ฤๅเมืองโบราณศรีเทพ คือ ‘อโยธยา-มหานคร’ ในตำนานพระแก้วมรกต และตำนานพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ?

เพ็ญสุภา สุขคตะ

ในห้วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ นับแต่ที่มีการบูรณะขุดแต่งโบราณสถานที่เรียกว่า “เขาคลังนอก” ในเมืองโบราณศรีเทพเสร็จสิ้น (ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์) เห็นได้ว่านักวิชาการด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะแถวหน้าของสยามจำนวนไม่น้อย พร้อมใจกันตั้งข้อสมมุติฐานว่า “หรือศรีเทพ คือจุดเริ่มต้นของอาณาจักรทวารวดี?”

เหตุที่คำว่า “ศรีเทพ” นั้นเป็นชื่อใหม่ที่มาเรียกกันภายหลัง ไม่ใช่ชื่อดั้งเดิม อีกทั้งโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบในเมืองศรีเทพนี้ จัดเป็นโบราณวัตถุรุ่นเก่ามาก เมื่อเทียบกับที่พบในแหล่งโบราณคดีอื่นๆ

ในช่วงแรกๆ ทฤษฎีดังกล่าวนี้ อาจถูกคัดค้านอยู่บ้าง เนื่องจากมองว่า ศรีเทพตั้งอยู่บนพื้นที่ตอนในค่อนข้างลึกมาก ไม่ได้อยู่ติดทะเลชายฝั่งเหมือนกับเมืองทวารวดีอื่นๆ อาทิ นครปฐม อู่ทอง (ในสุพรรณบุรี) หรือละโว้ (ลพบุรี)

เมืองที่อยู่ตอนใน ห่างไกลทะเลจักเป็นศูนย์กลางรัฐที่รุ่งเรืองได้อย่างไรกัน นั่นคือคำถามที่เข้ามาสกัดกั้น ปฏิเสธมิให้ศรีเทพกลายเป็นหัวใจของรัฐทวารวดีไปได้

แต่จนแล้วจนรอด การค้นพบเทวรูปรุ่นเก่าที่สะท้อนถึงลัทธิการบูชาพระสุริยเทพ และลัทธิการบูชาพระกฤษณะ สองลัทธิโบราณที่ยังตกค้างอยู่ในเมืองศรีเทพ ซึ่งหารูปเคารพของเทพเจ้าสองลัทธิที่กล่าวมาค่อนข้างยากในพื้นที่อื่นของรัฐทวารวดีที่ร่วมสมัยกัน ทำให้เริ่มมีผู้เชื่อถือทฤษฎีที่ว่า “ศรีเทพน่าจะเป็นศูนย์กลางรัฐทวารวดีในหน้าแรกๆ ก็เป็นได้” มากยิ่งขึ้นทุกวัน

แนวคิดดังกล่าวนี้ ดิฉันก็เห็นคล้อยด้วยเช่นกัน แม้จะรู้ว่าการไปเรียกดินแดนแถบศรีเทพนี้ว่าเป็นรัฐทวารวดี ย่อมถูกคัดค้านจากนักจารึกวิทยากลับเอาได้ว่า “อยู่ไหนหรือในศรีเทพ มีไหม เหรียญเงินที่จารึกคำว่า ศฺรีทฺวารวตี ศฺวรปุณยฺ” ซึ่งแปลว่า “บุญกุศลของพระเจ้ากรุงทวารวดี” หรือ “ผู้เป็นเจ้าแห่งศรีทวารวดี ผู้มีบุญอันประเสริฐ” เฉกเช่นที่มีการพบเหรียญเงินเหล่านี้ในเมืองอื่นๆ ทั้งที่นครปฐม อู่ทอง อินทร์บุรี (ในสิงห์บุรี) และละโว้

ดิฉันมีตรรกะใดมารองรับล่ะหรือ จึงได้สนับสนุนทฤษฎีตามที่นักวิชาการเชื่อกันว่าศรีเทพคือศูนย์กลางแห่งแรกสุดของรัฐทวารวดี

ข้อสนับสนุนของดิฉันอยู่ที่ การค้นพบว่า “ศรีเทพ” เคยมีชื่อเดิมในตำนาน (อย่างน้อยสองฉบับ) ว่า “เมืองอโยธยา” และบางครั้งก็ถูกเรียกว่า”มหานคร” อันเป็นเมืองที่ดิฉันตามหาอยู่นาน

หมายเหตุ อโยธยาที่กล่าวถึงในที่นี้ หาใช่ “เมืองอโยธยารุ่นใหม่” ยุคพุทธศตวรรษที่ 19 ลงมาแล้ว ซึ่งต่อมารู้จักกันในนาม “กรุงศรีอยุธยา” แต่อย่างใดไม่ หากกำลังพูดถึง “เมืองอโยธยารุ่นเก่า” ที่มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 กล่าวคือ ต้องเป็นเมืองที่ร่วมสมัยกับ “ลวะปุระ” และ “หริภุญไชย” เท่านั้น

ทำไมจึงต้องตามหาเมืองอโยธยา และทำไมจึงสันนิษฐานว่าอโยธยาคือเมืองศรีเทพ?

เหตุที่ดิฉันพยายามถอดรหัส “ตำนานสองเรื่อง” อันเกี่ยวเนื่องกับ “พระพุทธรูปสำคัญสององค์” ที่มีการโยกย้ายจากเมือง “อโยธยา” แล้วนำขึ้นมาสู่เมืองทางเหนือในดินแดนล้านนา

องค์แรกคือพระแก้วมรกต (อมรโกฏ) และอีกองค์คือพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ แน่นอนว่ายุคสมัยที่พระภิกษุกำลังรจนาตำนานทั้งสองฉบับนี้ “เมืองอโยธยา” ได้ถูกย้ายศูนย์กลางมาตั้งอยู่ที่กรุงศรีอยุธยาแล้ว ทว่า ในความทรงจำของคนเมื่อ 500 ปีก่อน ยังคงเรียกเมืองอีกเมืองหนึ่งว่า “อโยธยา” เป็นเงาซ้อนลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง

แม้ไม่บอกพิกัดทำเลที่ตั้ง แต่ดิฉันพอจะอนุมานได้ว่า เมืองอโยธยาในตำนานนั้น ควรเป็น “เมืองโบราณศรีเทพ” อย่างค่อนข้างแน่นอน

สุริยเทพ จากเมืองศรีเทพ ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์นอร์ตันไซมอน รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ไขปริศนาชื่อ “อโยชฌปุระ”
ในตำนานพระแก้วมรกต

ตํานานรัตนพิมพวงศ์ ได้กล่าวถึงเส้นทางของพระแก้วมรกต ที่ต้องระหกระเหินจาก “เมืองอินทปัตถ์” ในกัมพูชา (ก่อนหน้านั้นถูกย้ายจากอินเดียสู่ลังกา และจากลังกาสู่เขมรมาแล้ว) ต้องถูกย้ายอีกคราว ถือเป็นการนำพระแก้วมรกตเข้ามาสู่ดินแดนที่ปัจจุบันอยู่ในเขตผืนแผ่นดินไทยครั้งแรก โดยระบุว่าเมืองนั้นชื่อ “อโยชฌา/อโยชฌปุระ” หรือ “อโยธยา”

อโยชฌา/อโยชฌปุระ/อโยธยา/ ในตำนานระบุว่าเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ตอนเหนือ ถัดขึ้นไปจากอาณาจักรละโว้หรือ “ลวะปุระ” โดยเมืองอโยธยานี้มีกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่องค์หนึ่งชื่อ “อาทิตยราช” เป็นผู้ได้ครอบครององค์พระแก้วมรกตที่พระภิกษุชาวกัมโพช นำมาถวายให้พระองค์ด้วยการพาหนีมาจากกรุงอินทปัตถ์

ขอให้ดูทำเลที่ตั้ง มีการระบุว่า “ตั้งอยู่ทิศเหนือของกรุงละโว้”

หากพิจารณาแค่ชื่อกษัตริย์ “อาทิตยราช” ก็ย่อมพุ่งเป้าไปที่ “นครหริภุญไชย” หรือลำพูน เมืองที่มีกษัตริย์ผู้เกรียงไกร พระนามว่าอาทิตยราชเหมือนกัน

ทว่า ตามที่ดิฉันได้เคยวิเคราะห์ไว้แล้วในบทความนี้หลายปีก่อนว่า ในเมื่อชื่อของ “หริภุญไชย” เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในสมัยล้านนาช่วงที่พระภิกษุกำลังรจนา ตำนานรัตนพิมพวงศ์ หากผู้ประพันธ์ต้องการสื่อถึงเมืองลำพูน ไยจึงไม่เรียกตรงๆ ไปเลยว่า “หริภุญไชย” ไฉนมาเรียกด้วยชื่อ “อโยธยา” เล่า

ดังนั้น “อโยธยา” เมืองที่ตั้งอยู่เหนือละโว้ในตำนานรัตนพิมพวงศ์นั้น จึงไม่ควรหมายถึง “หริภุญไชย” ไปได้ ถ้าเช่นนั้น เมืองที่อยู่เหนือละโว้ขึ้นไป เมืองที่มีความเจริญรุ่งเรืองอย่างมากในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-15 ควรจักเป็นเมืองใดเล่า

พิจารณาจากที่ตั้ง ความยิ่งใหญ่รุ่มรวยอารยธรรมสมัยต้นทวารวดีของเมืองศรีเทพแล้ว ควรหมายถึงเมือง “อโยธยา” ที่ระบุในตำนานนี้ได้หรือไม่

สุริยเทพ จากเมืองศรีเทพ สะท้อนแนวคิดการนับถือลัทธิเสารยะ (บูชาพระอาทิตย์เป็นใหญ่)

อโยชฌปุระในตำนานพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ

ตํานานเรื่อง “พระสิกขีปฏิมาศิลาดำ” ไม่ได้แยกพิมพ์เป็นเล่มต่างหาก ทว่า แฝงไว้อยู่ในหนังสือชื่อ “ชินกาลมาลีปกรณ์” โดยกล่าวถึงชื่อเมือง อโยชฌปุระว่า

“ได้ยินว่า ยังมีหินดำก้อนหนึ่ง ทางด้านฝั่งตะวันตกแม่น้ำ ไม่ไกล อโยชฌปุระ ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคของเราเมื่อดำรงพระชนม์ชีพอยู่…ประทับนั่งบนก้อนหินดำนั้น ตั้งแต่นั้นมา เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายกราบไหว้บูชาหินดำก้อนนั้น”

ข้อความถัดมากล่าวว่า

“ต่อจากนั้นมา มีพระราชาธิราชองค์หนึ่ง ในรัมมนะประเทศ เป็นใหญ่แก่เจ้าประเทศทั้งหลาย ทรงดำริอย่างนี้ว่า หินก้อนนี้ แม้เป็นเพียงมีฐานะเป็นเครื่องใช้สอย แต่ก็ยังเป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายได้ อย่ากระนั้นเลย เราจะทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธปฏิมา และพระพุทธปฏิมาองค์นี้ จะได้เป็นไปเพื่อบุญใหญ่หลวงยิ่งๆ ขึ้นไปแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายจนกว่าศาสนาจะอันตรธาน”

“ครั้นทรงดำริอย่างนี้แล้ว จึงตรัสสั่งให้ประชุมช่างปฏิมากรรมทั้งหลาย แล้วโปรดให้ช่างทำหินก้อนนั้นให้เป็นพระพุทธรูปจำนวน 5 องค์ ครั้นทำเสร็จแล้ว องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในมหานคร องค์หนึ่งอยู่ในลวปุระ องค์หนึ่งอยู่ในเมืองสุธรรม อีก 2 องค์ประดิษฐานอยู่ในรัมมนะประเทศโพ้น”

คราวที่เขียนบทความเรื่องพระสิกขีปฏิมาศิลาดำยาวถึง 7 ตอน ดิฉันเคยตั้งคำถามว่าเมือง “มหานคร” อยู่ที่ไหนหรือ ตอนแรกตำนานเรียกเมืองที่มีหินดำว่า “อโยชฌปุระ” แต่เรียกไปเรียกมากลับเรียกอีกชื่อว่า “มหานคร” หมายความว่าต้องเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มาก

โดยที่เมืองอโยชฌปุระ (อโยธยา) หรือมหานครนี้ ต้องตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมือง “ลวปุระ” (ละโว้/ลพบุรี) มากเกินไปนัก เหตุที่มีสายสัมพันธ์อันดีต่อกัน ถึงขนาดที่ว่าหลังจากที่แกะสลักพระสิกขีปฏิมาศิลาดำ 5 องค์แล้ว เมืองอโยธยาได้มีการมอบให้เมืองละโว้ด้วย 1 องค์ (เป็นองค์ที่ต่อมากษัตริย์ละโว้ได้มอบให้พระราชธิดาคือพระนางจามเทวี นำติดตัวมายังนครหริภุญไชยด้วย)

เมืองที่มี “หินดำ” คือเมืองไหนหนอ? ต้องเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่มหึมา (มหานคร) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ใกล้กับละโว้ และต้องเป็นเมืองเครือข่ายที่ประชากรพูด/ใช้ภาษามอญ (เพราะมีการมอบพระสิกขีฯ ให้เมืองรัมมะปุระด้วยถึง 2 องค์ รัมมะ=รามัญ, มอญ) เมืองนี้ควรตั้งอยู่ที่ใดหรือ มีความเป็นไปได้ทั้ง นครปฐม อู่ทอง และศรีเทพ

แต่ให้เผอิญว่า เมื่อเราเอาตำนานพระแก้วมรกตมาสอบเทียบกัน พบว่าทำเลของ “อโยธยา/อโยชฌปุระ” นั้น ตั้งอยู่ทิศเหนือของละโว้ ดังนั้น จึงควรตัดเมืองทวารวดีรุ่นเก่าอย่างนครปฐมและอู่ทองทิ้งไป ก็จะเหลือแค่เมืองศรีเทพเท่านั้น

รูปเคารพพระกฤษณะโควรรธนะ (ทำท่ายกภูเขาด้วยแขนข้างหนึ่ง) จากเมืองศรีเทพ สะท้อนแนวคิดเรื่องการนับถือ “พระกฤษณะ” ซึ่งเมืองที่พระกฤษณะสร้างมีชื่อว่า “ทวารวดีศรีอโยธยา”

อโยธยาศรีทวารวดี
คือเมืองพระกฤษณะ

ชื่อของอโยธยา มาจากชื่อเต็มว่า อโยธยาศรีทวารวดี หรือทวารวดีศรีอโยธยา ชื่อนี้ในอินเดียถือว่าเป็นเมืองที่พระกฤษณะสร้าง สอดรับกับการที่เมืองศรีเทพพบเทวรูปพระกฤษณะอยู่หลายองค์

ดิฉันได้แลกเปลี่ยนประเด็นนี้กับ ดร.อัครินทร์ พงษ์พันธ์เดชา นักวิชาการด้านหริภุญไชยศึกษา ดร.อัครินทร์มีความเห็นว่า

“เป็นไปได้ทีเดียวที่เมืองศรีเทพจะเป็นเมืองอโยธยาศรีทวารวดีเก่า โดยยุคแรกมีละโว้เป็นเมืองลูกหลวงหรือปราการหน้าด่านทางทิศใต้ เงื่อนไขแห่งความเจริญรุ่งเรืองของนครรัฐในอดีต อาจไม่เหมือนกับปัจจัยในปัจจุบัน ขึ้นอยู่กับความต้องการในการแลกเปลี่ยนสินค้า บางทีเมื่อพันปีเศษเมื่อก้าวพ้นสังคมบุพรกาลมาใหม่ๆ มนุษย์อาจยังต้องการของป่า แร่เหล็กต่างๆ

เมืองศรีเทพตั้งอยู่ต้นแม่น้ำป่าสัก เป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ น่าจะมีการลำเลียงสินค้าประเภทแร่ธาตุและของป่าจากแม่น้ำป่าสัก ผ่านลงมายังรัฐละโว้ กระทั่งผ่านไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ 15-16 ความต้องการสินค้าของป่าจากศรีเทพอาจลดน้อยถอยลง หรืออาจเกิดโรคระบาดในศรีเทพก็เป็นได้ ทำให้เมืองร้างไปในช่วงที่อิทธิพลขอมเริ่มเข้ามาแทนที่ เป็นเหตุให้ศูนย์กลางความเจริญของทวารวดี มีการเคลื่อนย้ายลงไปสู่รัฐละโว้ทางตอนล่าง”

ส่วนการนำคำว่า “อโยธยา” หวนกลับมาใช้อีกครั้ง สำหรับราชธานีกรุงศรีอยุธยา เมืองที่อยู่ติดอ่าวไทยนั้น ดร.อัครินทร์มีความเห็นว่า

“ครั้นเมื่ออยุธยาค่อยๆ ก่อร่างสร้างตัวจนแข็งแกร่งขึ้น แยกตัวออกมาจากละโว้แล้ว ประชากรส่วนหนึ่งก็คือละโว้เก่า ผสมกับอโยธยาเก่า (ซึ่งเคยอยู่ที่ศรีเทพ) เมื่อสร้างเมืองใหม่ใกล้ชายฝั่งทะเล คงได้นำชื่อ ‘อโยธยาศรีทวารวดี’ หรือ ‘ทวารวดีศรีอยุธยา’ หวนกลับมาใช้กับนครรัฐใหม่อีกรอบเพื่อความเป็นสิริมงคล ช่วงนั้นสถานะบทบาทของละโว้ จากเมืองที่เคยยิ่งใหญ่ระดับมหานคร (แทนที่ศรีเทพ) ต้องกลายมาเป็นเมืองลูกหลวงของอโยธยาใหม่ (อยุธยา) ไป ส่วนอโยธยาเก่าในยุคทวารวดี ก็ถูกทิ้งร้างไปนานหลายศตวรรษ และสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มาเรียกขานชื่อใหม่ว่า ศรีเทพ”

ข้อสมมุติฐานของ ดร.อัครินทร์นั้น มีความเป็นเหตุเป็นผลอยู่พอควร ซึ่งประเด็นเรื่องข้อสันนิษฐานว่าด้วยเมืองศรีเทพคืออดีตศูนย์กลางทวารวดีอันยิ่งใหญ่นี้ เราคงต้องช่วยกันศึกษาให้รอบด้านกันอีกแบบสหศาสตร์ •