ดัชนี ‘อีพีไอ’ ส่อง ‘ไทย’ / สิ่งแวดล้อม : ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

สิ่งแวดล้อม

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]

 

ดัชนี ‘อีพีไอ’ ส่อง ‘ไทย’

 

ดัชนีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีพีไอ ของมหาวิทยาลัยเยล ปี 2565 จัดให้ประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 108 จากผลการสำรวจศึกษาข้อมูลทั่วโลก 180 ประเทศ เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ดัชนีอีพีไอไทยอยู่ในอันดับ 78 เพียงปีเดียวร่วงหล่นลงถึง 30 อันดับ

จึงเกิดคำถามว่าทำไมการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของไทยย่ำแย่ลงกว่าเดิม?

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยเยลและมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของสหรัฐทั้งคู่ ร่วมจัดทำอีพีไอ (Environmental Performance Index) ประเทศต่างๆ มาตั้งแต่ปี 2549 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

1. การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ

2. สุขอนามัยสิ่งแวดล้อม

3. ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์

ทั้ง 3 ประเด็นหลักนี้ ได้แบ่งรายละเอียดตัวชี้วัดเป็น 40 ประเด็นย่อยๆ ใน 11หมวดหมู่ ครอบคลุมแทบทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การปกป้องทรัพยากรทางทะเล ป่าชายเลน การดูแลป่าไม้ พืชพันธุ์และสัตว์ป่า การใช้ยาฆ่าแมลง การดูแลคุณภาพอากาศ ฝุ่น PM 2.5 การปล่อยก๊าซพิษ คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คุณภาพน้ำดื่ม น้ำเสีย ปริมาณการปล่อยโลหะหนักอาทิสารตะกั่ว การบริหารจัดการขยะและแปรรูปขยะ ฯลฯ

 

ในปีนี้ ทีมวิจัยประมวลข้อมูลและวิเคราะห์ผลของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยแล้วให้คะแนนอีพีไอ อยู่ที่ 38.10

ถ้าเอาคะแนนมาเทียบกับกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ไทยอยู่อันดับที่ 3

อันดับแรกคือ สิงคโปร์ ได้คะแนน 50.90 แต่เมื่อรวมผลอีพีไอทุกประเทศทั่วโลก อีพีไอของสิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 44

บรูไน ดารุสซาลาม ได้อีพีไออันดับ 71 เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มอาเซียน มีคะแนนรวม 45.70

มาเลเซีย อีพีไออันดับ 130 ของโลก เป็นอันดับ 4 ในอาเซียน มีคะแนน 35.00

อันดับ 5 ในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ ลาว อีพีไอ 149 คะแนน 30.70 อันดับ 6 กัมพูชา 154 คะแนน 30.10 อันดับ 7 ฟิลิปปินส์ 158 คะแนน 28.90 อันดับ 8 อินโดนีเซีย 164 คะแนน 28.20 อันดับ 9 เวียดนาม 178 คะแนน 20.10 และลำดับ 10 ท้ายสุดของอาเซียนได้แก่ เมียนมา อีพีไอ 179 มีคะแนน 19.40

ภาพรวมๆ ประเทศไทยจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเป็นรองแค่สิงคโปร์กับบรูไนเท่านั้น

แต่เมื่อเทียบระดับโลก เราอยู่ในอันดับท้ายๆ แม้จะไม่ใช่ลำดับบ๊วยสุดเหมือนอินเดีย (อีพีไออันดับที่ 180 คะแนนรวม 18.90) ถึงกระนั้นก็เป็นเรื่องไม่น่าชื่นชมยินดีสักเท่าไหร่เลย

 

เมื่อดูคะแนนในแต่ละหมวด อย่างเช่น หมวดที่ว่าด้วยเรื่องของความหลากหลายทางชีวภาพ หรือ BHI (Biodiversity Habitat Index) ซึ่งเป็นดัชนีตัวใหม่ล่าสุดที่ทีมวิจัยเพิ่งนำมาวิเคราะห์ประมวลผลในปีนี้ เห็นได้ชัดว่า ประเทศไหนดูแลปกป้องพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย การเปลี่ยนแปลงที่อยู่อาศัย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และความสามารถในการจัดการปัญหามลพิษ

คะแนน BHI ตั้งไว้เต็มร้อย ปรากฏว่า ไทยได้แค่ 31.80 อยู่ในอันดับ 167 ของโลก ต่ำกว่าเวียดนาม กัมพูชา และฟิลิปปินส์

ตัวชี้วัดการบริหารจัดการ “คุณภาพอากาศ” อีพีไอของไทยอยู่ในอันดับ 93 ได้คะแนน 34.40 ถึงจะดีกว่าเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม กัมพูชา และลาว แต่เทียบกับสิงคโปร์แล้วต่างกันมาก

สิงคโปร์ได้อีพีไอด้านคุณภาพอากาศเป็นอันดับ 25 ของโลก มีคะแนน 69.20

ผลการศึกษาวิเคราะห์ด้านป่าชายเลน ทีมวิจัยอีพีไอพบว่า ไทยสูญเสียป่าชายเลนสูงมาก ติดอันดับ 145 ของโลก ได้คะแนนเพียง 22.50

กัมพูชา เวียดนาม ยังทำได้ดีกว่าไทย ส่วนเมียนมาดูแลปกป้องป่าชายเลนดีมาก ได้คะแนนเต็ม 100

ด้านการจัดการของเสีย ไทยอยู่ที่อันดับ 100 ของโลก คะแนน 28.50 ความสามารถในการจัดการแปรรูปขยะหรือรีไซเคิล อยู่ที่อันดับ 13 คะแนน 40.00

แต่ในเรื่องจัดการขยะพลาสติกที่ทิ้งลงทะเล ประเทศไทยทำได้ห่วยมากๆ อยู่ในอันดับ 133 ของโลก มีคะแนนแค่ 3.10

ด้านการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไทยอยู่อันดับ 157 ของโลก ได้คะแนน 9.50

 

คราวนี้หันมาดูประเทศเดนมาร์ก ซึ่งคว้าอีพีไอเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้คะแนน 77.90 จาก 100

ผลงานของเดนมาร์กในการจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ทีมวิจัยยอมรับได้แก่ การปกป้องทรัพยากรทางทะเล การดำเนินนโยบายและมาตรการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีความก้าวหน้ามากที่สุดในโลกให้คะแนนสูงสุด 92.40

การให้คะแนนอีพีไอกับเดนมาร์กสูงสุดเช่นนี้ ไม่ได้ห่างไกลความจริง เพราะหากมองย้อนหลัง เดนมาร์กใช้นโยบายควบคุมปริมาณการปล่อยก๊าซพิษอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง จนปริมาณก๊าซพิษลดลงถึงครึ่งหนึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับ 25 ปีก่อน

ผู้นำเดนมาร์กไม่ได้คุยโม้เหมือนบางประเทศ แต่ทำจริงและยังลุยต่อด้วยการวางเป้าในอีก 8 ปีจะลดลงให้ได้ 70% ภายในปี 2593 ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเดนมาร์กจะเป็นศูนย์

ถึงวันนั้นกรุงโคเปนเฮเกนจะเป็นเมืองหลวงแห่งแรกของโลกที่ปลอดคาร์บอนฯ

การจัดการบำบัดน้ำเสียของเดนมาร์ก ก็ติดอันดับ 1 ได้คะแนนเต็ม 100 นั่นหมายความว่า น้ำเสียที่มาจากชุมชนหรือโรงงาน เดนมาร์กสามารถดึงเข้ามาสู่ระบบบำบัดก่อนปล่อยลงสู่พื้นที่สาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

การควบคุมจัดเก็บขยะทั้งในชุมชนบ้านเรือนและพื้นที่เศรษฐกิจนั้น เดนมาร์กอยู่ในอันดับ 4 ได้คะแนน 99.40 เรื่องนี้ประเทศเนเธอร์แลนด์จัดการได้ดีกว่า ได้คะแนนเป็นอันดับ 1 รองลงมาเป็นประเทศมอริเทียส (Mauritius) อยู่ในทวีปแอฟริกา และสวิตเซอร์แลนด์ ได้คะแนนเท่ากัน 99.50

ทีมวิจัยยังประมวลวิเคราะห์ข้อมูลด้านประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลทั่วโลก (Government Effective-ness) พบว่า รัฐบาลเดนมาร์กมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก ได้คะแนน 77.9 รองลงมาเป็นฟินแลนด์ สวีเดน ลักเซมเบิร์ก ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นอร์เวย์ และแคนาดา

ในเรื่องของการควบคุมป้องกันการคอร์รัปชั่น ทีมวิจัยยกให้เดนมาร์กเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยฟินแลนด์ สวีเดน

ในประเด็นว่าด้วยหลักนิติธรรม (Rule of Law) เดนมาร์กก็เป็นที่หนึ่ง ตามด้วยสวีเดน

สำหรับด้านเสถียรภาพทางการเมืองและไร้ความรุนแรง เดนมาร์กได้อีพีไอโดดเด่นที่สุดในโลก ตามด้วยฟินแลนด์

 

หันกลับมาดูประเทศไทยอีกรอบ ในเรื่องของตัวชี้วัดประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาล การควบคุมป้องกันคอร์รัปชั่น การใช้หลักนิติธรรม รวมถึงเสถียรภาพทางการเมืองและไร้ความรุนแรง ทุกตัวชี้วัดเหล่านี้ ไทยได้คะแนน “อีพีไอ” แค่ 38.1

ถ้าเปรียบอีพีไอเหมือนกับผลการเรียนด้านการดำเนินงานสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไทยได้เกรดเอฟ สอบตก

อีพีไอของมหาวิทยาลัยเยลจึงเป็นกระจกอีกบานสะท้อนถึงความสามารถผู้นำประเทศไทยอย่างชัดเจน ยิ่งอยู่นาน ประเทศก็ยิ่งย่ำแย่ต่ำเตี้ย ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยคนจนยิ่งถ่างห่างกันมากขึ้น นำไปสู่ความเสื่อมทรามดังเช่นที่เห็นและเป็นอยู่ •