การออกแบบระบบการเลือกตั้งในอุดมคติ/บทความพิเศษ สมชัย ศรีสุทธิยากร

สมชัย ศรีสุทธิยากร

บทความพิเศษ

สมชัย ศรีสุทธิยากร

ศูนย์วิจัยการเมืองและการพัฒนา มหาวิทยาลัยรังสิต

 

การออกแบบระบบการเลือกตั้งในอุดมคติ

 

ขณะที่รัฐสภากำลังเตรียมถกเถียงกันว่า การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะเอาอย่างไรกัน ระหว่างหาร 100 หรือหาร 500 จะคำนวณแบบคู่ขนานบัตรใครบัตรมัน หรือคำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม ดู ส.ส.พึงมี ก่อนมาคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ

ขณะที่บางคนคิดไกลไปว่า หากร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผ่านวาระที่สามไปแล้ว อาจมีสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ หรือประมาณ 75 คน ใช้สิทธิตามมาตรา 148(1) ของรัฐธรรมนูญ ส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า กฎหมายดังกล่าวมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ อาจทำให้กฎหมายยังไม่สามารถมีผลบังคับใช้ได้ในเวลารวดเร็ว

ขณะที่หลายฝ่ายกังวลว่า หากมีการยุบสภาก่อนการพิจารณา กม.ลูก สองฉบับ คือ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ยังไม่ผ่านวาระที่สามของรัฐสภา อาจทำให้ร่างกฎหมายทั้งสองฉบับต้องตกไป

ระบบการเลือกตั้งของไทยในนาทีนี้ จึงยังเป็นอะไรที่ไม่นิ่ง ทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็กล้วนยากที่จะกำหนดยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง นักการเมืองเองก็ยากตัดสินใจว่าจะคงอยู่กับพรรค จะย้ายพรรค ยุบพรรค หรือตั้งพรรคการเมืองใหม่ เพราะกติกาที่จะใช้เป็นหลักในการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจนที่จะใช้ในการตัดสินใจทางการเมือง

อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะกลไกการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงกติกาทั้งหลายนั้นอยู่ในมือของผู้มีอำนาจทางการเมือง ซึ่งเขาต้องประเมินด้วยหลักของการปรารถนาจะได้เปรียบทางการเมืองมากกว่าหลักแห่งเหตุผลที่ควรจะเป็น สิ่งที่ดีสุดจึงอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้มีอำนาจต้องการหากสิ่งนั้นทำให้เขาสูญเสียอำนาจ

ลองมาคิดออกแบบระบบการเลือกตั้งในอุดมคติที่มองประโยชน์ของบ้านเมือง ไม่ตามใจผู้มีอำนาจดูสักรอบ

 

1.การออกแบบให้มีบัตรสองใบคือหลักการที่ถูกต้อง

เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสองประเภท คือ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ การใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวที่เคยออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นการออกแบบที่ส่งเสริมให้พรรคใหญ่ หรือพรรคที่มีทุนสนับสนุนมากกว่ามีความได้เปรียบ

เพราะหากพรรคการเมืองปรารถนาจะได้คะแนนเพื่อมาคำนวณ ส.ส.ที่พึงมี ก็จำเป็นต้องส่งผู้สมัครให้ครบทุกเขต เขตใดไม่มีผู้สมัครในระบบเขต ก็จะไม่คะแนนที่มาคำนวณเพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ในขณะที่หากเป็นระบบบัตรสองใบ แม้ในเขตที่ไม่ส่งผู้สมัครในระบบเขต แต่ยังมีหมายเลขของพรรคในระบบบัญชีรายชื่อให้เลือกได้

พรรคการเมืองขนาดเล็กจึงยังมีโอกาสเป็นพรรคทางเลือกให้ประชาชนในบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ

 

2.ควรเพิ่มสัดส่วนของ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

สัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นตัวเลขที่เปลี่ยนแปลงกลับไปกลับมาโดยตลอด ในการออกแบบเมื่อปี พ.ศ.2540 เป็นสัดส่วน 400 : 100 ต่อมาในปี พ.ศ.2550 เป็น 400 : 80 พอแก้ไขปี พ.ศ.2554 เป็น 375 : 125 พอมาถึงรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เมื่อปี พ.ศ.2560 กำหนดสัดส่วนเป็น 350 : 150 แต่เมื่อมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2564 ก็เปลี่ยนกลับเป็น 400 : 100

ตัวเลขของสัดส่วนที่เปลี่ยนแปลงไปมาดังกล่าว บางครั้งก็ดูเป็นเหตุผล แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องการเมือง เช่น การลดสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อในครั้งสุดท้ายเนื่องจากเห็นว่ามีพรรคการเมืองบางพรรคที่ได้รับคะแนนนิยมในภาพรวมทั้งประเทศมากกว่าในระดับเขต การแก้ไขจึงลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อและไปเพิ่มในสัดส่วน ส.ส.เขตที่ฝ่ายตนเองคาดว่าจะได้รับชัยชนะมากกว่า

การพิจารณาความแตกต่างในบทบาทหน้าที่และคุณสมบัติของผู้จะมาเป็น ส.ส.แต่ละประเภทเป็นประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา

ความจำเป็นต้องมี ส.ส.เขต นั้นเพื่อรับรู้ปัญหาของประชาชนและเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนในแต่ละพื้นที่

ในขณะที่ความรู้และประสบการณ์ของ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะช่วยเสริมประสิทธิภาพการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร

ตัวเลขสัดส่วนของ ส.ส.เขต ต่อ ส.ส.บัญชีรายชื่อจึงควรเป็นอัตราราว 3 : 1 หรือประมาณ 300 : 100

หรือหากคิดที่จำนวน ส.ส.ทั้งสภาที่ 500 คน สัดส่วนที่น่าจะเป็นคือ 375 : 125 เหมือนกับรัฐธรรมนูญ 2550 ที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554

 

3.พรรคเดียว เบอร์เดียวทั้งประเทศ

การเลือกตั้งที่สะดวก และไม่ก่อให้เกิดความผิดพลาดในการลงคะแนน คือ การให้หมายเลขของผู้สมัครของพรรคการเมืองในระดับเขตละหมายเลขของพรรคในบัตรบัญชีรายชื่อเป็นหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศ

พรรคการเมืองมีความสะดวกในการหาการเสียงที่เป็นเอกภาพ ในขณะที่ กกต.ก็มีความสะดวกในการจัดการออกเสียงลงคะแนนและการบริหารจัดการโดยรวม

และที่สำคัญที่สุด ประชาชนย่อมสะดวกในการจดจำ และเจตนาการลงคะแนนของประชาชนเป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่ผิดพลาดเพราะความสับสนของหมายเลขผู้สมัครและหมายเลขพรรคที่แตกต่างกันจนวุ่นวาย

 

4.คำนวณแบบจัดสรรปันส่วนผสม แต่ควรมีขั้นต่ำ

การคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมี ก่อนไปคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อที่พึงได้รับ ตามแนวคิดของระบบการเลือกตั้งของเยอรมันที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMP (Mixed-member proportional representation) เป็นระบบที่ส่งเสริมให้รัฐสภามีองค์ประกอบที่หลากหลาย ไม่มีพรรคการเมืองใหญ่ที่ผูกขาด และทำให้สัดส่วนของ ส.ส.ในสภา สะท้อนถึงคะแนนความนิยม (Popularity) ที่ประชาชนมีต่อพรรคการเมืองอย่างแท้จริง

ดังนั้น การคำนวณ ส.ส.ที่พึงมี โดยใช้คะแนนจากบัตรเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ มาหารด้วยค่าเฉลี่ยของคะแนนเสียงที่เป็นเกณฑ์การได้ ส.ส.หนึ่งคน แล้วนำไปหักลบกับจำนวน ส.ส.ที่ได้มาจากการเลือกตั้งในระดับเขต เพื่อเติมจำนวนในส่วนของบัญชีรายชื่อให้ได้สัดส่วนตามคะแนนนิยมของพรรคที่เรียกว่าระบบจัดสรรปันส่วนผสมจึงน่าจะเป็นระบบที่สร้างความเป็นธรรมที่สุด

แต่กติกาดังกล่าวที่เคยใช้ในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2562 นั้น ก่อให้เกิดปัญหาที่มีพรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้คะแนนจากการคิดปัดเศษรอบสองที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศเพียง 30,000-40,000 คะแนน ก็สามารถมี ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ ทำให้เกิดเสียงครหาว่า ไม่มีความเหมาะสม

การแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำได้โดยการมีจำนวนคะแนนเสียงขั้นต่ำ ก่อนมาคำนวณจำนวน ส.ส.ที่พึงมี เช่น จะต้องได้คะแนนจากบัตรใบที่สองอย่างน้อยร้อยละเท่าไรซึ่งการกำหนดจำนวนดังกล่าว เคยมีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่กำหนดจำนวนขั้นต่ำไว้ร้อยละ 5 หรือต้องได้คะแนนในปัจจุบันราว 1,750,000 คะแนน หรือในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคพลังประชารัฐ และของพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.2564 ได้ระบุคะแนนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 1 หรือ ประมาณ 350,000 คะแนน จึงจะมีสิทธิที่จะมาคำนวณ ส.ส.พึงมี

การออกแบบดังกล่าวนี้ จึงจะได้ทั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม และ ไม่มีการปัดเศษให้แก้พรรคขนาดจิ๋วที่ได้คะแนนทั้งประเทศไม่กี่หมื่นคะแนน

หลักทั้ง 4 ประการ เป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบระบบการเลือกตั้งในอุดมคติ หากแต่ถูกหลักแต่อาจไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ การแก้ไขในประเด็นดังกล่าวจึงถูกบิดเบือนมาโดยตลอด

คงต้องรอวันที่ประชาชนมีอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนครับ บันทึกไว้ก่อนจนถึงวันนั้น