มาสนุกกับ ‘ปริศนาอักษรไขว้’ กันเถอะครับ/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

 

มาสนุกกับ ‘ปริศนาอักษรไขว้’ กันเถอะครับ

 

ว่ากันตรงไปตรงมา ผู้ที่ “เก่งภาษาไทย” มักเป็นผู้ที่ “ชอบเรียนวิชาภาษาไทย” ซึ่งมิได้หมายความว่าไม่ชอบเรียนวิชาอื่น ผู้ที่ชอบเรียนวิชาภาษาไทยมักชอบอ่านหนังสือ และเขียนหนังสือที่ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก ทั้งเมื่อเริ่มเรียนหนังสือในโรงเรียน และเมื่อสำเร็จออกมาประกอบอาชีพการงาน

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชอบอ่านหนังสือ เรียกได้ว่า “แทบทุกประเภท” ซึ่งเป็นเรื่องของไทยและเรื่องภาษาอื่นที่แปลเป็นภาษาไทย

เมื่อประมาณพุทธศักราช 2504 มีนิตยสารฉบับหนึ่งออกวางแผงหนังสือเป็นที่ชื่นชอบของผู้อ่านหนังสือ

คือนิตยสาร “สามทหาร”

 

สุจิตต์ วงษ์เทศ แจ้งไว้ใน Facebook Twitter LINE Copy Link เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 เวลา 16.44 น. ว่าได้รับข้อมูลนิตยสารสามทหาร ฉบับปฐมฤกษ์ จากเอนก สีหามาตย์ และศูนย์มานุษยวิทยา สิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ ความตอนหนึ่ง

“…สามทหาร ได้ชื่อจากทหารสามเหล่าทัพ ประกอบด้วย ทหารบก. ทหารเรือ. ทหารอากาศ เป็นชื่อปั๊มน้ำมันขององค์การเชื้อเพลิง (จัดตั้งเมื่อ 27 มกราคม 2503 อำนวยบริการแก่รัฐและประชาชนเพื่อให้มีและใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) และเป็นชื่อนิตยสารรายเดือน ขององค์การเชื้อเพลิง (กระทรวงกลาโหม)

“เพื่ออำนวยประโยชน์ทางโฆษณาเผยแพร่กิจการน้ำมันเชื้อเพลิง และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมต่อผู้บริโภค และเป็นการสนองโอษฐ์ในทางแถลงการณ์เพื่อความเข้าใจอันดีต่อทางราชการ องค์การของรัฐ ตลอดจนพ่อค้าประชาชน และในโอกาสเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมการศึกษาพร้อมไปด้วย คือให้มีศิลปวรรณคดี วิทยาศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สารคดี กวีนิพนธ์ นวนิยาย และสรรพวิชาการต่างๆ” (คำสั่งองค์การเชื้อเพลิง วันที่ 19 กันยายน 2504)

“สามทหารนิตยสารรายเดือน ฉบับปฐมฤกษ์ ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 วันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2504 ปกกระดาษอาร์ต พิมพ์สี่สี เนื้อกระดาษปรู๊ฟธรรมดา พิมพ์ขาวดำทั้งเล่ม ขนาด 8 หน้ายกธรรมดา จำนวน 80 หน้า เข้าเล่มเย็บสันด้วยลวด ขายราคาเล่มละ 3 บาท”

องค์การเชื้อเพลิง เจ้าของ. พลตรีวิรัช เพชรโยธิน ผู้อุปถัมภ์. พลตรีศักดิ์ พิศิษฎพงศ์ ผู้อำนวยการ. สำนักงานอยู่ติดกับศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพฯ

นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ : บรรณาธิการ, ผู้พิมพ์ผู้โฆษณา. นายบุรินทร์ ลักษณะบุตร บรรณาธิการผู้ช่วย, นายอาทร ทัพพะรังสี บรรณาธิการผู้ช่วย

“ผมซื้อสามทหารอ่านตั้งแต่ฉบับปฐมฤกษ์ เพราะมีสนามกาพย์กลอน ตามคำแนะนำของขรรค์ชัย บุนปาน และเรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ ขณะนั้นต่างเป็นนักเรียนนุ่งกางเกงขาสั้น เรียนชั้นมัธยมปีที่ 7 แผนกวิทยาศาสตร์ โรงเรียนวัดนวลนรดิศ ริมคลองบางกอกใหญ่ ฝั่งธนบุรี

“บุคคลสำคัญของนิตยสารรายเดือน คือบรรณาธิการชื่อ นายฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ทางภาษาและวรรณกรรมโบราณของไทย มีงานรวมเล่มมากมายหลายเรื่อง ผมใช้เป็นแนวทางศึกษาแล้วใช้ประกอบการค้นคว้ามาเขียนเรื่องต่างๆ ตลอดเวลาจนทุกวันนี้

“นอกจากนั้น ท่านยังเป็นโหรระดับปรมาจารย์ กับนักดนตรีไทย สีซอสามสาย แล้วแต่งทำนอง – เนื้อร้องหลายเพลง

“คุณขรรค์ชัยเคยชวนผมไปกราบ อ.ฉันทิชย์ที่บ้านย่านราชวัตร แล้วฟังท่านเล่าเรื่องหนังสือปาริชาติรายเดือนที่ท่านเป็นบรรณาธิการมาก่อน…”

 

สารบัญ สามทหาร ฉบับปฐมฤกษ์ มีเรื่องจากนักเขียนยุคนั้นหลายคน นอกจากคำสั่ง คำปรารภ ของ พล.ต.ศักดิ์ พิศิษฎพงศ์ อาศิรพจน มหาภูมิพลาเศียรพาทราชสดุดี โดยฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ แล้วยังมี ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล สด กูรมะโรหิต คึกฤทธิ์ ปราโมช นายรำคาญ พระยาสุนทรพิพิธ พระยาพณิชศาสตร วิธาน เหม เวชกร มานิต วัลลิโภดม มนัส จรรยงค์ มาลัย ชูพินิจ เรื่องประเภทสองคนผัวเมีย – ตุ๊ดตู่กับม่าเหมี่ยว โดยสันต์ เทวรักษ์ ฉ่ำ ทองคำวรรณ นายตำรา ณ เมืองใต้ หนูเหน็ง “ห้องโหรดูดาว” โดยจันทรพิมพ์ ประชันกลอน สถิตย์ เสมานิล รวมทั้ง “ปริศนาอักษรไขว้ สามทหาร” โดยฟื้น บุณยะรัตเวช ที่ผมเริ่มรู้จักและ “เล่น” ต่อมาอีกหลายฉบับ

ผมเคยชวนเพื่อนร่วมห้องเรียนเมื่อสองสามปีก่อนหน้านั้นออกเงินคนละบาท ที่เหลือผมออกสมทบ (จำไม่ได้ว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปี 2492 (ประมาณนั้น) เล่มละเท่าไหร่?) เมื่อขึ้นชั้นเรียนใหม่ ผมขอจากเพื่อน เก็บไว้ หากใครต้องการใช้หรือติดขัดคำศัพท์ภาษาไทยคำไหน ผมอาสาเป็นผู้ค้นหาให้ ทำให้ผมมีโอกาสอ่านพจนานุกรมฉบับนั้นทั้งเล่มหลายรอบ

กระทั่งเมื่อมีคอลัมน์ปริศนาอักษรไขว้ในนิตยสารสามทหารฉบับแรก ผมจึงนำมาใช้ประโยชน์หาคำตอบตั้งแต่ฉบับนั้น จนมีโอกาสเกือบได้รางวัลครั้งหนึ่ง ผิดคำที่แปลเหมือนกันแต่เขียนผิดตัวอักษรที่ใช้แทนกัน เช่น สะกด ส. เป็น ศ. ที่เรียกว่า “ผิดธง” เท่านั้น

ที่น่าตื่นเต้นและยังดีใจจนทุกวันนี้ คือได้รับจดหมายจากบรรณาธิการ อาจารย์ฉันทิชย์ กระแสสินธุ์ เขียนด้วยลายมือบอกมาว่า ยินดีที่เกือบมีโอกาสได้รางวัล ขออย่าท้อ โอกาสหน้าอาจได้รับรางวัลก็ได้ ยินดีด้วย ทำนองนั้น (แม้ไม่ได้เก็บจดหมายจากบรรณาธิการฉบับนั้นไว้ แต่ยังจำความกรุณาจากท่านอาจารย์ได้ไม่ลืมถึงวันนี้ครับ)

“ปริศนาอักษรไขว้” เป็นการเล่นกับภาษา ทำให้ผู้เล่นมีความรู้เรื่องคำศัพท์ การเขียนในภาษานั้นแม่นยำ มีคำศัพท์และรู้ความหมายในคำนั้นๆ กว้างขวาง

ผมไม่ทราบว่าในภาษาอื่นนอกจากภาษาอังกฤษและภาษาไทยแล้วยังมีอีกไหมที่มี “เกม” ปริศนาอักษรไขว้ให้ทบทวนภาษาและคำศัพท์

คำอธิบาย “ปริศนาอักษรไข้ว” จากพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 หน้า 673

“ปริศนาอักษรไขว้ น. ปริศนาที่ต้องตอบโดยการเติมคำลงในตารางสี่หลี่ยมที่กำหนดให้ช่องละ 1 อักษร แล้วให้อ่านได้ใจความทั้งในแนวยืนและแนวนอน”

 

พจนานุกรม ฉบับมติชน พิมพ์ครั้งแรก 2547 หน้า 537

“ปริศนาอักษรไขว้ น. ปริศนาที่ต้องตอบโดยการเติมคำลงในตารางที่กำหนดให้ช่องละ 1 อักษร แล้วอ่านเข้าใจความหมายทั้งในแนวยืนและแนวนอน”

จากการค้นหาความเป็นมาของ “ปริศนาอักษรไขว้” พบว่าเป็นเกมคำศัพท์ที่ผู้เล่นจะได้รับคำใบ้และจำนวนอักษร จากนั้นผู้เล่นกรอกข้อมูลลงในช่องตารางโดยค้นหาคำตอบที่เหมาะสม (ส่วนของข้อมูลทั้งหมดนำมาจาก https://www.greelane.com/th/มนุษยศาสตร์/ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม/history – of – crossword – puzzle – 1991486/)

ผู้ค้นปริศนาอักษรไขว้ตัวแรกคือ อาร์เธอร์ วินน์ (Arthur Wynne) นักข่าวลิเวอร์พูล เกิดเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2414 ที่เมืองลิเวอร์พูล ประเทศอังกฤษ แล้วอพยพไปสหรัฐอเมริกาเมื่ออายุ 19 ปี เขาอาศัยครั้งแรกที่เมืองพิตต์สเบิร์ก รัฐเพนซิลเวเนีย ทำงานให้กับหนังสือพิมพ์พิตต์สเบิร์ก เพลส ที่น่าสนใจคือเขายังเล่นไวโอลินใน Pittsburgh Symphony Orchestra

ต่อมาเขาย้ายไปที่ซีดาร์โกรฟ รัฐนิวเจอร์ซี และเริ่มทำงานให้กับหนังสือพิมพ์ในนิวยอร์ก “New York World” และเขียน “ปริศนาอักษรไขว้” ตัวแรกสำหรับ นิวยอร์ก เวิลด์ ตีพิมพ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2456

บรรณาธิการขอให้อาร์เธอร์ วินน์ คิดค้นเกมใหม่สำหรับส่วนบันเทิงในฉบับวันอาทิตย์ของหนังสือพิมพ์

ปริศนาอักษรไขว้ตัวแรกของวินน์ในเกมเดิมเรียกว่า “คำไขว้” เป็นรูปเพชร ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อไปใช้คำไขว้ และจากการพิมพ์ผิดโดยไม่ได้ตั้งใจ เครื่องหมาย “ยัติภังค์” หลุดออกไป และชื่อนั้นกลายเป็นคำไขว้ (ยัติภังค์ เครื่องหมาย “——” (เครื่องหมาย – “คำพูด”) ใช้เขียนท้ายพยางค์ หรือคำ ความหมายว่า พยางค์หน้าและท้ายของเครื่องหมายเป็นคำเดียวกัน ในปัจจุบันใช้นำหน้าหัวข้อซึ่งไม่ระบุตัวเลขหรือตัวอักษร เขียน ยติภังค์ ก็มี) – พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน

 

Wynne ใช้ปริศนาอักษรไขว้ของเขาในเกมคล้ายกัน แต่เก่ากว่ามาก ซึ่งเล่นในปอมเปอีโบราณที่แปลจากภาษาละตินเป็นภาษาอังกฤษ เรียกว่า Magic Squares ใน Magic Squares ผู้เล่นจะได้รับกลุ่มคำและต้องจัดเรียงไว้ในตารางเพื่อให้คำอ่านในลักษณะเดียวกันทั้งขึ้นและลง ปริศนาอักษรไขว้มีความคล้ายคลึงกันมาก ยกเว้นแทนที่จะได้รับคำพูดที่ผู้เล่นได้รับเบาะแส

Wynne เพิ่มนวัตกรรมอื่นๆ ให้กับปริศนาอักษรไขว้ ขณะที่ปริศนาชิ้นแรกเป็นรูปเพชร ต่อมาได้คิดค้นปริศนารูปทรงแนวนอนและแนวตั้ง ทั้งได้คิดค้นใช้การเพิ่มช่องว่างสีดำให้กับปริศนาอักษรไขว้

ในสิ่งพิมพ์ของอังกฤษ ปริศนาอักษรไขว้ได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร PEARSON เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2465 ส่วนคำไขว้ของ NEW YORK TIMES ฉบับแรก ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473

นอกจากนั้น อ้างอิงจาก GUINNESS BOOK of RECORDS คอลเล็กชั่น ปริศนาอักษรไขว้ชุดแรกได้รับการตีพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2467 เรียกว่า หนังสือไขคำปริศนาอักษรไขว้ เป็นสิ่งพิมพ์ครั้งแรกโดยความร่วมมือใหม่ที่เกิดขึ้นโดย DICK SIMON และ LINCOLN SCHUSTER จากหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก เวิลด์ ประสบความสำเร็จทันที และช่วยก่อตั้ง SIMON & SCHUSTER สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่ยังผลิตหนังสือคำไขว้ถึงทุกวันนี้

ปี 1997 CROSSWEAVER ได้รับการจดสิทธิบัตรโดย Variety Games Inc. Crossword Weaver เป็นโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ตัวแรกที่สร้างปริศนาอักษรไขว้

 

วันนี้ นิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ โดย “เชิงชาย” กับหนังสือพิมพ์ “ข่าวสด” โดย “หนูนวลน้อย” มีเกม “ปริศนาอักษรไขว้” ให้ผู้นิยมคิดค้นหาคำตอบจากคำแปล หรือคำอธิบายเป็นคำศัพท์ หรือความหมายของวลี ประโยคได้ร่วมสนุก จำนวนจากแนวนอนกว่า 40 คำ จากแนวดิ่ง หรือแนวตั้ง ประมาณใกล้เคียงกัน ลงในช่องว่างกรอบสี่เหลี่ยมทุกสัปดาห์ กำหนดหมดเขตในแต่ละฉบับ และรายชื่อผู้โชคดีตอบปริศนาอักษรไขว้ในแต่ละครั้ง จะมีผู้ได้รับรางวัลจำนวนประมาณ 10 ราย รวมถึงรายชื่อผู้ตอบแต่ละจังหวัดให้ทราบ

วิธีเริ่มเล่นปริศนาอักษรไขว้ ผู้เล่นต้องอ่านคำที่ให้ไว้จากแนวนอน ตั้งแต่คำแรกไปเรื่อย แล้วลองคาดเดาดูซิว่าคำนั้นมาจากความหมายของคำอะไร เช่น “พระจันทร์” มีคำที่มีความหมายหลายคำ แต่ให้ช่องไว้ 2 ช่องในแนวนอน คำว่า “แข” แปลว่าพระจันทร์ ส่วนแนวนอนที่ลงมาคือคำแปลว่าภาชนะสำหรับปักดอกไม้ตั้งเครื่องบูชาหรือประดับสถานที่ มักมีรูปคล้ายขวดปากบาน คำนอนตัวแรกคือ “สระแอ” แนวนอนจากคำแปลในความหมายที่ให้ไว้คือ “แจกัน” มี 4 ช่อง ลงตัว “แจกัน” พอดี ส่วนคำที่ไขว้ไว้ด้านล่างแนวนอนคือ ชื่อลิงขนลำตัวสีน้ำตาลอมเทา หางสั้นงอโค้งขึ้นไปทางด้านหลัง มี 2 ช่อง น่าจะเป็น “ลิงกัง” คือ “กัง” ลงตัวพอดีเช่นกัน ส่วนคำในช่องอื่นที่เรายังเดาไม่ได้หรือไม่รู้คำแปล ต้องเปิดจากอักษรที่มีอยู่ในพจนานุกรม จะได้คำที่มีอักษรตัวแรกนั้นและคำแปลที่ลงในช่องได้พอดี หาอย่างนี้เรื่อยไปประเดี๋ยวจะได้ครบทุกตัวเอง

เล่นแล้วจะได้ไม่เพียงภาษาไทยในความหมายที่หา ยังได้ภาษาไทยในความหมายอื่นอีกมาก ทั้งสนุกและได้ความรู้ไม่เบื่อ

ลองเล่นจากหนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับวันอาทิตย์ หรือในมติชนสุดสัปดาห์ที่ท่านอ่านเป็นประจำ อย่าเพียงแต่อ่านข่าวสารและคอลัมน์เท่านั้น เล่น “ปริศนาอักษรไขว้” ทั้งทบทวนความรู้ภาษาไทยและหาคำศัพท์เพิ่มเติม รับรองว่าเพียงไม่กี่ครั้งจะรู้สึกเองว่า ภาษาไทยของท่านดีขึ้นมาก ทั้งสนุกกับการคาดเดา หรือทายความหมายว่าวลีนั้นคือคำว่าอะไร ครั้งต่อไปอาจไม่ต้องเปิดพจนานุกรมบ่อยก็ได้

ผู้ที่ยังไม่เคยเล่นปริศนาอักษรไขว้ ลอง “เล่น” สักครั้งซิครับ รับรองว่าเพียงสองสามครั้งจะ “ติด” ทั้งกลับจะชอบภาษาไทย ชอบหาคำที่มีความหมายนั่นนี่มาไว้เป็นประจำ ทั้งทำให้ภาษาไทยของท่านดีขึ้นทันตา

หรืออาจจะทำให้ท่านอยากไป “เล่น” ปริศนาอักษรไขว้ในหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ เหมือนกับบางคนที่ผมรู้จัก ใช้เวลาว่าง “ฝึก” ภาษาอังกฤษ ด้วยการเล่น “ปริศนาอักษรไขว้” จากหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ รับรองท่านต้องเก่งภาษาอังกฤษได้ในไม่นานวัน

เมื่อครั้งเรียนชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัดนวลนรดิศ อาจารย์ใหญ์คือ อาจารย์ถวิล สุริยนต์ ท่านเก่งภาษาอังกฤษ ชั่วโมงหนึ่งในห้องเรียนผม อาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษไม่มา ท่านจึงเข้ามาสอนแทน ทั้งให้ลองหาคำศัพท์ภาษาอังกฤษที่ให้ไว้ในเกมปริศนาอักษาไขว้จากหนังสือพิมพ์ฉบับวันนั้น ให้พวกเราลองหาคำศัพท์ แล้วท่านเฉลยให้บางคำ เป็นที่สนุกสนานของพวกเรา

แต่หลังจากนั้นไม่มีใครสักคนเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ภาษาอังกฤษ มีแต่ผมที่มาเล่นเกมปริศนาอักษรไขว้ภาษาไทยจากนิตยสารสามทหารจนเกือบได้รางวัล เมื่อเติบโตขึ้นก็เลิกเล่นโดยปริยาย แม้ทุกวันนี้

ผู้ที่ผมเคยรู้จักทั้งที่เป็นผู้ใหญ่กว่าคือ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร และเป็นรุ่นน้องคือ ฐากูร บุนปาน ใช้เวลาว่างเล่นปริศนาอักษรไขว้เงียบๆ ประจำ และเคยพบบางคนนั่งเครื่องบินอ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษ แล้วเล่นปริศนาอักษรไขว้ สนุกอยู่เงียบๆ คนเดียว

ผู้ที่เล่นปริศนาอักษรไขว้ในมติชนสุดสัปดาห์และหนังสือพิมพ์ข่าวสดวันอาทิตย์ ตามกติกาอย่าลืมส่งหลักฐานชื่อที่อยู่สำเนาบัตรประชาชน เพื่อยืนยันไปที่หนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ และหนังสือพิมพ์ข่าวสดตามประกาศทุกครั้ง เผื่อถูกรางวัล ทางผู้จัดจะได้จัดส่งรางวัลไปให้ด้วยครับ

ขอให้โชคดี GOOD LUCK