มหากาพย์ 2 ทศวรรษ ไม้ล้างป่าช้า ‘GT200’ ค่าโง่ที่ไม่จบ-แสนแพง/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

มหากาพย์ 2 ทศวรรษ

ไม้ล้างป่าช้า ‘GT200’

ค่าโง่ที่ไม่จบ-แสนแพง

 

จากกรณีวันที่ 2 มิถุนายน 2565 ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2566 ‘จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์’ ผู้แทนราษฎรจากจังหวัดฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล ได้เปิดประเด็นที่ค้นพบข้อมูลเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า กระทรวงกลาโหมจ้างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ตรวจสอบเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด GT200 จำนวน 757 เครื่อง เครื่องละ 10,000 บาท เป็นมูลค่ารวมกว่า 7.57 ล้านบาท แต่กลับไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณปี 2566

นั่นทำให้ประเด็น ‘GT200’ หรือเครื่องตรวจจับสะสารระยะไกลถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในสังคมตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา เมื่อหน่วยงานความมั่นคงของประเทศไทยทั้งกองทัพอากาศ กองทัพบก และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดซื้อมาใช้งานตรวจสอบสารเสพติด อาวุธ รวมทั้งวัตถุระเบิด และมีการใช้งานมากเป็นพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

หลังจากการเปิดประเด็นในสภาของจิรัฏฐ์ ด้าน ‘พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์’ โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยกับทีมข่าวช่อง 3 ว่า งบฯ จ้างตรวจสอบดังกล่าวมีสัดส่วนจากงบประมาณปี 2564 เป็นจำนวน 3.2 ล้านบาท และในปี 2565 อีก 4.37 ล้านบาท จึงไม่เกี่ยวข้องกับงบประมาณปี 2566 ที่สภาผู้แทนราษฎรกำลังถกเถียงอยู่ในเวลานั้น

นอกจากด้านงบประมาณ โฆษกกระทรวงกลาโหมยังชี้แจงเหตุผลของงบประมาณก้อนนี้ว่าเป็นเพราะคำแนะนำของสำนักงานอัยการสูงสุดที่แนะนำว่าการที่กองทัพบกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายต่อบริษัทผู้ขาย GT200 นั้น มีเครื่องตรวจสอบจำนวน 757 เครื่องเป็นสาระสำคัญของคดี จึงต้องตั้งงบประมาณก้อนนี้เพื่อตรวจสอบ “ทุกเครื่อง” ว่าใช้งานได้จริงหรือไม่

ประเด็นสุดท้ายคือโฆษกทิ้งท้ายว่ากระบวนการทั้งหมดนี้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ

เมื่อถูกกองทัพบกกล่าวถึง ทำให้ ‘ประยุทธ เพชรคุณ’ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดต้องแถลงข้อเท็จจริงผ่านรายการ ‘เจาะลึกทั่วไทย’ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายนว่า คำแนะนำของสำนักอัยการที่ให้กองทัพไปตรวจสอบเครื่อง GT200 เกิดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2560 หลังจากอัยการสูงสุดได้รับหนังสือจากกองทัพบกให้ยื่นฟ้องบริษัทเอวิเอ แซทคอม บริษัทจัดจำหน่ายเครื่อง GT200 และทางสำนักงานอัยการสูงสุดจึงมอบหมายให้สำนักอัยการคดีปกครองเป็นฝ่ายรับผิดชอบสำนวนและยื่นฟ้องในวงเงิน 683,900,000 บาท ในวันที่ 27 เมษายน 2560

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดแจงต่อว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าเครื่อง GT200 ทั้งหมด 757 เครื่องเป็นสินค้าไม่มีคุณภาพ ไม่มีคุณลักษณะตามคุณสมบัติที่แสดงไว้ ผลคือคำสั่งให้บริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องตรวจสสารเจ้าปัญหานี้ชำระเงินให้กับกองทัพบก 683,441,561 บาท และ 7 วันถัดมา วันที่ 8 กันยายน 2564 ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ดำเนินการแจ้งผลคดีให้กองทัพบก จนถึงวันที่ 7 มีนาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดได้อนุญาตให้ถอนคดีหลังผู้ถูกฟ้องยื่นอุทธรณ์คำตัดสินต่อศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้น คดีทั้งหมดจึงถือเป็นอันสิ้นสุด

 

หลังจากสำนักงานอัยการสูงสุดออกมาชี้แจงข้อเท็จจริง วันที่ 7 มิถุนายน เราจึงได้เห็นการ ‘ถอย’ ของกองทัพที่ตัดสินใจไม่ดำเนินการตรวจสอบ GT200 อีกครึ่งหนึ่ง และชี้แจงว่าการที่กองทัพบกมอบหมายให้ สวทช. เป็นผู้ทดสอบเครื่อง GT200 นั้นเพราะเป็นหน่วยงานกลางที่มีมาตรฐาน

รวมทั้งมีความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือ และยืนยันว่าการตั้งงบประมาณกว่า 7 ล้านบาทที่ถูกเปิดประเด็นนั้น เป็นการตั้งงบประมาณก่อนศาลจะมีคำพิพากษาออกมา

“เคลียร์ยิ่งกว่าเคลียร์ ทั่วโลกรับรู้หมดแล้วว่าเครื่องนี้ใช้ไม่ได้ แต่ทำไมคดีบ้านเราคืบหน้าช้า ใช้เวลาหลายปี”

เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบเครื่อง GT200 ที่ตั้งขึ้นในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเมื่อปี 2553 กล่าวผ่านรายการ ‘The Politics’ จาก ‘มติชน ทีวี’

‘เจษฎา’ เล่าเบื้องหลังการตรวจสอบในช่วงปี 2553 ว่ามีการแกะเครื่องออกมาดู และส่งตรวจสอบที่ศูนย์ทดสอบทางไฟฟ้าของ สวทช. เพื่อตรวจสอบประจุไฟฟ้าพลังงานแม่เหล็กที่ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นแหล่งที่มาของพลังงานของเครื่องที่ใช้ในการตรวจหาวัตถุ ผลการตรวจสอบก็ไม่พบแหล่งพลังงานตามที่กล่าวอ้าง

และหากย้อนกลับไปในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553 ผลการตรวจสอบเครื่อง GT200 ด้วยระบบ ‘Double Blind Test – หรือแบบตาบอดสองทาง ตรวจหา ‘วัตถุระเบิดซีโฟร์’ ผลออกมาถูกต้องเพียง 4 ครั้งจากทั้งหมด 20 ครั้ง ตัวเลขนี้บอกว่าคุณสมบัติตรวจสอบของเครื่องไม่ต่างอะไรจากการ ‘เดาสุ่ม’

ผลจากการทดสอบดังกล่าวทำให้ ‘อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ’ แถลงผลการทดสอบและสั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างเครื่อง GT200 ทันที ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553

“เราไม่เห็นภาพว่าทำไมต้องมานั่งไล่ (ตรวจสอบ) ทีละเครื่อง อาจจะมีความเชื่อ ศรัทธาว่ามีบางเครื่องเป็นของจริง ที่เหลือเป็นของปลอม เราต้องแยกเครื่องเหล่านั้นออกมา แล้วเครื่องอื่นสั่งฟ้อง”

“ผมพูดว่า 99.9999 เปอร์เซ็นต์ เป็นไปไม่ได้” เจษฎากล่าวทิ้งท้ายกับสองพิธีกรจาก ‘มติชน ทีวี’

 

ด้าน ‘จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์’ หลังจากเปิดประเด็นดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎร ได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘The Politics’ เช่นเดิมว่าตนเห็นว่าคำชี้แจงของสำนักอัยการสูงสุดนั้น “ฟังขึ้นที่สุด” หากเทียบกับหน่วยงานทั้งหลายที่ต่างแจกแจงรายละเอียดหลังจากประเด็นถูกเปิดขึ้นอีกครั้ง

และตนเห็นว่าเรื่องทั้งหมดนี้ควรจะจบตั้งแต่การยื่นฟ้องของศาลปกครองกลางตั้งแต่ปี 2560 แล้ว และได้ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุใดกองทัพบกจึงของบประมาณเพื่อตรวจสอบ GT200 รายเครื่องอีกครั้งหนึ่ง และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายรายเครื่องนั้นสูงถึง 10,000 บาท

พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงการสั่งเรียกค่าเสียหายในปี 2560 ของกองทัพว่า “ทำไมเรียกแค่ 683 ล้านบาท ทั้งที่ซื้อไปเกือบ 1,200 ล้านบาท เข้าใจว่ามีหลายสัญญา หลายบริษัท แล้วทำไมไม่ฟ้องทุกบริษัท”

พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงอีกหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในมหากาพย์อันยาวนานนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่ายังไม่ออกมาชี้แจงทั้งที่มีบทบาทในการชี้มูลความผิดในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้

 

หากเปรียบเทียบมหากาพย์ GT200 ของประเทศไทยครั้งนี้กับประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทโกลบอล เทคนิคอล จำกัด บริษัทต้นทางที่ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่อง GT200 นั้น ไปยังทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้ง เช่น เม็กซิโก ปากีสถาน อิรัก รวมทั้งประเทศไทย หลังจากหลายประเทศพบความน่าสงสัยในความถูกต้องและประสิทธิภาพของเครื่อง ในปี 2553 รัฐบาลอังกฤษได้สั่งระงับการส่งออกของอุปกรณ์ลักษณะเดียวกันกับ GT200 และปี 2556 ศาลอังกฤษสั่งจำคุกผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องตรวจจับที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจำนวน 3 บริษัท

จนถึงปี 2559 ศาลอังกฤษตัดสินยึดทรัพย์สินจาก เจมส์ แมกคอร์มิก มูลค่า 7.9 ล้านปอนด์ (ราว 395 ล้านบาท) เพื่อนำไปเป็นเงินชดเชยแก่ผู้ตกเป็นเหยื่อ

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดผลสะเทือนถึงประเทศไทย คำถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาคดีและดำเนินคดีต่อผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเริ่มดังขึ้นให้เห็นถึงการเปรียบเทียบระหว่างประเทศอังกฤษต้นทางและประเทศไทย

รวมถึงเสียงตั้งคำถามว่าทางรัฐบาลไทยจะเรียกค่าเสียหายจากบริษัทต้นทางจำนวนเท่าไร

 

จิรัฏฐ์จึงได้ตั้งคำถามย้อนถึงเหตุการณ์เมื่อ 6 ปีที่แล้วข้างต้นว่า “ตอนเรียกร้องค่าเสียทางกับทางรัฐบาลอังกฤษ ทำไมเราไม่เรียกร้องไป ทั้งที่ตอนนี้ประเทศอื่นได้เงินคืนกันแล้ว ประเทศไทยไม่รู้จะยื่นตัวเลขเท่าไรให้อังกฤษ ถ้าฝั่งนั้นแจ้งมาว่าเลขไม่ตรงกันแล้วจะยุ่ง หรือกลัวตัวเลขจริงจะปรากฏ?”

นี่จึงเป็นอีกปมหนึ่งของมหากาพย์ GT200 ของประเทศไทยที่นอกจากชวนตั้งคำถามถึงความล่าช้าในการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช.

โยงมาถึงการเปิดโปงงบประมาณตรวจสอบเครื่อง GT200 กว่า 757 เครื่อง รวม 7.57 ล้านบาทในครั้งนี้

แม้ปัจจุบันผู้ถูกพิพากษาต้องโทษจำคุกจากการตัดสินของศาลอังกฤษจะพ้นคุกออกมาแล้ว แต่น่าสนใจว่าทำไมประเทศไทยยังต้องยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันอีกทั้งที่ผ่านมาจวนจะครบ 2 ทศวรรษเข้าเสียแล้ว

สิ่งที่ประเทศเสียไป หรือ ‘ค่าโง่ราคาแพง’ นั้น อาจจะไม่ใช่เพียงแค่ตัวเลขจากจำนวนภาษีของประชาชน แต่ยังรวมถึงสิ่งที่ประชาชนไม่เคยได้รับความเป็นธรรมเพราะ ‘วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด’ ของผู้มีอำนาจระดับสูงในการกำหนดนโยบาย-งบประมาณ

ยังไม่ต้องกล่าวถึงข้อมูลว่าผู้เสียหายจากความผิดพลาดของเครื่องมือในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้นเป็นอย่างไร การเยียวยากรณีที่เกี่ยวข้องไปถึงไหน เพราะบ่อยครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นมักจะหลุดหายไปใน ‘หลุมดำ’ สืบสาวหาความจริงไม่ได้

ดังคำกล่าวของนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา – มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ที่ว่า “ความยุติธรรมที่ล่าช้า ไม่ใช่ความยุติธรรม” แต่ความยุติธรรมที่ล่าช้าในประเทศไทยนั้นมักจะมีดอกเบี้ยติดสอยห้อยตามอยู่เสมอ

และดอกเบี้ยนั้นไม่เคยตกสู่ประชาชน