ผ่าสารพัดปัญหา เปิดเทอมออนไซต์… เด็กไทยว้าวุ่น ‘ถูกละเมิดสิทธิ-ฆ่าตัวตาย’ รายวัน!! / การศึกษา

การศึกษา

 

ผ่าสารพัดปัญหา

เปิดเทอมออนไซต์…

เด็กไทยว้าวุ่น

‘ถูกละเมิดสิทธิ-ฆ่าตัวตาย’ รายวัน!!

 

ผ่านมาเกือบ 1 เดือนแล้ว ที่โรงเรียนทั่วประเทศกลับมาเปิดเรียน “ออนไซต์” เต็มรูปแบบ ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ที่ดูจะบรรเทาเบาบางลง แต่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ยังคงดำเนินมาตรการป้องกันเข้มข้น เพื่อให้นักเรียน และครู ปลอดภัยจากโรคโควิด-19

หลังเด็กๆ กลับเข้าโรงเรียนในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่าเด็กยังเรียนออนไซต์แบบกระท่อนกระแท่น เพราะหลายโรงเรียนไม่มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน บางแห่งมีปัญหาซ่อมแซมอาคารไม่แล้วเสร็จ บางแห่งเจอภัยธรรมชาติ ฝนตก น้ำท่วมขัง เป็นต้น

แม้ ศธ.จะวางแผนป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานศึกษาเป็นอย่างดี จนไม่พบการแพร่ระบาดที่ทำให้ต้องสั่งปิดทั้งโรงเรียน แต่กลับพบปัญหาอื่นๆ ตามมา แม้ไม่มากมายนัก แต่ก็เป็นประเด็นที่กระทบ “จิตใจ” ของเด็กๆ เพราะเป็นการ “ละเมิดสิทธิเด็ก” โดยเฉพาะการ “กล้อนผม” ของนักเรียน

หรือกระทั่งข่าวนักเรียน และครู “ฆ่าตัวตาย” รายวัน รับเปิดเทอม!!

 

เริ่มจากการ “ตัดผม” นักเรียน แม้ที่ผ่านมามีกลุ่มนักเรียนออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องให้ยกเลิกระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 เพราะมองว่าระเบียบดังกล่าว เป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียน นักเรียนควรจะมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเด็ก หรือผู้ใหญ่ จะไว้ผมสั้น หรือผมยาว แต่งตัวอย่างไร นักเรียนควรมีสิทธิเลือก แต่ยังพบว่าหลายโรงเรียนละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายนักเรียนอยู่

ในประเด็นดังกล่าว น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ออกมาย้ำชัดเจน ว่าไม่เห็นด้วยที่จะลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม หรือกล้อนผม อีกทั้ง ศธ.ไม่มีมาตรการให้ลงโทษเด็กขั้นรุนแรง จนกระทบการเรียนของเด็ก โดย ศธ.เน้นย้ำกับสถานศึกษาเสมอว่าต้องให้ความสำคัญกับนักเรียนเป็นหลัก

“ระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ได้เปิดกว้างเรื่องทรงผมอยู่แล้ว โดยระเบียบดังกล่าว กำหนดให้สถานศึกษาแต่ละแห่งออกระเบียบให้สอดคล้องกับบริบทของตนเอง โดยต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสถานศึกษา ครู และนักเรียนด้วย” น.ส.ตรีนุชระบุ

แม้เจ้ากระทรวงเสมาจะออกมาเน้นย้ำ แต่ยังพบเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นเรื่อยๆ เช่น นักเรียนชายโรงเรียนสุรนารีวิทยา 2 จ.นครราชสีมา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) นครราชสีมา โดยระหว่างเสร็จภารกิจรวมตัวเข้าแถวเคารพธงชาติ สวดมนต์ และฟังโอวาทของผู้บริหาร มีครูชายสอนวิชาพลศึกษา และทำหน้าที่ฝ่ายปกครอง ใช้กรรไกรกล้อนผมนักเรียนชั้น ม.2 นับสิบคน จนผมแหว่ง

แต่หากเปิดดูในโลกออนไลน์ จะเห็นคลิปวิดีโอครูเดินตัดผมนักเรียนระหว่างเข้าแถวจำนวนมาก จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และเป็นการละเมิดสิทธิของนักเรียน!!

 

นอกจากจะพบเห็นข่าวนักเรียนถูกละเมิดสิทธิในร่างกายแล้ว ยังพบข่าวเด็กและครูฆ่าตัวตายเช่นกัน ที่น่าตกใจคือหลังเปิดเทอมได้ไม่ถึง 1 เดือน มีข่าวครูและนักเรียนฆ่าตัวตายจำนวนมากเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ ด.ญ.ปลอบขวัญ ระสุโสะ หรือน้องโบนัส อายุ 14 ปี นักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.พัทลุง ตัดสินใจผูกคอเสียชีวิตภายในบ้านที่ อ.สะเดา จ.สงขลา โดยคาดว่าสาเหตุที่ทำให้เด็กฆ่าตัวตาย เพราะถูกครูไล่ออก บวกกับมีปัญหาครอบครัว ไม่มีเงินจ่ายค่าเล่าเรียน

หรือกรณีนักเรียนหญิงชั้น ม.2 โรงเรียนมัธยมชื่อดังแห่งหนึ่งใน อ.เมือง จ.นครราชสีมา ที่ตกลงมาจากอาคารเรียนชั้น 8 จนเสียชีวิต ส่วนสาเหตุก็คาดว่าน่าจะเกิดจากการเป็นโรคซึมเศร้า

ขณะเดียวกันยังพบอาจารย์หญิงคนหนึ่ง ในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ดิ่งจากชั้น 5 ของอาคารเรียนลงมาเสียชีวิต เบื้องต้นคาดว่าสาเหตุมาจากความเครียดหนัก เพราะมีกระแสข่าวว่าถูกบังคับให้หานักเรียนใหม่ให้ได้ตามยอดที่ตั้งเป้าไว้ แต่เมื่อใกล้เปิดเทอม และยอดรับนักเรียนยังไม่ได้ตามเป้า เลยถูกต่อว่าจนอับอาย ทำให้กดดัน และคิดสั้น

แม้ท้ายที่สุดจะมีข้อสรุปว่าสาเหตุที่ครูฆ่าตัวตายนั้น เพราะเป็นโรคซึมเศร้า และที่ผ่านมาได้พยายามฆ่าตัวเองมา 1 ครั้งแล้ว

เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อนักเรียนและครูในทุกๆ ด้าน

โดยองค์การยูนิเซฟ และกรมสุขภาพจิต พบว่าหลังจากเกิดวิกฤตโควิด-19 ส่งผลให้วัยรุ่นจำนวนมาก ต้องเผชิญกับความเครียด ความกังวล และภาวะซึมเศร้าอย่างต่อเนื่อง!!

 

ทั้งนี้ ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย โดยกรมสุขภาพจิต ที่ได้ประเมินในช่วง 18 เดือนของการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 พบว่า ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่น มีภาวะเครียดสูง ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ในขณะที่อีกร้อยละ 22 มีความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตาย

ส่วนการสำรวจโดยยูนิเซฟ ยังพบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คน มีสุขภาพจิตที่ย่ำแย่ลง ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษา และการจ้างงานในอนาคต

จากข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ 2560-2564 พบว่า อัตราจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จในวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น เพิ่มมากขึ้นกว่าวัยทำงานถึง 4 เท่า ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จในกลุ่มวัยเรียนอายุ 15-24 ปี ในปี 2564 เสียชีวิต 439 คน มากกว่าปี 2563 ที่มีอัตราการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 428 คน

หลังจากดูรายงานข้อมูลทั้งหมดแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่า “นักเรียนไทย” อยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตด้านการศึกษา หรือวิกฤตด้านสุขภาพกาย สุขภาพใจ

ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คงต้องย้อนกลับไปทบทวน ว่าควรจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้หรือไม่

อย่าปล่อยให้ปัญหาเกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยมาล้อมคอกกันภายหลัง แต่ควรจะมีมาตรการป้องกัน และช่วยเหลือที่ชัดเจน โดยเข้าถึงตัวนักเรียนรายบุคคล และอย่างรวดเร็ว

ซึ่งถือเป็นโจทย์ท้าทาย ที่ ศธ.ต้องเร่งแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังต่อไป ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือ เด็ก และเยาวชน ที่จะกลายเป็นอนาคตสำคัญของชาติ!! •