เงินเฟ้อ-สงคราม-น้ำมันพุ่ง โจทย์หินท้าทายรัฐบาล เร่งอัดลงทุน โหมท่องเที่ยวฝ่าวิกฤต/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

เงินเฟ้อ-สงคราม-น้ำมันพุ่ง

โจทย์หินท้าทายรัฐบาล

เร่งอัดลงทุน โหมท่องเที่ยวฝ่าวิกฤต

จากปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในขณะนี้ บวกกับปัจจัยภายนอกประเทศอย่างสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่อเค้ายืดเยื้อยาวนาน เป็นเหตุให้ทั่วโลก โดยเฉพาะไทยได้รับผลกระทบจากค่าน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทุกชนิด

นอกจากนั้น ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จึงทำให้ปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก

ดังนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง

จากข้อกังวลดังกล่าว “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโสด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่าปัจจัยที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อเป็นปัจจัยภายนอก ตั้งแต่การฟื้นตัวจากโควิด-19 ไม่เท่าเทียมกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐเข้าถึงวัคซีนก่อน ฉีดวัคซีนได้รวดเร็ว จึงเปิดประเทศได้ก่อน ประกอบกับการอัดฉีดเงินเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวเร็ว จึงทำให้เกิดความต้องการสินค้าที่เพิ่มสูงมากยิ่งขึ้น

ขณะที่ประเทศที่มีการฉีดวัคซีนอย่างจำกัดอย่างจีน ต้องปิดประเทศบางส่วน เพราะไม่มีวัคซีน mRNA นอกจากนี้ ยังเกิดความไม่สมดุลทางด้านซัพพลายเชน และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งน้ำมันเป็นพื้นฐานของการขนส่งและผลิตสินค้าและเกษตร จึงทำให้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศไทยแตกต่างกับต่างประเทศ

เงินเฟ้อที่สหรัฐเกิดจากเศรษฐกิจดี คนอเมริกันมีเงินเพราะรัฐอัดฉีดเยอะ

แต่เงินเฟ้อของประเทศไทยเกิดจากปัจจัยภายนอก เศรษฐกิจเรายังไม่ฟื้นตัว นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา และยังเจอปัญหาราคาน้ำมันซ้ำเติม

สำหรับความท้าทายในขณะนี้ คือการแก้ปัญหาเงินเฟ้อของไทยมีตัวเลือกไม่มาก สหรัฐแก้ปัญหาเงินเฟ้อด้วยการแตะเบรก ขึ้นอัตราดอกเบี้ย

แต่ไทยจะแตะเบรกอย่างสหรัฐไม่ได้ เพราะจะเกิดปัญหา เศรษฐกิจพัง แต่ถ้าเลือกไม่แตะเบรก เงินเฟ้อก็จะสูงมากขึ้น

ทางเลือกทั้ง 2 อย่าง ไม่มีทางไหนง่ายเลยสำหรับไทย

“นณริฏ” มองว่า วิกฤตในรอบนี้ เศรษฐกิจไทยโตอย่างเหลื่อมล้ำ ยังพอมีคนที่เอาตัวรอดได้ แต่คนจำนวนมากที่ไม่ไหวจะไปอยู่ที่ฐานราก ซึ่งรัฐจะต้องช่วยกลุ่มฐานรากให้มากขึ้น ต้องวางนโยบายให้คนหาเช้ากินค่ำรอดจากวิกฤตนี้

ทั้งนี้ ไทยมีทางเลือก 2 อย่าง คือ

1. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องช่วยโปรโมตหรือทำอย่างไรให้ค่าเงินบาทไม่อ่อนไปกว่าปัจจุบัน

และ 2. รัฐต้องช่วยเหลือมาตรการด้านการคลัง

ในส่วนของภาครัฐเอง ขณะนี้เริ่มเห็นการตื่นตัวมากขึ้นแล้ว เนื่องจากเครื่องยนต์ที่เข้ามาช่วยเหลือเศรษฐกิจไทยอย่างภาคการส่งออก เริ่มได้รับผลกระทบทั้งในเรื่องของค่าน้ำมัน และค่าระวางเรือที่พุ่งสูงขึ้น รวมถึงซัพพลายเชนบางตัวที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ก็เริ่มสะดุดแล้ว

ดังนั้น ถึงเวลาที่รัฐจะต้องกลับมาผลักดันเครื่องยนต์ที่เคยเป็นหนึ่งในการสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอย่างภาคการท่องเที่ยว เพื่อให้ไทยและผู้ประกอบธุรกิจภาคบริการ และที่เกี่ยวข้องได้ประคองธุรกิจต่อไปได้

 

จากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว ล่าสุดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เตรียมเสนอมาตรการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยว หลังจากที่รัฐบาลเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดใหญ่ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ โดยการหารือร่วมกันในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสุดท้าย เพื่อนำเสนอสิ่งที่ต้องการให้รัฐบาลช่วยปลดล็อก และเปรียบเทียบเหมือนเป็นการยอมทุบหม้อข้าวตัวเอง เพื่อให้ภาคการท่องเที่ยวไทย สามารถกลับมาเดินหน้าได้เร็วที่สุด

ทั้งนี้ สำหรับประเด็นที่จะมีการเสนอต่อที่ประชุม ศบค. คือ ขอให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่า มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ธันวาคม 2565 ทั้งวีซ่านักท่องเที่ยว ค่าธรรมเนียม 1,000 บาทต่อคน และวีซ่าหน้าด่าน ค่าธรรมเนียม 2,000 บาทต่อคน เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่ประกาศว่า ปี 2565-2566 ถือเป็นปีของการส่งเสริมท่องเที่ยวไทย

เสนอขยายระยะเวลาพำนักระหว่างท่องเที่ยวในไทยเป็นสูงสุด 45 วัน ทั้งฟรีวีซ่า ผ.30 (แก่ 56 ประเทศ) และวีซ่าหน้าด่าน

รวมถึงการชะลอจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวต่างชาติ หรือค่าเหยียบแผ่นดิน อัตราคนละ 300 บาท ตามที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ตัดสินใจชะลอการจัดเก็บออกไปก่อน

รวมถึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการบังคับสวมหน้ากากอนามัยทั้งในอาคารและที่โล่งแจ้งแก่ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ยังคงคำแนะนำให้สวมใส่ได้ ซึ่งก็ขึ้นกับการตัดสินใจส่วนบุคคลหรือองค์กรนั้นๆ และเสนอขยายเวลาการเปิดให้บริการของเศรษฐกิจภาคกลางคืน

อาทิ สถานบันเทิง ผับ บาร์ สามารถเปิดได้แบบเต็มเวลามากขึ้น แม้ความจริง ททท.ไม่ได้สนับสนุนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แต่ต้องยอมรับว่า การดื่มแอลกอฮอล์ได้ ส่งผลต่อการใช้จ่ายเพิ่มของนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

นอกจากนี้ สิ่งที่จะช่วยสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศอีกทางหนึ่งคือ ภาคการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้มีการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงที่มีแผนเรื่องการลงทุนจำนวนมาก

อย่างกระทรวงคมนาคม ในปี 2565 มีเป้าหมายสานต่อนโยบายเดิมเมื่อปี 2564 ที่ต้องดำเนินการต่อเนื่อง พร้อมผลักดันโครงการลงทุนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งหมด 37 โครงการ วงเงินลงทุนกว่า 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนต่อเนื่อง 13 โครงการ วงเงิน 5.16 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 24 โครงการ วงเงิน 9.74 แสนล้านบาท เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 1.24 แสนล้านบาท และรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.24 แสนล้านบาท เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ในบางโครงการ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ จะดูเหมือนสะดุดลงไปบ้างเนื่องจากต้องเปิดประมูลใหม่รอบที่ 2 จากรอบแรกติดปัญหาเรื่องคะแนนในการตัดสิน แต่ปัจจุบันนี้ ได้ปิดการซื้อขายซองประมูลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีผู้เข้าร่วมชิงเค้กก้อนนี้กว่า 14 ราย

หลังจากนี้ คาดว่าเมื่อการประมูลแล้วเสร็จจะช่วยสร้างความสะดวกสบายให้กับประชาชน รวมถึงสร้างเม็ดเงินให้กับประทศอย่างมหาศาลแน่นอน

แต่ยังต้องลุ้นว่าจะมีปัจจัย หรือผลกระทบใดมาทำให้โครงการล่าช้าอีกหรือไม่ต่อไป