A Conversation with the Sun บทสนทนาระหว่างภาพแห่งความว่าง กับแสงสว่างในที่มืด / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

A Conversation with the Sun

บทสนทนาระหว่างภาพแห่งความว่าง

กับแสงสว่างในที่มืด

 

เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราได้ไปชมนิทรรศการศิลปะที่แปลกใหม่น่าสนใจมา เลยถือโอกาสหยิบยกมาเล่าสู่ให้อ่านกันตามเคย นิทรรศการที่ว่านั้นมีชื่อว่า

A Conversation with the Sun

โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ศิลปินและคนทำภาพยนตร์ชาวไทยผู้ได้รับการยอมรับในระดับสากล

เป็นการทำงานข้ามสาขาร่วมกันกับ ดั๊กยูนิต (DuckUnit) สตูดิโอออกแบบคอนเสิร์ต ละครเวที และศิลปะการแสดงเชิงทดลองชั้นนำของเมืองไทย และ พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีและนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (เอ็มไอที)

นิทรรศการครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสนใจของอภิชาติพงศ์ที่มีต่อภาพเคลื่อนไหว, การละคร, การแสดงสด, เทคโนโลยี และการรวมศาสตร์ต่างๆ เหล่านี้เข้าไว้ด้วยกัน

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานวิดีโอจัดวางที่สร้างบรรยากาศอันแปลกตาน่าพิศวง

โดยบนผนังลึกสุดของห้องแสดงงานฉายภาพเคลื่อนไหวอันมีที่มาจากไฟล์ภาพที่อภิชาติพงศ์คัดเลือกมาจากวิดีโอที่เขาถ่ายด้วยตัวเองมาเป็นเวลาหลายปี

วิธีการเช่นนี้นี่เองที่อภิชาติพงศ์ใช้แทนการสังเกต หรือแม้แต่การเก็บบันทึกความทรงจำของเขานับตั้งแต่เริ่มสร้างภาพยนตร์เป็นครั้งแรก

ภาพเคลื่อนไหวที่ว่านี้ถูกจัดเรียงโดยการทำงานร่วมกันกับดั๊กยูนิต ที่ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมควบคุมภาพและเสียงในระบบสุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีบทสนทนาระหว่างอภิชาติพงศ์และโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ GPT-3 ที่สามารถสร้างบทสนทนาโต้ตอบได้อัตโนมัติ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างอภิชาติพงศ์และพัทน์ ภัทรนุธาพร

โดยมีจุดตั้งต้นจากแรงบันดาลใจของอภิชาติพงศ์ในความคิดคำนึงถึงดวงอาทิตย์ในขณะที่เขาเดินออกกำลังท่ามกลางธรรมชาติ

อภิชาติพงศ์ทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดันและนำทางให้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ที่ว่านี้สร้างและสานต่อบทสนทนาได้อย่างสอดคล้อง เพื่อสร้างสรรค์เรื่องเล่าใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมา

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ภาพถ่ายโดยหฤษฎ์ ศรีขาว

“ในการทำนิทรรศการที่ผ่านมาเหมือนเราค่อยๆ ตอบคำถามตัวเองบางอย่าง เหมือนเป็นการมอง ‘ภาพ’ ด้วยสายตาอีกแบบหนึ่ง ภาพที่ว่านี้เป็นภาพเคลื่อนไหวที่เราสะสมมานานแล้ว ถ่ายด้วยกล้องโทรศัพท์มือถือ จะว่าไปก็เป็นเหมือนการใช้กล้องแทนสายตา หรือแม้แต่ใช้แทนการจดจำของเรา”

“พอเรากลับมาดูภาพเหล่านี้แล้วทำให้เรานึกถึงประเด็นเกี่ยวกับการใช้ชีวิตโดยไม่มีกรอบคิด ไม่มีความคาดหวัง ไม่มีการตั้งแง่ พยายามทำอย่างไรก็ได้ให้รู้สึกว่าทุกสิ่งเป็นสิ่งใหม่ตลอดเวลา ซึ่งเราได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญาของกฤษณะมูรติ, ผลงานที่แสดงในนิทรรศการนี้จึงเป็นเหมือนพื้นที่ส่วนตัวที่ทำให้เรามองภาพเหล่านั้นโดยไม่ยึดติดกับความหมายหรือที่มาของมัน”

“ภาพเหล่านั้นถูกผสมปนเป/ร้อยเรียงแบบสุ่มๆ บางครั้งพออยู่ด้วยกันแล้วก็สร้างความหมายใหม่ขึ้นมา, สิ่งนี้ทำให้เราตั้งคำถามว่า จะเป็นไปได้ไหมที่เราจะมองภาพเหล่านี้ หรือแม้แต่มองมนุษย์คนหนึ่ง โดยที่เราไม่มีข้อมูลว่าเขามีหน้าตาแบบไหน แต่งตัวอย่างไร อายุเท่าไหร่ มีสัญชาติออะไร เพื่อตัดสินเขาจากข้อมูลเหล่านี้ เช่นเดียวกันกับข้อมูลของภาพแต่ละภาพ”

“งานชุดนี้ของเราจึงเป็นเหมือนการเรียบเรียงภาพจากคลังความทรงจำเพื่อตอบคำถามที่ว่านี้”

A Conversation with the Sun ภาพถ่ายโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ภาพเคลื่อนไหวจากต่างช่วงเวลาในคลังความทรงจำส่วนตัวของอภิชาติพงศ์เหล่านี้ถูกร้อยเรียง/ทับซ้อนกันอย่างไม่ปะติดปะต่อ กลายเป็นชุดภาพเคลื่อนไหวที่ฉายแสงจากสองจอทับซ้อนกันในที่มืด จนเกิดเป็นปฏิกิริยาทางภาพอันแปลกตา คลอเคลียด้วยเสียงประกอบอันประหลาดหู ยากแก่การเสาะหาความหมายหรือตีความ

“การจัดเรียงภาพเราไม่ต้องการสื่อถึงอะไร เราแค่อยากพูดถึงเรื่องพื้นผิวในการรับแสง, แสงที่ว่านี้ก็เปรียบเหมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงไปตกกระทบอะไรบางอย่าง แล้วแต่คนที่มองเห็นจะให้ความหมายอย่างไร, โดยปกติ การทำภาพยนตร์คือการใช้ภาพ (สร้างสิ่งเสมือนจริง) เพื่อสร้างความหมายตลอดเวลา (แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ภาพเหล่านั้นหมดความเป็นตัวเองไป) แต่ในงานชุดนี้ เราต้องการจัดเรียงและทับซ้อนภาพโดยไม่มีประเด็น ไม่มีจุดมุ่งหมาย แต่ปล่อยให้ตัวภาพและการร้อยเรียง/ทับซ้อนของมันสร้างความหมายใหม่ขึ้นมาด้วยตัวเอง”

“อย่างเช่น หนึ่งในภาพเหล่านั้น คือภาพของอนุสาวรีย์ สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ถูกทับซ้อนด้วยภาพของเปลวไฟ ก็อาจจะสร้างความหมายใหม่ขึ้นมา, ความหมายเหล่านั้นอาจจะเปลี่ยนแปลง เลื่อนไหล หรือถูกตีความไปตามแต่ประสบการณ์ในชีวิตของผู้ชมแต่ละคน แล้วก็ไม่จำเป็นด้วยว่าทุกคนต้องรับรู้หรือเข้าใจความหมายแบบเดียวกัน”

“บางคนอาจจะตีความว่าไฟคือดวงอาทิตย์ หรือตีความเป็นทะเลทรายก็ได้ เราไม่ได้กำหนดเอาไว้ และเราก็ไม่ได้ตั้งใจควบคุมให้งานมีทิศทางตายตัวด้วย”

นิทรรศการ A Conversation with the Sun ภาพถ่ายโดยมิติ เรืองกฤตยา

นอกจากชุดภาพเคลื่อนไหวในที่มืดอันแปลกตาแล้ว องค์ประกอบอันน่าพิศวงอีกประการหนึ่งในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ ประติมากรรมจัดวางที่ประกอบจากผืนผ้าสีขาวผืนใหญ่ที่เคลื่อนไหวด้วยโปรแกรมกลไกการเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติโดยสัมพันธ์กับภาพและเสียง อันเป็นการร่วมงานกับดั๊กยูนิต

ผืนผ้าหย่อนคล้อยขนาดมหึมาที่ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว, ทาบทับ, บดบัง, หากโปร่งบางจนถูกแสงที่ฉายภาพเคลื่อนไหวทะลุทะลวงในห้องแสดงงานอันมืดมิด ทำให้เราอดนึกไปถึงจอผ้าในโรงภาพยนตร์, ฉากหลังและม่านในโรงละคร หรือแม้แต่ภูตผีวิญญาณที่เคยปรากฏในหนังของอภิชาติพงศ์ไม่ได้

“ผืนผ้าในงานนี้มีที่มาหลายอย่าง อย่างแรกเลยคือ เราอยากสำรวจความทรงจำของผ้า, ยกตัวอย่างชื่องานนี้ ที่เราพูดถึงดวงอาทิตย์ ซึ่งมีความหมายหลายอย่าง เหมือนตอนเราสนทนากับปัญญาประดิษฐ์ พอพูดถึงดวงอาทิตย์ก็มีความหมายเยอะมาก ตั้งแต่ความหมายจากการตีความของมนุษย์, เรื่องจริง, เรื่องแต่ง ดวงอาทิตย์คือก้อนแก๊ส, ก้อนหิน”

“แต่ผืนผ้าเนี่ย เราจะตีความว่าเป็นผ้าม่านก็ได้ เพราะเราหลงใหลผ้าม่านมาตั้งแต่ตอนดูลิเก แล้วเห็นผ้าม่านหรือฉากหลังยกขึ้นลง หรือผ้าม่านของโรงภาพยนตร์ หรือแม้แต่จอหนังกางแปลง ซึ่งมักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากผู้ชมเท่าไหร่ เพราะในขณะที่ภาพยนตร์ที่ฉายเป็นตัวเอก ม่านเหล่านี้ก็เป็นแค่ตัวประกอบ”

“แต่สำหรับเรา ผืนผ้าพวกนี้เป็นส่วนหนึ่งของความทรงจำ เป็นส่วนที่รับและดึงแสง, ถ้าสังเกตในงานนี้ บางจังหวะแสงจะถูกดึงไปบนผืนผ้าที่กำลังเคลื่อนไหวอยู่”

“ส่วนการแขวนผ้าให้หย่อนๆ นั้นเป็นเหมือนการแสดงออกของผ้า คนที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับผ้าแต่ละแบบก็อาจจะตีความแตกต่างกันไป เมื่อเห็นรอยยับย่นของผ้า บางคนอาจจะนึกถึงผ้าห่อศพ ผ้ามัดศพ บางคนอาจจะนึกถึงรอยผ้ายับในประติมากรรมหินอ่อนยุคคลาสสิค, การเคลื่อนไหวของผ้าอาจะทำให้บางคนนึกถึงคลื่นทะเล, มันเปิดกว้างมาก”

“นี่คือสิ่งที่เราพยายามนำเสนอ ว่าทำอย่างไรเราถึงจะแสดงความเป็นไปได้อันหลากหลายของความหมายจนกลายเป็นไร้ความหมายไปในที่สุด, เราอยากแสดงความรู้สึกเหมือนเวลาเดินเล่นในธรรมชาติแล้วปล่อยความคิดให้ว่างโดยไม่คิดอะไรเลย สภาวะแบบนี้มีค่ามาก แต่เราจะทำได้จริงๆ ไหม? เราเชื่อว่าถ้าคนเราปล่อยความคิดให้ว่างโดยไม่คิดอะไรเลย เราจะสามารถสื่อสารกับทุกสิ่งทุกอย่างได้ถึงตัวตนที่แท้จริงโดยไม่แสวงหาความหมายของมัน, อย่างเช่น ต้นไม้หรือดอกไม้ ก็ไม่ได้มีความหมายอะไรนอกจากการเป็นต้นไม้ดอกไม้ธรรมดาๆ มันอาจจะให้ประโยชน์กับคน แมลง หรือสิ่งมีชีวิตอะไรก็แล้วแต่ แต่ตัวมันเองก็คือตัวมันเอง, ผ้าก็คือผ้า ภาพก็คือภาพ”

“สิ่งเหล่านี้ย้ำเตือนเราว่ามันไร้ประโยชน์ที่จะตีความสิ่งต่างๆ, สิ่งที่มีค่าที่สุดคือการเข้าใจถึงความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของชีวิต ของทุกสิ่งในโลกนี้”

นิทรรศการ A Conversation with the Sun ภาพถ่ายโดยมิติ เรืองกฤตยา

นอกจากผลงานดังที่กล่าวมาแล้ว ในนิทรรศการยังมีการเปิดตัวหนังสือ A Conversation with the Sun ที่รวบรวมบทสนทนาระหว่างอภิชาติพงศ์กับดวงอาทิตย์ ศิลปิน นักเขียน และนักคิดต่างๆ ที่ประมวลผลโดยโปรแกรมปัญญาประดิษฐ์ GPT-3

ภายในเล่มยังมีบทสนทนาร่วมกับพัทน์ ภัทรนุธาพร ในประเด็นเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี และความเหมือนของการกำกับการแสดงและการป้อนคำสั่งปัญญาประดิษฐ์ รวมถึงแนวคิดเบื้องหลังการทำงานร่วมกันในนิทรรศการครั้งนี้อีกด้วย

A Conversation with the Sun นิทรรศการโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ร่วมกับดั๊กยูนิต และพัทน์ ภัทรนุธาพร จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม-10 กรกฎาคม 2565 ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ (BANGKOK CITYCITY GALLERY) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-3087-2725, อีเมล [email protected]

ขอบคุณภาพและข้อมูลจากบางกอก ซิตี้ซิตี้แกลเลอรี่ •