‘ตุรกี’ สู่ ‘ตุรเคีย’ จาก ‘ไก่งวง’ สู่การเปลี่ยนชื่อประเทศ

Turkish President Recep Tayyip Erdogan speaks during a press conference following the cabinet meeting at the Presidential Complex in Ankara on June 6, 2022. (Photo by Adem ALTAN / AFP)

นับจากนี้ไปโลกจะรู้จัก “สาธารณรัฐตุรกี” ในชื่อใหม่ว่า “สาธารณรัฐตุรเคีย” อย่างเป็นทางการ

หลังจากนายเมฟลุต คาโวโซกลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีส่งหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อวันที่ 2 มิถุนายนที่ผ่านมา ร้องขอให้เปลี่ยนชื่อประเทศที่เดิมใช้คำว่า “ตุรกี” (Turkey) ให้เปลี่ยนเป็นคำว่า “ตุรเคีย” (Turkiye) ในการเอ่ยถึงประเทศตุรกีในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงมีผลแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน วันที่สำนักงานใหญ่ยูเอ็นในมหานครนิวยอร์ก ได้รับจดหมายจากทางการตุรกี ทำให้นับจากนี้ “ตุรเคีย” จะถูกใช้แทนที่ “ตุรกี” สื่อสารในทุกช่องทางของหน่วยงานองค์การสหประชาชาติต่อไป

เหตุผลหลักเป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นเพราะชื่อประเทศตุรกีนั้นไปพ้องรูปและพ้องเสียงกับคำว่า turkey หรือไก่งวง สัตว์ปีกขนาดใหญ่ที่ชาวอเมริกันใช้ทำอาหารในเทศกาลขอบคุณพระเจ้าในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ขณะที่ดิกชันนารีภาษาอังกฤษ ให้ความหมายคำว่า turkey นอกเหนือจาก “ประเทศตุรกี” และ “ไก่งวง” เอาไว้ไม่ค่อยดีนัก

 

คําถามแรกที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมชื่อ “ประเทศตุรกี” จึงไปพ้องกับ “ไก่งวง” ของชาวอเมริกัน แล้วไก่ขนาดยักษ์หัวล้านมีหนังย่นๆ สีแดงนี้มีความเชื่อมโยงกับประเทศตุรกีอย่างไร?

คำว่า Turkey นั้นในอดีตใช้อธิบายถึง “ดินแดนที่ยึดครองโดยชาวเติร์ก” (Turk) หรือหมายถึง “จักรวรรดิออตโตมัน” ซึ่งนับย้อนไปก็พบคำนี้ได้ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 13

หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงพร้อมกับการล่มสลายของจักรวรรดิออตโตมัน “สาธารณรัฐตุรกี” ก็ถือกำเนิดขึ้นและใช้ชื่อเรียกเดิมมาเป็นชื่อประเทศตั้งแต่ปี 1923 เป็นต้นมา

สำหรับไก่งวง (turkey) ที่รู้จักในสหรัฐอเมริกาเป็นสัตว์ปีกในกลุ่มไก่ฟ้าและนกกระทา เป็นนกที่บินไม่ได้ อยู่ในสกุลเมเลียกริส (Meleagris) มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือมาอย่างยาวนานถึง 20 ล้านปีแล้ว

และเหตุลที่ไก่งวง turkey ไปพ้องกับชื่อประเทศตุรกี นั้นเกิดขึ้นเพราะนก “กินีฟาวล์” ไก่อีกชนิดที่มีลักษณะคล้ายกันซึ่งมีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา

ไก่ชนิดนี้ “จักรวรรดิออตโตมัน” ส่งเป็นสินค้าออกไปยังภูมิภาคยุโรป ซึ่งชาวยุโรปก็เริ่มต้นเรียก “กินีฟาวล์” เหล่านี้ว่า “ไก่ตุรกี” หรือ (turkey cock/turkey hen) นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้านอาณานิคมในอเมริกาเหนือเองก็ส่ง “ไก่งวงเมเลียกริส” ที่มีรูปร่างหน้าตาเหมือนกับ “กินีฟาวล์” ไปยังยุโรปด้วย

นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ “ไก่งวงเมเลียกริส” จากทวีปอเมริกาถูกเรียกว่า turkey ด้วยเช่นกัน และเรียกเช่นนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งสหรัฐอเมริกาถือกำเนิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน

 

สําหรับเหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเป็น “ตุรเคีย” นั้นสื่อของรัฐบาลตุรกีอย่าง “ทีอาร์ที” ระบุว่า พื้นที่แถบนี้เดิมทีเรียกว่า “รัฐออตโตมัน” ก่อนจะถูกเรียกในภาษาถิ่น “ตุรเคีย” และถูกเรียกต่างไปในหลากหลายภาษาทั้ง “เตอร์เควีย” (Turquia) ในภาษาละติน และที่นิยมที่สุดก็คือ “ตุรกี” (Turkey) ในภาษาอังกฤษ

ทีอาร์ทียังเขียนบทความสื่อถึงความไม่พอใจของรัฐบาลตุรกีด้วยว่า ผลการค้นหาชื่อประเทศ “ตุรกี” ใน “กูเกิล” นั้นทำให้พบกับรูปภาพ บทความ ที่สับสนวุ่นวาย พบทั้งเนื้อหาประเทศตุรกี ปนเปไปกับสัตว์ปีกอย่างไก่งวง เรื่อยไปจนถึงเมนูอาหารในเทศกาลขอบคุณพระเจ้า เป็นต้น

ซ้ำร้ายความหมายของตุรกีใน “ดิกชันนารี เคมบริดจ์” ดิกชันนารีภาษาอังกฤษ์ชื่อดัง ก็ไม่ได้หมายถึง “ประเทศตุรกี” และ “ไก่งวง” เท่านั้น แต่ยังหมายถึง “อะไรก็ตามที่ล้มเหลวอย่างรุนแรง” หรือ “คนโง่” ด้วย

 

รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีระบุว่ากระบวนการเปลี่ยนชื่อประเทศเพื่อสร้างภาพลักษณ์ใหม่นั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ในเดือนธันวาคมปี 2021 ที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีเรเจพ เทยิพ แอร์โดอาน ของตุรกี ออกแถลงการณ์ในเวลานั้นว่า คำว่า “ตุรเคีย” นั้นเป็นตัวแทนและการแสดงออกที่ดีที่สุดถึงวัฒนธรรม, อารยธรรม และคุณค่าของชาวตุรกี

นอกจากนี้ ยังสั่งให้เริ่มเปลี่ยนชื่อประเทศบนป้ายระบุต้นกำเนิดสินค้าที่ผลิตในประเทศจาก “เมดอินตุรกี” เป็น “เมดอินตุรเคีย” ไปก่อนหน้านี้แล้ว

นอกจากนี้ “การท่องเที่ยวตุรกี” ยังออกแคมเปญโปรโมตประเทศด้วยโดยใช้ “แท็กไลน์” หรือประโยคให้จดจำว่า “สวัสดีตุรเคีย” (Hello Turkiye) ด้วยเช่นกัน

ความพยายามของรัฐบาลตุรกีในครั้งนี้แม้จะได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มผู้สนับสนุนรัฐบาลและกลุ่มชาตินิยมในประเทศ

แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยเช่นกันว่าเป็นความพยายาม “หาเสียง” ของประธานาธิบดีแอร์โดอาน เพื่อเรียกคะแนนนิยมให้กลับคืนมา ก่อนหน้าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปี 2023 นี้

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่าคะแนนนิยมของพรรคเอเค พรรครัฐบาลตุรกรี ตกต่ำลงเรื่อยๆ มาอยู่ในระดับ 33 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจาก 42.6 เปอร์เซ็นต์ในปี 2018 ส่วนหนึ่งเพราะรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจเกิดการขาดดุลการค้า ขณะที่อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นถึง 73.5 เปอร์เซ็นต์ ทำสถิติสูงที่สุดในรอบ 22 ปี

ประธานาธิบดีตุรกีเคยใช้กลยุทธ์ “ประชานิยม” แบบนี้มาแล้วในปี 2020 ด้วยการผ่านกฎหมายเปลี่ยนให้พิพิธภัณฑ์ “ฮาเกียโซเฟีย” มหาวิหารจากยุคไบเซนไทน์ ในนครอิสตันบูล ให้กลายเป็น “มัสยิด” สำหรับชาวมุสลิมในตุรกีที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ

 

แม้การเปลี่ยนชื่อประเทศจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่ไม่นานมานี้ “เนเธอร์แลนด์” ก็เพิ่งประกาศเลิกใช้ชื่อเรียกประเทศในชื่อว่า “ฮอลแลนด์” (Holland) อย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2020 เพื่อปรับภาพลักษณ์ที่ถูกโยงเข้ากับย่านโคมแดงในเมืองหลวง รวมถึงการถูกโยงถึงการใช้กัญชาในเชิงสันทนาการในประเทศ

สาธารณรัฐมาซิโดเนีย ก็เปลี่ยนชื่อประเทศเป็นสาธารณรัฐนอร์ธมาซิโดเนีย อย่างเป็นทางการในปี 2019 เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองกับกรีซ ขณะที่ “อิหร่าน” ก็เปลี่ยนชื่อประเทศจาก “เปอร์เซีย” ย้อนไปในปี 1953

ด้าน “โรดีเซีย” เปลี่ยนชื่อเป็น “ซิมบับเว” เช่นเดียวกับ “ซีลอน” ที่เปลี่ยนชื่อเป็นศรีลังกา เพื่อละทิ้งมรดกของการตกเป็นอาณานิคมลงไป

และแน่นอน “ประเทศไทย” เองก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อจาก “สยาม” ให้เป็น “ไทย” ในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี ค.ศ.1939 ด้วยเหตุผลที่ว่าต้องการให้สอดคล้องกับ “เชื้อชาติ” ของคนในประเทศนั่นเอง