ล้านนา-คำเมือง : จ้อ

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จ้อ”

ช่อ หมายถึง ธงสามเหลี่ยม ทำจากผ้า หรือกระดาษ มีขนาดและสีแตกต่างกันไปตามการใช้งานในพิธีกรรมนั้นๆ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

ช่อนำทาน ช่อน้อย และช่อช้าง

ช่อนำทาน เป็นช่อสำหรับประดับตกแต่งเครื่องไทยทาน

มีลักษณะเป็นธงสามเหลี่ยม ทำจากกระดาษสา หรือกระดาษว่าว

ตัดแต่งให้มีลงดลายวิจิตรงดงาม

การใช้งานมักนิยมปักไว้ที่เครื่องไทยทาน พุ่มต้นคา ต้นกล้วย

ขณะมีขบวนแห่ครัวทานจะพบว่ามี ช่อนำทาน แห่นำขบวนเสมอ

ช่อน้อย เป็นธงสามเหลี่ยมที่มีขนาดเล็กว่าช่อนำทาน จะมีลวดลายหรือไม่มีก็ได้ มักใช้ในพิธีกรรมต่างๆ เช่น ปักประดับที่ “สะดวง” คือกระบะบัตรพลี ปักที่เจดีย์ทรายเล็กๆ ตลอดจนพุ่มประดับบนยอดซุ้มสามขาในพิธีสืบชาตาที่เรียกว่า “โขงชาตา” เฉพาะช่อที่ปักประดับในสะตวงมักมีการกำหนดสี เช่น สะตวงบูชาท้าวจตุโลกบาล ใช้ช่อตามทิศ ทิศละ 4 อัน ปักตามมุมสะตวง 6 ชุด คือ

ช่อสีเขียว บูชาพระอินทร์ ที่อยู่ทิศเบื้องบน

สีแดง บูชาท้าวธตรฐ ทางทิศตะวันออก

สีเหลือง บูชาท้าววิรุฬหก ทางทิศใต้

เทา บูชาท้าววิรูปักขะ ทางทิศตะวันตก

สีดำ บูชาท้าวกุเวร หรือท้าวเวสสุวรรณ ทางทิศเหนือ

และสีขาว บูชาพระแม่ธรณี ที่อยู่ทางทิศเบื้องล่าง

ส่วนช่อที่ใช้เป็นเครื่องบูชานพเคราะห์ จะใช้สีและจำนวนตามกำลังวัน คือ พระอาทิตย์ ใช้สีแดงอ่อน จำนวน 6 ผืน พระจันทร์ สีเหลือง 15 ผืน พระอังคาร สีแดงเข้ม 8 ผืน พระพุธ สีเขียว 17 ผืน พระพฤหัสบดี สีขาว 19 ผืน พระศุกร์ สีฟ้า 21 ผืน พระเสาร์ สีดำ 10 ผืน พระราหู สีเทา 12 ผืน และพระเกตุใช้สีเขียว 9 ผืน

ช่อทั้งหมดจะปักในสะตวงตามพิธีที่กำหนดไว้

ช่อช้าง มีความกว้างประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ 2 ศอก ทำด้วยผ้า เย็บเป็นผืนมีแถบหุ้มโดยรอบ มีช่องสำหรับสวมสอดกับคันช่อ ซึ่งทำจากจะไม้ไผ่ขนาดไม่ใหญ่นัก

ช่อช้าง จะใช้ในการนำขบวน หรือใช้ต้อนรับขบวน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนครัวทานในงานปอยหลวง เมื่อคณะศรัทธาต่างวัดซึ่งนำโดยพระสงฆ์สามเณร เมื่อนำขบวนครัวทานมาร่วมงาน ก็จะมีช่อช้างนำขบวน ในขณะที่ขบวนครัวทานใกล้จะถึงบริเวณงาน ฝ่ายเจ้าภาพจะจัดขบวนต้อนรับ นำด้วยช่อช้างเช่นเดียวกัน มีขันนิมนต์ (พานดอกไม้) น้ำดื่ม เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการนำช่อช้างมาใช้ในขบวนแห่อื่นๆ เช่น ขบวนแห่อัญเชิญประพุทธรูป แห่นำกษัตริย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องไทยทานงานกฐินและผ้าป่า เป็นต้น

ลักษณะการใช้งานของช่อช้าง มักจะใช้คู่กับ “ตุงไชย” ซึ่งเป็นธงชนิด “ธงปฏาก”

ในงานปอยหลวงนั้น จะมีการถวายตุง และนำไปปักตามข้างทางเข้าสู่วัด ทั้งช่อช้างและตุงไชย จะโบกสะบัดเติมแต่งสีสันดูอลังการ

แต่ช่อและตุงจะมีบทบาทต่างกัน คือ ช่อช้างเป็นธงสำหรับเคลื่อนขบวนเพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งชัยชนะ

ส่วนตุงเป็นตุงสำหรับปักอยู่กับที่ เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณที่ตกในอบายภูมิ

ผู้ใดถอนตุงข้างทางมาแห่ในขบวนถือว่าประพฤติผิดจารีตเดิมถึงขั้น “ตกขึด” (อยู่ในอำนาจของความจัญไร) และผู้ใดถอนตุงมาต้อนรับขบวนถือว่าไม่ให้เกียรติ แถมมีนัยยะในการจงใจสาปแช่งกัน

วัดใดหรืองานใดหากมีเหตุการณ์เช่นนี้ บางครั้งเกิดเหตุทะเลาะวิวาทลุกลามใหญ่โต

และสุดท้ายต้อง “ขาดหัววัด” คือตัดขาดความสัมพันธ์ระหว่างวัดไปเลยก็มี

ปัจจุบันในขบวนแห่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขบวนแห่ในเทศกาลสงกรานต์ ลอยกระทง ขบวนอันเกิดจากการแสดงใดๆ มักมีการนำเอาตุงเข้าร่วมขบวนแห่ ในลักษณะถือเดินร่วมขบวน ซึ่งเป็นการใช้ตุงที่ผิดบทบาท และผิดอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน

ฉะนั้น ผู้ที่นำไปปฏิบัติควรศึกษาจารีตของล้านนาอย่างถ่องแท้้เสียก่อน

เพื่อดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ควรมีควรเป็นเช่นเดิม