจำที่แตกต่างออกไปจากความทรงจำร่วมที่รัฐมอบให้

ความทรงจำใหม่นี้ ไม่จำกัดอยู่ที่รายละเอียด แต่อยู่ที่ท้องเรื่องซึ่งแสดงความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ความเปลี่ยนแปลงกลายเป็นเนื้อหาหลักของความทรงจำ หน้าที่ของนักประวัติศาสตร์คือหมายให้ได้ว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นตอนไหน เหตุใดจึงเกิดขึ้น เมื่อเกิดแล้วมีลักษณะอย่างไร และมีผลต่อคนกลุ่มต่างๆ อย่างไร เป็นเหตุผลให้เกิดเนื้อหาของประวัติศาสตร์ในยุคสมัยต่อมาอย่างไร

ท้องเรื่องหลักของประวัติศาสตร์กลายเป็นเรื่องของความเปลี่ยนแปลง แทนที่จะเป็นอุดมคติซึ่งหยุดนิ่งไม่เปลี่ยนแปลงเลยดังท้องเรื่องของความทรงจำร่วมที่รัฐสร้างขึ้น ทั้งนี้ ย่อมก่อให้เกิดผลสำคัญสองอย่าง หนึ่ง สังคมไทยไม่ใช่ข้อยกเว้น แต่เป็นสังคมที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงมาตามยุคสมัยเหมือนสังคมอื่นๆ ซ้ำความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ยังสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดในสังคมอื่นที่ร่วมภูมิภาค, ร่วมทวีป หรือร่วมโลกเสียอีก ดังนั้นวิธีการศึกษาอย่างหนึ่งซึ่งขาดไม่ได้คือการเปรียบเทียบ (อันเป็นวิธีการที่แทบไม่ถูกใช้ในการศึกษาประวัติศาสตร์แบบเก่าเลย)

 

ผลอย่างที่สองของความทรงจำแบบใหม่ก็คือ อนาคตที่แฝงอยู่ในความทรงจำสำนวนนี้คือความเปลี่ยนแปลง อนาคตคืออะไรที่ไม่เหมือนปัจจุบัน เพราะปัจจุบันก็ไม่เหมือนอดีต อนาคตจึงไม่มีทางเหมือนปัจจุบัน

เทคโนโลยีการสื่อสารในสมัยหลัง ยิ่งทำให้ความทรงจำสำนวนใหม่นี้แพร่หลายในสังคมมากขึ้น พร้อมกันไปนั้นก็ทำให้ความทรงจำสำนวนเดิมแน่นแฟ้นมากขึ้นกว่าสมัยที่ยังเป็นแค่แบบเรียนในชั้นเรียน

ในปัจจุบัน เรากำลังแย่งชิงพื้นที่ความทรงจำระหว่างกันอย่างเข้มข้น ชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ พร้อมกันไปนั้น เราก็กำลังแย่งชิงพื้นที่ในอนาคตกันอย่างเข้มข้นไม่แพ้กัน เพราะความทรงจำและอนาคตเป็นสองอย่างที่แยกจากกันไม่ได้