สุรา-เบียร์ก้าวหน้า (1) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

สุรา-เบียร์ก้าวหน้า (1)

 

การเปลี่ยนแปลงเชิงก้าวหน้า จักเกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เป็นไปได้

ว่ากันว่า เรื่องสลักสำคัญบางเรื่องมิอาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในยุคผู้นำสืบต่ออำนาจมาจากรัฐประหาร ท่ามกลางโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ที่มีข่ายธุรกิจใหญ่ (มักจะเรียกว่า “ทุน”) ทรงอิทธิพลมากเป็นพิเศษ

กรณีสภาผู้แทนราษฎรไทย ผ่านวาระกฎหมายเพื่อปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมสุรา (รวมเบียร์ด้วย) ให้เสรีมากขึ้น เป็นภาพสะท้อนสะเทือนอย่างน่าติดตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความพยายามก้าวพ้นยุค “ครอบงำ” แห่งตำนานสุราและเบียร์ไทย

เปิดฉากขึ้นเมื่อกว่าครึ่งศตวรรษ กับสินค้าที่มีฐานผู้บริโภคกว้างใหญ่ จากยุคสัมปทานตำนานสุราสี “แม่โขง” (2503) และ “หงส์ทอง” (2524) จนมาถึงยุคสุราขาว กรมสรรพสามิต เปิดประมูลให้เอกชนรายเดียวได้สัมปทานผลิตและจำหน่ายในขอบเขตทั่วประเทศ (2522)

ปรากฏการณ์อย่างหลังมาถึง พร้อมๆ กับกระบวนการทำลายการผลิตสุราชุมชนและท้องถิ่น ถูกเรียกว่า”เหล้าเถื่อน” เป็นไปอย่างแข็งขันอย่างเหลือเชื่อ แทบจะราบคาบ

“เราไม่อาจจะปฏิเสธว่า เหล้าหรือสุรา เป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตชุมชน… ขณะหลายประเทศที่ปลดปล่อยพลังการผลิตอย่างเสรี ได้ผลิตเครื่องดื่มประเภทนี้ สร้างผลิตภัณฑ์และแบรนด์ สะท้อนบุคลิกของสังคม มีฐานะที่มั่นคงในตลาดโลกด้วย แต่เราได้สูญเสียโอกาสนั้นไปแล้ว”

เป็นบทสรุปภาพและผลพวง ที่ไม่ได้รับความสนใจมานานพอควร

 

ปี 2530 ธุรกิจสุราสี-สุราขาว เกิดกระบวนการหลอมรวมมาอยู่ในมือเดียว ในตำนานสร้างความมั่งคั่งของธุรกิจครอบครัวหนึ่งซึ่งเคยเสนอไว้ “เจริญ สิริวัฒนภักดี … ‘คนสุดท้าย’ ในระบบเศรษฐกิจเก่า มีความสัมพันธ์กับระบบอุปถัมภ์ และสัมปทาน เป็นฐานสำคัญการสร้างอาณาจักรธุรกิจ แม้เผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ต้องสูญเสียกิจการที่สำคัญไปบ้าง แต่รักษาส่วนสำคัญที่สุดไว้ได้ เขาผ่านช่วงนั้น กลับมาขยายตัวอีกครั้งอย่างครึกโครม”

แม้ว่าปี 2542 กล่าวกันว่ามีการเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา แต่ในทางความเป็นจริง กลายเป็นมหากาพย์การหลอมรวมอยู่ในมือเดียวครั้งใหญ่อีกครั้ง

“สัมปทานโรงงานสุราสิ้นสุดลงในปี พ.ศ.2542 และรัฐมีนโยบายเปิดเสรีการค้าสุรา บริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราบางยี่ขัน จังหวัดปทุมธานี และบริษัทในเครืออีก 11 บริษัท ชนะการประมูลซื้อโรงงานสุราของกรมสรรพสามิต 11 โรงงาน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) โดยบริษัทในเครือจึงมีโรงงานสุราที่ซื้อจากรัฐบาลทั้งหมด 12 โรงงาน และเริ่มดำเนินกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ.2543 เป็นต้นมา” ข้อมูลของไทยเบฟฯ ว่าไว้

ทั้งนี้ ยังไม่รวมกับแผนการเข้าซื้อกิจการโรงงานสุรารายอื่นๆ อาทิ ” เข้าซื้อโรงงานสุราจากบริษัท สินสุรางค์การสุรา จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุราตราเสือขาว” (ปี 2549) และ “เข้าซื้อบริษัท ประมวลผล จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตสุราตราหมีขาว” (ปี 2550)

เครือข่ายกิจการดั้งเดิมที่ว่านั้น ปัจจุบันอยู่ภายใต้กลุ่ม “ไทยเบฟฯ” เป็นภาพชัดเจนและความต่อเนื่อง จากธุรกิจดั้งเดิม คงเป็นผู้นำครอบครอบตลาดในเมืองไทยไว้อย่างมั่นคง

 

ส่วนตำนานเบียร์ไทย ย้อนไปไกลกว่านั้น

เรื่องราวเบียร์ไทย เริ่มด้วยตำนานบริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ ตระกูลขุนนางเก่าแก่ กับ “เบียร์สิงห์” บุกเบิกในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อจากยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แม้ว่าเผชิญกระแสลมเปลี่ยนแปลงเป็นระยะๆ แต่สามารถดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง อาจเรียกได้ว่า มีสภาวะ “ผูกขาด” มานานกว่า 60 ปี

มีบางกรณีอ้างถึงและเชื่อมโยงกับบริบทช่วงเปลี่ยนผ่าน

กรณีแรก-ปิดกั้นเบียร์ต่างชาติในช่วงบุกเบิก เกี่ยวกับ Tiger beer เบียร์แห่งชาติของประเทศสิงคโปร์ ก่อตั้งมาในยุคอาณานิคม (ในปี 2474) ในช่วงเวลาเกาะสิงคโปร์เป็นส่วนหนึ่งของ Straits Settlements (ภายใต้อาณัติของสหราชอาณาจักร) ถือว่าอยู่ในช่วงเดียวกับ “เบียร์สิงห์” Tiger beer เป็นผลผลิตแห่งความร่วมมือกับผู้ผลิตเบียร์ชั้นนำของเนเธอร์แลนด์ (Heineken) มีความพยายามจะเข้ามาในเมืองไทยตั้งแต่ต้น ทว่า ผู้มีอำนาจรัฐไทยขณะนั้นสกัดกั้นไว้ ตามคำร้องขอของเบียร์ไทย

อีกกรณี–การต่อสู้กับเบียร์ไทยใหม่ ตำนานการต่อสู้ดังกล่าว มีขึ้นยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อเบียร์ไทยของท่านผู้นำเกิดขึ้น (ปี 2504) โชคดีที่ “เบียร์สิงห์” มีสถานะผูกขาดตลาดมานาน ความภักดีของผู้บริโภคมีมากพอ จึงไม่สั่นคลอน

เมื่อบริบทเปลี่ยน ย่อมเผชิญกระแสลมผันผวน เบียร์ไทยท่านผู้นำจึงได้กลายตำนานฉากย่อยๆ ในประวัติศาสตร์บริษัทไทยอมฤตบริวเวอรี่ (2509-2547) ซึ่งต่อสู้ดิ้นรนพอสมควร

เมื่อสร้างเบียร์ไทยไม่สำเร็จ จึงซื้อลิขสิทธิ์ยี่ห้อเบียร์จากเยอรมนี-Kloster อยู่ในตลาดอย่างจำกัดมาพักใหญ่ ก่อนตำนานจะจบลง

 

การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยอานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ช่วงเปลี่ยนผ่านหลังการรัฐประหารอีกครั้งหนึ่งซึ่งดูย้อนแย้งมากับนโยบายเศรษฐกิจเปิดกว้างบางมิติ “รัฐบาลเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์ในปี 2534 จึงมีผู้ขอตั้งโรงงานเบียร์หลายราย เบียร์ช้างเป็นหนึ่งในนั้น…ออกสู่ตลาดในปี 2538”

คำว่า “เปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” เป็นเพียงเกมของรายใหญ่ มีความหมายแค่ยุคผูกขาดของ “เบียร์สิงห์” ได้สิ้นสุดลง

ภาพแห่งยุค “การเปิดเสรีอุตสาหกรรมเบียร์” ดูจะคึกคักกว่าธุรกิจสุรา เบียร์แบรนด์ระดับโลก ค่อยๆ พาเหรดเข้ามาวางรากฐานในเมืองไทย ภาพนั้นล้วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายธุรกิจใหญ่

เจริญ สิริวัฒนภักดี ผู้นำธุรกิจสุราไทยค่อนข้างเบ็ดเสร็จ ก้าวข้ามพรมแดนทันที เริ่มต้นด้วยการร่วมทุนกับต่างชาติ–Carlsberg เบียร์ชั้นนำของโลกแห่งเดนมาร์ก ตั้งโรงงาน (ปี 2534) และออกสู่ตลาดค่อนข้างรวดเร็ว (ปี 2536) พร้อมๆ กันนั้นสร้างเบียร์แบรนด์ไทยของตนเอง “เบียร์ช้าง” เป็นแผนคู่ขนาน “เบียร์ช้าง” เข้าสู่ตลาด

และได้ยึดฐานะเบียร์ไทยรายที่ 2 ในเวลาไม่นาน

 

ขณะกลุ่มธุรกิจใหญ่อีกบางกลุ่ม มีบทบาทเชื่อมโยงกับแบรนด์เบียร์ระดับโลกเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มไทยประกันชีวิต นำโดย วานิช ไชยวรรณ “นักธุรกิจไทยเพียงไม่กี่คนที่เหลืออยู่ ช่วงกว่าครึ่งศตวรรษสังคมธุรกิจไทย ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง” จากเครือข่ายธุรกิจประกัน ได้ก้าวเข้าสู่ธุรกิจธนาคารไทย รวมทั้งธุรกิจเบียร์

กลุ่มไทยประกันชีวิต ร่วมมือกับตระกูลธุรกิจอิทธิพลอีกตระกูลหนึ่ง ซี่งมีบทบาทอย่างมากในยุคสงครามเวียดนาม–ตระกูลสารสิน ร่วมทุนกับเครือข่ายธุรกิจเบียร์แห่งสิงคโปร์ (Asia Pacific Breweries หรือ APB) เมื่อปี 2536 มีบทบาทนำแบรนด์เบียร์ระดับโลกหลายแบรนด์เข้ามาเมืองไทย เปิดด้วย Heineken แห่งเนเธอร์แลนด์ เบียร์อันดับหนึ่งของยุโรป (ปี 2538) ตามมาด้วย Tiger beer แห่งสิงคโปร์ (ปี 2547) ซึ่งรอโอกาสเข้าสู่ตลาดไทยนานทีเดียวถึงกว่า 80 ปี เป็นต้น

นอกจากนี้ ไม่ว่าธุรกิจสุรา หรือเบียร์ มีแบรนด์ระดับโลกเป็นคู่แข่งทางธุรกิจ เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยมานานพอสมควร นับวันจะมีหลากหลาย และเป็นทางเลือกมากขึ้นๆ

ขณะอีกด้านหนึ่ง ปรากฏเสียงเรียกร้องดังขึ้นๆ ทั้งขอโอกาสพลิกฟื้นภูมิปัญญาชุมชนเกี่ยวการผลิตสุราขึ้นมาอีกครั้ง และความพยายามก้าวสู่กระแสใหม่ๆ จากผลิตเบียร์ไว้ดื่มเอง จนถึงพวก Start Up กับโรงเบียร์เล็กๆ และเบียร์พิเศษที่เรียกว่า Craft Beer

อันที่จริงมีสาระหนึ่งในตำนาน เครือข่ายธุรกิจใหญ่สุราและเบียร์ของไทย ที่ใครๆ เรียกว่า “ขาใหญ่” ว่าไปแล้วดูไม่ได้ประหวั่นพรั่นพรึงกับคู่แข่งขันทางธุรกิจระดับโลก แต่อีกด้านหนึ่งมีภาพสะท้อนความกลัว “ตัวเล็กตัวน้อย” ในบ้านตัวเอง

ทำไมเป็นเช่นนั้น •