พระสมเด็จ-อกครุฑ รุ่นแรก ‘หลวงปู่หยอด’ วัดแก้วเจริญ อัมพวา

โฟกัสพระเครื่อง

โคมคำ

[email protected]

 

พระสมเด็จ-อกครุฑ

รุ่นแรก ‘หลวงปู่หยอด’

วัดแก้วเจริญ อัมพวา

 

“หลวงปู่หยอด ชินวังโส” หรือ “พระครูสุนทรธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม นักบุญลุ่มน้ำแม่กลอง ศูนย์รวมศรัทธา

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยมสูง คือ ไหมเบญจรงค์ 5 สี ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากหลวงปู่ใจ วัดเสด็จ

เชื่อว่ามีอานุภาพทางเมตตาและแคล้วคลาดจากภยันตราย นอกจากนี้ ยังมีวัตถุมงคล เช่น พระสมเด็จ พระปิดตา เหรียญกว่า 100 รายการ

ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “พระสมเด็จ รุ่นแรก” สร้างขึ้นในปี พ.ศ.2497 หารายได้สร้างศาลาการเปรียญ

พระสมเด็จ หลวงปู่หยอด

ลักษณะเป็นพระสมเด็จเนื้อผง พิมพ์สี่เหลี่ยม สร้างด้วยเนื้อผงพุทธคุณสีขาวอมเหลือง มีส่วนผสมของผงวิเศษต่างๆ ที่รวบรวมเอาไว้ นอกจากนี้ ยังมีผงพุทธคุณที่ลบผงเอง เป็นส่วนผสมหลัก พิมพ์นี้จัดเป็นพิมพ์หายาก

ด้านหน้า จำลองเป็นรูปพระสมเด็จอกครุฑ หูบายศรี องค์พระสมเด็จประทับนั่งบนฐานเขียง 5 ชั้น จึงเป็นที่มาของชื่อพิมพ์พระ มีซุ้มระฆังครอบสวยงาม ด้านหลังเรียบ

หลวงปู่หยอด ชินวังโส

หลวงปู่หยอดมีนามเดิมว่า สุนทร ชุติมาศ ถือกำเนิดเมื่อวันอังคารที่ 16 พฤษภาคม 2454 ที่บริเวณตลาดบางน้อย (ตรงข้ามศาลเจ้าพ่อโรงโขน) ต.ตาหลวง อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ในวัยเยาว์ ศึกษาหาความรู้จากบิดาจนอ่านออกเขียนได้ เมื่อเติบโตได้เป็นกำลังช่วยมารดาค้าขาย แบ่งเบาภาระให้ครอบครัว

เมื่ออายุ 18 ปี ฝากตัวเข้าบรรพชากับพระครูเปลี่ยน สุวัณณโชโต เจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2472

อายุครบ 20 ปี เข้าพิธีอุปสมบท เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2474 มีพระราชมงคลวุฒาจารย์ (ใจ) วัดเสด็จ เมื่อครั้งยังดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูสุทธิสารวุฒาจารย์ เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อเปลี่ยน สุวัณณโชโต วัดแก้วเจริญ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูอุดมสุตกิจ (พลบ) วัดปราโมทย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายานาม ชินวังโส มีหมายความว่า ผู้สืบวงศ์แห่งพระพุทธเจ้า

ศึกษาพระปริยัติธรรม เป็นผู้มีวิริยอุตสาหะ สนใจใฝ่ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง จนได้รับวิทยฐานะความรู้สามัญ สอบไล่ได้ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (สมัครสอบ) พ.ศ.2478 สอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ

ดูแลปรนนิบัติพระครูเปลี่ยนซึ่งอาพาธอย่างใกล้ชิด ด้วยกตัญญูกตเวทิตา จวบจนถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2484

วันที่ 17 สิงหาคม 2484 พระราชมงคลวุฒาจารย์ (หลวงปู่ใจ) เจ้าคณะอำเภออัมพวา จึงแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดแก้วเจริญ และรักษาการแทนเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่

 

วัดแก้วเจริญ เป็นวัดโบราณของชาวรามัญ สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาและรกร้างมาเป็นเวลานาน

มีเรื่องเล่าว่า ชาวบ้านท่าใหญ่กรุงศรีอยุธยา อพยพหลบภัยพม่าเมื่อเสียกรุง พ.ศ.2310 มาถึงสถานที่แห่งนี้แล้วเห็นว่ามีทำเลเหมาะสม จึงช่วยกันแผ้วถางป่าลึกเข้าไปประมาณ 3 เส้น พบวัดร้าง มีซากอุโบสถ พระพุทธรูปศิลาแลงปางต่างๆ มากมาย และพระพุทธรูปสร้างด้วยแก้ว มีใบเสมารอบอุโบสถ พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริดไม่มีผ้าพาด

บริเวณวัดยังมีเจดีย์รามัญ 2 องค์ ชำรุดหักพังอยู่ ชาวบ้านเห็นว่าคงไม่เหมาะกับการสร้างที่อยู่อาศัยเพราะมีวัดร้างอยู่ จึงไปแผ้วถางสถานที่แห่งใหม่ ห่างจากวัดประมาณ 5 เส้น ตั้งเป็นหมู่บ้านท่าใหญ่ตามชื่อเดิมของผู้อพยพ

กระทั่งปี พ.ศ.2340 พระอธิการต่าย ปฏิสังขรณ์ให้มีสภาพดีขึ้น โดยพระพุทธรูปที่สร้างด้วยแก้วเป็นปูชนียวัตถุที่สำคัญ ประชาชนจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดแก้ว

ต่อมาพระพุทธรูปแก้วองค์นี้ เนื่องจากมีขนาดเล็กมาก เกรงว่าจะไม่ปลอดภัย และเห็นว่าควรจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จึงฝังไว้ที่ใต้ฐานชุกชีของพระประธาน ปัจจุบันอยู่ภายนอกฐานชุกชี

วัดประกาศตั้งเป็นวัดเมื่อปี พ.ศ.2375 ชื่อว่า “วัดแก้วเจริญ” และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2529

พ.ศ.2487 หลวงปู่หยอดได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส และเจ้าคณะตำบลเหมืองใหม่-วัดประดู่

หลังจากได้รับตำแหน่ง พัฒนาวัดอย่างสุดความสามารถ จนวัดเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ ทั้งการจัดการให้วัดเป็นสถานพยาบาลรักษาญาติโยมที่เดือดร้อนต่างๆ

แต่ที่โด่งดังมาก คือ การต่อกระดูก ประสานกระดูก เรียกว่าสมัยก่อนใครแขนหักขาหัก ไม่มีชาวบ้านคนไหนไปโรงพยาบาล แต่มารักษาที่วัดแก้วเจริญกันแทบทั้งสิ้น

 

ลําดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2491 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรีที่ พระครูสุนทรธรรมกิจ

พ.ศ.2499 เป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.2507 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ในราชทินนามเดิม

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก ในราชทินนามเดิม

ผลงานด้านการศึกษา เป็นเจ้าสำนักเรียนธรรมชั้นตรี-โท-เอก และเป็นกรรมการสงฆ์องค์การเผยแผ่ อำเภออัมพวา

งานเผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นพระอุปัชฌาย์ในการบรรพชาและอุปสมบท ปกครองสงฆ์สำนักวัดแก้วเจริญ ในการอบรมสั่งสอนสามเณรและภิกษุในเรื่องจริยาวัตร กิจวัตรและศาสนพิธี จัดเทศนาอบรม สั่งสอนคฤหัสถ์ให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

ผลงานด้านสาธารณูปการ เป็นผู้นำบรรพชิตและคฤหัสถ์ ดำเนินการก่อสร้างปฏิสังขรณ์ บำรุงรักษาวัดและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และเจริญรุ่งเรืองตามลำดับ สืบทอดตามเจตนารมณ์ของเจ้าอาวาสในอดีต

มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2541

สิริอายุ 86 ปี พรรษา 66 •