จาก TESLA ถึง ปตท. / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com/

 

จาก TESLA ถึง ปตท.

 

ปรากฏการณ์ Tesla ส่งสัญญาณและสร้างแรงกดดันให้กับ ปตท.

เรื่องราวตอนที่แล้ว (“Tesla” มติชนสุดสัปดาห์ 3 มิถุนายน 2565) พอจะให้ภาพหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความคาดหวังของหลายๆ คน นั่นคือ มีความเป็นไปได้น้อยมาก Tesla จะมาสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทย

แต่อย่างไรก็ตาม หากความเคลื่อนไหว เข้ามาสร้างเครือข่ายการค้าในไทย เป็นไปอย่างกระชั้นจะสร้างโมเมนตัมใหญ่สั่นสะเทือนไปทั่ว

เชื่อกันว่าระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมใหม่จะเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คาดคิด แรงกดดันย่อมมาถึงเครือข่ายธุรกิจใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอย่าง ปตท.มิพักสงสัย

แม้ว่า ปตท.จะตระหนักและมีมุมมองพลวัต เมื่อพิจารณาจากถ้อยแถลงอันสวยหรูว่าด้วยวิสัยทัศน์ โดยเฉพาะผู้นำคนปัจจุบัน กับนิยามที่ว่า “Future Energy & Beyond” ขณะภาพเดิมยังคงอยู่ เมื่อพิจารณาผลประกอบการล่าสุด (PTT Analyst Meeting1Q202218 May 2022) ท่ามกลางราคาน้ำมันช่วงขาขึ้นรอบใหญ่ ปัจจัยใหญ่มาจากสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน

ปตท.มีรายได้ในใตรมาสแรก 2565 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ราว 10% ทั้งนี้ เพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 59% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปี 2564 ที่สำคัญมีดัชนีหนึ่งซึ่งสะท้อนแผนการปรับตัวทางธุรกิจอยู่ด้วย อ้างอิงจากสัดส่วนรายได้ พบว่า New Business and Infrastructure มีสัดส่วนเพียง 2% ของรายได้รวม ซึ่งส่วนใหญ่มาจากธุรกิจโรงงานไฟฟ้า

ปตท.คงให้ความสำคัญกล่าวถึงแผนการใหญ่ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า มีรายงานความเคลื่อนไหว บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS)

“บริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้น 100% ด้วยทุนจดทะเบียน 5,000 ล้านบาท จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจด้าน EV Value Chain รองรับการขยายฐานธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าตามวิสัยทัศน์ ‘Powering Life with Future Energy and Beyond’ เพื่อส่งเสริมและสร้าง EV Ecosystem ที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลายในประเทศไทย”

 

ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวคึกคักพอสมควร จากนี้เชื่อกันว่าคงมีความพยายามมากขึ้น

ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับดีลครั้งใหญ่ กรณีหนึ่งถูกจับตาเป็นพิเศษจากการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อต้นปีที่แล้ว (31 พฤษภาคม 2564) อีก 4 เดือนถัดมา จึงมีการลงนามความร่วมมือ (JVA) เป็นไปตามแบบแผนในห้วงเวลาวิกฤต COVID-19 เป็นพิธีการในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Signing Ceremony) จัดขึ้น ณ กรุงเทพฯ ประเทศไทย และกรุงไทเป ไต้หวัน

“ปตท.ร่วมทุน ฟ็อกซ์คอนน์ เตรียมจัดตั้งโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน เล็งพื้นที่ EEC สร้างโรงงานใหม่ วางระบบการผลิต การบริหาร Supply chain พร้อมตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทางวิศวกรรม ด้วยเงินลงทุน 1-2 พันล้านเหรียญสหรัฐ รองรับการเปลี่ยนแปลงทิศทางพลังงานในอนาคต…”

คือหัวข้อความเคลื่อนไหวใหญ่ในเวลานั้น (14 กันยายน 2564)

ผ่านมาอีก 5 เดือน จึงมีข่าวซึ่งดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น “ปตท.ผนึกฟ็อกซ์คอนน์ ตั้งบริษัทร่วมทุน HORIZON PLUS เดินหน้าสร้างโรงงานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร พร้อมดันไทยสู่ศูนย์กลาง EV อาเซียน” หัวข้อข่าวทางการของ ปตท.เอง (7 กุมภาพันธ์ 2565)

โดยระบุบแผนการชัดขึ้น ที่ว่า “คาดว่าจะแล้วเสร็จ พร้อมผลิตรถยนต์ EV สู่ตลาดภายในปี 2567”

แผนการใหญ่ข้างต้น ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ทั้งเป็นการเชื่อมต่อก้าวข้ามจากฐานะธุรกิจยักษ์ใหญ่พลังงานฟอสซิล ไปยังพลังงานที่ยั่งยืนกว่า เป็นจังหวะที่ใช้ช่วงเวลานานพอสมควร ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ คงเป็นไปตามวลีที่ว่า “ช้างไม่สามารถเต้นระบำได้ (Elephants Can’t Dance)” บ้างไม่มากก็น้อย

และคงไม่จำเป็นต้องเปรียบเทียบกับกรณี Tesla กับ Shanghai Giga Factory สาธารณรัฐประชาชนจีน (ปี 2563) “ว่ากันว่า เป็นโรงงานผลิตรถยนต์แห่งแรกของชาวต่างชาติ สามารถสร้างเสร็จในเวลาน้อยกว่า 6 เดือน”

อย่างไรก็ดี สำหรับ ปตท. เป็นจังหวะก้าวใหม่ที่สำคัญอย่างมาก เป็นดีลใหญ่ที่มีบทสรุปเป็นชิ้นเป็นอันในเวลานี้

 

บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทย่อยของ ปตท.กับ Lin Yin International Investment บริษัทในเครือ Hon Hai Precision Industry หรือ Foxconn Technology Group ร่วมมือกันจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ฮอริซอน พลัส จำกัด (HORIZON PLUS) โดยมีสัดส่วนการร่วมทุน 60/40

“ตามแผนความร่วมมือด้านการลงทุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายที่จะก่อตั้งโรงงานผลิต EV บนพื้นที่กว่า 350 ไร่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย โดยมีกำหนดแล้วเสร็จและสามารถผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 4 ล้อ (รถยนต์นั่งส่วนบุคคล) ออกสู่ตลาดได้ภายในปี 2567 มีกำลังการผลิตที่ 50,000 คัน/ปี ในระยะแรก และจะขยายกำลังการผลิตไปถึง 150,000 คัน/ปี ภายในปี 2573 เพื่อให้สอดรับกับความต้องการใช้ EV ทั้งภายในประเทศและภูมิภาคอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง”

เกี่ยวกับ Hon Hai Precision Industry หรือ Foxconn ในถ้อยแถลงข้างต้นแนะนำไว้อย่างคร่าวๆ “ก่อตั้งขึ้นในไต้หวัน เมื่อปี 2517 เป็นผู้ผลิตและประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก และเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีโซลูชั่นชั้นนำ”

อันที่จริงเรื่องราว Foxconn ที่ตื่นเต้นมีมากกว่านั้น จากฐานะบริษัทในตลาดหุ้นไต้หวัน ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสอง จนมาอยู่ในอันดับ 22 ของ Fortune 500 Global (ปี 2564) ขณะที่ ปตท. บริษัทไทยแห่งเดียวในทำเนียบนั้น อยู่ในอันดับ 206 มีรายได้น้อยกว่า Foxconn ถึงกว่า 3 เท่า

Foxconn มีชื่อเสียงด้วยเกี่ยวข้องกับการผลิต iPhone มีฐานการผลิตใหญ่มากที่สุดอยู่ในจีน กว่า 10 แห่งใน 9 เมือง จากโรงงานแห่งแรกที่ Shenzhen (ก่อตั้งปี 2531) จนถึงโรงงานที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่ Zhengzhou มณฑล Henan ที่เรียกกันว่าเป็น “เมือง iPhone” และว่ากันว่าเป็นบริษัทเอกชนเป็นผู้จ้างงานมากที่สุดในจีน

ในระยะหลังๆ Foxconn เริ่มสร้างโรงงานในภูมิภาคอื่นๆ ไม่ว่ายุโรป บราซิล และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งรอบๆ บ้านเรา ไม่ว่าอินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

ที่จริงแล้ว Foxconn เพิ่งจะเข้ามีบทบาทในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) อย่างจริงจังเมื่อต้นปีที่แล้ว แทบจะพร้อมๆ กับการประกาศร่วมมือกับ ปตท. โดยเข้ากอบกู้กิจการรถยนต์ไฟฟ้าแห่งหนึ่งในจีน

 

สําหรับ ปตท. กับแผนการขยายเครือข่าย เข้าสู่ธุรกิจใหม่ครั้งใหญ่ๆ เป็นไปตามโอกาส เดินไปตามกระแส เป็นประสบการณ์และบทเรียนตั้งแต่ยุคก่อตั้ง

จุดเปลี่ยนนับตั้งแต่ปี 2536 เมื่อ ปตท.สามารถครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับหนึ่งในธุรกิจค้าปลีกผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นไปตามกติกาในโมเดลกิจการน้ำมันแห่งชาติ เอาชนะกิจการน้ำมันต่างชาติที่ปักหลักในไทยมานานนับร้อยปี

สู่อีกช่วงที่สำคัญ (ปี 2544) แปรสภาพรัฐวิสาหกิจ มาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างเป็นจังหวะ เข้ากับโอกาสครั้งใหญ่ จากนั้นไม่กี่ปี ปตท.มีรายได้ทะลุหลักล้านล้านบาท เป็นบริษัทแรกของไทย (ตั้งแต่ปี 2549) โดยเติบโตอย่างมหัศจรรย์ ประมาณ 10 เท่าเพียงทศวรรษเดียว

อีกช่วงปี 2549-2554 อีกก้าวในฐานะบริษัทฐานะการเงินมั่นคง สู่ผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจร ด้วยแผนการ Merger & acquisition ธุรกิจต่างๆ เกิดขึ้นตามยุทธศาสตร์ใหญ่ ยุค “โชติช่วงชัชวาล” ซึ่งเผชิญปัญหาอย่างหนัก จากผลพวงวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นปี 2540

จากจังหวะก้าวกระโดดที่ผ่านๆ มา โดยเฉพาะแผนการ Merger & acquisition เข้าครอบครองธุรกิจที่เชื่อมโยง มีบุคลากรและเทคโนโลยีเป็นบทเรียนเคยใช้ครั้งแล้วครั้งเล่า กำลังสู่บทใหม่ในแบบแผนธุรกิจที่แตกต่างและขัดแย้งกับธุรกิจเดิมเสียด้วย โดยเฉพาะตามโมเดลการร่วมทุนกับเจ้าของเทคโนโลยี ไม่ว่ากรณีกับ Foxconn อย่างที่ว่าไว้ หรือกรณีต่อๆ มากับ CATL แห่งประเทศจีน ตามแผนการต่อชิ้นส่วนระบบนิเวศน์อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า

ปตท.กับอีกก้าวใหญ่ๆ เร้าใจอย่างยิ่ง •

 

อ่าน TESLA / วิรัตน์ แสงทองคำ ได้ที่นี่

TESLA / วิรัตน์ แสงทองคำ