หวานคอแร้ง / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

หวานคอแร้ง

 

ขุนวิจิตรมาตรา หรือ ‘กาญจนาคพันธุ์’ เล่าไว้ในหนังสือเรื่อง “สำนวนไทย” ว่า

หวานคอแร้ง หมายความว่า คล่อง สะดวก ง่าย ฯลฯ มูลของสำนวนมาจากแร้งกินศพ สมัยโบราณบางคราวสัปเหร่อเชือดเนื้อศพคนตายให้แร้งกิน แร้งไม่ต้องแย่งทึ้งศพ”

‘การเชือดเนื้อศพให้แร้งกิน’ มิใช่คำพูดที่เกินเลย เป็นความจริงในอดีตที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงอธิบายไว้ใน “บันทึกเรื่องความรู้ต่างๆ” เล่ม 3 ประทานพระยาอนุมานราชธน ดังนี้

“วิธีปลงศพด้วยการเอาไปให้แร้งกินนั้น ติดจะไม่ประหลาด ศพพวกแขกฟาซีก็ทำอย่างนั้น แม้ป่าช้าในเมืองเราแต่แรกก็ทำศพเปนสามอย่าง คือเอาไปทิ้งแล้วแต่อะไรจะกินนั้นอย่างหนึ่ง เอาไปฝังอย่างหนึ่ง เอาไปเผาอย่างหนึ่ง ที่ป่าช้าวัดสระเกษมีแร้งอยู่ประจำทีเดียว แปลว่ามาคอยกินศพทิ้ง”

 

ภาพของศพที่ถูกฝูงแร้งรุมทึ้งชัดเจนอยู่ในบทความของนายแพทย์ ดี. บรัดเลย์ เรื่อง ‘ประเพณีเกี่ยวกับการตายและพิธีศพของชาวสยาม’ จากหนังสือ “สยามและลาวในสายตามิชชันนารีชาวอเมริกัน” กรมศิลปากรพิมพ์เผยแพร่ พ.ศ.2557

“งานศพในหมู่ประชาชน บางโอกาสคนตายทำบุญโดยยกร่างของเขาให้แก่อีแร้ง ในกรณีดังกล่าว เนื้อจะถูกตัดออกมาด้วยมีด นำไปเป็นอาหารให้แก่อีแร้งที่วนเวียนอยู่เป็นจำนวนมากตามสถานที่ที่มีการเผาศพ มีเพียงกระดูกเท่านั้นที่จะนำไปเผา พวกคนยากไร้และอาชญากรก็จะถูกนำร่างไปเป็นอาหารของอีแร้ง หรือไม่ก็นำไปเผาโดยปราศจากพิธีกรรมใดๆ”

ภาพของบรรดาแร้งที่รอคอยนาทีทองถ่ายทอดผ่านบทความ เรื่อง ‘การเผาศพของชนชั้นกลางที่เพชรบุรี’ ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Recorder ฉบับเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1866 ทุกพฤติกรรมของแร้งไม่รอดพ้นสายตาของหมอบรัดเลย์

“ตอนแรกศพถูกนำไปให้อีแร้งเป็นร้อยๆ ตัวหรือมากกว่านั้น ก่อนที่โลงศพจะถูกเปิดออกนั้น มีการรวมกลุ่มของสัตว์ที่สกปรกและน่าสยดสยอง ไม่ว่าที่ใดที่มีซากศพ จะมีอีแร้งมารวมตัวอยู่ด้วยกัน พวกอีแร้งจะเกาะอยู่บนสันหลังคาของวัด หรือแม้แต่ต้นไม้และพุ่มไม้เล็กๆ ในระยะ 2-3 ฟุตจากศพ ความละโมบโลภมากของพวกมันทำให้ผู้ดูแลโบสถ์และผู้ช่วยของเขาต้องไล่พวกมันไปหลายครั้งก่อนที่จะเปิดโลงศพ พวกอีแร้งดูเหมือนจะรู้ว่าถ้าจะแบ่งศพในพวกมันทั้งหมด แต่ละตัวก็จะได้กินเพียงคำเดียว นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสุนัขตะกละก็กำลังรอคอยการแบ่งปันด้วยเช่นกัน”

หลังจากนำศพออกจากโลงวางไว้บนเชิงตะกอนสำหรับเผาศพก็ถึงคิวของผู้รอใจจดใจจ่อ “บินลงมาที่ศพและฉีกศพออกตามใจชอบ”

“ชั่วครู่หนึ่งพวกอีแร้งจะเร่งกรูกันเข้ามารุมทึ้งจนมองไม่เห็นศพ นกแต่ละตัวเมื่อแย่งชิงเอาชิ้นส่วนของศพโดยใช้จะงอยปากและอุ้งเล็บได้แล้วก็จะกางปีกและบินไปยังสถานที่เงียบๆ เพื่อกินชิ้นส่วนของศพที่มันแย่งมาได้”

 

ภาพที่ดูเหมือนจะตัดกันอย่างแรงระหว่างความชุลมุนของแร้งและความสงบของผู้คนในงานคือ

“อีแร้งที่ไม่พอใจกับส่วนที่พวกมันได้มาจากเชิงตะกอน ก็จะลงมาทะเลาะกับสุนัขพันธุ์เลวเพื่อที่จะแบ่งส่วนไป ในขณะที่เกิดการแย่งชิงดังกล่าวกันอยู่ ผู้มาไว้อาลัยก็ยืนคอยพร้อมกับเทียนขี้ผึ้งและธูปเพื่อแสดงความเคารพแก่คนตายเป็นครั้งสุดท้ายโดยช่วยกันเผากระดูก หลังจากที่อีแร้งและสุนัขหิวโหยได้แย่งทึ้งเอาเนื้อออกไปจนหมดสิ้นแล้ว ผู้ดูแลโบสถ์พร้อมกับคนอื่นๆ ก็ช่วยกันเก็บรวบรวมโครงกระดูก และนำกลับไปวางไว้ในโลงศพซึ่งถูกยกขึ้นโดยชาย 4 คน และหามรอบกองฟืนเผาศพ 3 รอบ”

หลังจากนั้นจัดการเผาศพโดยวางโลงบนกองไม้ที่เชิงตะกอนขนาดเล็กซึ่งทำขึ้นชั่วคราวสำหรับเผาศพ

“เศษไม้จำนวนหนึ่งถูกใส่ไว้ในโลงศพเพื่อช่วยเผากระดูก จากนั้นจุดคบเพลิงและนำเข้าไปไว้ในกองไม้ บรรดาญาติและผู้ไว้อาลัยคนอื่นๆ ก็ก้าวเข้าไปทีละคนแล้ววางเทียนขี้ผึ้งไว้ข้างๆ คบเพลิง บางคนก็จุดธูปและโยนไปบนกองฟืน”

แม้บุฟเฟ่ต์ผ่านไปแล้ว 1 รอบ แต่ฝูงแร้งยังรอรอบต่อไป

“อีแร้งที่กินอาหารเช้าไม่อิ่มก็ยังไม่ยอมจากไปจากบริเวณดังกล่าวจนกระทั่งบนเชิงตะกอนไม่เหลือสิ่งใดไว้ให้พวกมันอีก เมื่อนั้นพวกมันก็สั่นหัวอันน่าเกลียด กระโดด 2-3 ก้าว เพื่อให้เกิดแรงเคลื่อน จากนั้นเหล่าอีแร้งที่โหดเหี้ยมก็กระพือปีกแล้วก็บินจากไป”

 

เนื่องจากภาพดังกล่าวนี้ชินตาคนไทยสมัยก่อน รัชกาลที่ 2 ทรงให้นางจระเข้เลื่อมลายวรรณนำเอาภาพแร้งแย่งทึ้งศพมาเปรียบวิวาทะระหว่างนางจระเข้วิมาลากับไกรทองไว้ในบทละครนอกเรื่อง “ไกรทอง” ตอนหนึ่งว่า

“เยี่ยมเยี่ยมมองมองแล้วร้องว่า อะไรนี่บ่นบ้าน่าหนวกหู

ทั้งหม่อมเมียหม่อมผัวล้วนตัวรู้ ไม่อดสูผีสางบ้างเลย

จะสาวไส้ให้กาแย่งแร้งทึ้ง อื้ออึงมันไม่ดีนะพี่เอ๋ย

ใช่จะแกล้งแสร้งซ้ำปรำเปรียบเปรย พี่ก็เป็นคนเคยคนเข้าใจ

จะมาขืนฟื้นฝอยหาตะเข็บ หยิกเล็บจะเจ็บเนื้อฤๅหาไม่

เมื่อกินอยู่ที่ลับแล้วเป็นไร จะมาไขกลางแจ้งให้แพร่งพราย”

‘สาวไส้ให้กาแย่งแร้งทึ้ง’ หมายถึง แฉความลับให้คนอื่นรู้ ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

นอกจากนี้ภาพของคนแก่จวนตาย มีแร้งมารอกินศพ อยู่ในบทละครนอกเรื่อง “คาวี” ตอนที่หลวิชัย (ฤษีปลอม) ด่าเรียกสตินางคันธมาลี (มเหสีท้าวสันนุราช) ผู้กำลังโมโหหึงว่า

“เป็นถึงเมียท้าวเมียพระยา ไม่ไว้ยศไว้สง่าอ่าโถง

อะไรนี่แก่เฒ่าจะเข้าโลง โมโหมากปากโป้งโผงอึง

จงคิดอนิจจังฟังรูปห้าม นั่นแน่แร้งมันถามข่าวถึง

ไม่พอที่จะหุนหันดันดึง โกรธขึ้งหึงหวงช่วงชิง”

สำนวน ‘แร้งถามหา’ หรือ ‘แร้งถามข่าว’ ในที่นี้หมายความว่า นางคันธมาลีแก่มากแล้ว ใกล้ความตายเต็มที เป็นการเตือนนางว่าให้ปล่อยวางเสียบ้าง

ยิ่งไปกว่านั้นความที่แร้งมีรูปร่างหน้าตาชวนเมิน ลองนึกภาพนกขนาดใหญ่ ปีกกว้าง หางสั้น หัวเล็กโกร๋น ลำคอไร้ขนหรือเป็นขนอุยห่างๆ กินซากสัตว์เป็นอาหาร กลิ่นตัวเหม็นสาบกว่านกอื่น ถ้าใครถูกเปรียบกับแร้งคือทั้งน่าเกลียดและน่ากลัว แต่ใช่ว่าจะไม่มี ดังที่เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” บรรยายถึงขุนช้างผ่านคำโวยวายตื่นตระหนกของเด็กๆ

“เด็กเด็กแลเห็นเต้นเซ็งแซ่ แม่แม่อะไรมาโน่นขา

หัวแดงตละแร้งที่กลางนา มันจะกินตับข้าตาลุกโพลง

อีแม่ด่าอึงมี่อ้ายขี้ครอก มาหลอกลูกกูไยอ้ายตายโหง

ขุนช้างทำเมินเดินหัวโคลง ดุ่มโด่งเข้ามาศาลาใน”

ถูกจี้จุดซ้ำกระหน่ำด่า เสียหน้าเสียศูนย์ •