รู้จัก ‘พรพรหม วิกิตเศรษฐ์’ จาก NEW DEM สู่ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติ อายุน้อยที่สุด/รายงานพิเศษ

รายงานพิเศษ

 

รู้จัก ‘พรพรหม วิกิตเศรษฐ์’

จาก NEW DEM สู่ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ ชัชชาติ

อายุน้อยที่สุด

 

ต้องยอมรับว่านาทีนี้ ความสนใจของประชาชนส่วนใหญ่ นอกจากตามติดภารกิจ-เรื่องราวเกี่ยวกับ “ผู้ว่าฯ กทม.” ป้ายแดง “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” แล้วสปอตไลต์นี้ยังได้ส่องไปถึง “ผู้ร่วมทีมของชัชชาติ” ที่จะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการบริหารงานด้านต่างๆ ของกรุงเทพมหานครนี้ด้วย

หนึ่งในบุคลากรที่มีความน่าสนใจด้วยวัยและวิสัยทัศน์ จากทีมชัชชาติ คือ “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” หนุ่มไฟแรง คือ “พรพรหม วิกิตเศรษฐ์” วัย 30 ปี (อดีตผู้ร่วมก่อตั้งองค์กร New Dem กลุ่มคนรุ่นใหม่พรรคประชาธิปัตย์) ถือเป็นที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.ที่อายุน้อยที่สุด

พรพรหมเล่าถึงการได้เข้ามาร่วมทีมชัชชาติว่า หลังจากที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ (หลังศึกเลือกตั้งปี 2562) ก็ได้กลับไปทำงานเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ตัวเองมีความสนใจด้านการเมืองอยู่ และเป็นความโชคดีที่หลังจากอาจารย์ชัชชาติตัดสินใจว่าจะลงสมัครผู้ว่าฯ ได้ติดต่อมาอยากพูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องนโยบายต่างๆ ด้วย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมทีมในครั้งนี้

หลังจากที่ถูกชักชวนจากอาจารย์ชัชชาติ ตนเองก็มีความตั้งใจว่าจะมาทำงานเบื้องหลังเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เพราะเห็นว่า กทม.มีปัญหาและภารกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของพื้นที่สีเขียว รวมถึงปัญหาการจัดการขยะต่างๆ รวมถึงประเด็นการแก้ปัญหาโลกร้อนด้วย

ช่วงแรกที่เข้ามาร่วมทีม ก็ไม่ได้คิดว่าจะได้มารับตำแหน่งอะไร คิดแค่ว่าการที่ได้มาร่วมทีมหาเสียง ได้ลงพื้นที่ต่างๆ ร่วมกับ อ.ชัชชาติ ก็เป็นสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์แก่ตนเองแล้ว เพราะได้รับฟังและเข้าใจถึงปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้น จากชุมชนและพื้นที่ต่างๆ ผ่านการพูดคุยโดยตรงกับประชาชน

ไม่ใช่แค่มิติสิ่งแวดล้อมเท่านั้น “พรพรหม” ยังเล่าว่า เรื่องที่เขาสนใจและคิดว่าสามารถช่วย อ.ชัชชาติได้ คือเรื่องของการคิดนอกกรอบ การนำเสนอไอเดียใหม่ๆ

และอีกหนึ่งอย่างคือเรื่องรูปแบบของการหาเสียง เพราะเขาเองก็เคยทำงานการเมืองสมัยอยู่ที่พรรคประชาธิปัตย์มาก่อน จึงคิดว่าอาจจะนำประสบการณ์ความรู้ที่มีอยู่มาเติมเต็มในจุดนี้ได้อีกด้วย

 

สําหรับภารกิจหลักในการเข้ารับตำแหน่ง “ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม.” นี้ พรพรหมเล่าว่าหน้าที่หลักๆ ก็จะเป็นบทบาทเหมือนผู้ดำเนินการวางกลยุทธ์เพื่อผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้สามารถเกิดขึ้นได้จริง ซึ่งตรงนี้ก็ต้องมีการไปทำงานร่วมกันกับท่านรองผู้ว่าฯ และอีกหลายๆ คนในองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งใน กทม. ในภาครัฐ และเอกชน

เมื่อถามถึงความยากของการที่จะมาผลักดันนโยบายที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมคืออะไร เพราะเนื่องจากเวลาที่มีอยู่ 4 ปีนั้นก็ค่อนข้างที่จะน้อยในการจะทำให้เกิดผลรูปธรรมทันที และด้วยงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด

เขาบอกว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติเองนั้น “อยากได้การทำงานที่สมาร์ต ลงทุนน้อย แต่ประโยชน์ที่จะได้กลับมาต้องมาก”

โดยตัวอย่างของการทำน้อยแต่ได้มาก เช่น นโยบายปลูกต้นไม้หนึ่งล้านต้น ถ้าเทียบกับการที่จะไปทำอุโมงค์ต่างๆ นโยบายนี้ใช้งบประมาณที่ประหยัดกว่ามาก และประโยชน์ที่จะได้รับก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยอุ้มน้ำในดิน รวมถึงการให้ร่มเงาต่างๆ แก่ประชาชน

และนอกจากนี้ อีกหลายๆ หน่วยงานไม่ว่าจะเป็นทั้งภาครัฐและเอกชนก็อยากจะเข้ามามีส่วนร่วมตรงนี้อยู่แล้ว จึงทำให้ทาง กทม.นั้นจะได้รับผลประโยชน์จากตรงนี้ ซึ่งทำให้ไม่ต้องลงทุนเองมาก

และสิ่งที่จะเห็นได้แน่ๆ จากนโยบายนี้คือ นอกจากจะมีต้นไม้หนึ่งล้านต้นแล้ว ในแง่ของเศรษฐกิจ นโยบายนี้ก็สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนที่ทำธุรกิจเพาะต้นกล้าได้อีกด้วย

 

ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ เผยถึงเรื่องที่ยากและค่อนข้างท้าทายในนโยบายที่เคยนำเสนอไว้ แต่ถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์อย่างมาก คือในเรื่องของนโยบาย “สวน 15 นาที” หรือการกระจายสวนและพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ (เดินจากบ้านถึงสวน) ภายใน 15 นาที หรือประมาณ 800 เมตร

โดยจะพัฒนาพื้นที่เดิมควบคู่กับการเพิ่มพื้นที่ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งแม้มันจะดูเป็นไปได้ยาก แต่ตนเองคิดว่ามันสามารถเป็นไปได้ เพราะใน กทม.มีพื้นที่มากมายที่สามารถนำมาทำได้ ไม่ว่าจะเป็นที่พื้นที่รกร้าง พื้นที่ตาบอด หรือพื้นที่ของหน่วยงานต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการประสานงานและร่วมมือกันกับอีกหลายๆ หน่วยงาน

โดยสวนที่ว่านี้ก็ไม่ได้จำเป็นต้องมีขนาดใหญ่ แค่เป็นสวนที่มีเก้าอี้ มีที่ร่มให้ประชาชนได้ใช้สอยก็เพียงพอ ซึ่งการทำตรงนี้ก็จะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลด้วย

โดยต้นแบบในการดำเนินการ เขาบอกว่าเอามาจาก “วัด” ซึ่งเป็นสถานที่ที่ชุมชนเข้ามาใช้ แล้วชุมชนก็ดูแลไปในขณะเดียวกัน

 

อีกหนึ่งนโยบายที่ตนเองอยากผลักดันแต่ต้องทำในระยะยาว คือเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใน กทม. โดยตนเองมองว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ปล่อยสิ่งเหล่านี้ออกมาเยอะมาก ซึ่งมันไม่ได้กระทบแค่ประชาชนในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ประชาชนในจังหวัดอื่นๆ ก็โดนผลกระทบไปด้วย ดังนั้น ถ้าสามารถแก้ปัญหาตรงจุดนี้ได้ ไม่ใช่แค่ กทม.เท่านั้นจะได้ประโยชน์ แต่คนในจังหวัดอื่นๆ ก็จะได้ประโยชน์ตรงนี้ด้วยเช่นกัน

ส่วนในเรื่องประเด็นฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในยุคปัจจุบันนี้ ทางพรพรหมบอกว่าก็มีนโยบายที่จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ด้วยเช่นกัน โดยปัญหานี้ถึงแม้จะแก้ไขได้ แต่ก็อาจต้องใช้เวลา ซึ่งอาจจะไม่ได้เห็นผลชัดเจนใน 4 ปี สิ่งที่จะสัมผัสได้คือในแง่ของอากาศที่ดีขึ้นมากกว่า

โดยหลักการง่ายๆ ที่จะแก้ปัญหาตรงนี้คือ เราต้องรู้ก่อนว่าต้นตอมันมาจากไหน หลังจากนั้นก็ต้องมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลกัน ซึ่ง ณ ตอนนี้ข้อมูลเชิงลึกยังมีไม่มากพอ จึงเป็นธรรมดาที่มันต้องใช้เวลาพอสมควรในการที่จะแก้ไขปัญหานี้

 

พูดถึง “วัย 30” กับการทำงานกับข้าราชการ พรพรหมยอมรับว่า ด้วยความเป็นมือใหม่และอายุยังน้อยก็มีความกังวลอยู่บ้างว่าจะมีปัญหาในเรื่องของการสื่อสารหรือไม่ แต่คุณพ่อของตนเอง (พนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตรองผู้ว่าฯ กทม.) ก็ได้แนะนำเขาในเรื่องของการทำงานร่วมกับข้าราชการว่า “ต้องให้เกียรติข้าราชการ เราต้องมองว่าพวกเขามีประสบการณ์ ทำงานมานาน ไม่ใช่ว่าตัวเองนั่งโต๊ะแล้วจะทำตัวเป็นนายพวกเขา”

ส่วนเรื่องอื่นไม่ได้แนะนำอะไรเพราะเชื่อมั่นในความรู้ของลูกชายอยู่แล้ว และตัวของคุณพรพรหมเองยังบอกอีกว่า ก็ต้องลองดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่ตัวเองก็ไฟแรง พร้อมทำงานเต็มที่!

จากกระแสผู้ว่าฯ ชัชชาติที่เป็นฟีเวอร์มากๆ ได้รับความสนใจและตอบรับจากประชาชนท่วมท้น จึงอดถามพรพรหมไม่ได้ว่า ในอนาคต ลักษณะของผู้นำประเทศต้องเป็นแบบไหน ท่ามกลางยุคที่คนแบ่งขั้วแบ่งข้างชัดเจน

พรพรหมบอกว่าในมุมของเขา คือผู้นำในโลกปัจจุบัน ต้องเป็นผู้ที่สามารถเชื่อมสิ่งต่างๆ ที่ผู้คนต้องการเข้าหากันได้ หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คุณชัชชาติเป็นลักษณะของคนที่ “อยู่ตรงกลาง” และท่านแสดงให้เห็นว่าอะไรแบบนี้มันสามารถเป็นไปได้ เพราะที่ผ่านมาหลายๆ คนชอบคิดว่าแคแร็กเตอร์ของ “คนที่อยู่ตรงกลางมักแพ้เสมอ”

ก่อนจากกันได้ถามพรพรหมว่า หากในอนาคต “พรรคประชาธิปัตย์” หรือ “บ้านเก่า” ที่เคยสังกัดติดต่อทาบทามให้กลับไปอยู่ด้วยกันมีความคิดเห็นอย่างไร?

ตัวคุณพรพรหมเผยว่า ขณะนี้ตัวเองยังไม่ได้คิดเรื่องนั้น โฟกัสแค่การทำงานใน กทม.ในเวลานี้ให้ดีที่สุด ในอนาคต ตนเองอาจจะกลับไปทำงานด้านวิชาการหรืออาจจะเบนเข็มไปเลยก็ได้ ยังไม่มีใครรู้

แต่ตอนนี้มีความตั้งใจว่าในปัจจุบัน ขอทำหน้าที่ที่ได้รับมอบมายมาอย่างเต็มที่ก็พอ

 

ชมคลิป