ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (2) ดวงดาว/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (2)

ดวงดาว

 

ตามที่เราทราบ ดวงดาวเป็นเทหวัตถุในท้องฟ้าเช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ มันเป็นภาพของปรากฏการณ์ทางกายภาพต่างๆ ที่สังเกตได้ง่ายที่สุดก็คือการที่มันมีแสงเปล่งออกมา ดวงดาวเป็นเทหวัตถุในท้องฟ้าที่มีแสงในตัวเอง

คำว่า “ดวงดาว” (นัจม์) หรือพหูพจน์คือนุญูม ปรากฏอยู่ในกุรอาน 13 ครั้ง คำนี้มาจากรากศัพท์ที่หมายถึงปรากฏหรือมาให้แลเห็น คำนี้ระบุถึงเทหวัตถุในท้องฟ้าโดยไม่กล่าวว่าเป็นชนิดใด คือเป็นผู้ให้แสงสว่างหรือเป็นแต่เพียงสะท้อนแสงที่ได้รับมา เพื่อจะให้เข้าใจชัดเจนว่าสิ่งที่กล่าวถึงนั้นคือดวงดาวก็จะต้องเติมวลีคุณศัพท์เข้าไปดังซูเราะฮ์ต่อไปนี้

ซูเราะฮ์ที่ 786 โองการที่ 1-3 “ด้วยท้องฟ้าและผู้มาเยือนในยามค่ำคืน ใครเล่าจะบอกเจ้าว่าผู้มาเยือนในยามค่ำคืนนั้นคืออะไร มันคือดวงดาวที่มีแสงสดใส”

ดาวค่ำถูกกล่าวไว้ในกุรอานด้วยคำว่า “ซากิบ” ซึ่งหมายถึง “สิ่งที่แทงทะลุผ่านเข้าไปในบางสิ่ง” (ในกรณีนี้คือเงาแห่งเวลากลางคืน) คำเดียวกันนี้ยังใช้เรียกดาวตกอีกด้วย (ซูเราะฮ์ที่ 37 โองการที่ 10) ดาวตกนั้นเป็นผลของการเผาไหม้ดาวพระเคราะห์

 

ดาวพระเคราะห์

เป็นการยากที่จะกล่าวว่าดาวพระเคราะห์ถูกกล่าวถึงในกุรอานด้วยความหมายอย่างเดียวกับความหมายของเทหวัตถุในท้องฟ้าที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้จริงๆ หรือไม่

ดาวพระเคราะห์ไม่มีแสงสว่างในตัวมันเอง มันหมุนรอบดวงอาทิตย์ โลกเรานี้ก็เป็นดาวพระเคราะห์ดวงหนึ่ง ในขณะที่อาจมีใครสันนิษฐานว่าอาจมีดาวพระเคราะห์ดวงอื่นๆ แต่ดาวพระเคราะห์ที่เรารู้จักกันก็คือดาวพระเคราะห์ที่มีอยู่ในระบบสุริยจักรวาล

คนโบราณนั้นนอกจากจะรู้จักโลกแล้ว ยังรู้จักดาวพระเคราะห์อื่นๆ อีก คือ ดาวพระพุธ (Mercury) ดาวพระศุกร์ (Venus) ดาวพระอังคาร (Mars) ดาวพฤหัสบดี (Jupiter) ดาวพระเสาร์ (Saturn) ดาวเนปจูน (Neptune) และดาวพลูโต (Pluto)

คัมภีร์กุรอานดูเหมือนจะเรียกชื่อดาวเหล่านี้โดยใช้คำว่าเกากั๊บ (พหูพจน์คือกะวากิ๊บ) โดยไม่บอกจำนวนของมัน ความฝันของยูซุฟ (ซูเราะฮ์ที่ 12) กล่าวถึง 11 ดวง แต่นั่นเป็นเพียงจินตนาการเท่านั้น

คำนิยามที่ดีเกี่ยวกับความหมายของคำว่า เกากั๊บในกุรอานดูเหมือนจะมีอยู่ในโองการที่มีชื่อเสียงมากโองการหนึ่ง ลักษณะทางจิตวิญญาณที่ชัดเจนของความหมายที่ลึกซึ้งกว่าของมันนั้นเด่นขึ้นมา และยิ่งกว่านั้นเป็นเรื่องที่ได้รับการถกเถียงอย่างมากในหมู่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการตีความ

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าสนใจอย่างยิ่งที่จะกล่าวถึงเรื่องราวของการเปรียบเทียบที่มีอยู่นั้นในเรื่องที่ดูเหมือนจะมีความหมายถึง “ดาวพระเคราะห์”

นี่คือข้อความที่ว่านั้น (ซูเราะฮ์ที่ 24 โองการที่ 35) “พระผู้เป็นเจ้าคือแสงสว่างของฟากฟ้าและผืนแผ่นดิน แสงสว่างของพระองค์นั้นเปรียบเทียบได้กับมีช่องในกำแพงอยู่ช่องหนึ่ง และในช่องนั้นมีแสงวาววาม แสงวาววามนั้นอยู่ในกระจก กระจกนั้นดูราวกับว่ามันเป็นดาวพระเคราะห์ที่เป็นประกายคล้ายไข่มุก”

เนื้อหาในที่นี้ก็คือการฉายแสงออกมายังสิ่งหนึ่งซึ่งสะท้อนแสงนั้นไป (คือกระจก) และให้แสงเป็นประกายของไข่มุก เหมือนกับดาวพระเคราะห์ที่ได้รับแสงของดวงอาทิตย์ นี่คือคำอธิบายเป็นรายละเอียดอันเดียวที่กล่าวถึงคำนี้ซึ่งจะพบได้ในกุรอาน

คำนี้ถูกกล่าวถึงในโองการอื่นๆ ด้วย ในบางโองการ เป็นการยากที่จะแบ่งให้ชัดเจนว่าหมายถึงเทหวัตถุในฟากฟ้าอันใด (ซูเราะฮ์ที่ 6 โองการที่ 76 และซูเราะฮ์ที่ 82 โองการที่ 1-2)

อย่างไรก็ตาม ในโองการหนึ่งเมื่อมองดูด้วยมุมมองของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ดูเหมือนว่านี่อาจเป็นเทหวัตถุในท้องฟ้าที่เรารู้จักว่าเป็นดาวพระเคราะห์ ในซูเราะฮ์ที่ 37 โองการที่ 6 เราจะเห็นได้ว่า

“ที่จริงเราได้ประดับประดาชั้นฟ้าล่างที่สุดด้วยเครื่องประดับคือดาวพระเคราะห์” จะเป็นไปได้ไหมที่คำในกุรอานที่ว่า “ชั้นฟ้าล่างที่สุด” นั้นหมายถึง “ระบบสุริยจักรวาล”?

เป็นที่รู้กันว่าในหมู่ส่วนประกอบในฟากฟ้าที่ว่าอยู่ใกล้เราที่สุดนั้นไม่มีวัตถุถาวรใดๆ นอกจากดาวพระเคราะห์

ดวงอาทิตย์เป็นดวงดาวเดียวในระบบนั้นที่มีชื่อของมันเอง เป็นการยากที่จะเห็นได้ว่าเทหวัตถุอื่นๆ ในระบบนั้นที่มีชื่อของมันเอง เป็นการยากที่จะเห็นได้ว่าเทหวัตถุอื่นๆ ในฟากฟ้าอาจจะหมายความว่าอย่างอื่นหากไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ เพราะฉะนั้นคำแปลที่ให้ไว้ดูเหมือนจะถูกต้อง และดูเหมือนว่ากุรอานกล่าวถึงความมีอยู่ของดาวพระเคราะห์ตามที่นิยามกันในสมัยใหม่นี้

 

ฟากฟ้าชั้นล่างที่สุด

กุรอานกล่าวถึงชั้นฟ้าล่างที่สุดหลายครั้งพร้อมด้วยเทหวัตถุในฟากฟ้าซึ่งประกอบกันเข้าเป็นชั้นฟ้าชั้นล่างสุด สิ่งแรกดูเหมือนจะเป็นดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย ดังที่เราได้เห็นกันแล้ว

อย่างไรก็ตาม เมื่อกุรอานกล่าวถึงวัตถุที่เราพอจะเข้าใจได้ (ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันนี้เรารู้ได้แล้วด้วยวิทยาศาสตร์สมัยใหม่) ด้วยคำพูดที่มีลักษณะเชิงจิตวิญญาณอย่างแท้จริง แต่ความหมายของมันก็อาจจะคลุมเครืออยู่

โองการต่างๆ ที่ยกมาอ้างนี้สามารถเข้าใจได้ง่ายๆ นอกจากโองการที่ 7 ในซูเราะฮ์ที่ 37 ต่อไปนี้ซึ่งพูดถึง “ผู้พิทักษ์ดวงวิญญาณที่ชั่วร้ายแข็งข้อทุกดวง” ในซูเราะฮ์ที่ 21 โองการที่ 32 และซูเราะฮ์ที่ 41 โองการที่ 12 ก็มีการกล่าวถึง “ผู้พิทักษ์” นี้อีก จนเราต้องเผชิญหน้ากับคำพูดชนิดที่แตกต่างกัน

ยิ่งกว่านั้นเราจะตีความหมายของประโยคต่อไปนี้ว่าอย่างไร? เราจะแปลความหมายของคำว่า “กระสุนที่ยิงไปเพื่อขว้างผีปีศาจ” ที่มีอยู่ในชั้นฟ้าชั้นล่างสุดตามที่มีอยู่ในซูเราะฮ์ที่ 67 โองการที่ 5 และ “สิ่งที่มีแสงวาววาม” ซึ่งกล่าวถึงในโองการเดียวกันนั้นว่ามีอะไรเกี่ยวข้องกับดาวตกที่ได้กล่าวถึงมาแล้วอย่างไร?

ข้อสังเกตทั้งหมดเหล่านี้ที่นำมาพูดในที่นี้ก็เพื่อให้สมบูรณ์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ในขั้นตอนปัจจุบันนี้ดูเหมือนว่าข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจะให้ความรู้ในเรื่องซึ่งพ้นจากความเข้าใจของมนุษย์ได้

 

ค. การรวมกลุ่มในฟากฟ้า

คําบอกเล่าของกุรอานในเรื่องนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับระบบสุริยจักรวาลด้วย ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้มีการค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ มีโองการที่สำคัญมากสองโองการที่กล่าวถึงวงโคจรของดาวอาทิตย์และดวงจันทร์คือ ซูเราะฮ์ที่ 21 โองการที่ 33 “พระผู้เป็นเจ้าคือผู้สร้างกลางคืน กลางวัน ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ แต่ละอย่างล้วนแต่ดำเนินไปตามวงโคจรด้วยความเคลื่อนไหวของมันเอง”

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 40 “ดวงอาทิตย์จะไม่ตามทันดวงจันทร์ และกลางคืนก็ไม่ล้ำเวลากลางวันไป แต่ละอย่างล้วนแต่ดำเนินไปตามวงโคจรด้วยความเคลื่อนไหวของมันเอง”

ในที่นี้ได้มีการบอกเล่าถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญไว้อย่างชัดเจน นั่นคือการมีอยู่ของวงโคจรของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ รวมทั้งมีการพูดถึงการเดินทางของเทหวัตถุเหล่านี้ในอวกาศด้วยความเคลื่อนไหวของมันเอง

ในสมัยที่วะหฺยุ (วิวรณ์หรือการเปิดเผย) ของกุรอานลงมานั้นคิดกันว่าดวงอาทิตย์เคลื่อนไหวไปในขณะที่โลกอยู่กับที่ นี่คือระบบที่มีโลกเป็นศูนย์กลางซึ่งมีอิทธิพลอยู่ตั้งแต่สมัยของปโตเลมี (Ptolemy) ในคริสต์ศตวรรษที่ 2 และเป็นเช่นนั้นต่อมาจนกระทั่งถึงสมัยของคอเปอร์นิคัส (Copernicus)