‘ปาร์ตี้เกต’ ปมร้อนคลอนขาเก้าอี้ ‘บอริส จอห์นสัน’/บทความต่างประเทศ

AFP

บทความต่างประเทศ

 

‘ปาร์ตี้เกต’

ปมร้อนคลอนขาเก้าอี้ ‘บอริส จอห์นสัน’

 

หลังเสร็จสิ้นงานเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ในโอกาสครองราชย์ครบ 70 ปี ของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งราชวงศ์อังกฤษไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา การเมืองในพรรคอนุรักษนิยมหรือทอรี พรรครัฐบาลอังกฤษ ก็ร้อนฉ่าขึ้นในทันที

ด้วยมีการเคลื่อนไหวของ ส.ส.ภายในพรรคให้เปิดโหวตลงมติไม่ไว้วางใจนายบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ โดยมีปมปัญหาหลักใหญ่มาจากเรื่องอื้อฉาวกรณี “ปาร์ตี้เกต” ซึ่งนายจอห์นสันเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญ หลังจากถูกสื่อแฉว่ามีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ขึ้นหลายครั้งที่ทำเนียบบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง ในกรุงลอนดอน อันเป็นทำเนียบนายกรัฐมนตรีในช่วงที่มีการบังคับใช้กฎระเบียบเพื่อควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19

โดยหนึ่งในงานเลี้ยงนั้นรวมถึงการจัดงานเลี้ยงวันเกิดของนายจอห์นสันเองที่มีขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2020 ด้วย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานถึง 30 คน

 

กรณีอื้อฉาวดังกล่าวนำไปสู่การเปิดการสอบสวนในเรื่องนี้ทั้งโดยตำรวจนครบาลกรุงลอนดอน และโดยซู เกรย์ ข้าราชการพลเรือนอาวุโสที่ทำหน้าที่ประธานการสอบสวนหาข้อเท็จจริงในเรื่องนี้เป็นการภายใน จนได้ข้อสรุปของผลการสอบสวนที่เรียกว่า รายงานซูเกรย์ เปิดเผยออกมาในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ให้รายละเอียดว่ามีการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ที่ทำเนียบบ้านเลขที่ 10 ถึง 16 ครั้งระหว่างเดือนพฤษภาคมปี 2020 ถึงเดือนเมษายนปี 2021

ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในการรวมตัวเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติเพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ที่มีการบังคับใช้อยู่

รายงานซูเกรย์ยังชี้ว่ามีความล้มเหลวในภาวะความเป็นผู้นำและการตัดสินใจทั้งที่ทำเนียบบ้านเลขที่ 10 และสำนักงานคณะรัฐมนตรี ซึ่งผู้นำระดับสูงจะต้องรับผิดชอบ

ขณะที่การสอบสวนของตำรวจนครบาลกรุงลอนดอนกรณีปาร์ตี้เกต ยังนำไปสู่การลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องซึ่งมีมากถึง 83 ราย ในการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ที่รวมถึงนายจอห์นสันเองด้วย

ส่งผลให้เขากลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่ต้องจ่ายค่าปรับโทษฐานทำผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ยังมีกระแสความไม่พอใจการทำงานของรัฐบาลนายจอห์นสันต่อการตอบสนองรับมือกับปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้น ตลอดจนการดำเนินนโยบายอื่นๆ ด้วย ที่จุดความเคลื่อนไหวให้มีการเปิดโหวตลงมติไม่ไว้วางใจ

 

ทว่า นายจอห์นสันก็สามารถเอาตัวรอดมาได้ด้วยการชนะเสียงโหวตไว้วางใจมากถึง 59% ในการลงมติเมื่อวันที่ 6 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมที่ลงมติไว้วางใจนายจอห์นสัน 211 เสียง ขณะที่มีผู้ลงมติไม่ไว้วางใจ 148 เสียง

แม้เจ้าตัวชงเองว่าเป็นชัยชนะอย่างเด็ดขาด แต่คะแนนเสียงไว้วางใจของนายจอห์นสันที่ได้นั้นยังต่ำกว่านางเทเรซา เมย์ อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยมคนก่อน ที่ได้รับเสียงสนับสนุน 63% ในการเปิดลงมติไม่ไว้วางใจในปี 2018 ก่อนที่นางเมย์จะตัดสินใจลาออกไปในอีก 6 เดือนต่อมาจากการไม่สามารถผ่าทางตันปัญหาเรื่องเบร็กซิทได้

ขณะที่ผลโหวตครั้งนี้ยังแสดงให้เห็นว่าจำนวน ส.ส.ในพรรคอนุรักษนิยมที่โหวตไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันนั้นมีมากกว่าที่คิด นั่นหมายความว่าจอห์นสันยังไม่พ้นจุดเสี่ยงที่จะเผชิญการถูกสั่นคลอนอำนาจได้อีก

 

ทั้งนี้ ตามทฤษฎีแล้วนายจอห์นสันจะมีภูมิคุ้มกันภัยจากการลงมติไม่ไว้วางใจไปได้อีกหนึ่งปี เนื่องจากภายใต้กฎของคณะกรรมาธิการ 1992 ซึ่งดูแลปัญหาด้านความเป็นผู้นำของพรรคอนุรักษนิยม กำหนดไว้ว่า การท้าทายผู้นำพรรคจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใน 12 เดือนหลังจากชนะการลงมติไม่ไว้วางใจ

ต่อประเด็นนี้ นิก เอิร์ดลีย์ ผู้สื่อข่าวการเมืองของบีบีซี อ้างความเห็นของ ส.ส.บางรายในพรรคอนุรักษนิยมที่บอกว่าพวกเขาไม่คิดว่าจอห์นสันจะอยู่รอดปลอดภัยจากการไม่ไว้วางใจไปได้ถึงหนึ่งปี โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการชุดดังกล่าวเคยพิจารณาที่จะเปลี่ยนกฎในสมัยนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ เพื่อเปิดทางให้มีการลงมติไม่ไว้วางใจเป็นครั้งที่ 2 ไม่กี่เดือนหลังจากนางเมย์คว้าชัยชนะครั้งแรกในการลงมติไม่ไว้วางใจกรณีเบร็กซิทมาแล้ว

ขณะที่ตอนนี้มีกระแสข่าวว่ากลุ่ม ส.ส.ในพรรคอนุรักษนิยมที่หันหลังให้นายจอห์นสันก็ได้มีการพูดคุยกันแล้วถึงการหาหนทางบีบให้มีการเปิดลงมติไม่ไว้วางใจนายจอห์นสันอีก ซึ่งแรงกดดันมหาศาลไปตกอยู่ที่คณะกรรมาธิการ 1922 ในการพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์นี้อีก

อย่างไรก็ดี ข้อเขียนของเอิร์ดลีย์ชี้ว่ายังไม่มีหลักประกันใดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในกระบวนการเกิดขึ้น ทว่า เขายังชี้ว่ายังมีหลุมพรางทางการเมืองใหญ่รออยู่ข้างหน้า ซึ่งอาจจะทำให้มีการเปลี่ยนความคิดได้ โดยเฉพาะเมื่อมีการตั้งคำถามในวงกว้างขึ้นอีกถึงอำนาจชอบธรรมของนายจอห์นสันในการเป็นผู้นำต่อไป