จดหมาย

จดหมาย

ประจำวันที่ 10-16 มิถุนายน 2565 ฉบับที่ 2182

 

จดหมาย

 

• ปัญหา “รธน.” (1)

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ออกมาประกาศใช้ เรียกกันว่า ฉบับปราบโกง

แล้วผลเป็นอย่างไร

ใช้มาถึงปี 2565 กลายเป็นบูมเมอแรง

หรือจะเรียกง่ายๆ แบบภาษาชาวบ้าน ก็เรียกว่า “บูมอย่างแรง”

ผมไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญเลย ได้แต่ฟังรายงานข่าวจากสถานีโทรทัศน์ แล้วก็นั่งดีใจที่ผมไม่รับการลงประชามติ

การเลือกผู้แทนฯ ตั้งแต่ผมมีสิทธิ ผมไม่เคยเลือกผู้แทนฯ ผิด

แต่ปรากฏว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 คนชนะเลือกตั้ง ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ผมเลยกลายเป็นคนเลือกผิดครั้งแรก

ตะวันรอน

อ.ลอง จ.แพร่

 

เพราะปัญหา คนชนะเลือกตั้ง ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล

ทำให้ตะวันรอนเลือกผิดครั้งแรกนี่แหละ

อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร จึงรวบรวมรายชื่อชาวบ้านร่วม 7 หมื่น

ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตัดอำนาจ ส.ว.ในการเลือกนายกฯ

ซึ่งไม่รู้ว่าจะรอดดงมือของ ส.ว.ไปได้หรือเปล่า

แต่ก็ทำใจไว้เยอะๆ

ตะวันรอนอาจเลือกผิดซ้ำสอง

 

• ปัญหา รธน. (2)

คิดว่าถึงเวลาที่ กกต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ควรจะวางแผนเรื่อง On Line Voting สำหรับการเลือกตั้ง ส.ส.คราวหน้า อย่าได้ชักช้า

ควรจะออกกฎหมาย และมาตรการรองรับ ให้ดำเนินการผ่านระบบแอพพลิเคชั่น ที่โปร่งใส ยุติธรรม สืบค้นได้

เพื่อลดภาระการพิมพ์บัตรเลือกตั้ง และอำนวยความสะดวกสำหรับผู้มีสิทธิ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ

พิจารณาข้อจำกัด และสิ่งที่ปฏิบัติได้ โดยไม่ซ้ำซ้อน หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการ

เราเชื่อว่าจะมีศักยภาพทำได้ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะในส่วนกลาง กทม. และตามเมืองใหญ่

หากคิดมาก ทำไม่ได้สักส่วน ก็น่าอายประเทศภูฏานเขานะครับ

สมวุฒิ

 

คงต้องอายแน่ๆ ล่ะครับ

อาจารย์สมชัย ศรีสุทธิยากร อีกนั่นแหละ

เขียนไว้ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับ 20-25 พฤษภาคม 2565 แล้วว่า ในวรรคสอง มาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2564

กำหนดว่า “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ใช้วิธีการออกเสียงลงคะแนนโดยตรงและลับ โดยให้ใช้บัตรเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบละหนึ่งใบ”

ทำให้การตีความและเขียนในกฎหมายในร่าง พ.ร.ป.ส.ส. ต้องปิดทางเลือกอื่นๆ

โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ อาทิ เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ การลงคะแนนทางอินเตอร์เน็ต มาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ

คุณสมวุฒิ จึงอาจต้องผิดหวังด้วยประการฉะนี้

 

• ปัญหา รธน. (3)

เชิญชมเบื้องหลังการถ่ายทำภาพยนตร์มหากาพย์ “เสียของ” ภาค 2 ปี 2557

(ภาคแรก ปี 2549 เหล่าผู้สร้าง นำโดยพระเอกรูปหล่อ บังเละ กุมาร เข้าป่าเจ๊งโบ้ง ระเนระนาดไปหมดแย้ว แต่รุ่นน้องก็ไม่รู้จักเข็ดหลาบ หันมาสร้างภาค 2 กันต่อ ช่างไม่สงสารคนดูกันมั่งเลยว้อย)

1) นิ…ต้องงี้นะ หนังของเราต้องดุดัน บู๊แหลก ระเบิดภูเขา เผากระท่อม ขึ้นเข่าลงศอก ยิงฟันกันให้ตับแลบ ต้องแสดงให้เหล่ามวลมหาประชาชนเขา “อิน” ในบทบาทของเราให้มากที่สุด

2) เอ้า…เตรียมตัว…แอ๊กชั่น…

3) เฮ้ย ฟันกบาลให้แบะซิวะ ยิงพุงกะทิให้ระเบิด แล้วมึง เอ๊ย…คุณทั้งสองยืนยิ้มเผล่ เงื้อง่าราคาแพงทำมาย แสดงให้เหมือนตอนซ้อมสิว้อย

4) “นิ…นิ…ขอเท้าสะเอวเอามือที่มองไม่เห็น เอ๊ย บาทา (ตีน) ของข้ายันให้ทีเหอะวะ ไม่ต้องตีหน้าเศร้า เล่นไม่เอาอ่าว ออกทะเลกันไปหมด ไม่เหมือนกับตอนที่เตี้ยมกันมาก่อนปฏิวัติ เอ๊ย ก่อนที่ข้าจะตัดสินใจสร้างภาค 2 ธ่อ…. ฝันเอาไว้อย่างดีเชียวนะ ว่าจะแก้ตัวภาคนี้ กะว่าจะลบสถิติ ทะลวงรายได้ของ ‘2499 อันธพาลครองเมือง’ ทีเดียวเจียวนะ แล้วจิตใจเอ็ง 2 คน จะให้ข้าต้องเข้าป่าตามรุ่นพี่เขาไปอีกรอบเรอะงาย เดี๋ยวแถมให้อีกตีน เอ๊ย อีกบาทาหรอก”

5) ดารานำแสดง กลุ่ม “คนโตตัวเล็ก” หรือ “เล็กดีรสโต”

 

จากซ้ายไปขวา “บิ๊กหนึ่ง” (เป็นหนึ่ง) มืออีโต้ เงื้อง่าราคาแพง

ถัดไป “บิ๊กเหลิม” (วันเฉลิม) ผู้กำกับจอมถีบ

ขวาสุด “บิ๊กชาติ อินทรีแดง” (ชาติชาย) มือปืนดอกกระเจียว

ผู้อำนวยการสร้าง เขียนบท กำกับการแสดง ถ่ายภาพ และอมเบี้ยเลี้ยงค่าตัวนักแสดง อีตาปิยพงศ์ (เมืองหละปูน) เจ้าเก่า

โลเกชั่น บ้านผู้อำนวยการสร้าง สุขุมวิท 101/1

สวัสดีความเศร้า

ปิยพงศ์ (เมืองหละปูน)

 

เพราะ “เสียของ”

เลยเป็น “ของเสีย”

ให้แก้ปัญหา (แต่ก็ไม่ยอมให้แก้เสียอีก)

อย่าง “รอทอนอ” นี้ไง ปี้อ้ายปิยพงศ์ •