เสียงอันศักดิ์สิทธิ์ของความเงียบ / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

เสียงอันศักดิ์สิทธิ์ของความเงียบ

 

พจนานุกรม ฉบับ อ.เปลื้อง ณ นคร ได้ให้ความหมายของคำว่า “เสียง” ไว้ว่า เสียง (น.) ความสะเทือนที่ปรากฏแก่หู, สิ่งที่ได้ยินด้วยหู, คำที่เปล่งออก เช่น เสียงลือ = คำร่ำลือ

แต่ “เสียง” จะหมายถึงสิ่งที่เราสามารถได้ยินอย่างคำนิยามในพจนานุกรมเท่านั้นจริงหรือครับ?

จอห์น เคจ (John Cage, ค.ศ.1912-1992) นักประพันธ์เพลงชื่อดังชาวอเมริกัน เคยเสนอว่าสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับ “เสียง” ก็คือ “ไม่มีเสียง”

คุณสมบัติของเสียงมีอยู่ 4 ประการ ประกอบไปด้วย 1.ระดับเสียง (สูง-ต่ำ) 2.เนื้อเสียง (timber) 3.ความดัง-เบา และ 4.ระยะความสั้น-ยาว (ของเสียง) ดังนั้น จึงมีเพียงข้อสุดท้ายเพียงข้อเดียวที่เป็นคุณสมบัติของทั้ง “เสียง” และ “ไม่มีเสียง” ได้ นั่นคือ ความสั้น-ยาวของการ “มี” หรือ “ไม่มี” เสียง ซึ่งก็คือ “ความเงียบ”

เคจจึงสรุปว่า โครงสร้างของ “ดนตรี” ที่ถูกต้องควรสร้างขึ้นจากความ “มี” และ “ไม่มี” ของเสียง ไม่ใช่ไปให้ความสำคัญกับกับเรื่องของระดับเสียง เนื้อเสียง หรือความดัง-เบา ซึ่งจัดเป็นคุณสมบัติชั้นรองลงไปเท่านั้น

อติภพ ภัทรเดชไพศาล ได้อธิบายแนวคิดดังกล่าวของเคจเอาไว้ในข้อเขียน การหมุนเวียนเปลี่ยนผันของ “จังหวะ” อำนาจและความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือรวมบทความของคุณอติภพที่ชื่อ เสียงของความเปลี่ยนแปลง : ภาพสะท้อนของการเมือง สังคม และวัฒนธรรมในเสียงดนตรี (จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สมมติ, พ.ศ.2555) ว่า การนำเสนอขั้วตรงข้ามทั้งสองนั้นไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นเรื่องของ “จังหวะ” (rhythm) ที่ความ “มี” ถูกสลับด้วยความ “ไม่มี” และสุดท้ายก็ “ซ้ำ” มาสู่ความ “มี” อีก

ดังนั้น ตามทัศนะของเคจ “ดนตรี” ซึ่งก็ถือเป็น “เสียง” ประเภทหนึ่งจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการได้ยินเสียงเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากการไม่ได้ยินเสียงที่สลับคั่นอยู่ด้วย เราสามารถปะติดปะต่อใจความในดนตรีนั้นได้จากการเกี่ยวพันกันไปมาระหว่างความ “มี” และ “ไม่มี” เสียง อย่างที่คุณอติภพอธิบายว่าคือ “จังหวะ” จนทำให้จินตกรรมถึงใจความของดนตรีนั้นได้ในที่สุด

 

ในกรณีนี้เราจึงมีลู่ทางที่จะ “ได้ยิน” เสียงของ “ความเงียบ” ได้ แต่ความเงียบจะส่งเสียงมาให้เราได้ยินได้ยังไงกันล่ะครับ ในเมื่อความเงียบหมายถึงความไม่มีเสียงไม่ใช่หรือ?

ผมขอเดาว่าความเงียบได้ส่งเสียงมาผ่านทางประสบการณ์ของเราเอง ตัวอย่างง่ายๆ ก็คือเรื่อง “จังหวะ” อย่างที่คุณอติภพว่าไว้ เพราะจังหวะคือการซ้ำความ และการซ้ำความก็ทำให้เราคาดการณ์ถึงอนาคตที่จะเกิดขึ้นต่อไปข้างหน้าได้ อย่างน้อยก็ในจังหวะของดนตรีเพลงเดิมนั่นแหละ

ตัวอย่างของดนตรีที่เกิดจากประสบการณ์ ไม่ใช่แค่เสียง คงจะเห็นได้ชัดๆ จากเรื่องราวของเคจอีกเหมือนกัน เพราะจอห์น เคจ คนดีคนเดิมนั้น เคยประพันธ์บทเพลงอันลือลั่นที่ชื่อว่า 4’33” ซึ่งเป็นไม่มีการบรรเลงดนตรีใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเป็นเพียงการให้นั่งเฉยๆ บนเวทีเป็นเวลา 4 นาที กับอีก 33 วินาที เท่านั้น โดยได้จัดแสดงไปตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2495

ถึงแม้ว่าวิธีการประพันธ์ดนตรีของเคจจะชวนให้นึกถึงงานศิลปะชิ้นดังล้ำสมัยยุคที่จัดแสดงงานครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2460 คืองานที่ชื่อ “น้ำพุ” (Fountain) ของมาร์เซล ดูชอมป์ (Marcel Duchamp)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีหลักฐานว่า ผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นของ ศิลปินหญิงที่ชื่อ เอลซ่า วอน เฟรย์ทาค-โลริงโฮเวน [Elsa von Freytag-Loringhoven] มากกว่า) ซึ่งเป็นการนำเอาโถปัสสาวะที่มีลายเซ็นของศิลปินกำกับอยู่ เข้าไปวางไว้ในแกลเลอรีเพื่อจะบอกว่าอะไรๆ ก็คือศิลปะได้ ถ้ามันถูกจัดวางอยู่ในหอศิลป์

เช่นเดียวกับเคจที่ใช้อำนาจของออดิทอเรียม (auditorium) หรือหอจัดแสดงดนตรี ในการใช้เสียงทุกชนิดที่ได้ยินในนั้นให้เป็นเสียงดนตรีด้วย แต่ก็แน่นอนว่า ผลงาน 4’33” ของเคจนั้น ได้รับแจกฟักจากผู้ชมมากกว่าดอกไม้ไปตามระเบียบ

เพราะจากประสบการณ์แทบทั้งหมดของผู้ชมในครั้งนั้น “ดนตรี” คือ “เสียง” ที่เกิดจากเครื่องดนตรีนานาชนิด หรือเสียงที่เปล่งออกมาเป็นท่วงทำนองจากปากของนักร้อง ไม่ใช่เสียงจังหวะการเต้นของหัวใจของผู้ชม เสียงของสิ่งต่างๆ ทั้งที่อยู่ภายในออดิทอเรียม เสียงที่แทรกมาจากภายนอก หรือแม้กระทั่งกระซิบกระซาบด้วยความงุนงงของผู้ชม อย่างที่เคจนำเสนอ

อย่างไรก็ตาม ดนตรีมักจะถูกนิยามให้ต่างจากเสียงโดยทั่วไปเสมอ ดังนั้น เคจจึงต้องใช้ทั้งออดิทอเรียม เครื่องดนตรี และนักดนตรี เพื่อดึงเอาประสบการณ์ หรือความรับรู้ของผู้ชมมาจินตกรรม “เสียง” ต่างๆ ที่ตัวเองได้ยิน (ส่วนจะเป็นเสียงของอะไรบ้างนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง) ขึ้นมาเป็นเสียงดนตรี เพียงแต่ว่าความคาดหวังของผู้ชมไปไม่ถึงอัจฉริยภาพของเคจเท่านั้นเอง

ในกรณีนี้จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่แค่ความ “มี” หรือ “ไม่มี” เสียง เท่านั้น “ภาพ” คือสิ่งที่ “เห็น” ซึ่งเกิดมาจากประสบการณ์ ความรับรู้ร่วมกันในสังคมที่เป็นส่วนหนึ่งของ “วัฒนธรรม” ก็มีส่วนช่วยในการทำให้เราได้ยิน “เสียง” ต่างๆ อีกด้วย

 

ดังนั้น จึงไม่ต้องตกใจไปนะครับ ที่ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนจะฟังเพลงสมัยใหม่ไม่รู้เรื่อง เพราะมันใช้หู “ฟัง” อย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องใช้ตา “ดู” เข้าไปด้วย ซ้ำถ้าใช้สายตาฝ้าฟางดูไปก็รังแต่จะไม่รู้เรื่องยิ่งขึ้น ต้องตาของคนที่อยู่ร่วมในวัฒนธรรมเดียวกับเพลงสมัยใหม่พวกนี้ถึงจะช่วยให้ใช้ “ตา” ฟังเพลงสมัยนี้ให้รู้เรื่องไปด้วย

กรณีของดนตรีก็ไม่ต่างไปจากกรณีการรับรู้ถึง “เสียง” ประเภทอื่นๆ ตัวอย่างที่ดีของเสียงที่เราเกือบจะไม่ได้ยินเลย แต่กลับสามารถรับรู้ถึงและ “อำนาจ” ของเสียงนั้นอยู่ตลอด

ตัวอย่างเช่น พวกพราหมณ์สยามที่มีบรรพชนเป็นทมิฬ ก็ให้ความสำคัญกับการออกเสียงด้วยท่วงทำนองที่อ้างว่าเป็นอย่างดั้งเดิม ทั้งตัวอักษรที่จดจารพระคัมภีร์และ “เสียง” ที่อ่านออกมาจึงเป็นตัวแทนของความศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าเสียงของความศักดิ์สิทธิ์จากปากพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีจะเปล่งเสียงดังพอให้ผู้เข้าร่วมพิธีได้ยินหรือไม่ก็ตามที

เพราะแค่พราหมณ์ขมุบขมิบปากก็ศักดิ์สิทธิ์แล้ว

นี่ไม่ต่างอะไรกับม้าทรงหรือพ่อมดหมอผี ที่พร่ำบ่นมนต์ที่เราทั้งไม่รู้ความหมาย และที่จริงแล้วเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาพูดอะไรอยู่หรือเปล่า? แต่เราก็สามารถรับรู้ได้ถึงเสียงและอำนาจ ความศักดิ์สิทธิ์ ของเสียงพร่ำบ่นมนต์ที่พวกเขาสวดอยู่

“ความศักดิ์สิทธิ์” จึงทำให้ “เสียง” ข้ามผ่าน “การได้ยิน” เป็นเพียง “การรับรู้” หรือ “ระลึกได้” นั่นเอง

 

อติภพ ภัทรเดชไพศาล คนเดิมให้ความเห็นต่อกรณีนี้ไว้ในบทความที่ชื่อว่า ประชาธิปไตยในเสียงดนตรี ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือรวมบทความเล่มเดิมว่า ในบางกรณี “การไม่ได้ยิน” ก็ทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ เพราะ “ความเงียบ” สร้างให้ “ความรู้” ในเสียงที่ท่องบ่นอยู่ในใจ แต่แสดงออกด้วยอากัปกิริยาที่อ้างไปถึงการเกิดเสียงกลายเป็น “ความลับ”

และก็เป็นเจ้า “ความลับ” นี่เองที่ทำให้เจ้าของอากัปกิริยาที่อ้างไปถึงกำเนิดของ “เสียง” กุม “อำนาจ” ของ “ความศักดิ์สิทธิ์” เอาไว้ได้

ผมอยากจะเพิ่มเติมอีกด้วยว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากการ “มี” หรือ “ไม่มี” เสียงเท่านั้น “ภาพ” ที่เห็นก็สำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นตัวเนื้อพิธีกรรม เสื้อผ้าหน้าผมและท่วงท่าของพราหมณ์หรือพ่อมดหมอผี แถมยังมีอักขระบนใบลานหรือสมุดไทยที่อ่านกันไม่ออกแล้ว จนต้องเขียนคำอ่านกำกับอยู่ที่ตัวอักษรเดิมเพื่อความศักดิ์สิทธิ์อยู่ทุกประโยค (ก็ถ้าเจ้าสมุดไทยและตัวอักษรไม่ช่วยให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งพระทั้งพราหมณ์ท่านคงโละทิ้งจนไปอ่านบนไอแพด หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ กันหมดแล้ว)

ลักษณะอย่างนี้จึงไม่ต่างอะไรกันเลยกับเรื่องของดนตรีที่ฟังด้วยหูอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้ทั้งตา ทั้งประสบการณ์ และการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมด้วย

“เสียง” ของ “ความเงียบ” จึงทั้ง “ศักดิ์สิทธิ์” ทั้งมี “อำนาจ” แต่ความศักดิ์สิทธิ์ที่ว่า ไม่ได้เกิดขึ้นจากความเงียบเชียบเพียงอย่างเดียว เพราะยังจำเป็นต้องมีเงื่อนไขอื่นๆ อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ดังนั้น อำนาจที่แท้จริงจึงขึ้นอยู่กับผู้ที่สามารถกำกับให้เกิดเสียง หรือความเงียบขึ้นมาด้วยพลังบางอย่าง เช่น พลังจากวัฒนธรรม พลังจากกฎหมาย พลังจากคนส่วนมากของสังคม หรือพลังจากช่วงชั้นทางสังคม เป็นต้น นั่นเอง •