คำ ผกา | เศรษฐกิจชุดนักเรียน

คำ ผกา

มีเรื่องที่ไม่น่าและไม่ควรจะเป็นเรื่องอีกต่อไปนั่นคือ “เรายังจำเป็นต้องมีชุดลูกเสือ เนตรนารีหรือไม่?”

หลังจากที่ผู้ปกครองเปิดเผยราคาค่าเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารีที่มีราคาค่อนข้างสูง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ทุกอย่างขึ้นราคาทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง แก๊สหุงต้ม เนื้อสัตว์ ไข่ ผัก ข้าวสาร

วิกฤตโควิดที่ผ่านมาทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ “สิ่งเล็กๆ” ที่ไม่เคยเป็นประเด็นมาก่อนก็ก่อให้เกิดคำถามว่า “ถ้าไม่มีจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้นะ”

เมื่อ 20 ปีก่อนหากมีใครบอกว่า อยากให้ยกเลิกเครื่องแบบนักเรียนไปจนถึงเครื่องแบบทุกชนิดของนักเรียนรวมถึงนักศึกษา มันจะเป็นประเด็นการใช้อำนาจควบคุมร่างกายของพลเมืองเพื่อผลทางอุดมการณ์ เพื่อให้นักเรียนที่เป็นเยาวชนของชาติ ได้เรียนรู้ ซึมซับ กติกา อุดมการณ์ อำนาจ ที่ต่ำที่สูงตามไวยากรณ์แห่งอำนาจของสังคมนั้นๆ เกี่ยวกันกับลักษณะอำนาจนิยม และสังคมที่นิยมรัฐบาลเผด็จการ ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอ่อนแอ

และเรื่องนี้มักจะถูกต่อต้านจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ ว่า ไม่ควรยกเลิกเครื่องแบบ ไม่ควรยกเลิกระเบียบทรงผม

วาทกรรมซ้ำซากที่เราได้ยินอยู่เสมอคือ

– ชุดนักเรียนช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ใส่เสื้อผ้าเหมือนกันจะได้ไม่รู้ว่าใครจนใครรวย คนที่บ้านไม่รวยจะได้ไม่มีปมด้อย

– เครื่องแบบนักเรียนช่วยสร้างวินัย ใส่ชุดเหมือนๆ กันหมดดูน่ารัก เรียบร้อย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

– เครื่องแบบนักเรียนทำให้เด็กนักเรียนไม่กล้าทำความผิดเวลาอยู่นอกโรงเรียน เพราะคนจะรู้ทันทีว่ามาจากโรงเรียนไหน

– ชุดนักเรียนช่วยประหยัดเงิน เด็กจะได้ไม่ฟุ้งเฟ้อแต่งตัวตามแฟชั่น

– ทรงผมที่ต้องตัดสั้นเกรียน ติ่งหู เพื่อให้เด็กไม่ต้องห่วงสวยห่วงหล่อ เดี๋ยวจะแรด ห่วงสวยห่วงหล่อจนไม่เป็นอันร่ำอันเรียน

– เด็กนักเรียนต้องรู้จักสะกดข่มใจ ไม่ทำอะไรตามใจตนเอง การสมาทานกฎเรื่องทรงผม เล็บ เสื้อผ้า ถุงเท้า รองเท้า เป็นแบบฝึกหัด ฝึกตัว ครองตน เพื่อให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่แหกคอก ไม่แหกกฎ ไม่สร้างความเดือดร้อนรำคาญให้แก่ผู้อื่น ประพฤติตนอยู่ในทำนองคลองธรรมอันดี

และที่ฉันประหลาดใจอยู่เสมอมาคือ ถ้าข้ออ้างเหล่านั้นเป็นจริง ทำไมประเทศโลกที่ 1 ประเทศพัฒนาแล้ว และประเทศที่ได้ชื่อว่าติดอันดับคุณภาพการศึกษาดีอันดับต้นๆ ของโลก ล้วนแต่เป็นประเทศที่ไม่บังคับให้สวมเครื่องแบบนักเรียนทั้งสิ้น

ทีนี้ทางฝ่ายที่คิดว่าเครื่องแบบนักเรียนไม่จำเป็นก็มักมีเหตุผลง่ายๆ ว่า “จะใส่ชุดอะไรก็เรียนหนังสือได้เหมือนกัน ดังนั้น ยกเลิกเครื่องแบบไปก็ได้”

ซึ่งฉันก็ไม่เห็นด้วยอีก

เพราะประเด็นสำคัญคือ การบังคับ “ร่างกายนักเรียน” ให้เชื่องและสยบยอมต่ออำนาจผ่านการบังคับเครื่องแบบ – ที่มีลักษณะจำเพาะอย่างเครื่องแบบนักเรียนของโรงเรียนไทย – มีผลกระทบต่อการใช้งานสมองและตรรกะ เพราะมันช่วยผลิตพลเมืองที่ “เชื่อง” ต่ออำนาจรัฐที่กดขี่

หรือพูดได้ว่ามันคือส่วนหนึ่งของเครื่องมือในการสร้างทาสที่ปล่อยไม่ไปในสังคมของเรา

และมันก็ค่อนข้างย้อนแย้งเลยทีเดียว นั่นคือถ้าอำนาจรัฐเผด็จการของไทยจะมีความสามารถสักนิดที่จะบริหารประเทศให้คน “กินดีอยู่ดี” มีเงินในกระเป๋า ป่านนี้เราก็ยังจะมีผู้ปกครองที่ยินดีจ่ายค่าชุดนักเรียน ชุดพละ ชุดพื้นเมือง ชุดลูกเสือ ชุดเนตรนารี และอีกทุกๆ ชุด เพราะเขาไม่ลำบากเรื่องเงิน

แต่อนิจจา รัฐบาลอำนาจนิยมก็ขาดความสามารถในเครื่องนั้น เกือบ 8 ปีที่อยู่ในอำนาจ สิ่งเดียวที่ทำได้ดีคือทำให้เงินในกระเป๋าของประชาชนลดลง ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น สถิติเด็กนักเรียนที่ยากจนเพิ่มสูงขึ้น จำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาสูงขึ้น

“ค่าใช้จ่าย” จึงกลายมาเป็นคำถามสำคัญ

ระหว่างค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าเดินทางไปโรงเรียน กับค่าชุดลูกเสือ เนตรนารี – ผู้ปกครองคิดว่าค่าใช้จ่ายไหนจำเป็นและไม่จำเป็น?

มนุษย์ที่มีสติสัมปชัญญะดีก็ต้องตอบได้ว่า ในทุกรายจ่ายทั้งหมดนี้ สิ่งที่น่าจะตัดไปได้เลยคือ ค่าชุดลูกเสือ เนตรนารี เพราะใส่แค่สัปดาห์ละ 1 วัน

และต่อให้ไม่มีเครื่องแบบครบชุดก็ไม่น่าจะเป็นอุปสรรคต่อการเรียน และทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับความอยากจะขบถต่ออำนาจรัฐ อำนาจนิยม อำนาจครอบงำอุดมการณ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นเรื่องเศรษฐศาสตร์ปากท้องล้วนๆ

และเมื่อความทราบถึงกระทรวงศึกษาธิการ แทนที่กระทรวงจะเข้าใจเงื่อนไขนี้และฉวยโอกาสสร้างคะแนนนิยมกับประชาชนด้วยการประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายเครื่องแบบให้มีความเป็นสากล ดูก้าวทันโลกสมกับดูแลเรื่องการศึกษาว่า เราควรปฏิรูปเรื่องนี้กันใหม่เถอะ

สิ่งที่กระทรวงศึกษาฯ ออกมาพูดคือ น่าเห็นใจผู้ปกครองที่มีปัญหาทางการเงิน ดังนั้น เดี๋ยวเราจะเพิ่มงบฯ อุดหนุนเรื่องเครื่องแบบ

เอิ่ม เพิ่มงบฯ อุดหนุนเรื่องเครื่องแบบ เท่ากับเพิ่มภาระทางงบประมาณ เท่ากับผลักภาระนี้ไปที่ภาษีประชาชน

ตรงนี้เอาอะไรคิด?

ใจคอจะไม่สามารถคิดอะไรนอกกรอบ ทะลุกรอบกับเขาบ้างเลยหรือ?

ถ้าคิดว่าวิชาเนตรนารี ยุวกาชาด ลูกเสือ ยังจำเป็นก็ไม่ว่ากัน แต่ลองปรับชุดเหล่านี้เป็นเสื้อโปโล กับกางเกงวอร์มเท่ๆ ออกแบบเก๋ๆ ซึ่งถ้าผลิตเยอะ ราคาจะถูกลง (นึกถึงแบรนด์ fast fashion แบบยูนิโคล่)

จากนั้นรักษาสัญลักษณ์ไว้แค่ผ้าพันคอ หรือเข็ม หรือแผ่นตราวงกลม สามเหลี่ยม badge หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เห็นว่าสำคัญ – เท่านี้เราก็เรียนลูกเสือ เนตรนารีได้เหมือนเดิม

สิ่งที่ไม่เหมือนเดิม คือ ชุดเสื้อโปโล และกางเกงวอร์มเท่ๆ นี้ สามารถใส่ได้บ่อยๆ แม้ไม่ใช่วันเรียนลูกเสือ ใส่ไปเที่ยว ไปเล่นกีฬา ไปออกกำลังกาย และจะให้ดี ให้ใช้ชุดนี้กับชุดพละเป็นชุดเดียวกัน เพียงแต่ไม่ต้องมีผ้าพันคอ

กระทรวงศึกษาธิการยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองด้วยการ encourage ให้โรงเรียน minimalized เครื่องแบบให้เรียบง่าย และน้อยชิ้นลง เช่น รองเท้า เป็นรองเท้าผ้าใบทั้ง 5 วัน เพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง ยกเลิกระเบียบถุงเท้าต่างๆ ให้เป็นวิจารณญาณ รสนิยม และงบประมาณ

แค่นี้ก็ประหยัดไปได้เยอะ

และถ้ายังไม่อยากจะยกเลิกเครื่องแบบ ขอเสนอให้เราปรับเครื่องแบบนักเรียนไทยให้สอดคล้องกับกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ให้ง่ายต่อการซักรีด และเป็นเสื้อผ้า multi purpose อเนกประสงค์มากขึ้น

นั่นคือปรับเป็นเสื้อยืด กับกางเกงขายาว ทั้งหญิงและชาย จากนั้นให้นักเรียนชายมีชุดสูท นักเรียนหญิงมีชุดกระโปรง สำหรับงานพิธีสำคัญ ใส่ปีละหนึ่งหรือสองครั้ง – และชุดสูท ชุดกระโปรงนี้ นักเรียนสามารถใช้ใส่ไปงานทางการอื่นๆ ได้นอกเหนือจากเป็นชุดนักเรียน รองเท้าที่ใช้สำหรับชุดเหล่านี้ก็เป็นรองเท้าที่สามารถใส่ไปในโอกาสอื่นๆ ได้นอกจากใส่ไปโรงเรียน

การออกแบบเครื่องแบบใหม่ด้วยวิธีคิดใหม่ที่เน้นความคุ้มค่า ความเหมาะสม และความสง่างามของผู้สวมใส่ น่าจะเป็นทางออกที่วิน-วิน สำหรับทุกฝ่าย ทั้งอุตสาหกรรมชุดนักเรียน ทางโรงเรียนที่ต้องการเป็นอะไรที่เป็นระเบียบเรียบร้อย และผู้ปกครองที่เงินของท่านจะถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่า ตัวนักเรียนที่จะได้สวมเสื้อผ้าที่สะดวกสบายต่อการเคลื่อนไหวใช้ชีวิต

นี่เป็นสิ่งที่รอการ endorse จากกระทรวงศึกษาฯ หาโรงเรียนทำนำร่องและเป็นแบบอย่างให้โรงเรียนทั้งประเทศอยากทำตาม

สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณแม้แต่บาทเดียว