คืนอาขยานสู่ห้องเรียน | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

ภาพประกอบ : “พระอภัยมณีกับนางเงือก” พ.ศ. 2514 ภาพสีน้ำมันบนผ้าใบ ผลงานของ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต

เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์

 

คืนอาขยานสู่ห้องเรียน

 

เคยเขียนเรื่อง “คืนอาขยาน” สู่ห้องเรียนเมื่อนานมาแล้ว จนวันนี้ก็ยังยืนยันอยู่

โดยเฉพาะระดับประถมศึกษาให้ท่องพร้อมกันทั้งห้องก่อนเลิกเรียน และไม่ต้องมีคะแนนให้

แบ่งเป็นสามประเภทได้ยิ่งดี คือ

บทหลัก บทรอง บทเลือก

บทหลักควรต้องเป็นบทเดียวกันทั้งประเทศ ตามระดับชั้นเรียน ตั้งแต่ประถมหนึ่งถึงหก เช่น ประถมต้น อาจเป็นบทดอกสร้อย สักวา ประถมปลาย อาจใช้กลอนสุนทรภู่ ในเรื่องพระอภัยมณี หรือนิราศ เป็นต้น

บทรอง คือ บทกวีหรือบทลำนำพื้นบ้านของแต่ละภาค เช่น ภาคใต้ อาจใช้เพลงชาน้อง ภาคเหนืออาจเป็นบทค่าวฮ่ำ ภาคอีสานอาจเป็นบทผญา ภาคกลาง เช่น บทกล่อมเด็ก เป็นต้น

บทเลือก เช่น อาจมีประกวดแต่งกันในโรงเรียนแล้วนำมาท่องกันเป็นครั้งคราวก็ได้

ทำได้ดังนี้ เด็กและเยาวชนจะมีประสบการณ์ร่วม โดยเฉพาะบทหลักนั้นจะกลายเป็น “รากร่วมวัฒนธรรมทางภาษา” ที่สำคัญยิ่ง

เช่น เด็กจากแม่ฮ่องสอนกับเด็กจากเบตง ยะลา จะซึมซับในกาพย์กลอนบทเดียวกัน เหมือนทุกวันนี้เพื่อนรุ่นเดียวกันก็ยังจำบทนี้ได้ คือ

 

บัดเดี๋ยวดังหง่างเหง่งวังเวงแว่ว

สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา

เห็นโยคีขี่รุ้งพุ่งออกมา

ประคองพาขึ้นไปจนบนบรรพต

แล้วสอนว่าอย่าไว้ใจมนุษย์

มันแสนสุดลึกล้ำเหลือกำหนด

ถึงเถาวัลย์พันเกี่ยวที่เลี้ยวลด

ก็ไม่คดเหมือนหนึ่งในน้ำใจคน

มนุษย์นี้ที่รักอยู่สองสถาน

บิดามารดารักมักเป็นผล

ที่พึ่งหนึ่งพึ่งได้แต่กายตน

เกิดเป็นคนคิดเห็นจึ่งเจรจา

แม้ใครรักรักมั่งชังชังตอบ

ให้รอบคอบคิดอ่านนะหลานหนา

รู้สิ่งใดก็ไม่สู้รู้วิชา

รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี

จงติดตามไปเอาไม้เท้าเถิด

จะประเสริฐสมรักเป็นสักขี

พอเสร็จคำสำแดงแจ้งคดี

รูปโยคีก็หายวับไปกับตา

 

ที่เขียนมานี้จากความจำล้วนๆ ใครเกิดทันรุ่นนี้ลองช่วยสอบทานด้วยเถิดว่าถูกถ้วนหรือไม่

นอกจากที่ว่าเป็น “รากร่วมวัฒนธรรมทางภาษา” แล้ว ที่ได้ต่อมาคือ ข้อคิดที่ได้ภายหลังแม้จนวันนี้ ยิ่งเห็นแจ้งเห็นจริงในสัจธรรมแทบทุกวรรค เช่น “รู้สิ่งใดไม่สู้รู้วิชา รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี”

จำเพาะ “รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี” นี่แหละเป็นประเด็นถกเถียงได้ดีนักว่า “ตัวรอด” นี้รอดจากอะไร และอย่างไรจึงนับได้ว่า “เป็นยอดดี”

ข้อดีของการท่องพร้อมๆ กันนั้น ทำให้จำง่ายเพราะการเริ่มท่องด้วยการอ่านพร้อมกันนี่แหละช่วยให้ได้ต่อเติมซึ่งกันและกันเมื่อเวลาปิดหนังสือแล้วท่องออกมาดังๆ พร้อมๆ กัน ซึ่งที่สุดพลอยให้จำได้ไปด้วยทุกคน

แม้จนวันนี้

 

ประโยชน์สำคัญยิ่งของการท่องอาขยานหรือการอ่านออกเสียงพร้อมๆ กันอีกประการก็คือ การได้สัมผัสกับ “มิติของภาษาไทย” ที่ไพเราะด้วยท่วงทำนองและจังหวะจะโคนของบทกวีไทยอันมีอัจฉริยลักษณ์และเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครมี

อัจฉริยลักษณ์ คือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงของสำเนียงเสียงอักษรที่กำหนดทั้งพื้นฐานตัวอักษรและะกำหนดด้วยเครื่องหมายวรรณยุกต์เป็นตัวกำกับ พร้อมมีจังหวะด้วยสระสัมผัสสัมพันธ์คล้องจองรับส่งอย่างมีจังหวะจะโคน

เอกลักษณ์ คือ ศิลปะการแต่งที่นำอัจฉริยลักษณ์คือเสียงกับจังหวะดังกล่าวมาผูกเป็นคำประพันธ์ดังเรียกว่า “ร้อยกรอง” นั่นเอง

ตรงนี้อาจแตกต่างจากบทกวีชาติอื่นที่ไม่กำหนดเสียงกับจังหวะตายตัวเหมือนกาพย์กลอนไทย

เคยไปอ่านกวีโดยยกบทกลอนของสุนทรภู่ในพระอภัยมณีให้ที่ประชุมกวีนานาชาติฟัง ทั้งที่อ่านออกเสียงธรรมดาไม่เป็นทำนองเสนาะอะไรเลย

เพื่อนกวีต่างชาติผู้ไม่รู้ภาษาไทยต่างอุทานว่า นี่เป็น “บทเพลง” ไพเราะเหมือนเป็น “คีตกวี” ทีเดียว

ก็เพราะอัจฉริยลักษณ์และเอกลักษณ์ของกาพย์กลอนกวีไทยนั่นเอง

 

อาจมีบางคนว่า การท่องอาขยาน มีแต่ความจำท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง

คำกล่าวเช่นนี้มุ่งเน้นความคิดเป็นหลัก และบางทีอาจเห็นวิชาการสำคัญกว่าอีกวิชา คือวิชาศิลปะ

ดังวาทะสำคัญที่ว่า

วิชาทั้งหลายที่เรียนนั้นส่วนใหญ่มุ่งเน้น “วิชาชีพ” แต่บทกวีนั้นสำคัญตรงที่

เป็น “วิชาชีวิต” •