กพีร์ : ไม่ใช่ทั้งฮินดูหรือมุสลิม / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

กพีร์

: ไม่ใช่ทั้งฮินดูหรือมุสลิม

 

“หากคุรุและพระโควินท์ (พระกฤษณะ-พระเป็นเจ้า) ทั้งคู่ปรากฏอยู่ต่อหน้า เธอพึงสักการะใครก่อน?

เธอพึงสักการะคุรุ ด้วยเหตุว่า ก็ท่านนั่นแหละที่ทำให้เธอรู้จักพระโควินท์”

บทกวีที่มีชื่อเสียงนี้เป็นของท่านนักบุญกพีร์ (Kabir) หรือที่ชาวฮินดูมักเรียกว่ากพีระทาส ผู้ปฏิเสธว่าตนเองไม่ใช่ทั้งฮินดูหรือมุสลิม ทว่า มีคนรักนับถือทั้งในฝากฝั่งฮินดูและมุสลิมอยู่ไม่น้อย และบทกวีของท่านก็ครองใจผองชนอย่างมากมายมหาศาล

แม้แต่ ดร.อัมเบ็ดการ์ (ที่ถูกควรเขียน อามเพฑกร) ถึงกับนับถือท่านเป็นสามคุรุในชีวิต อันได้แก่ พระพุทธะ กพีร์ และนักบุญคาฑเคบาบา

หลังจากที่ผมได้เขียนเรื่องราวของนักบุญแห่งพระวิโฐพาในนิกายวารกรีไปส่วนหนึ่งแล้ว นักบุญเหล่านั้นล้วนอยู่ในแคว้นมหาราษฎร์ ผมมีความคิดต่อไปว่าน่าจะได้เขียนถึงนักบุญนอกเหนือจากนิกายวารกรี ซึ่งท่านเหล่านั้นไม่ว่าจะอยู่ในส่วนใดของอินเดียก็มีอิทธิพลต่อชาวบ้านธรรมดาและทำให้ศาสนาฮินดูกลายเป็นศาสนาที่มีความลุ่มลึก มีมิติของการเคารพความเท่าเทียมและความรักในเพื่อนมนุษย์

ยิ่งหากในปัจจุบัน ผู้คนในบ้านเราดูเหมือนจะสนใจศาสนาฮินดูมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความสนใจดังกล่าวกลับเน้นไปยังเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ พิธีกรรมซับซ้อนพันลึก ตำนานทวยเทพ ความสูงส่งของข้อมูลความรู้ที่แข่งกันว่าใครจะถูกต้องกว่าใคร ราวกับศาสนาฮินดูไม่มีมนุษย์อยู่ในนั้น ไม่มีมิติทางอารมณ์ความรู้สึก ไม่มีการปฏิรูป เป็นศาสนาฮินดูแบบขึ้นหิ้ง ทำให้เรากลายเป็นพราหมณ์ยิ่งกว่าพราหมณ์ หรือไม่ก็ตอกย้ำว่าเป็นศาสนาแห่งชนชั้นและไร้เหตุผล

เรื่องราวของนักบุญ คนต่ำต้อยทั้งหลาย การตั้งคำถามกับความศักดิ์สิทธิ์ของชนชั้นนำ การย้อนกลับมาสู่ความเรียบง่ายและความรัก ซึ่งได้กลายเป็นส่วนประกอบที่สำคัญของศาสนาฮินดูกลับเป็นสิ่งที่มักไม่ถูกพูดถึงหรือแทบไม่ถูกพูดถึง

ด้วยเหตุนี้และพรจากครูบาอาจารย์ ผมจึงมีแรงดลใจที่จะเขียนเรื่องราวของนักบุญทั้งหลายแห่งอินเดียเท่าที่ผมจะค้นคว้าได้ ทว่า ก็เช่นกบน้อยในแอ่งกะลาเล่าเรื่องมหาสมุทรใหญ่กว้าง ย่อมมีผิดพลาดและโง่เขลา ขอท่านผู้อ่านโปรดอภัยด้วย

วันนี้อยากเล่าถึงท่านนักบุญกพีร์ ในฐานะนักบุญยุคกลางคนสำคัญในอินเดียภาคเหนือ

 

กพีร์ เป็นนามภาษาอาหรับ เป็นคำเรียกขานพระเป็นเจ้าในศาสนาอิสลามที่แปลว่ายิ่งใหญ่ ท่านถือกำเนิดในเมืองพาราณสีราวคริสต์ศตวรรษที่สิบสี่หรือสิบห้า

ตำนานเล่าว่า ที่จริงกพีร์เป็นลูกชายของบุตรีพราหมณ์คนหนึ่ง เธอท้องโดยที่ไม่ได้แต่งงาน ด้วยความอับอายจึงนำลูกที่เพิ่งถือกำเนิดของตนไปทิ้งที่ทะเลสาบ เด็กน้อยลอยอยู่บนใบบัวจนมีมุสลิมสองผัวเมีย นีรูและนิมมาเก็บไปเลี้ยงดู

เด็กชายกพีร์เติบโตขึ้นมาอย่างมุสลิม ครอบครัวของเขามีชาติ (การแบ่งคนด้วยชาติกำเนิด) เป็นช่างทอผ้า ซึ่งนับว่าต่ำต้อยแม้ในหมู่คนมุสลิมด้วยกัน

กพีร์ช่วยงานทอผ้าของบิดามารดาจนเติบใหญ่ ว่ากันว่าท่านแต่งงานกับสตรีนามโลอี มีบุตรชายสองคนชื่อ กมัลและนิหัล และบุตรสาวสองคนคือ กมาลีและนิหาลี

บรรยากาศของพาราณสีเวลานั้นเต็มไปด้วยนักปราชญ์นานาศาสนาและความเชื่อ ทั้งฮินดู พุทธ ไชนะ คริสต์ และมุสลิม ซึ่งได้มีอิทธิพลปกครองภาคเหนือส่วนใหญ่ของอินเดียแล้ว กพีร์ไม่เคยร่ำเรียนหนังสือ แต่ได้ศึกษาหาความรู้จากปราชญ์ทั้งหลายเท่าที่จะเป็นไปได้

ผู้นับถือท่านชาวฮินดูมักจัดท่านให้อยู่ในฟากฝ่ายไวษณวนิกาย

ชาวมุสลิมก็จัดท่านให้อยู่ในพวกซูฟี (Sufi)

ส่วนชาวซิกข์ถือว่าท่านเป็นครูของคุรุนานักเทพ ปฐมคุรุของซิกข์ บทกวีของท่านยังถูกบรรจุลงในอาทิคุรุครันถะสาหิพ คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์และพระศาสดานิรันดร์กาลของชาวซิกข์อีกด้วย

ส่วนนักปฏิบัติเห็นท่านเป็นพวกรหัสยะนิยม (Mysticism)

 

ตํานานฝ่ายฮินดูเล่าว่า ท่านเป็นศิษย์ของนักบุญรามานันทะ ผู้เป็นศิษย์แห่งปราชญ์รามานุชาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ รามานันทะไม่ประสงค์จะปฏิบัติตามกฏของวรรณะในสำนักเดิม เช่น ครูที่เป็นพราหมณ์จะไม่กินอาหารร่วมกับศิษย์วรรณะอื่น ท่านจึงเดินทางจากอินเดียใต้มายังพาราณสีและรับศิษย์ทุกชนชั้น

พิธีรับกพีร์เป็นศิษย์ของรามานันทะเป็นตำนานที่ประหลาดและชวนขัน ว่ากันว่า ทุกๆ เช้ารามานันทะจะเดินลงไปสรงน้ำคงคาที่ท่าน้ำแห่งหนึ่ง กพีร์ประสงค์จะพบท่านจึงไปรอตั้งแต่ก่อนสว่าง วันนั้นบรรยากาศมืดมิดเป็นพิเศษ รามานันทะจึงเดินเหยียบกพีร์ที่นอนรออยู่ตรงท่าน้ำโดยไม่ทันเห็น ท่านตกใจพลางอุทานออกนามพระเจ้า “ราม ราม!”

กพีร์ถือว่าเหตุการณ์นั้น ท่านได้รับการอภิเษกมนตราตามที่มักปฏิบัติกันในพิธีรับศิษย์จากรามานันทะเรียบร้อยแล้ว แถมยังได้รับพรจากเท้าของครูอีก รามานันทะคงชอบใจในมุมมองดังกล่าว แม้ตัวท่านจะเป็นฮินดูแต่ก็ไม่ปฏิเสธศิษย์มุสลิม

ด้วยเหตุนี้ บทกวีของท่านกพีร์จึงเรียกพระเจ้าทั้งในแบบฮินดูและมุสลิมปนๆ กันไป ท่านเรียกพระเจ้าว่าราม, โควินทะ, ปรมาตมา หรือเรียก รอฮีม อัลเลาะห์ กะรีม ฯลฯ ทว่า สำหรับท่านแล้ว พระเจ้าไม่ได้อยู่ในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง แต่ทรงพ้นไปจากศาสนาต่างๆ และความสัมพันธ์ที่ถูกต้องกับพระเจ้าคือความรักเท่านั้น มิใช่ความหวาดกลัว

 

บรรยากาศของสังคมในเวลาที่กพีร์มีชีวิตอยู่นั้น อินเดียเต็มไปด้วยความแตกแยก ผู้ปกครองมุสลิมทั้งอัฟกันและมุฆัล (โมกุล) ขัดแย้งกับชาวฮินดูซึ่งเป็นประชากรส่วนมาก มีทั้งช่วงเวลาที่ผ่อนปรนและเข้มงวด แม้ในระดับชาวบ้าน ศาสนิกทั้งสองมักกระทบกระทั่งกันเสมอในเมืองใหญ่ที่วุ่นวายอย่างพาราณสี

ด้วยเหตุนี้ ท่านกพีร์จึงไม่ได้เพียงแค่โต้แย้งระบบวรรณะ พิธีกรรมไร้เหตุผล หรืออำนาจของพวกนักบวชดังเช่นบรรดานักบุญก่อนหน้า แต่ท่านยังต้องประสานความขัดแย้งระหว่างมุสลิมและฮินดู ในขณะที่ก็โต้แย้งทั้งสองฝ่ายอย่างรุนแรงด้วย

“ผมดำขลับยามเยาว์ก็กลับขาว อายุก็ร่วงพราวราวหิมะ ทว่า ตัณหาในใจไม่ชราตาม

สิ่งใดกันที่เจ้าให้ค่า ถือพรตอดอาหาร? สวดมนต์? เสียงเรียกละหมาด? หรือการตายลงในกระท่อมเล็กๆ อย่างนักบวช? พระเวทและปุราณะที่พวกบัณฑิตขับขาน อัลกุรอ่านที่พวกเมาลาน่า (ปราชญ์มุสลิม) ศึกษา

กพีร์กล่าว ทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่นรก หากปราศจากการรับรู้ ‘ราม’ ในทุกๆ ชั่วขณะ”

“ราม” ของกพีร์ไม่ใช่แค่พระรามในรามายณะ ทว่า หมายถึงนามอันยิ่งใหญ่ของพระเจ้า เป็นตัวแทนนามของพระเจ้าที่ชาวฮินดูใช้ ซึ่งมิได้ต่างกับนามรอฮีมหรือนามอัลเลาะห์ของชาวมุสลิม

ที่จริงชีวิตของกพีร์เต็มไปด้วยความลำบากยากจน ท่านถูกหยามเหยียดจากพฤติกรรมและคำสอนแปลกประหลาด จากทั้งฮินดูและมุสลิม เป็นต้นว่า ท่านสวมหมวกอย่างคนมุสลิมแต่เจิมดิลกอย่างฮินดู รวมถึงคำสอนดังที่ได้กล่าวมา

“ฉันนำคำสอนแห่งความหลุดพ้นมาสู่ชาวฮินดูและมุสลิม หักราญการยึดติดพันธะทางโลก ทว่าฉันก็ไม่ใช่ทั้งคู่”

แม้ท่านจะดูโอนเอียงมาทางฮินดูหรือใช้ศัพท์แสงทางนั้น ก็เพียงเพราะท่านมีคุรุเป็นฮินดู กระนั้น สิ่งที่ต่างกับนักบุญคนอื่นๆ คือท่านถือว่าความเป็นมนุษย์และความรักที่มีต่อพระเจ้าควรถูกถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมากกว่าอะไรอื่น แม้แต่ศาสนาก็สำคัญน้อยกว่า ท่านกล่าวว่า “มิมีศาสนาใดจะมีค่ายิ่งไปกว่าการรักสรรพสิ่งรอบตัวเธอ”

แม้กพีร์ไม่ได้ตั้งลัทธินิกายใดๆ แต่อนุชนถือว่าท่านเป็นปฐมคุรุของนิกายกพีรปัณฑะ บ้างก็ถือว่าท่านเป็นการปรากฏของพระเจ้าเพื่อสั่งสอนทีเดียว เมื่อท่านสิ้นใจ ศิษย์ทั้งฝ่ายฮินดูและมุสลิมต่างขัดแย้งกันที่จะจัดการศพท่าน ฮินดูจะเผา ส่วนชาวมุสลิมจะฝัง ตำนานเล่าว่า สุดท้ายใต้ผ้าห่อศพ ปรากฏเพียงช่อดอกไม้ที่แต่ละฝ่ายจะนำไปปฏิบัติตามความเชื่อตนเท่านั้น

 

ผมขอจบบทความด้วยบทกวีบทหนึ่งของท่าน ดังนี้

“ถ้าขุทา (นามพระเจ้าหนึ่งของอิสลาม) จะอยู่เพียงในมัสยิด ใครกันเล่าจะเฝ้ารักษาส่วนอื่นของโลก

ถ้ารามจะสถิตเพียงในเทวรูปของเทวสถาน ใครกันเล่าจะเฝ้าถนอมจักรวาลนี้

ตะวันตกเป็นทิศวิมานพระหริ? ส่วนตะวันออกก็สวรรค์พระอัลเลาะห์กระนั้นหรือ?

สำรวจลึกไปในหัวใจของเธอสำหรับทั้งคู่นั้น

พระองค์ดำรงอยู่ในนาม ‘การีม’ (นามพระเจ้าหนึ่งของอิสลาม) และ ‘ราม’

ทั้งคู่เป็นหนึ่งเดียวมิต่างกัน เป็นผู้รังสรรค์สกลจักรวาล

ชายและหญิงล้วนเป็นฉายาของพระองค์

สำหรับกพีร์ ผู้เป็นบุตรของทั้งการีมและราม

ครูของเขาเป็นทั้งคุรุและปีร์ (นักบุญมุสลิมซูฟี)”

กพีร์ •