แก้ว ไม้ประดับและไม้ยา / สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

สมุนไพรเพื่อสุขภาพ

โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งพาตนเอง

มูลนิธิสุขภาพไทย

www.thaihof.org

 

แก้ว ไม้ประดับและไม้ยา

 

เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว ความรู้หรือภูมิปัญญาอยู่ในตัวเด็กๆ ด้วย เพราะเด็กคนไหนไม่อยากไปโรงเรียนจะเอาใบแก้วมาเคี้ยว สักพักอุณหภูมิในร่างกายจะสูงขึ้นหรือทำให้ตัวร้อน แล้วไม่ต้องไปโรงเรียน

แต่เด็กสมัยนี้ยังรู้จักต้นแก้วหรือไม่?

ชื่อต้นแก้วน่าจะมาจากภาษาแขก เช่น ในภาษาทมิฬ อัสสัม เบงกาลี เรียกว่า “กามินิ” (Kamini) ไทยเลยออกเสียง “แก้ว” มีชื่อสามัญในภาษาอังกฤษว่า orange jasmine, orange jessamine, china box or mock orange มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Murraya paniculata (L.) Jack มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า จ๊าพริก (ลำปาง) แก้วลาย (สระบุรี) แก้วขี้ไก่ (ยะลา) แก้วพริก ตะไหลแก้ว (ภาคเหนือ) แก้วขาว (ภาคกลาง) กะมูนิง (มลายู-ปัตตานี) จิ๋วหลี่เซียง (จีนกลาง)

แก้วนับเป็นไม้พื้นเมืองในเขตร้อนและกึ่งอบอุ่นในแถบเอเชีย รวมถึงไทยด้วย

แต่ในธรรมชาติพบประชากรของต้นแก้วได้น้อยมากแล้ว ส่วนใหญ่นำมาปลูกเป็นไม้ประดับ และด้วยมีลำต้นที่แข็งมาก จึงนิยมปลูกเป็นรั้ว

 

แก้วจัดเป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูงได้ประมาณ 10 เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก หากไม่ตัดแต่งทรงพุ่มจะมีทรงพุ่มค่อนข้างกลม

ใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ เรียงสลับ ก้านใบไม่มีปีก ใบย่อยมี 3-9 ใบ เรียงสลับ รูปไข่กลับหรือรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ปลายใบแหลม โคนใบแหลม เบี้ยว

ดอกออกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ออกตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงและกลีบดอกมีจำนวนอย่างละ 5 กลีบ กลีบเลี้ยงขนาดเล็ก ปลายมน กลีบดอกรูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ ออกดอกตลอดปี ดอกหอมตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน

ผลแบบมีเนื้อหลายเมล็ด รูปรี สุกสีแดง มี 1-2 เมล็ด มีขนเหนียวหุ้ม

ต้นแก้วที่มีขนาดสูงพบเห็นได้น้อยมาก ยกเว้นตามบ้านที่เก่าแก่

เช่น ที่บ้านเก่าเมืองแพร่ ในปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นพิพิธภัณฑ์คุ้มวงศ์บุรี

หรือตามวัด เช่น ที่วัดราชประดิษฐาน หรือวัดพะโคะ จังหวัดสงขลา ที่มีต้นแก้วใหญ่สูงมากกว่า 5 เมตร มีอายุไม่น้อยกว่า 100 ปี

ต้นแก้วนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีคุณสมบัติทางยามากมาย ในตำรายาไทยใช้ใบแก้วปรุงเป็นยาขับโลหิตระดู และยาแก้จุกเสียด แน่นท้อง ขับผายลม บำรุงธาตุและระงับอาการปวดฟันได้โดยจะทำให้เกิดอาการชา

ใบแก้วมีรสร้อนเผ็ดและขม ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย

รากช่วยคลายการอุดตันของเส้นเลือด ทำให้การไหลเวียนของเลือดลมเป็นไปได้ดีขึ้น

ใบของต้นแก้วมีน้ำมันหอมระเหย เมื่อขยี้ดมดูจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เมื่อกลั่นใบด้วยไอน้ำได้น้ำมันหอมระเหยสีเข้ม

น้ำมันหอมระเหยดังกล่าวนี้มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยพบว่า ใบมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อ Micrococcus pyogenes ver. aureus และ E. coli

สมุนไพรที่นำมาใช้ในงานสาธารณสุขมูลฐานนั้น แนะนำใช้ใบแก้วรักษาอาการปวดฟัน โดยนำใบสดตำพอแหลกแช่เหล้าโรง ในอัตราส่วน 15 ใบย่อย หรือ 1 กรัม ต่อเหล้าโรง 1 ช้อนชา หรือ 5 มิลลิลิตร และนำเอาน้ำยาที่ได้มาทาบริเวณที่ปวดฟัน น้ำมันหอมนี้ออกฤทธิ์เป็นยาชา

นอกจากนี้ ใช้ใบสดนำมาต้มน้ำร้อนใช้น้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน กินเป็นยาช่วยขับโลหิตระดูสตรี บำรุงธาตุ แก้จุกเสียดแน่นท้อง ขับผายลม

ก้าน และ ใบ มีรสเผ็ด สุขุม ขม ใช้เป็นยาชาระงับปวด แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้แผลเจ็บปวดเกิดจากการกระทบกระแทก ต้มอมบ้วนปาก

ราก รสเผ็ด ขม สุขุม ใช้แก้ปวดเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้นและแมลงกัดต่อย นำรากมาหั่นเป็นฝอยใส่รวมกับหางหมูและเหล้าอย่างละเท่าๆ กัน ตุ๋นกินแก้ปวดเมื่อยเอว แก้ผื่นคันที่เกิดจากความชื้น แก้ฝีฝักบัวที่เต้านม แก้แผลคัน แมลงสัตว์กัดต่อย

ดอก นำมาต้มกับน้ำร้อนกิน แก้ไอเรื้อรัง แก้ไข้ แก้ไขข้ออักเสบ แก้ไอ แก้กระหายน้ำ แก้วิงเวียนศีรษะ ช่วยเจริญอาหาร สรรพคุณทางยาของแก้วยังปรากฏในตำรายาของอายุรเวท สิทธา และตำรับยาจีน กล่าวว่า แก้วให้รสขมเล็กน้อย ทำให้อุ่นขึ้น ถือเป็นยาแก้ปวด กระตุ้นการไหลเวียนโลหิตและบรรเทาอาการฟกช้ำ

และในหลายประเทศกล่าวถึงการนำดอกมาชงเป็นชาดื่ม ใบใส่ในแกงเพื่อเพิ่มรสชาติอาหารด้วย

 

ต้นแก้วยังใช้ประโยชน์อื่นๆ เช่น ใบเพสลาดนำไปต้มย้อมผ้าไหมได้สีเหลืองอ่อน ถ้าแช่ในจุนสีจะได้สีเขียวเหลือง และช่วยให้เส้นไหมมีความคงทน เนื้อไม้มีความสวยงามมักทำเป็นไม้เท้าหรือเครื่องประดับต่างๆ และด้วยกลิ่นหอมจึงมีการนำดอกและใบมาผลิตเครื่องสำอางด้วย

แก้วยังถือเป็นไม้มงคลมีความเชื่อว่าปลูกไว้จะทำให้คนในบ้านมีจิตใจบริสุทธิ์ มีความเบิกบาน เพราะแก้วคือความใสสะอาด ความสดใส และดอกแก้วสีขาวแสดงถึงความสะอาดบริสุทธิ์ กลิ่นยังหอมนวลไปไกล จึงมักนำมาใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา หรือใช้ในงานมงคลด้วย

ในนิราศธารทองแดง พระนิพนธ์ของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กล่าวถึงต้นแก้วว่า “กล้วยไม้ห้อยต่ำเตี้ย นมตำเลียเรี่ยทางไป หอมหวังวังเวงใจ ว่ากลิ่นแก้วแล้วเรียมเหลียว” หากถอดรหัสภูมิปัญญาดั้งเดิม แล้วนำมาศึกษาถึงสุคนธบำบัด กลิ่นแก้วจะเป็นดั่งคำกวีนี้หรือไม่?

แก้ว จึงเป็นมากกว่าไม้ประดับ แต่เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ควรหันมาสนใจศึกษาและพัฒนาเป็นยาสมุนไพรทั้งยากิน ยาทา ยาหอม ได้อย่างดีทีเดียว •