Apple WWDC กับภารกิจที่มากกว่าอัพสเป๊ก/Cool Tech จิตต์สุภา ฉิน

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech

จิตต์สุภา ฉิน

@Sue_Ching

Facebook.com/JitsupaChin

 

Apple WWDC

กับภารกิจที่มากกว่าอัพสเป๊ก

เป็นเวลาราวสองปีกว่าที่งานอีเวนต์เทคโนโลยีระดับโลกต้องหยุดชะงักเพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 และแล้วในที่สุดสถานการณ์ในหลายประเทศทั่วโลกก็ค่อยๆ คลี่คลาย คนกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้าน พบปะสังสรรค์ ทำกิจกรรมกันตามปกติมากขึ้น ทำให้บริษัทเทคโนโลยีก็ทยอยกลับมาจัดงานแบบออนไซต์กันอีกครั้ง

Apple ก็เป็นหนึ่งในนั้นที่กลับมาจัดงาน WWDC หรือ World Wide Developers Conference งานประจำปีสำหรับนักพัฒนาของ Apple โดยเชิญนักพัฒนาและสื่อมวลชนมาร่วมงานที่สำนักงานใหญ่ของ Apple ในคูเปอร์ติโนเป็นครั้งแรก

ฉันเองก็เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับเชิญและได้บินไปร่วมงานถึงที่

โดยปกติแล้วคนทั่วไปจะชินกับงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ของ Apple อย่างเช่น งาน iPhone ใหม่ที่มักจะมีช่วงปลายปี แต่งาน WWDC จะเป็นงานที่ว่าด้วยเรื่องซอฟต์แวร์ล้วนๆ Apple ใช้งานนี้ในการอัพเดตระบบปฏิบัติการใหม่ ทั้งระบบปฏิบัติการสำหรับ iPhone iPad เครื่อง Mac นาฬิกา Apple Watch หรือ Apple TV

โดยที่ในบางครั้งก็อาจจะพ่วงการเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ มาบ้างก็มีเหมือนกัน

สําหรับงาน WWDC 2022 ในครั้งนี้ก็มีของใหม่หลายอย่างที่น่าสนใจ ทั้งอัพเดตฟีเจอร์ใหม่ๆ ให้กับอุปกรณ์ที่ลูกค้า Apple ใช้กันเยอะ

อย่าง iPhone ที่เมื่อ Apple เปิดให้อัพเดตกันได้ถ้วนหน้าในช่วงปลายปีนี้แล้วก็จะมีลูกเล่นใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งความสามารถในการปรับหน้าจอล็อกสกรีนให้เป็นไปในแบบที่สะท้อนสไตล์ของเราได้มากขึ้น

ฟีเจอร์การแชร์ภาพถ่ายอย่างรวดเร็วคล่องตัวระหว่างคนในครอบครัว หรือการเพิ่มความสามารถให้เราดึงวัตถุในภาพถ่ายออกมาจากแบ๊กกราวด์ เช่น ดึงภาพตัวเราเองคนเดียวออกมาจากพื้นหลังที่เป็นภาพวิวต่างๆ แล้วเอาไปแปะในแอพพ์อื่นได้อย่างแนบเนียนก็เรียกเสียงฮือฮาจากคนที่ชมงานอยู่ไม่น้อย

และหลายๆ ความสามารถที่อยู่ใน iOS ใหม่ก็จะไปอยู่ในระบบปฏิบัติการ iPadOS ใหม่ด้วยเหมือนกัน

ในขณะที่นาฬิกา Apple Watch ก็ได้รับการอัพเดตให้ผู้สวมใส่ดูแลสุขภาพได้ดีขึ้นและล้วนเป็นสิ่งที่คนใช้ Apple Watch รอคอยมานาน

อย่างเช่น การเพิ่มข้อมูลโซนอัตราการเต้นของหัวใจ หรือ Heart rate zone ให้คนที่ออกกำลังกายได้เห็นว่าตอนนี้หัวใจเต้นอยู่ในโซนไหน หรือถ้าหลุดออกจากโซนที่เป็นเป้าหมายที่ตั้งไว้ก็จะสามารถเตือนให้รู้ตัวได้ด้วย

Apple Watch ที่อัพเดตเป็นระบบปฏิบัติการใหม่ watchOS 9 ก็จะยังเก็บข้อมูลตอนนอนได้ละเอียดขึ้นด้วย เมื่อตื่นนอนมาเราจะเห็นข้อมูลคุณภาพการนอนโดยรวมของคืนที่ผ่านมา หลับลึก หลับตื้น ไปกี่ชั่วโมง นอนไปนานแค่ไหน เหล่านี้คือข้อมูลที่ผู้ใช้ Apple Watch เรียกร้องมานาน

ซึ่งจากการประกาศอัพเดตในคราวนี้ทำให้ฉันได้เข้าใจว่าอันที่จริงตัวนาฬิกาเองมีความสามารถที่จะทำได้มาตั้งนานแล้ว แต่ Apple อยากจะให้มั่นใจว่ามันทำได้ดีจริงๆ ก็เลยใช้เวลานานในการเก็บข้อมูลและปรับปรุงซอฟต์แวร์ไปเรื่อยๆ จนพร้อมจริงๆ ถึงได้เพิ่งปล่อยออกมาในปีนี้

 

สําหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ Mac นอกจาก macOS Ventura เวอร์ชันล่าสุดจะใส่ฟีเจอร์ใหม่ๆ ที่มาเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้คอมพิวเตอร์ไว้อย่างเต็มเปี่ยมแล้ว

Apple ก็เปิดตัวชิพคอมพิวเตอร์ใหม่ M2 ไม่นานนักหลังจากเปิดตัว M1 ไปได้ปีกว่าๆ

และยังเปิดตัว Mac เครื่องแรกที่ใช้ M2 มาพร้อมกันในงานเลย ก็คือ MacBook Air M2 โฉมใหม่ที่แฟน Apple เห็นแล้วก็ถูมือรอ

น่าเสียดายเพียงแค่ไม่ได้เปิดตัวมาแบบหลากหลายสีสันเหมือนที่หลายๆ คนเก็งไว้

อย่างไรก็ตาม ตัวฉันเองรู้สึกว่ามีฟีเจอร์ใหม่อย่างหนึ่งที่น่าสนใจ แต่ Apple ไม่ได้ลงลึกสักเท่าไหร่ในคีย์โน้ตเนื่องจากมีเวลาไม่มากนัก นั่นก็คือฟีเจอร์ Safety Check ที่จะมาพร้อมกับ iPhone และ iPad

Safety Check ออกแบบมาสำหรับคนที่ตกเป็นเหยื่อการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัวโดยเฉพาะ Apple บอกว่าเมื่อเราคบหรือแต่งงานกับใครสักคนเราก็มีแนวโน้มที่จะแชร์รหัสผ่านต่างๆ ให้คนรักของเราได้รับรู้ แต่ชีวิตคู่ไม่ได้มั่นคงยั่งยืนเสมอไป เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ใครคนใดคนหนึ่งในความสัมพันธ์ลุกขึ้นมากดขี่ เอาเปรียบ ควบคุม หรือแม้กระทั่งใช้ความรุนแรงกับอีกคน รหัสผ่านหรือการเข้าถึงใดๆ ที่เคยให้ไว้ในตอนรักหวานชื่นก็กลายเป็นเครื่องมือที่จะถูกหยิบมาใช้เพื่อทำร้ายทำลายอีกฝ่ายได้ทันที

ฟีเจอร์ Safety Check จะช่วยให้คนที่ตกเป็นเหยื่อสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าตอนนี้มีข้อมูลอะไรในโทรศัพท์ของตัวเองที่ถูกแชร์ให้กับอีกคนหนึ่งอยู่บ้าง

อย่างเช่น ข้อมูลโลเกชั่น ข้อความ หรือภาพถ่าย และสามารถกดรีเซ็ตเพื่อยกเลิกการเข้าถึงข้อมูลเหล่านั้นได้ทันที ยกเลิกการแชร์โลเกชั่น ป้องกันไม่ให้ผู้กดขี่เข้าถึงข้อความหรือภาพถ่ายภายในเครื่องได้อีกต่อไป

ที่แยบยลไปกว่านั้นและทำให้เห็นว่า Apple ค้นคว้าเรื่องนี้มาเป็นอย่างดีก็คือหลายๆ กรณีผู้กดขี่จะไม่อนุญาตให้เหยื่อได้รับความเป็นส่วนตัวในการใช้โทรศัพท์เลยโดยจะคอยตรวจสอบอยู่เสมอ ดังนั้น ฟีเจอร์นี้จึงจะมีปุ่มที่ชื่อว่า Quick Exit เมื่อเหยื่อเข้ามาตั้งค่า Safety Check เสร็จแล้ว เพียงแค่กดปุ่มนี้ iPhone ก็จะเด้งกลับไปที่หน้าการตั้งค่าปกติ ไม่ให้เหลือร่องรอยให้ผู้กดขี่จับได้ว่ามีการกดเข้ามาที่หน้าเมนู Safety Check เลย

เป็นรายละเอียดที่ดูเล็กน้อยแต่สำคัญมากจริงๆ

 

ผู้เชี่ยวชาญให้ข้อมูลว่าเหยื่อการใช้ความรุนแรงมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีรอบด้าน เช่น หากเปิดเว็บไซต์หาข้อมูลเพื่อพาตัวเองออกจากความสัมพันธ์ที่รุนแรงหรือติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือ ถ้าไม่ระวังและทิ้งร่องรอยไว้ก็อาจจะนำพาไปสู่การใช้ความรุนแรงที่หนักกว่าเดิมได้ เช่นเดียวกับการตัดขาดการแชร์ข้อมูลส่วนตัวแบบกะทันหันที่ก็อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงได้เหมือนกัน

แม้ว่าฟีเจอร์ความปลอดภัยอย่าง Safety Check หรือฟีเจอร์อื่นๆ ที่มีแนวคิดแบบเดียวกันนี้จะไม่ได้ช่วยหยุดยั้งการใช้ความรุนแรงได้ แต่ก็มีประโยชน์ในฐานะของการเป็นเครื่องมือที่จะคอยสนับสนุนให้เหยื่อจัดการความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้ดีขึ้น หรือเมื่อสามารถรอดพ้นจากการถูกกดขี่มาแล้วก็จะได้มั่นใจว่าไม่เหลือช่องโหว่ไหนให้ผู้กดขี่ยังคอยติดตามตัวได้อยู่

การมีอยู่ของอุปกรณ์สื่อสารสมัยใหม่อย่างสมาร์ตโฟนถึงจะช่วยให้ชีวิตเราง่ายดายขึ้นในหลายๆ ด้าน แต่สิ่งเดียวกันนี้ก็ทำให้ผู้กดขี่ชักใยควบคุมเหยื่อได้เหนียวแน่นกว่าเดิมด้วย

Safety Check หรือฟีเจอร์ใดๆ ก็ตามที่ออกแบบมาสำหรับช่วยคนที่ตกเป็นเหยื่อจะต้องผ่านการคิดมาอย่างละเอียดทุกขั้นตอน โดยที่จะต้องทำความเข้าใจถึงลักษณะของการใช้ความรุนแรง พฤติกรรมของผู้กดขี่และพฤติกรรมของเหยื่อให้ได้อย่างถ่องแท้ ในกรณีนี้ Apple ไม่ได้คิดเอาเองทั้งหมด แต่ทำงานร่วมกับองค์กรด้านการช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวโดยเฉพาะ

นอกจาก Apple แล้ว ค่ายเทคโนโลยีอื่นต่างก็มีหนทางของตัวเองในการพัฒนาเครื่องมือที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานรับมือกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ได้เห็นว่าบริษัทเทคโนโลยีไม่ใช่แค่ตั้งหน้าตั้งตาจะอัพเกรดสเป๊กเพื่อปั๊มยอดขายอย่างเดียว

แต่ยังได้แบ่งทรัพยากรมาใช้สำหรับการช่วยดูแลแก้ไขปัญหาสังคมด้วย