ใต้สุดของประเทศไทย อรุณรุ่งเริ่มปรากฏ?!/เทศมองไทย

เทศมองไทย

 

ใต้สุดของประเทศไทย

อรุณรุ่งเริ่มปรากฏ?!

 

นานไม่น้อยแล้วที่ผมไม่ได้หยิบยกเอาสถานการณ์ภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มาเล่าสู่กันฟัง

ในทางหนึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์คลี่คลายไปในระดับหนึ่ง จนสื่อมวลชนนอกประเทศเพลาการพูดถึงลง

ในอีกทางหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า เป็นเพราะการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐไทยกับขบวนการก่อความไม่สงบตกอยู่ในภาวะชะงักงันโดยสิ้นเชิง จึงทำให้ไม่มีการพูดถึงตามไปด้วย

หากผมจำไม่ผิด การเจรจาสันติภาพครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2020 ก่อนที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อต้นเมษายนที่ผ่านมา

ในช่วง 2 ปีที่ห่างหายไปของการเจรจานั้น ทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากับสถานการณ์อุบัติใหม่ที่ไม่เคยมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดคาดฝัน

นั่นคือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้การยับยั้งการแพร่ระบาดกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับหนึ่งแทนที่อย่างอื่น

กระนั้น จากเมษายนเรื่อยมา สัญญาณที่ส่อให้เห็นถึง “สันติภาพที่เป็นความหวัง” ก็เริ่มฉายออกมาให้เห็นอีกครั้ง

 

การลงมือก่อเหตุรุนแรงของขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมา อันเป็นผลมาจากการทำความตกลงระหว่างฝ่ายไทยกับบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) ว่าด้วย “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อต้นเมษายนดังกล่าว

การลดลงของเหตุรุนแรงที่ว่า เด่นชัดไม่น้อยจนเป็นเหตุให้โคสุเกะ อินูเอะ แห่งนิตยสารรายสัปดาห์ นิกเกอิ เอเชีย รีวิว ต้องหยิบยกขึ้นมาพูดถึงไว้ในบทความที่ปรากฏเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา

อินูเอะชี้ว่า เหตุรุนแรงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามข้อตกลงที่ให้ไว้ระหว่างทั้งสองฝ่าย จะส่งผลในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้น

เขาชี้ให้เห็นว่า แม้แต่ตัวแทนของฝ่ายไทยเอง ก็ตีความสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปในทางที่ดี

พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ บอกกับนิกเกอิว่า สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของการทำความตกลง “รอมฎอนสันติสุข” ซึ่งส่งผลให้ “ตีความได้ว่า” ทั้งบีอาร์เอ็นและฝ่ายรัฐไทยสามารถผลักดันการเจรจาให้ “ขยับคืบหน้าต่อไปได้อีก” ในอนาคตอันใกล้

พล.อ.วัลลภบอกด้วยซ้ำไปว่า กำลังเตรียมการเพื่อเปิดการเจรจาสันติภาพรอบใหม่ขึ้นในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้

 

ในเวลาเดียวกัน อินูเอะก็ชี้ให้เห็นว่า กลุ่มเคลื่อนไหวสำคัญอย่างบีอาร์เอ็นก็ถูกคาดหมายว่า น่าจะ “รอมชอมข้อเรียกร้อง” ของฝ่ายตนลง ไม่ใช่เป็นการเรียกร้อง “อิสระ” จากการปกครองของไทยอีกต่อไป

ลดทอนข้อเรียกร้องดังกล่าวลงเหลือเพียงแค่ “การปกครองตนเอง” โดยที่ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยอยู่เท่านั้น

ขมวดปมให้การเจรจาจำกัดกรอบลงมาเหลือเพียงการปรับจูนให้นิยามของการ “ปกครองตนเอง” ของทั้งสองฝ่ายให้ตรงกันมากที่สุดเท่านั้นเอง

นิกเกอิ เอเชีย อ้างคำกล่าวของ “เจ้าหน้าที่บีอาร์เอ็นผู้หนึ่ง” เอาไว้ว่า การลดข้อเรียกร้องลงมาเหลือเพียงแต่การได้อำนาจในการปกครองตนเองนั้น ถือเป็น “ทางเลือกที่สอดคล้องกับความเป็นจริง” ที่ต่างกันมากจากการยืนกรานแยกตัวจังหวัดยะลา, ปัตตานี และนราธิวาส ออกมาเป็นรัฐอิสระ อย่างที่กำหนดเป็นข้อเรียกร้องเอาไว้ก่อนหน้านี้

“การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวจะดำเนินการไปร่วมกับชาวบ้านในท้องถิ่น โดยมีกฎหมายอิสลามเป็นตัวตั้งอยู่ในใจ” แหล่งข่าวของนิกเกอิบอกอย่างนั้น

 

ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นักวิชาการด้านสันติสุขและความมั่นคงชายแดนภาคใต้คนสำคัญ ก็เห็น “ความหมายใหญ่หลวง” ของการรักษาความตกลง รอมฎอนสันติ ที่ผ่านมา

“มันเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น สามารถควบคุมสถานการณ์ได้” อาจารย์ศรีสมภพระบุ เสริมด้วยว่า “สิ่งนี้จะนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นซึ่งกันและกันมากขึ้น”

นิกเกอิ เอเชีย ชี้ว่า ดูเหมือนบีอาร์เอ็นจะเริ่มตระหนักว่า การสู้รบปรบมือกันยืดเยื้อต่อไป ไม่เพียงทำให้กลุ่มตนสูญเสียและอ่อนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เท่านั้น ยังสร้างความเบื่อหน่าย ระอา มืดมนให้กับชาวบ้านในพื้นที่เกิดเหตุ

ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มรู้สึกมากขึ้นตามลำดับว่า ลำพังเพียงแค่การใช้กำลังทหารอย่างเดียว ไม่สามารถเอาชนะกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้

พล.อ.วัลลภบอกกับนิกเกอิ เอเชีย ว่า การแยกตัวเป็นอิสระ ทำไม่ได้ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย แต่กฎหมายไทยเปิดทางให้มีการ “มีส่วนร่วม” และการ “ลดอำนาจรัฐส่วนกลาง” ลงได้

“ในทางปฏิบัติ การปกครองตนเองจะนำไปสู่ผลที่แท้จริงอย่างไร ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และกระบวนการนิติบัญญัติ” นั่นเอง

 

ปัญหาหนึ่งที่นิกเกอิหยิบยกมาพูดถึงเอาไว้ก็คือ บีอาร์เอ็นไม่ได้เป็นขบวนการเดียวที่ก่อความไม่สงบอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และอีกสองสามขบวนการใช่ว่าจะเห็นด้วย เออออห่อหมกไปกับความตกลงระหว่างบีอาร์เอ็นกับรัฐไทยไปเสียทั้งหมด

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งของพูโล (Patani United Liberation Organization) ซึ่งก่อเหตุลอบวางระเบิดเมื่อราวกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา จนพลเรือนเสียชีวิตไป 1 ราย เจ้าหน้าที่บาดเจ็บอีก 3 ราย บอกนิกเกอิไว้ว่า

“เป็นไปไม่ได้ที่จะผลักดันการเจรจาให้เกิดสันติภาพได้ โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดอยู่ในกระบวนการด้วย” นั่นเองครับ