จารึกในวัดโพธิ์ เป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน? / On History : ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

On History

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

จารึกในวัดโพธิ์

เป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน?

 

เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า รัชกาลที่ 3 ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการจารึกความรู้ต่างๆ เอาไว้บนแผ่นหินที่วัดพระเชตุพนฯ หรือที่เรียกกันอย่างเคยปากมากกว่าว่า วัดโพธิ์ เป็นจำนวนมาก ซึ่งก็มากมายเสียจนมีผู้ประดิษฐ์คำเปรียบเปรยอย่างเก๋ๆ เอาไว้ว่า วัดแห่งนี้เป็นเหมือน “มหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน”

แต่ถ้ามหาวิทยาลัย หมายถึงแหล่งเรียนรู้สรรพวิชาชั้นสูง (อย่างน้อยก็สูงกว่าการศึกษาขั้นบังคับ ในความหมายอย่างปัจจุบัน) ต่างๆ แล้ว วัดโพธิ์จะเป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหินจริงๆ หรือครับ?

เพราะแม้แต่บุคคลระดับที่ถูกยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทยอย่างสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเอง ยังเคยหล่นทัศนะเอาไว้ว่า ความรู้ต่างๆ ที่จารึกลงบนแผ่นหินเหล่านี้ ล้วนแต่เป็นความรู้ขั้นพื้นฐาน เบสิกๆ เท่านั้นแหละ

แถมเอาเข้าจริงแล้ว การเผยแพร่ความรู้ด้วยวิธีดังกล่าวก็น่าจะไม่ค่อยได้ผลเท่าไรนัก แม้กระทั่งในสมัยที่เทคโนโลยีการสื่อสารคมนาคมยังล้าหลังถึงเพียงนั้นก็ตาม

ดังนั้น การที่รัชกาลที่ 3 มีพระราชดำริให้จารึกวิชาความรู้ต่างๆ เหล่านี้ไว้ น่าจะมีสาเหตุอื่นต่างหาก

 

เหตุผลหนึ่งที่ควรจะเป็นก็คือ รัชกาลที่ 3 มีพระราชกระแสสั่งให้จดจารชุดความรู้เหล่านี้ไว้ เพื่อบำเพ็ญพระราชกุศล ตามหลักคิดทางพระพุทธศาสนา คือมอบความรู้ให้เป็นวิทยาทาน โดยเฉพาะเรื่องตำรายา ลักษณะเช่นนี้จึงไม่ต่างอะไรไปจากการบำเพ็ญบารมีของพระมโหสถ ชาดกเรื่องดังตอนหนึ่งในชุดทศชาติ

แต่นอกเหนือจากการบำเพ็ญ “ปัญญาบารมี” อย่างพระมโหสถแล้ว ปราชญ์ระดับไอคอนของวงการประวัติศาสตร์ไทยในปัจจุบันอย่าง อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้เคยตั้งข้อสังเกตเอาไว้เมื่อนานมาแล้วว่า รัชกาลที่ 3 อาจจะจดจารความรู้เหล่านี้เพื่อ “ตรา” ชุดความรู้แบบไทยๆ ไว้เป็นหลัก ท่ามกลางกระแสการหลั่งไหลเข้ามาของชุดความรู้อย่างตะวันตก พร้อมกับลัทธิล่าอาณานิคม

และความรู้อย่างไทยๆ ที่ได้รับการจารึกไว้เหล่านี้นั่นแหละ ที่ควรจะเป็นหลักคิดของคนไทย ในการที่จะ “เลือก” ว่าจะรับ หรือไม่รับ อะไรมาจากฝรั่งบ้าง

เพียงแต่ว่าตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เราก็เลือกที่จะรับความรู้ฝรั่งมาอย่างถอนรากถอนโคนชุดความรู้ดั้งเดิมของตัวเองออกไปเสียหมด จนทำให้ชุดความรู้ดั้งเดิมของเราเองต่อกันไม่ติดกับชุดความรู้ใหม่ที่อิมพอร์ตมาจากโลกตะวันตก จนในหลายครั้งชุดความรู้เก่าก็ดูจะกลายเป็นของไร้สาระในสายตาของคนที่ได้รับการศึกษาแบบที่ลอกฝรั่งมาทั้งดุ้นด้วยซ้ำไป

เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งความเข้าใจ และความทางจำเกี่ยวกับแผ่นจารึกต่างๆ ที่วัดโพธิ์นั้น จึงผันแปรไปจากสมัยแรกสร้างเสียมากแล้ว

จารึกวัดโพธิ์

ที่สำคัญก็คือ ทัศนะเรื่อง “ความรู้” ของชาวสยามในยุคเก่าก่อนนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ควรจะนำมา “อวด” แก่คนทั่วไปนะครับ แต่เป็นเรื่องที่จะรู้กันเฉพาะคนวงในของวงการต่างๆ เช่น หมอยา, หมอช้าง, ช่างฝีมือต่างๆ, กวี หรือคนอยากจะเป็นกวี, นักเลงเล่นนกเขา และอะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด ดังนั้น ในเพลงยาวถวายโอวาทของสุนทรภู่ ที่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 จึงบอกว่า

“อันความคิดวิทยาเหมือนอาวุธ ประเสริฐสุด ‘ซ่อน’ ใส่ไว้ในฝัก

สงวนคมสมนึกใครฮึกฮัก จักค่อยชักเชือดฟันให้บรรลัย”

ความรู้ที่ชาวสยามในยุคดั้งเดิมหวงแหนอยู่นั้น สัมพันธ์อยู่กับอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย และแม้จะสัมพันธ์อยู่กับอำนาจ แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่ได้มีไว้ “อวด” แต่ต้อง “ซ่อน” เอาไว้ให้มิดชิดอย่างที่สุนทรภู่ว่า

“ความรู้” ในสังคมไทยยุคเก่าจึงเป็นความลับที่ถูกสงวนไว้สำหรับคนเฉพาะกลุ่มต่างหาก

กรณีที่รัชกาลที่ 3 ทรงกริ้วที่นายโหมด (ต้นตระกูลอมาตยกุล) นำเอากฎหมายไปพิมพ์เผยแพร่ จนมีรับสั่งให้เก็บทั้งหมดไปฝังไว้ในกรุเจดีย์พระบรมบรรพต (แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ฝัง โดยในรัชกาลที่ 4 ได้นำไปคืนให้กับนายโหมดทั้งหมด) พอจะสะท้อนให้เห็นภาพความสัมพันธ์ดังกล่าวได้อย่างน่าสนใจ

เพราะเหตุการณ์ที่ว่านี้ต่อเนื่องมาจากการที่เซอร์ เจมส์ บรูก (Sir James Brooke, หรือที่คนในยุครัชกาลที่ 3 เรียกว่า เย สัปบุรุษ) รายาผิวขาวคนแรกแห่งซาราวัก ที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตของอังกฤษเพื่อเข้ามาเจรจาความเมืองกับสยามเมื่อ พ.ศ.2393 แล้วแสดงตนว่ามีความรู้เรื่องสยามมาก จนทำให้รัชกาลที่ 3 ทรงระแวงว่า คนไทยนำเรื่องราวต่างๆ ของทางราชการไปบอกกับท่านทูตคนนี้ จนทำให้เกิดการริบหนังสือดังกล่าวไม่ให้มีการแจกจ่ายซื้อขาย

ดังนั้น เทคโนโลยีการพิมพ์จึงเป็นส่วนสำคัญ ที่ทำให้ “อำนาจ” ที่ผูกติดอยู่กับ “ความรู้” สั่นคลอนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในสังคมสยาม เพราะการพิมพ์ทำให้เกิดการผลิตซ้ำ และแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวาง

และนับแต่นั้นเป็นต้นมา “ความรู้” จึงไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่รู้กันเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป

พ.ศ.2362 แอนน์ ฮาเซลไทน์ จัดสัน (Ann Hazeltine Judson) ภรรยาของมิชชันนารีอเมริกัน ร่วมมือกับช่างพิมพ์ยอร์ช เอช เฮาห์ (George H. Hough) ตีพิมพ์หนังสือสอนศาสนาฉบับภาษาไทยแจกจ่ายให้แก่เชลยศึกชาวไทยในพม่า นับเป็นการประดิษฐ์ตัวพิมพ์อักษรไทยเป็นครั้งแรก แต่เหตุการณ์ที่ทำให้ “ความรู้” แพร่หลายไปพร้อมๆ กับการพิมพ์ ดูจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กับการตั้งโรงพิมพ์ในสยามของชาวนิวยอร์กที่ชื่อ แดน บีช บรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) หรือที่รู้จักกันในชื่อของหมอบรัดเลย์ (ผู้รับจ้างนายโหมดพิมพ์หนังสือกฎหมายที่ถูกริบในเหตุการณ์ข้างต้น) ในช่วงคล้อยหลังมาไม่ห่างกันนักมากกว่า

การที่ “ความรู้” แพร่หลายออกไปพร้อมกับการพิมพ์ จึงทำให้ความหมายของความรู้เคลื่อนคล้อยไปจากเดิมด้วยพร้อมๆ กัน เพราะหนังสือนับเป็นเครื่องช่วยจำที่ทำให้ผู้มีหนังสือมาก (และต้องอ่านมากด้วย) มีสถานภาพไม่ต่างไปจากผู้ที่จดจำได้มาก การที่จะตัดสินใจว่าใครคือผู้ที่มีความรู้ของไทย จึงทับซ้อนกันอยู่ระหว่างเรื่องของการท่องจำ กับเรื่องของวิธีคิด

ควรสังเกตด้วยนะครับว่า คำว่า “เรียน” ในภาษาไทยเป็นคำยืมมาจากภาษาเขมร มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า “บงเรียญ” (ออกเสียงว่า บองเรียน) หรือ “เปรียญ” (คำเดียวกับที่เราใช้ว่าสอบเปรียญ หรือมหาเปรียญ) ที่มีความหมายตรงกับภาษาไทยในปัจจุบันว่า “ทำให้เรียน” พูดอย่างหยาบๆ ก็คือ “การสอน” มากกว่าจะเป็น “การเรียน” ในภาษาปัจจุบันนั่นเอง

คำว่า “เล่าเรียน” โดยปกติภาษาไทยมักจะใช้คำที่มีความหมายเหมือน หรือใกล้เคียงในสองภาษามาพูด/เขียนซ้ำกัน อย่างที่เรียกว่า “คำซ้ำ” เช่น คำว่า ฟ้อนรำ ที่ฟ้อนเป็นภาษาไทยลาว ส่วนรำยืมมาจากเขมร เป็นต้น

ถ้าคำว่า “เล่าเรียน” เป็นคำซ้ำ คำว่าเล่า (ซึ่งเป็นคำในภาษาไทย-ลาว) ก็มีความหมายถึงการเรียนในภาษาเขมร หรือศึกษาในภาษาสันสกฤต คำว่า “เล่า” เองก็มีความหมายอย่างที่เข้าใจกันในปัจจุบันว่า การบอกเรื่องราว ที่ดูจะเกี่ยวกับการสอนมากกว่าการเรียน ไม่ต่างอะไรไปจากบงเรียญ หรือเปรียญในภาษาเขมร

 

นี่จึงชวนให้นึกโยงไปถึงขนบประเพณีไทยที่ถ่ายทอดเรื่องราวกันทางมุขปาฐะ และการให้ความสำคัญ (อำนาจ) กับผู้สอนมากกว่าผู้เรียน ซึ่งมีลักษณะต่างไปจากแนวคิดเรื่องการศึกษาของฝรั่งแน่ เพราะคำว่า “education” มีรากมาจากคำว่า “educere” ที่แปลว่า “นำออก” (หมายถึงความงอกงาม) หรือ “educare” ที่แปลว่า “การฝึกฝน” ทั้งสองคำนี้ดูจะใส่ใจกับการเรียนมากกว่าการสอน ซึ่งต่างกับรากฐานความคิดเกี่ยวกับการเรียนในภาษาไทยอย่างเป็นคนละขั้ว

และถ้าจะว่ากันด้วยรากฐานความคิดอย่างนี้แล้ว การเผยแพร่ “ความรู้” ด้วยหนังสือ ผ่านเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ในยุครัชกาลที่ 3 จึงเป็นการสั่นคลอนอำนาจของผู้ยึดครองความรู้ที่เคยถูก “ซ่อน” เอาไว้เฉพาะกลุ่มในยุคโน้นเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อสยามกำลังอยู่ในสถานการณ์เก้ๆ กังๆ ท่ามกลางกระแสของลัทธิล่าอาณานิคม

ดังนั้น จึงชวนให้สงสัยเป็นอย่างยิ่งว่า รัชกาลที่ 3 จะต้องการให้วัดโพธิ์เป็นมหาวิทยาลัยบนแผ่นหิน เพื่อเป็นการเผยแพร่ความรู้ประเภทต่างๆ จริงหรือเปล่า? •