เที่ยวงานวันชาติ 2482 กับสามเกลอ (1)/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

เที่ยวงานวันชาติ 2482

กับสามเกลอ (1)

 

“รุ่งอรุณแห่งวันที่ 24 มิถุนายน วันสำคัญที่ประชาชนชาวไทยได้รับสิทธิ อิสระเสรีโดยทั่วหน้า วันที่ประชาชนชาวไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นมิ่งขวัญของชาติ เพื่อให้ประชาชนรำลึกถึงวันสำคัญนี้ ทางราชการจึงจัดให้มีงานมโหฬารขึ้นทุกจังหวัด ขนานนามวันที่ 24 มิถุนายน ว่า วันชาติ” (ป.อินทรปาลิต, 2520, 61)

ในคืนวันสุกดิบก่อนงานฉลองจะเริ่มต้นขึ้น ป.อินทรปาลิตวางโครงเรื่องพลนิกรกิมหงวนตอนตื่นกรุง (2482) ให้ลุงเชย เศรษฐีแห่งเมืองปากน้ำโพ ผู้ตระหนี่ถี่เหนียว ผู้เป็นลุงของพล พัชราภรณ์ และนิกร การุณวงศ์ ลงมาเที่ยวงานวันชาติที่จัดขึ้นครั้งแรก

“คืนนั้น พล พัชราภรณ์ ได้พาลุงเชยนั่งรถเที่ยวไปตามถนนสายต่างๆ จนรอบพระนคร สิ้นเวลา 2 ชั่วโมงเศษ นายเชยตื่นตาตื่นใจจนบอกไม่ถูก รู้สึกวิงเวียนศีรษะคล้ายกับจะกลายเป็นลม ความรู้สึกของแกคล้ายๆ กับคนไทยได้เห็นนิวยอร์กหรือลอนดอน ปารีสเป็นครั้งแรก” (ป.อินทรปาลิต, 2535, 70-71)

ความรู้สึกตื่นเต้นของหนุ่มสาวร่วมสมัยถูกบันทึกไว้ว่า “ในคืนวันที่ 23 หนุ่มๆ สาวๆ นอนไม่หลับเลย พวกสาวๆ เซ็ตผมเตรียมตัวเที่ยวอย่างเข้มแข็ง อุตส่าห์ทนนั่งหลับกับพนักเตียงเพราะความกลัวผมจะยับ เสื้อกระโปรงจัดเตรียมไว้พร้อมสรรพ พ่อหนุ่มรูปหล่อๆ ก็เตรียมพร้อม ที่มีอัฐมากหน่อยก็ไม่ได้ตระเตรียมอะไร นอกจากสั่งคนรถให้เช็ดล้างรถไว้ให้สวยๆ”

“ที่ไม่ค่อยมีอัฐอยู่ค่อนข้างเดือดร้อนสักหน่อย วิ่งไป ไขว้เขวไป นาฬิกาข้อมือบ้าง ปากกาหมึกซึมบ้าง หรือมิฉะนั้นก็เสื้อชุดราตรีที่แต่งไว้เมื่องานฉลองรัฐธรรมนูญปีก่อน โยนโครมไปให้คุณอาม้ากิน ม้าทุ้ยอะไรเทือกนี้แล้ว คุณอาก็แยกธาตุให้เป็นธนบัตรแล้วแต่ของดีของเลว เกิดมาเป็นคนก็ต้องเที่ยวและแต่งตัว ถ้าเครื่องแต่งตัวสวยๆ ถึงแม้ทรัพย์จะเบ้ก็ไม่มีใครรู้ นี่เป็นหลักอารยธรรมในปัจจุบันนี้” (ป.อินทรปาลิต, 2520, 62)

4-แสตมป์งานฉลองวันชาติ 2482 เครดิตภาพ stampthailand.com

เที่ยวตลาดนัดเชิงสะพานพุทธในงานวันชาติ

ในสมุดกำหนดการงานฉลองวันชาติและสนธิสัญญากำหนดให้จัดตลาดนัดบริเวณสนามทั้ง 2 ด้านของสะพานพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี เพื่อส่งเสริมให้สินค้าพืชผลและหัตถกรรมพื้นเมืองได้มีทางขยายตัวและมีคุณภาพดีขึ้น สถานที่จัดใช้ตลาดนัด เริ่มตั้งแต่ 05.00 น.ถึง 10.00 น. สินค้าที่ให้นำมาขายและประกวดรางวัล ต้องเป็นสินค้าพื้นเมือง แบ่งเป็น 8 ประเภท ผลไม้ ผัก ไม้ดอกไม้ใบต่างๆ การจัดดอกไม้และดอกไม้กระเช้า ขนม เป็ด ไก่ ปลา กุ้ง เนื้อโค เนื้อหมูทั้งสุกและดิบ สิ่งของต่างๆ ในการครัว และสินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ (สมุดกำหนดการ, 2482, 25-26)

ป.อินทรปาลิต คนหนุ่มในครั้งนั้นคงได้ไปเดินงานในเช้าวันนั้น เขาเล่าผ่านพลและนิกรว่า

“พลฉุดแขนคู่หูของเขาพาเดินมาใต้สะพาน ทั้งสองต่างแลเห็น แม่ค้าขายผลไม้นั่งเรียงรายกันไปทั้งสองฝาก หนุ่มๆ สาวๆ เดินเที่ยวตลาดนัดด้วยท่าท่าสดชื่น มองทางไหนล้วนแต่เขียวๆ แดงๆ ต่างพากันมุงซื้อเงาะลำไยและขนมต่างๆ หนุ่มๆ ทั้งหลายตั้งกล้องคอยถ่ายรูปผู้หญิง บางคนก็มีกล้องเปล่าๆ ไม่มีฟิล์ม ตลาดนัดให้ความชุ่มชื่นแก่บรรดาผู้ที่มาเที่ยวยิ่งนัก…พระพิรุณลงเม็ดเป็นละอองหยิมๆ ตลอดเวลา คล้ายกับเป็นศุภนิมิตอันดีงามในวันชาติ” (ป.อินทรปาลิต, 2520, 79)

หนังสือพิมพ์ร่วมสมัยบันทึกเหตุการณ์เพิ่มเติมไว้ว่า เมื่อตลาดเปิดมีผู้คนมาเดินจับจ่ายใช้สอยกันมาก จากนั้นก็ฝูงคนข้ามกลับสู่ฝั่งพระนครประดุจกระแสน้ำเพื่อไปชมพิธีก่อฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (ณัฐกมล ไชยสุวรรณ์, 2559, 164) เฉกเช่นเดียวกับพลนิกรก็พากันข้ามฝั่งมายังพระนครเพื่อชมการวางศิลาฤกษ์อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่สี่แยกถนนดินสอ ถนนราชดำเนินเช่นกัน

คนหนุ่มร่วมสมัยที่ไปเที่ยวชมงานงานฉลองวันชาติครั้งแรกบันทึกว่า

“มโหฬารสมเกียรติของชาติทุกประการ ธงชาติแทนที่จะประดิษฐานอยู่เหนือพระที่นั่งอนันตสมาคมแห่งเดียว อันเป็นอนุสาวรีย์มาจากวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้น ในวันที่กล่าวนี้ ธงชาติได้โบกสบัดสล้างไสวไปทั่วราชอาณาจักร ตลอดทั้งที่พำนักของชาวไทยในต่างประเทศ ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องพร้อมกับเสียงย่ำฆ้องกลองระฆังของวัดวาอารามต่างๆ และเสียงดนตรีปี่พาทย์ตามโรงมหรสพ ได้มีขบวนแห่ การสวนสนาม การแห่คบเพลิง สิ่งเหล่านี้นอกจากจะส่งเสริมให้ประชาชาติไทยได้มีความครึกครื้นรื่นเริงบันเทิงใจแล้ว ยังเร่งเร้าใจให้ระลึกถึงชาติและความสำคัญของวันชาติ” (ความสำคัญของวันชาติ, 2483, 85)

วางแผนเที่ยวงานฉลองวันชาติ 2482

หากพลนิกรกิมหงวนเปิดสมุดกำหนดการงานฉลองวันชาติอ่าน พวกเขาจะพบกิจกรรมและกำหนดการที่รัฐบาลจัดทำขึ้นมากมาย เช่น 1.จัดทำดวงตราไปรษณียากรที่ระลึกงานฉลองวันชาติ 2.จัดสร้าง “อนุสาวรีย์ไทย” ที่สมุทรปราการ 3.ประกวดเรียงความเรื่องวันชาติและสนธิสัญญา ประกวดบทเพลง บทประพันธ์และภาพโฆษณา 4.จัดทำสมุดภาพที่ระลึกแสดงความก้าวหน้าของไทยในระบอบประชาธิปไตย

5.ส่งวิทยุกระจายเสียงคลื่นสั้นและคลื่นยาวเป็นพิเศษให้พลเมืองไทยที่อยู่ในและต่างประเทศฟัง 6.นายกรัฐมนตรีส่งคำปราศรัยไปทั่วประเทศ 7.กระทรวงมหาดไทยและศึกษาธิการสั่งการให้จัดงานและประชุมนักเรียนอธิบายให้ทราบถึงความสำคัญของงานวันชาติ ส่วนราชการในจังหวัดต่างๆ จัดงานตามอย่างพระนคร 8.จัดตลาดนัดที่เชิงสะพานพุทธยอดฟ้าฯ ฝั่งธนบุรี

9.เตรียมการก่อสร้างอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ถนนราชดำเนินสี่แยกถนนดินสอ 10.พระราชพิธีเจิมสนธิสัญญาฉบับใหม่ โดยประธานคณะผู้สำเร็จราชการ มีการชักธงชาติที่ทำสนธิสัญญาใหม่กับไทยรอบโรงพิธี 11.จัดให้นายกรัฐมนตรีพบหนังสือพิมพ์ที่วังสวนกุหลาบ ช่วงค่ำเชิญคณะทูต อธิบดี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับประทานอาหารว่างและลีลาศที่พระที่นั่งอนันตสมาคม

12.ชักชวนให้ห้างร้านและบ้านเรือนประดับธงทิวและโคมประทีปทั่วประเทศ ในพระนครให้ตกแต่งที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ต้นไม้สองข้างถนนราชดำเนิน ตลอดทั่วสนามหลวงเป็นพิเศษ สำหรับธงชาติให้กระทรวงศึกษาธิการทำจำหน่ายแก่ประชาชนในราคาถูก 13.จัดขบวนแต่งรถแห่เพื่อให้ประชาชนมีความสนุกและได้ความรู้ 14.ในช่วงเที่ยง ให้ยิงสลุตโดยทหารบกและเรือ พร้อมโรงงาน รถยนต์ เรือยนต์ เรือกลไฟ และยานพาหนะเปิดวูดหรือแตรพร้อมกันเป็นเวลา 1 นาที แต่ให้งดเว้นบริเวณใกล้โรงพยาบาล

15.กระทรวงกลาโหมจัดให้มีการสวนสนามของทหารและยุวชนทหาร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า มีทั้งทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ เครื่องบิน ยุวชนทหารและยุวนารี 16.ในช่วงค่ำขบวนยุวชนทหาร 2,000 คนถือคบไฟออกเป็น 3 สาย เดินไปบรรจบกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

17.ช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีกล่าวปราศรัยทางวิทยุ 18.มีการจุดดอกไม้ไฟที่สนามหลวง สนามเสือป่า วงเวียนใหญ่ ภูเขาทอง มีการใช้เครื่องบินจุดพลุให้ชมเป็นพิเศษด้วย 19.มีมหรสพทุกชนิดทั่วพระนคร ธนบุรี เพื่อให้ประชาชนรื่นเริง (สมุดกำหนดการ, 2482, 6-11)

หนังสือพิมพ์บรรยากาศงานวันชาติไว้ว่า งานฉลองนี้ยิ่งใหญ่ มีประชาชนมาร่วมงานจำนวนมาก ถนนราชดำเนินแออัดยัดเยียดไปด้วยฝูงชน รถรับจ้างทั้งหลายมีคนเต็ม ร้านค้าเอกชนพร้อมใจปิดร้านให้พนักงานไปชมงาน

“สรุปเหตุการณ์ในวันชาติ เราได้พบแต่สิ่งที่น่าชื่นชมยินดี จะเหลียวไปด้านไหน พบแต่สิ่งเย็นตาเย็นใจทั้งนั้น ถ้าประชาชนทั้งหลายจะมีจิตผ่องแผ้วเสมอต้นเสมอปลายอย่างกับในวันชาติ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าไทยรัฐนาวาจะไม่ลอยลำฝ่าคลื่นลมไปสู่จุดที่หมาย คือ ความวิวัฒนาการเบื้องหน้านั้นโดยราบรื่นสวัสดีที่สุด” (ณัฐกมล ไชยสุวรรณ์, 2559, 164)