พระเจ้าตาก รบพม่า ‘ท่าข้าม’ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา / สุจิตต์ วงษ์เทศ

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

พระเจ้าตาก รบพม่า ‘ท่าข้าม’

อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา

 

พระเจ้าตากรบพม่าที่ “ท่าข้าม” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อพม่าแตกพ่ายก็มุ่งไปเมืองระยอง โดยผ่าน อ.พนัสนิคม-อ.บ่อทอง จ.ชลบุรี แต่ไม่ไปทาง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา และชายฝั่งทะเลเมืองชลบุรี

ก่อนกรุงแตก พ.ศ.2310 พระเจ้าตากหนีจากอยุธยา ขณะนั้นกองทัพอังวะ (จากพม่า) ตั้งค่ายล้อมกรุงและส่งกองทัพไปควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญ เช่น เมืองบางกอก (ธนบุรี) และปากน้ำเจ้าโล้ ฯลฯ ทำให้พระเจ้าตากไม่ผ่านไปทางปากน้ำเจ้าโล้ แต่ตัดทุ่งชายดงตรงไปพนมสารคาม ข้ามคลองท่าลาดมุ่งทางช่องเขาเข้าเมืองระยอง โดยไม่ผ่านบางคล้า

ปากน้ำเจ้าโล้ คือบริเวณคลองท่าลาดไหลรวมกับแม่น้ำบางปะกง (ปัจจุบันอยู่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา) เป็นที่ตั้งชุมชนเมือง อาจเรียกก็ได้ว่าเมืองเจ้าโล้ (ยังหาที่มาไม่ได้ว่าเหตุใดเรียก “เจ้าโล้”) มีอำนาจควบคุมทรัพยากรตลอดลำน้ำท่าลาดเชื่อมโยงถึงบริเวณแควระบมและแควสียัด เป็นชุมชนเมืองการค้า “ของป่า” มีเรือพ่อค้าจีนและพ่อค้าอื่นๆ จอดเรียงราย จึงมีคนคับคั่งซื้อขาย ทำให้กองทัพอังวะต้องส่งกำลังคุมอย่างแข็งแรง

เส้นทางพระเจ้าตากจากอยุธยาผ่านนครนายก, ปราจีนบุรี แล้วเลียบที่ดอนชายดงศรีมหาโพธิ์ (อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี-อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา) ซึ่งอยู่ห่างมากจากปากน้ำเจ้าโล้ที่กองทัพอังวะควบคุม

แต่กองทัพอังวะอยู่ปากน้ำเจ้าโล้รู้ว่าพระเจ้าตากยกกองกำลังไปทางชายดงจะต้องข้ามคลองท่าลาด จึงยกไปดักตีบริเวณแห่งหนึ่งเรียก “ท่าข้าม” มีข้อความในพระราชพงศาวดารฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้

[1.] แม่ทัพอังวะ เพิ่มกำลังตั้งอยู่ปากน้ำเจ้าโล้ ทั้งทัพบกและทัพเรือ [2.] เดือนยี่ (ฤดูน้ำแล้งแห้งหาย ราวมกราคม-กุมภาพันธ์) กองทัพอังวะยกจากปากน้ำเจ้าโล้ขึ้นไปตั้งที่ท่าข้ามเพื่อดักโจมตีกองกำลังพระเจ้าตากให้แตกพ่ายย่อยยับ [3.] พระเจ้าตาก (ในพงศาวดารฯ เรียกพระยากำแพงเพชร) นำกองกำลังปะทะทัพอังวะจนพวกอังวะแตกพ่ายไป [4.] จากนั้นพระเจ้าตากนำกองกำลังมุ่งไปเมืองระยอง [5.] กองทัพอังวะถอยกลับไปรวมค่ายใหญ่ที่อยุธยา

เนื้อหาพระราชพงศาวดารฯ มีดังนี้

“ขณะนั้นฝ่ายแม่ทัพพม่าแจ้งข่าวว่ากองทัพซึ่งยกไปตามพระยากำแพงเพชรนั้นเสียทีมาเป็นหลายครั้ง จึงเกณฑ์ทัพเรือให้ยกหนุนเพิ่มเติมมาอีก และทัพบกซึ่งพ่ายมาก่อนนั้นยกลงมาตั้งอยู่ ณ ปากน้ำเจ้าโล้ เมืองฉะเชิงเทรา ทัพเรือไปถึงขึ้นบรรจบกันที่นั้น

ครั้นถึง ณ วันอังคาร ขึ้น 14 ค่ำ เดือนยี่ กองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ทั้งทัพบกทัพเรือ มาขึ้นที่ท่าข้ามยกติดตามมาอีก เพลาเย็นได้ยินเสียงฆ้องกลองกึกก้องมา

พระยากำแพงเพชรจึงให้นายบุญมีขึ้นม้าใช้สวนทางลงไปสืบประมาณสองร้อยเส้น เห็นธงเทียวทั้งได้ยินเสียงพม่าพูดจากันอื้ออึงมา จึงกลับม้ามาแจ้งความแก่พระยากำแพงเพชร พระยากำแพงเพชรจึงสั่งให้พลทหารตั้งดากันเป็นหน้ากระดาน บรรจุปืนหลักและปืนนกสับตั้งตับไว้ แล้วให้ขุดสนามเพลาะบังตัวต่างค่าย และให้กองลำเลียงหาบคอนล่วงหน้าไปก่อน ด้วยพระยากำแพงเพชรกับพระเชียงเงิน ขุนชำนาญไพรสณฑ์ นายบุญมี นายทองดี นายแสง นำหน้าพลทหารร้อยหนึ่งออกไปคอยรับทัพพม่า

ครั้นทัพพม่ามาใกล้ประมาณหกเจ็ดเส้นเดินเรียบเรียงกันมาในพงแขม จึงให้ยิงปืนใหญ่น้อยระดมพร้อมกันต้องพลพม่าตายเป็นอันมาก พม่าหนุนเนื่องกันเข้ามาอีก จึงวางปืนตับคำรบสองสาม พม่าก็แตกหนีกระจัดพลัดพรายพ่ายไปไม่เป็นหมวดเป็นกอง จึงขับพลทหารโห่ร้องตีฆ้องสำทับไล่ติดตามฆ่าเสียเป็นอันมาก แล้วก็เดินทัพมาทางบ้านหัวทองหลางสะพานทอง ล่วงแดนเมืองชลบุรี——-“

[จากหนังสือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กรมศิลปากร พิมพ์เมื่อ พ.ศ.2542 หน้า 150]

ท่าข้าม อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีช่องทางลาดลงให้คนและสัตว์ (เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ) เดินข้ามคลองท่าลาดในหน้าแล้งน้ำแห้งหาย, ท่าข้ามมีช่องทางลาดลงที่บ้านท่าลาดเหนือ

พระเจ้าตาก รบพม่าที่พนมสารคาม

พระเจ้าตากรบพม่า “ท่าข้าม” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา สมัยกรุงศรีอยุธยา บริเวณนี้น่าจะเป็นพื้นที่แกนกลางของชุมชนเมืองดั้งเดิม พบร่องรอยหลักฐานอยู่บริเวณบ้านท่าลาด ต.ท่าถ่าน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา มีช่องทางลาดลงให้คนและสัตว์ (เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ) เดินข้ามคลองท่าลาดในหน้าแล้งน้ำแห้งหาย

[ตำแหน่ง “ท่าข้าม” รู้จากการสำรวจตรวจสอบในท้องถิ่นของครูสุรางค์ เช้าเจริญ (อดีตครูโรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” และครูเกรียงไกร พงษ์จรูญ (ครูกลุ่มสาระภาษาต่างประเทศ โรงเรียนพนมสารคาม “พนมอดุลวิทยา” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา)]

“บ้านท่าลาด” เป็นชุมชนริมคลองท่าลาด ซึ่งมีพื้นที่ลาดลงคลอง ขณะที่บริเวณอื่นเป็นตลิ่งสูงชันตลอดสาย

“คลองท่าลาด” หมายถึง ลำน้ำท่าลาดมีต้นน้ำสำคัญอยู่ทิวเขาป่าดงทางทิศตะวันออกบริเวณแควระบมกับแควสียัด (อ.ท่าตะเกียบ-อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรา) ลำน้ำท่าลาดไหลจากตะวันออกไปทางตะวันตก ผ่าน อ.พนมสารคาม ลงแม่น้ำบางปะกง ที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา


คลองท่าลาดในฤดูน้ำหลากมีน้ำเต็ม แต่เมื่อถึงฤดูแล้งสมัยกรุงแตกไม่มีน้ำ [ภาพโดยครูสุรางค์ เช้าเจริญ พ.ค. 2565]

ทำไมต้อง “พนมสารคาม”?

ท่าข้าม, ทางข้าม ฯลฯ เป็นชื่อสามัญที่พบทั่วไปในชุมชนที่ราบลุ่ม แต่ชื่อท่าข้ามในพระราชพงศาวดารฯ ตอนนี้หมายถึง “ท่าข้าม” อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ด้วยเหตุผล ดังนี้

1. ท่าข้ามที่พนมสารคามอยู่คลองท่าลาด หรือลำน้ำเจ้าโล้ สอดคล้องกับข้อความในพระราชพงศาวดารฯ ที่ว่า “ยกขึ้น” จากปากน้ำเจ้าโล้ถึงท่าข้าม ดังนี้ “กองทัพพม่ายกขึ้นมาแต่ปากน้ำเจ้าโล้ทั้งทัพบกทัพเรือ มาขึ้นที่ท่าข้าม—-“

2. พนมสารคาม มีภูเขาดงยางเป็นแลนด์มาร์กไปฝั่งทะเลตะวันออกทางเมืองระยอง จึงอยู่บนเส้นทางที่พระเจ้าตากมุ่งไปเมืองระยอง โดยเลียบทุ่งอยู่ชายดงศรีมหาโพธิ์ ผ่านไปทาง อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งมีพื้นที่ต่อเนื่อง อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา (ตามความเห็นของ อ.ศรีศักร วัลลิโภดม เคยอธิบายไว้นานแล้ว) •