‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ขยันและเก่ง… แต่มีคนจ้องทำลาย/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

‘ผู้ว่าฯ ชัชชาติ’ ขยันและเก่ง…

แต่มีคนจ้องทำลาย

ผู้ที่ได้เห็นวิธีและลีลาการหาเสียงของผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่ผ่านมา รู้สึกแปลกใหม่น่าสนใจ น่าพอใจ

แต่เมื่อเขาได้รับคะแนนเสียง 1.38 ล้านและเริ่มเคลื่อนไหวเดินงานต่อเนื่อง จากวันที่ยังไม่ได้ประกาศรับรองอย่างเป็นทางการจนถึงวันที่รับตำแหน่งและหลังวันที่รับตำแหน่ง ดูเหมือนจะยิ่งสร้างความตื่นตาตื่นใจ สร้างความพอใจ สร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนทั้งที่ไปลงคะแนนให้และไม่ไปลงคะแนนให้

มีคนบอกว่าถ้าให้ลงคะแนนใหม่วันนี้จะได้มากกว่าเดิม เพราะประชาชนรู้สึกว่าคุ้มค่าที่อุตส่าห์เลือกมา

แต่คนเก่งเมืองไทยจะแสดงฝีมือได้กี่วัน

บทบาทการโหมทำงานอย่างหนักทุกวัน ในขณะที่สื่อมวลชนและคนธรรมดาเฝ้าติดตามถ่ายทอดส่งข่าวสารออกไปวันละหลายรอบ อาจจะมีพวกโง่ พวกขี้อิจฉา และบางคนก็ประสงค์ร้าย ตีความว่าเป็นการสร้างภาพ เป็นพวกหิวแสง

แต่คนแบบชัชชาติไม่ได้โง่และมีเวลาว่างขนาดนั้น ทุกก้าวล้วนหวังผล หลายทอดหลายต่อ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

และทั้งหมดที่เขาทำไม่ใช่ใครคิดจะทำก็ทำได้

เริ่มตั้งแต่จะต้องมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงพอ

มีสมองที่ฉลาดเฉลียว มีความรู้หลายด้านอย่างลึกซึ้ง

เป็นคนเปิดรับความรู้และความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา

สามารถวิเคราะห์และประมวลข้อมูลกับความรู้เพื่อไปใช้ในการทำงานตามนโยบายได้ในเวลาที่รวดเร็ว

จากนั้นยังต้องมีวิธีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างทุกระดับเพื่อทำให้เกิดความร่วมมือ

สุดท้ายยังต้องมีความอดทนฝ่าอุปสรรคด้านต่างๆ และแรงต้านจากผู้เสียผลประโยชน์ รวมทั้งคนที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง

ทีมวิเคราะห์จึงอยากจะแนะนำว่าดูบทบาทที่ผ่านมาของชัชชาติแล้ว จะยึดถือเป็นแบบอย่างก็ไม่ว่ากัน แต่คิดจะปฏิบัติตามไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีพื้นฐานความรู้ ไม่ผ่านการฝึกฝน จะได้แค่ระดับหนึ่งเท่านั้น

 

ทำไมพอเริ่ม ก็เร่งเครื่องเลย

1.เวลาที่จำกัด…(เสียดายที่วันหนึ่งมีเพียงแค่… 24 ชั่วโมง)

ผู้ว่าฯ ชัชชาติรู้อยู่แล้วว่าปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม ทำให้ความเป็นอยู่ การทำมาหากินของผู้คนในกรุงเทพฯ กำลังลำบาก และทุกด้านไม่ใช่จะฟื้นตัวขึ้นมาง่ายๆ จะต้องร่วมกันออกแรงอย่างมากและใช้เวลาพอสมควร เขาจึงบอกว่ามีเวลาแค่ 4 ปี เสาร์อาทิตย์ก็ไม่อยากหยุด เพราะมันคือ 2 ใน 7 วัน ในความคิดเขา 1 ปีต้องเสียไป 104 วัน ถ้า 4 ปีก็ 416 วัน นั่นหมายความว่าวาระ 4 ปีถ้าหยุดทุกเสาร์อาทิตย์จะได้ทำงานไม่ถึง 3 ปี และงานหลายโครงการอาจทำเพียง 2-3 เดือนเสร็จ แต่บางโครงการต้องใช้เวลาเป็นปีๆ บางอย่างอาจต้องนานเกินกว่า 4 ปี

2. ต้องมีเทคนิคการกระตุ้น การทำโครงการส่วนใหญ่ต้องการความร่วมมือจากผู้ปฏิบัติคือข้าราชการและประชาชน การสร้างความกระตือรือร้นกระฉับกระเฉง คือการกระตุ้นข้าราชการและประชาชนให้เข้ามาร่วมมือ ความขยัน ความทุ่มเททั้งวันทั้งคืนของผู้เสนอนโยบายและผู้บริหาร จึงจะเป็นการซื้อใจคนที่เกี่ยวข้อง ถ้าผู้ว่าฯ ไม่ขยันแล้วจะไปกระตุ้นให้คนอื่นขยันได้อย่างไร

ถ้าสังเกตให้ดี ข้าราชการระดับสูงยังยืนตัวเกร็งอยู่ต่อหน้าผู้ว่าฯ ชัชชาติ แต่ก็กล้าพูดจาอธิบายเรื่องต่างๆ แม้กลัวว่าจะพูดผิด หรือถูกซักถามจนตอบไม่ได้ ซึ่งอีกระยะหนึ่งพวกเขาจะเคยชิน และเตรียมการสร้างความรอบรู้ให้ตนเอง

แต่ถ้ามองดูข้าราชการระดับล่างกลับไม่รู้สึกเช่นนั้น จำนวนมากโดดเข้ามาคล้องแขนถ่ายรูป แม้จะอยู่ล่างสุดในระดับพนักงานกวาดถนน นั่นหมายความว่าต่อไปพวกเขาจะสามารถสะท้อนปัญหาเข้าสู่ผู้บริหารสูงสุด แม้อาจไม่ได้เรียบเรียงอย่างเป็นระบบ แต่มันจะสะท้อนรูปธรรมของปัญหาออกมา ความผิดพลาดบางอย่างที่ซุกซ่อนอยู่ก็อาจถูกนำมาแก้ไขให้การงานดีขึ้นต่อไป

3. ต้องป้องกันจุดอ่อน ประชาชนต้องการความซื่อสัตย์ของผู้บริหารและข้าราชการเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนจะไม่รั่วไหล เงินภาษีถูกนำไปใช้อย่างไม่คุ้มค่า ชัชชาติจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้นๆ ในทางการเมืองนี่เป็นจุดอ่อนขนาดใหญ่เพราะมีคนที่เกี่ยวข้องหลายหมื่นคน

บางคนเห็นเสื้อที่ชัชชาติใส่ตั้งแต่ตอนหาเสียง ที่สกรีนไว้ว่า ทำงาน ทำงาน ทำงาน อาจจะคิดว่าเป็นเพียงคำขวัญลอยๆ

ทีมวิเคราะห์เราเองก็เพิ่งรู้และตีความได้ไม่กี่วันนี้เองหลังจากเห็นการทำงานของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ว่าความหมายก็คือ ทำงานตั้งแต่เช้า กลางวันก็ทำงานต่อ เย็นค่ำก็ยังทำงานอยู่

 

การประชาสัมพันธ์เชิงรุก

ทำแค่นี้ โอเวอร์หรือได้ประโยชน์

การที่ให้ผู้สื่อข่าวติดตามการทำงาน ก็คือการประชาสัมพันธ์บอกให้เห็นทิศทางการเปลี่ยนแปลงของ กทม. ส่งสัญญาณไปทั้งข้าราชการและประชาชน ว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นก็ต้องขยันทำงานและร่วมมือกัน

จะสังเกตเห็นว่ามีการถ่ายทอดออกสื่อ ไม่ใช่เป็นการแสดงโชว์กับข้าว ทำก๋วยเตี๋ยว แต่เป็นงานเรื่องสำคัญ ที่ซักถามและคุยกับเขตหรือสำนักงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้รับรู้ข้อมูลเพิ่มเติม และถ่ายทอดเพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ร่วมกัน และหลายเรื่องผู้ว่าฯ ก็ได้อธิบายด้วยภาษาที่เข้าใจได้ไม่ยาก อย่างต่อเนื่องแบบผู้รู้ มีตัวเลขมีข้อมูลต่างๆ อย่างเป็นเหตุเป็นผลว่าทำไมจึงเกิดปัญหาเหล่านั้นและจะมีแนวทางแก้อย่างไร

การไลฟ์โชว์ที่เผยแพร่ต่อประชาชน เป็นการประชาสัมพันธ์เชิงรุก ทำให้คนรู้ปัญหาและเข้าใจตั้งแต่ต้น ซึ่งจะมีประโยชน์ในการให้ความร่วมมือและวิธีการนี้ดีกว่าทำงานไปเรื่อยๆ แล้วมาสรุปเป็นตัวเลขแถลงประจำปีประจำไตรมาส ซึ่งอาจจะมีคนฟังบ้างไม่ฟังบ้าง

มีการให้กำลังใจทั้งคนทำงานและประชาชนทุกคนกำลังเผชิญปัญหา การหยุดแวะทักทายถ่ายรูปร่วมกับประชาชน แม้เสียเวลาไปบ้าง แต่ก็เหมือนเป็นการให้เกียรติแก่ประชาชนทุกกลุ่ม

นี่คือการปรับทุกข์ ผูกมิตรและขอแรงสนับสนุน เพราะงานที่จะทำข้างหน้านั้น แทบทุกโครงการไม่น้อยกว่า 90% จะต้องมีความร่วมมือของประชาชนจึงจะสำเร็จ

 

ความเข้าใจต่อสถานะบทบาทและหน้าที่ของผู้อื่น

กับอำนาจหน้าที่ตนเอง

เรื่องนี้สำคัญมากสำหรับคนที่ต้องร่วมงานกับคนอื่นและหน่วยงานอื่นๆ

ยกตัวอย่างเช่น ตอนหาเสียง ช่วงที่รายการต่างๆ ช่วงชิงกันสัมภาษณ์หรือจัดดีเบตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ยิ่งช่วงท้ายรายการต่างๆ ก็ขอเวลากันมากขึ้น ชัชชาติจะสามารถหาเสียงลงพื้นที่ก็ต้องตื่นตั้งแต่เช้าทำได้ครึ่งวันเท่านั้น เพราะตอนบ่ายต้องจัดคิวให้รายการต่างๆ คนที่ดูแลโปรแกรมหาเสียง ก็ขอให้ตัดรายการตอนบ่ายออกบ้าง เพราะรายการส่วนใหญ่ก็อัดเทปไปออกอากาศตอนค่ำ บางรายการก็มีคนดูไม่มาก

แต่ชัชชาติบอกว่าทำแบบนั้นไม่ได้ โดยเฉพาะรายการเล็กๆ ถ้าผู้ว่าฯ อัศวินไม่มาออกรายการแล้วตัวเขาไม่ไปออกอีกคน ผู้จัดรายการบอกว่าคงไม่มีสปอนเซอร์ รายการนั้นล้มทันที

เห็นใจเด็กๆ ที่ทำงานข่าว…ไม่เป็นไรหรอก…คนดูมากน้อยก็ไม่เป็นไร

วันนี้เมื่อมารับงานจึงมีความเข้าใจต่อข้าราชการฝ่ายต่างๆ

ในความใจดี และเข้าใจสภาพนั้น ชัชชาติรู้ดีว่าเดือนกันยายนเป็นฤดูการโยกย้ายข้าราชการ ที่อยู่ระดับหัวหน้า มีระยะเวลา 3 เดือน ถือเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนต้องแสดงบทบาททำหน้าที่ เพื่อพัฒนาเมืองตามขอบเขตงานที่ผู้ว่าฯ ได้สร้างนโยบายออกมาแล้วและออกแรงกระตุ้นการนำอย่างเต็มที่ พวกข้าราชการต้องแสดงบทบาทผู้ปฏิบัติ ให้งานบรรลุเป้าหมาย จึงมีโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่การงานต่อไป

“เพื่อนร่วมงาน” แบบผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะพิจารณาคนจากความเก่ง ความฉลาด ความขยัน ความซื่อสัตย์ เพราะปัญหาของ กทม.มีมาก งานก็เลยต้องมาก ใครผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริงได้ จะก้าวหน้าต่อไป ใครที่ไม่มีคุณสมบัติเหล่านี้ก็จะต้องกลับไปทำงานที่เหมาะสมกับความสามารถของตนเอง

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นกับฝ่ายข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ถ้าให้วิเคราะห์ล่วงหน้า ตำแหน่งต่างๆ ที่กุมงานสำคัญ มีโอกาสจะเปลี่ยนแปลงได้อยู่เสมอ เพราะผู้นำและนโยบายที่กำหนดไว้ ทำให้ต้องทำงานหนัก ถ้าใครรับได้ทนได้ก็อยู่ได้ ใครทนไม่ได้สู้ไม่ไหวก็ต้องถอย

 

จุดอันตรายจากการโจมตีของฝ่ายขวา

บ้านนี้เมืองนี้มีปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็คือเมื่อมีใครเดินบนเส้นทางประชาธิปไตยของแท้ โดยประชาชนเลือกเข้ามาและทำเพื่อผลประโยชน์ประชาชน ถ้ามีคนจำนวนมากชื่นชม ก็ต้องถูกกำจัดทิ้งไป

สภาพของชัชชาติตอนนี้ ทำดีแล้วก็เด่น หลายคนจึงกลัวว่าจะมีภัย แต่การที่ยังคงอยู่แค่ตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ก็ถือว่ายังปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง

ความหวังอย่างหนึ่งของชัชชาติคือการสลายขั้วการเมืองให้เหลือการเลือกข้างน้อยที่สุด แต่ทีมวิเคราะห์มองว่านี่เป็นเป้าหมายยากที่สุด การพยายามวางตัวออกกลางๆ อาจจะทำให้ทั้งสองฝ่ายไม่พอใจ แต่ก็ยังเป็นวิธีที่สามารถทำให้บริหารเมืองเดินหน้าไปได้

ขณะนี้ฝ่ายที่ต้องการขัดขวางจะเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่ให้ชัชชาติตอบแบบที่จะทำให้มวลชนสองฝ่ายเกิดความไม่พอใจ ซึ่งไม่ใช่คำถามทางการบริหาร แต่เป็นเรื่องการเมืองที่เกี่ยวกับม็อบของเยาวชน เรื่องคนเสื้อแดง เรื่อง กปปส. และยังจะมีคำถามเกี่ยวกับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

สิ่งที่ผู้ว่าฯ จากการเลือกตั้งต้องทำก็คือยึดแนวสายกลางไว้ ยึดหลักประชาธิปไตยให้มั่น เดินหน้าบริหารเมือง บางคนกำลังรอให้ทำงานพลาด จะได้โจมตี แต่ใน 100 โครงการ ต้องมีพลาดบ้าง ไม่สำเร็จบ้าง ประชาชนเข้าใจดีอยู่แล้ว การเดินหน้าแก้ปัญหา กทม.จึงยังเป็นเส้นทางที่ปลอดภัยที่สุด