คำ ผกา | คุก – เครื่องวัดอารยะของสังคม

คำ ผกา

หลังจากคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. มีประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งคือ ข้อเสนอจาก รมต.กระทรวงยุติธรรมที่จะหยิบเรื่องให้นำนักโทษมาลอกท่อของ กทม. เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมมาหารืออีกครั้ง ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ไม่ได้มีการนำนักโทษมาลอกท่อให้ กทม.มาระยะหนึ่งแล้ว อาจเนื่องมาจากข้อติดขัดทางเทคนิค ระเบียบราชการ

จากเรื่องนี้ทำให้ฉันมีคำถามว่า ทำไมคนส่วนใหญ่ในสังคมไทยคิดว่าการนำนักโทษมาทำงานที่สกปรกและอันตราย เป็นเรื่องที่สมควรแล้ว ถูกต้องแล้ว เหมาะสมแล้ว?

สังคมไทยอาจมีความก้าวหน้าในหลายๆ เรื่องขึ้นมาตามลำดับ เช่น ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตยการเลือกตั้ง สิทธิความหลากหลายทางเพศ เสรีภาพสื่อ

แต่ยังมีหลายเรื่องที่ถือเป็นเรื่องยอดยากที่จะผลักดันให้เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคมโลกวิสัย, เรื่องโทษประหารชีวิต, ศักดิ์ศรีของผู้ค้าบริหารทางเพศ

และเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง

เวลาพูดเรื่องสิทธิผู้ต้องขังก็ต้องแยกออกเป็นสองกรณีอีก นั่นคือ ผู้ต้องขังที่เป็นนักโทษทางความคิด หรือเรียกว่านักโทษการเมือง และผู้ต้องขังธรรมดา คดีอาชญากรรมทั่วไป

ในกรณี “นักโทษการเมือง” คนเหล่านี้ชัดเจนว่าเป็นผู้ที่เสียสละตนเองออกมาต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของสังคม การเรียกร้องสิทธิของผู้ต้องขังคดีทางการเมืองจึงเป็นเรื่องที่ผลักดันได้ ไม่ต้องอธิบายกันมาก แต่พอถึงประเด็นสิทธิและคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังซึ่งในสายประชาชนคือ “โจรห้าร้อย” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ออกมาพูดทีไรก็เป็นประเด็นที่ในความเห็นส่วนตัวของฉันคือ พูดทีไรก็มีเรื่องทุกที พูดทีไรก็โดนด่าตลอดเวลา และประโยคแรกๆ ที่จะเจอคือ

“คนทำชั่วต้องได้รับโทษอย่างสาสมจะได้เข็ดหลาบ” หรือ

“ถ้าอยู่ในคุกมันสบายคนก็พากันเป็นโจรกันหมด” หรือ

“ถ้าคนเลวๆ อยู่ในคุกสุขสบายมันก็ไม่ยุติธรรมกับคนทำมาหากินสุจริตที่ลำบากยากจนสิ”

ซึ่งในจินตนาการของคนพูดอาจจะนึกถึงคนที่ทำความผิดฉ้อโกงคนอื่น ทำให้คนอื่นหมดตัว คนฉ้อโกงติดคุกแต่กลับมีชีวิตที่ค่อนข้างดีในเรือนจำ – แบบนี้มันก็ไม่แฟร์สินะ อะไรทำนองนั้น

มันไม่ผิดที่เราจะจินตนาการไปเช่นนั้นได้

แต่สิ่งแรกที่เราต้องจำเป็นต้องรับรู้ให้ตรงกันก่อนว่า วิวัฒนาการของ “ทัณฑสถาน” ของโลกสมัยใหม่เริ่มมาจากการยุติการลงโทษของโลกก่อนสมัยใหม่ที่ป่าเถื่อน เช่น ตัดนิ้ว ตัดมือ ตัดคอ เฆี่ยนด้วยหวายราดน้ำเกลือประจาน หรือเฆี่ยนแล้วแห่ประจานไปทั่วเมือง จับตรึงกางเขน ตอกมือตอกเท้าแล้วแห่ประจาน (นึกถึงการตรึงกางเขนพระเยซูก็ได้) มาสู่การกักขังให้สิ้นอิสรภาพพร้อมๆ กับการถูก “สอดส่อง” พฤติกรรมจากผู้คุมที่ตัวนักโทษไม่ได้เห็น “ผู้คุม” นั้นด้วยตาเปล่าของตนเอง แต่รู้ว่า ทุกย่างก้าวของตนเองมีสายตาของใครสักคนจ้องมอง สอดส่องมาตลอดเวลาจากที่ใดที่หนึ่งอยู่เสมอ

วิวัฒนาการนี้นำมาสู่รูปแบบบสถาปัตยกรรมของเรือนจำ และโรงเรียน ที่มีลักษณะของการกำกับควบคุมความประพฤติจากสายตาผู้คุมที่มองไม่เห็นตลอดเวลา

ทำให้ตัวนักโทษ หรือนักเรียน ต้องเรียนรู้ที่จะ “คุม” ความประพฤติของตนเองจนเป็นนิสัย เพราะไม่รู้ว่าเวลาไหนที่ออกนอกลู่นอกทางแล้วจะถูก “จับได้”

แม้ว่าวิธีนี้จะดูศิวิไลซ์แล้วเมื่อเทียบกับยุคตัดหัวแห่ประจาน ตรึงกางเขนแห่ประจาน ทว่า เมื่อมนุษย์มีความเจริญก้าวหน้ามากขึ้นก็ตระหนักว่าวิธีก็โหดร้ายไม่น้อยไปกว่าการเฆี่ยน การประจาน การตัดคอ และดูเหมือนจะมีดีกรีของความเลือดเย็นอยู่ไม่น้อยและไม่ช่วยลดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความรุนแรงใดๆ ในสังคมเลย

จนได้เรียนรู้ว่า ส่วนหนึ่งของการเกิดปัญหาอาชญากรรมนั้นมาจากทั้งความยากจน ขาดแคลน ความเหลื่อมล้ำ การขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร การพัฒนาตนเอง คนด้อยโอกาส คนด้อยความสามารถ ขาดแรงสนับสนุนให้สามารถดำรงชีวิตตาม “มาตรฐาน” ที่ควรจะเป็นของสังคมได้

และอีกด้านหนึ่ง อาชญากร ฆาตกร ผู้กระทำความโหดเหี้ยมต่อมนุษย์คนอื่น อาจเกิดจากความป่วยไข้ทางจิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกิดจากความบกพร่องในการเรียนรู้เรื่องความรักและความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น

เมื่อไม่เคยได้รับความรัก จึงไม่รู้จักที่จะมอบความรัก

เมื่อไม่เคยสัมผัสความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น จึงไม่รู้จักการมอบความเข้าใจ แลความเห็นใจต่อผู้อื่น

การแก้ปัญหาความรุนแรงและอาชญากรรมจึงต้องทำให้เรือนจำหรือทัณฑสถานเป็นสถานที่ซ่อมแซมทักษะว่าด้วยความสามารถที่จะรัก ความสามารถที่เข้าใจ และความสามารถที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น

พูดอย่างหยาบคือ เป็นสถานที่ซ่อมแซมความเป็นมนุษย์ที่สึกหรอให้เป็นมนุษย์ที่เปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรมมากขึ้น

เมื่อตระหนักเช่นนี้ มนุษยชาติที่ศิวิไลซ์จึง enlighten ว่า การทำเรือนจำให้เป็นที่คุมขัง ทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน และมีคุณภาพชีวิตที่ไม่สมกับความเป็น “คน” ยิ่งทำลายความเป็น “คน”

เหมือนที่เราพูดกันว่า คุกคือสถานที่ที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นโจร ทำให้โจรกลายเป็นโจรที่อำมหิตขึ้น ทำให้คนที่เต็มไปด้วยความโกรธความแค้นที่โกรธและแค้นมากขึ้น หรือทำให้คนยิ่งหมดโอกาสในการเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่ เพราะออกจากคุกไปก็ไม่มีทักษะในการทำมาหากิน ไปสมัครงานที่ไหนก็ไม่มีคนรับ

สุดท้ายวนเวียนกลับมาเป็นอาชญากรเหมือนเดิม ปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรงในสังคม สวัสดิภาพของสุจริตชนก็ย่ำแย่เท่าเดิม

กระไรเลย เรามาปฏิรูประบบทัณฑสถานกันดีกว่า ตัวอย่างประเทศที่มีเรือนจำดีที่สุดในโลก เช่น ออสเตรีย นอร์เวย์ นิวซีแลนด์ – ลองคลิกไปอ่านจากบทความนี้ของบีบีซีไทยดูได้ https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_5167316

นอร์เวย์ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า เรือนจำคือสถานที่กักขัง และลำพังการกักขังก็เป็นการลงโทษที่สาสมด้วยตัวของมันเองแล้ว ไม่จำเป็นต้องเพิ่มบททรมานให้นักโทษอีก

ดังนั้น ทุกกิจกรรมในเรือนจำมีไว้เพื่อให้ทุกคนออกจากคุกไปเป็น “เพื่อนบ้านที่ดี” ของเราทุกคน

การ “คุม” นักโทษ ไม่ใช่การอยู่ในห้องขัง แล้วมีผู้คุม

แต่คือการทำกิจกรรมร่วมกันของนักโทษและผู้คุม เช่น ฝึกโยคะร่วมกัน เล่นวอลเลย์บอลด้วยกัน กิจกรรมในเรือนจำเหมือนกิจกรรมนอกเรือนจำ มีอิสระในการทำกิจกรรมทุกอย่างได้ ยกเว้นทำในกำแพงของคุก และคุกถูกออกแบบมาโดยสถาปนิกเพื่อให้ได้พื้นที่ใช้สอยที่จะ “จรรโลงใจ” ของคนที่อาศัยอยู่ในนั้นให้ละเมียดละไม ให้อ่อนโยนขึ้น

นักโทษสามารถฝึกอาชีพ เรียนหนังสือ อ่านหนังสือ ฝึกใช้คอมพิวเตอร์ ฝึกอาชีพ มีกำหนดให้ญาติ ลูก สามี ภรรยา มาอยู่หรือค้างคืนด้วย

ทั้งหมดนี้ไม่ใช่การสปอยล์คนชั่ว แต่เพื่อการสร้าง “คนที่ดีขึ้น” ออกไปสู่สังคมภายนอก

โมเดลของนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ ออสเตรีย และอีกหลายประเทศ พิสูจน์แล้วว่า กระบวนการแบบนี้ เราได้คนที่ดีขึ้นออกไปสู่สังคมจริงๆ สถิติอาชญากรรมน้อยลง และในประเทศอย่างเนเธอร์แลนด์ถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่เรือนจำตกงานเพราะไม่มีนักโทษที่ต้องติกคุกอีก

กลับมาที่สังคมไทยที่เรายังคุยกันเรื่องเอานักโทษมาลอกท่อ พร้อมคำอธิบายว่า

– ต้องนักโทษชั้นดีนะถึงจะได้รับโอกาสทำงานนี้

– นักโทษเขาอยากทำ เขาอยากออกมาข้างนอกบ้าง ทำแล้วได้ลดโทษด้วย

ซึ่งคำอธิบายนี้ไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะเรายังมอง “คุก” ในสายตาของมนุษย์ในยุคที่เชื่อว่าทำผิดต้องเอาไปขังคุกขี้ไก่ หรือต้องเอามาตัดแขน ตัดมือ ลงหวายเอาน้ำเกลือราดแล้ว แห่ประจานไปทั่วเมือง ซึ่งวิธีคิดที่ป่าเถื่อนนี้ ไม่ได้ช่วยให้คุณภาพชีวิตของใครๆ ดีขึ้นมาแม้แต่คนเดียว

ใช่ นักโทษที่ดีควรได้รับการลดโทษ นักโทษควรได้โอกาสทำงาน แต่โอกาสในทำงานนั้น ทำไมต้องเป็นงานที่สกปรกที่สุดและไม่มีใครอยากทำมากที่สุด?

และดูเหมือนเราจะคิดไปโดยอัตโนมัติว่า งานที่สกปรก อันตราย และด้วยฐานานุรูปของนักโทษก็ไม่จำเป็นที่เขาจะต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองจากให้ปลอดภัยจากงานที่อันตรายนั้น เพราะเราเชื่อเสียแล้วว่าคนเป็นนักโทษนั้นไม่สมควรมีชีวิตอยู่ตั้งแต่แรก ไม่ปล่อยให้ตาย ให้โอกาสมามุดท่อก็บุญโข!

และเราก็ช่างไม่รู้ตัวเลยว่า วิธีคิดแบบนี้แหละที่เปลือยให้เห็นว่าสภาพจิตใจเราอำมหิตไม่แพ้ฆาตรกรที่เราเกลียดชังสักเท่าไหร่ และท้ายที่สุดเรามีความป่าเถื่อนอยู่ในตัวไม่ต่างกัน

เราอาจจะยังไม่ศิวิไลซ์นักในวันนี้ ฉันขอตั้งความหวังว่า หากจะต้องเอานักโทษชั้นดีมาลอกท่อ ขอให้เป็นยุคที่เราได้ดูแลเรื่องสวัสดิภาพในการทำงานแก่เขาเยี่ยงแรงงานที่มีศักดิ์ศรีและพวกเขาพึงได้รับค่าแรงที่ยุติธรรม แล้วอย่าลืมว่างานยิ่งอันตราย ค่าแรงต้องยิ่งแพงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขอหวังไว้เท่านี้ และจะไม่หยุดพูดให้สังคมไทยเข้าใจว่า คุก เรือนจำ ทัณฑสถาน ไม่ควรเป็นสถานที่ที่เอาไว้ทำลายความเป็นคน แต่คือสถานที่เราจะเยียวยามนุษย์ให้เขาได้กลายเป็นเพื่อนบ้านที่แสนดีของเราในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า

หวังว่าสักวันหนึ่งสังคมของเราจะศิวิไลซ์เช่นนั้นได้