มัดหมี่ลายขอ เจ้าฟ้าฯ / มองบ้านมองเมือง : ปริญญา ตรีน้อยใส

ปริญญา ตรีน้อยใส

มองบ้านมองเมือง

ปริญญา ตรีน้อยใส

 

มัดหมี่ลายขอ เจ้าฟ้าฯ

 

แฟนานุแฟนมติชนสุดสัปดาห์ คงได้ข่าว ผ้ามัดหมี่ลายขอ ผลงานออกแบบของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ หนึ่งในพระกรณียกิจที่จะสืบสานผ้าพื้นถิ่นของไทย รักษางานศิลป์ให้ดำรงอยู่ สู่การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาไทย

ด้วยงานผ้าไหมมัดหมี่เป็นหนึ่งในงานศิลปาชีพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่รู้จักและเลื่องลือไปทั่วโลก

คงต้องย้อนไปเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จไปพระราชทานความช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่นครพนม ในปี พ.ศ.2513 ระหว่างการเสด็จไปทรงเยี่ยมราษฎรที่ประสบภัยพิบัตินั้น ทอดพระเนตรเห็นชาวบ้านสวมใส่ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ แม้จะเป็นผ้าเก่า แต่ก็ยังคงความสวยงาม

จึงเป็นที่มาของโครงการศิลปาชีพผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ ขึ้นมาอีกครั้ง

“ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ”

สาเหตุที่ใช้คำว่า อีกครั้ง เพราะว่า ผ้าไหมในภูมิภาคอีสานนั้น เคยเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาบ้านเมืองของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

สืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 แม้ฝรั่งเศสจะยึดเอาดินแดนทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงไปแล้ว ยังคงมีเป้าหมายจะขยายพื้นที่ ครอบคลุมภาคอีสานทั้งหมด เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราโชบายยกระดับความเป็นอยู่ของราษฎร

หลังจากผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นออกสำรวจการทำไหมในภาคอีสาน ในปี พ.ศ.2443 ที่มีข้อสรุปว่า การทำไหมของคนไทยในเวลานั้น ยังมีความล้าหลัง คุณภาพเส้นไหมยังไม่ดี

จึงมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงพัฒนาการเลี้ยงไหมและวิธีการทอผ้าไหม

 

จึงโปรดเกล้าฯ ว่าจ้าง ดร.โตยามา คาเมทาโร แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว มาเป็นผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาทางการเลี้ยงไหม ริเริ่มโครงการนำร่อง ในวังสวนดุสิต ที่ประทับส่วนพระองค์ในเวลานั้น ก่อนที่จะย้ายมาตั้งโรงเรียนสอนการทำไหม ขึ้นที่ตำบลศาลาแดง ปทุมวัน พ.ศ.2448 จนสามารถขยายผลไปยังสถานทดลองทำไหมที่ปักธงชัย โคราช ก่อนที่กิจการทอผ้าไหมจะแพร่ขยายไปทั่วภูมิภาคอีสาน ในเวลาต่อมา

ทั้งนี้ ยังมีข้อสันนิษฐานว่า หลังจากการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าดารารัศมี พระราชชายา ได้กราบบังคมทูลลากลับไปพำนักที่เชียงใหม่นั้น ก็ได้นำความรู้เรื่องไหมและผ้าไทย ไปเผยแพร่ในภูมิภาคล้านนาด้วยเช่นกัน

จึงเห็นได้ว่า กิจการผ้าไทยในภูมิภาคต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมผ้าไหมไทยในปัจจุบัน ที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จนั้น มีประวัติความเป็นมายาวนาน ด้วยความใส่พระทัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชวงศ์ตลอดมา •