ฉะเชิงเทรา ‘ทวารวดี’ ที่พนมสารคาม-สนามชัยเขต / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

ฉะเชิงเทรา ‘ทวารวดี’

ที่พนมสารคาม-สนามชัยเขต

จ.ฉะเชิงเทรา ลุ่มน้ำบางปะกง มีชุมชนในวัฒนธรรม “ทวารวดี” เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว บนพื้นที่สองฝั่งคลองท่าลาด-คลองระบม-คลองสียัด อ.พนมสารคาม-อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

[คลองระบม-คลองสียัด เป็นส่วนหนึ่งของบริเวณที่เรียก “ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด” (ฉะเชิงเทรา, สระแก้ว, จันทบุรี, ระยอง, ชลบุรี) พื้นที่ต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพและแร่ธาตุ]

ชุมชนบ้านเมืองสืบเนื่องไม่ขาดสายตั้งแต่สมัยการค้าโลก หรือวัฒนธรรมทวารวดี ราวหลัง พ.ศ.1000 สืบเนื่องถึงสมัยการค้าสำเภาจีน เมื่อ 1,000 ปีมาแล้ว ราวหลัง พ.ศ.1500 ต่อเนื่องสมัยอยุธยา เมื่อ 700 ปีที่แล้ว เรือน พ.ศ.1800 กระทั่งปัจจุบัน

หลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์-โบราณคดี (เท่าที่พบแล้ว) มีดังนี้

1. สถูปเจดีย์วัดท้าวอู่ไท ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา

2. สถูปเจดีย์บ้านโคกหัวข้าว ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

3. คูน้ำเป็นวงกลมบ้านคูเมือง ต.เกาะขนุน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

“ทวารวดี” ฉะเชิงเทรา มิได้อยู่โดดเดี่ยว แต่เป็นเครือข่ายทรัพยากรและการค้าของรัฐใหญ่ ได้แก่

1. เมืองมโหสถ (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดถึงเมืองพระนครบริเวณโตนเลสาบในกัมพูชา

2. เมืองพระรถ (อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี) และเมืองพญาเร่ (อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี)

[ข้อมูลเหล่านี้ได้จากหนังสือ (1.) อารยธรรมฝั่งทะเลตะวันออก ของ ศรีศักร วัลลโภดม สำนักพิมพ์มติชนพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2545 หน้า 10-63, (2.) วิถีคนบนป่าตะวันออกผืนสุดท้าย รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ “ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมท้องถิ่น ชุมชนบ้านป่าต้นน้ำ คลองระบม-สียัด” โดยวิบูลย์ เข็มเฉลิม และคณะ พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548 หน้า 51-84]

ฉะเชิงเทรามีชุมชน “ทวารวดี” ที่พนมสารคาม-สนามชัยเขต : ฐานเจดีย์ (แบบทวารวดี) เหลือซากอยู่ใต้ดิน บ้านโคกหัวข้าว ต.บ้านซ่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา (ภาพจากเพจ Faiththaistory.com)

เส้นทางการค้า คลองท่าลาด

คลองท่าลาดไหลเชื่อมแม่น้ำบางปะกงที่ปากน้ำเจ้าโล้ (อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา) เป็นเส้นทางคมนาคมสู่ภายนอกของ “ทวารวดี” ฉะเชิงเทรา

1. ออกอ่าวไทย ที่ปากน้ำบางปะกง (อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา-อ.เมือง จ.ชลบุรี)

2. เชื่อมโยงแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านคลองสำโรง (อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา) ออกเจ้าพระยาทางสมุทรปราการ-กรุงเทพฯ ติดต่อได้สะดวกถึงรัฐทวารวดี-ละโว้ (ลพบุรี) และรัฐหลั่งเกียฉู่ (นครปฐม) ฯลฯ

เจดีย์พันปี วัดท้าวอู่ทอง บริเวณวัดท้าวอู่ทอง (ร้าง) ใกล้คลองท่าลาด หลังวัดท่าลาดเหนือ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา (ขวา) ซากเจดีย์พันปี วัดท้าวอู่ทอง (ร้าง) อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

เจดีย์พันปี วัดท้าวอู่ทอง

เจดีย์อายุพันปี วัดท้าวอู่ทอง สมัยก่อนกรุงศรีอยุธยา พบที่เมืองเก่า คลองท่าลาด อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา [จาก มติชนออนไลน์ วันจันทร์ที่ 6 มิถุนายน 2565]

“เจ้าอาวาสวัดท่าลาดใต้องค์ปัจจุบันซึ่งเคยอยู่วัดท่าลาดเหนือมาก่อน บอกว่าเจดีย์ที่เหลือซากในพุ่มไม้เป็นของวัดท้าวอู่ทองที่ร้างนานแล้ว” นางสุรางค์ เช้าเจริญ ข้าราชการครูบำนาญ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา บอกเรื่องเล่าและมอบภาพถ่ายเจดีย์ร้างให้ทีมงาน “ทอดน่องท่องเที่ยว” ของมติชน ซึ่งเจดีย์ร้างของวัดท้าวอู่ทองมีต้นไม้ขึ้นปกคลุม 2-3 เนิน ปัจจุบันอยู่ใกล้วัดท่าลาดเหนือ

ซากเจดีย์พันปี วัดท้าวอู่ทอง (ร้าง) อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

นายรุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล อาจารย์ประจําคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคําแหง พิจารณาจากภาพถ่ายซากเจดีย์วัดท้าวอู่ทอง พบว่าอิฐแผ่นใหญ่และหนาแบบอิฐวัฒนธรรมทวารวดี จึงน่าเชื่อว่าเป็นเจดีย์สมัยก่อนอยุธยา และอาจเก่าถึงสมัยทวารวดี เนื่องจากชุมชนแถบนี้มีความเก่าแก่ถึงสมัยทวารวดี และน่าเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้อย่างน้อยอายุพันปี หรือราว พ.ศ.1500

เจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม (แบบทวารวดี) วัดท้าวอู่ไท ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา ภาพเมื่อวันเสาร์ที่ 28 พฤษภาคม 2565 สร้างอาคารโล่งคลุมสถูปเจดีย์เพื่อป้องกันพังทลาย

“อิฐขนาดใหญ่ของซากเจดีย์ร้างองค์นี้ดูจากรูปถ่ายที่ครูสุรางค์ส่งมาแล้ว ขอเดาว่าเป็นอิฐทวารวดี แต่จะตอนต้นหรือปลายต้องไปดูของจริงให้เห็นแก่ตาตรงสถานที่จริง” นายศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ คอลัมนิสต์มติชนสุดสัปดาห์ และอดีตอาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกตามที่เห็นจากภาพถ่ายโดยยังไม่เคยเห็นสถานที่จริง

เจดีย์ฐานสี่เหลี่ยม (แบบทวารวดี) วัดท้าวอู่ไท ต.ท่ากระดาน อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา  ภาพเมื่อ พ.ศ.2544 โดย อิงตะวัน แพลูกอินทร์ อดีตครูโรงเรียนดัดดรุณี จ.ฉะเชิงเทรา

เจดีย์พันปี วัดท้าวอู่ทอง ปัจจุบันอยู่ใกล้ระหว่างวัดท่าลาดเหนือกับวัดท่าลาดใต้ ซึ่งเป็นวัดที่มีอายุราวสมัยอยุธยาตอนต้น พบพระพุทธรูปหินทรายขนาดใหญ่สมัยอยุธยาตอนต้น ร่วมสมัยพระพุทธโสธร และทั้งสองวัดนี้อยู่บริเวณชาวบ้านเรียก “ท่าข้าม” ตรงกับข้อความในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ว่าพม่าอังวะยกกองทหารทวนน้ำเจ้าโล้คือคลองท่าลาด ขึ้นไปดักซุ่มโจมตีกลุ่มพระเจ้าตากที่ยกหนีออกจากอยุธยา ผ่านทางนี้มุ่งไปเมืองระยอง หลังปะทะกันที่ท่าข้าม (พนมสารคาม) กองทหารพม่าอังวะแตกหนีไปปากน้ำเจ้าโล้แล้วถอยกลับไปกองทัพใหญ่ล้อมอยุธยา •