After Yang ชีวิตหลังการสูญเสีย / เครื่องเคียงข้างจอ : วัชระ แวววุฒินันท์

วัชระ แวววุฒินันท์

เครื่องเคียงข้างจอ

วัชระ แวววุฒินันท์

 

After Yang

ชีวิตหลังการสูญเสีย

 

After Yang เป็นหนังที่ไม่ใช่แนวพิมพ์นิยมของนักดูหนังทั่วไปแน่ หนังเป็นแนว Drama ผสม Sci-fi พูดถึงโลกในอนาคตที่มนุษย์อยู่ร่วมกับหุ่นยนต์อย่างเป็นปกติ

หนังเรื่องนี้สะดุดตาตั้งแต่เห็นโปสเตอร์ เป็นรูปนักแสดงนำ 4 คนยืนอยู่ด้วยกัน แต่อัตลักษณ์นั้นแตกต่างกันออกไป ผู้ชายผิวขาว อยู่กับผู้หญิงผิวสี เบื้องหน้าเป็น เด็กหญิงเชื้อสายจีน ยืนอยู่กับเด็กหนุ่มเชื้อสายจีนเช่นกัน

แค่จากโปสเตอร์ก็ทิ้งคำถามให้ชวนติดตามแล้วว่า หนังจะบอกอะไรในความแตกต่างนั้น

“After Yang.” / Credit : A24 / Showtime

ผู้ชายผิวขาวนั้นก็คือ นักแสดงนำของเรื่อง “โคลิน ฟาร์เรลล์” ที่รับบทเป็นสามีที่ชื่อว่า “เจค” โดยมีภรรยาเป็นผู้หญิงผิวสี ที่แสดงโดย “โจดี้ เทอร์เนอร์-สมิธ” ในบทไครา ทั้งสองได้รับเอาลูกบุญธรรมเชื้อสายจีนมาเลี้ยงดู ชื่อว่า “มิก้า” ที่ยืนอยู่ข้างหน้านั่น

ส่วนเด็กหนุ่มอีกคนก็คือ “หยาง” ตัวเอกของเรื่อง แสดงโดย “จัสติน เอช.มิน” หยางเป็นหุ่นยนต์แอนดรอยด์มือสองที่เจคและไคราซื้อต่อมาเพื่อไว้ดูแลมิก้า

ในหนังทำให้เราเห็นว่า เจคนั้นมีความสนใจเรื่องของวัฒนธรรมจีนอย่างมาก ง่ายๆ คือสไตล์เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ดัดแปลงมาจากเสื้อผ้าของคนจีนร่วมสมัย ตอกย้ำด้วยอาชีพของเขาที่เจคเปิดร้านขายชาขึ้นมาด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของ “ชา” ซึ่งเป็นต้นแบบของวัฒนธรรมจีนโบราณ

ด้วยเหตุนี้กระมังทำให้เขาเลือกที่จะรับบุตรบุญธรรมเชื้อสายจีนมาเลี้ยง แทนที่จะเป็นเด็กเชื้อสายตะวันตกทั่วไป และหน้าที่ของหยางคือ การถ่ายทอดวิถีชีวิตและข้อมูลเกี่ยวกับจีนให้มิก้าได้รับรู้

แต่ “หยาง” เป็นมากกว่านั้น เขาได้กลายเป็นพี่ชายจริงๆ ที่มิก้ารักมาก เพราะอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลา และด้วยความเป็นหุ่นยนต์จึงไม่มีความรู้สึกและอารมณ์แบบมนุษย์ที่จะมาสร้างเรื่องขัดแย้งกับมิก้า เหมือนพี่น้องที่เป็นคนทั่วไป

หยางจึงเป็นคำตอบที่ลงตัวของครอบครัวนี้ รวมทั้งเจคและภรรยาด้วย เพราะทั้งคู่ต่างก็จมอยู่กับงานตรงหน้าของตนเอง โดยเฉพาะเจคที่แทบจะไม่มีเวลาให้กับลูกเลย

“After Yang.” / Credit : A24 / Showtime

ภาพความรื่นรมย์ของครอบครัวสี่คนที่คนดูได้เห็นมีอยู่ฉากเดียวตอนต้นเรื่อง ที่ถูกออกแบบให้เป็นช่วงไตเติลของหนัง นั่นคือภาพทั้งสี่ร่วมกันแข่งขันเต้นแบบครอบครัว เป็นการแข่งเต้นร่วมกับครอบครัวอื่นนับหมื่นครอบครัว ที่ถ่ายทอดการแข่งขันเชื่อมต่อกันแบบออนไลน์ของโลกยุคใหม่

ฉากนี้น่ารัก ได้หัวเราะและดูมีความสุขไม่น้อยเลย และได้เห็นว่าโคลินก็เต้นเก่งเหมือนกันนะ

หลังจากฉากนี้ หยางก็นอนและปิดระบบตัวเองโดยไม่รู้สาเหตุ เจคจึงพาร่างหุ่นของเขาแบกไปเพื่อหาทางซ่อมแซมกลับมาเป็นพี่ชายของมิก้าให้ได้ ในขณะที่มิก้านั้นก็เหมือนโลกได้พังทลายลง ร่ำร้องหาแต่หยางว่าเมื่อไหร่จะกลับมา และวิถีชีวิตของครอบครัวก็เปลี่ยนไป

นับว่าเป็นความสูญเสียที่ก้าวเข้ามาเยือนครอบครัวนี้ แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของ “บางสิ่ง” ที่ครอบครัวนี้ได้เรียนรู้เช่นกัน

 

ในขณะที่พยายามกู้หยางกลับมาท่ามกลางโอกาสที่ริบหรี่ แต่มีสิ่งหนึ่งที่ฉายแสงขึ้นมา เมื่อเจคได้เครื่องมือที่สามารถเข้าถึงหน่วยความจำและการรับรู้ของหยางได้ เพียงแต่สวมแว่นตาเข้าไปก็จะเป็นเหมือน Universe แห่งความทรงจำของหยาง ที่เจคสามารถท่องไปสัมผัสเรียนรู้ได้

ตรงนี้เองที่ไม่ใช่เฉพาะเจค แต่เป็นผู้ชมด้วยที่พลอยตื่นเต้นและใคร่รู้ความเป็นมาของ หยางไปพร้อมๆ กันด้วย เหมือนค่อยๆ เปิดไดอารีส่วนตัวอ่าน และพบอะไรบางอย่างในนั้นของหยาง

เราได้พบว่า ไม่ใช่หยางเป็นพี่ชายของมิก้าคนเดียว แต่เขาได้เคยเป็นพี่ชายของเด็กอีกหลายคนมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย จากภาพความทรงจำนั้นทำให้เราได้เห็นว่า เขาเป็นพี่ชายที่น้องๆ รักและผูกพันมาก ก็คงจะเหมือนที่มิก้ารู้สึก

ซึ่งสิ่งนี้แท้จริงแล้ว น่าจะเกิดกับผู้เป็นมนุษย์ด้วยกันมากกว่า เช่น พ่อ แม่ หรือคนที่เด็กนั้นๆ เติบโตขึ้นมาด้วย

แต่ไฉนเลยกลับมาเกิดกับมนุษย์เทคโนโซเปียนเช่นหยาง

“After Yang.” / Credit : A24 / Showtime

แสดงว่ามนุษย์ได้ละทิ้งสิ่งสำคัญในชีวิตไปโดยทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว เขาขาดซึ่ง “ความสัมพันธ์” ที่มนุษย์ควรจะมีให้กัน ดังจะเห็นได้จากเจคที่ลุ่มหลง วนเวียนความสนใจหลักอยู่กับชาและร้านชามากกว่าครอบครัว ทั้งกับภรรยาเองก็มีท่าทีที่มีช่องว่างกั้นอยู่ จะพูดจะคุยอะไรก็ดูห่างเหินและต้องคอยปรับความเข้าใจกันตลอดเวลา

มิพักถึงมิก้าเอง ที่เหมือนเขาโยนเรื่องนี้ให้เป็นหน้าที่ของหยางไป

มนุษย์หุ่นยนต์อย่างหยาง ดูจะมีความเป็น “คน” มากกว่าเจคเสียอีก ดูจากภาพความทรงจำที่เจคได้เห็น นอกจากภาพชีวิตประจำวันที่เขาอยู่ใกล้ชิดกับมิก้าหรือเด็กคนอื่นแล้ว เราจะได้เห็นมุมมองของหยางที่มีต่อต้นไม้ ใบหญ้า ลำธาร นกร้อง และ ธรรมชาติรอบตัว นั่นคือสิ่งที่เขามองเห็น ในขณะที่มนุษย์อาจจะมองข้ามไป

ชวนคิดว่าสิ่งที่หยางเห็น คงเป็นการเห็นแบบบันทึก แต่อาจจะขาดซึ่งความรู้สึก เพราะเขาเคยพูดกับเจคว่า “ถ้าผมมีความทรงจำจริงก็ดี”

ความทรงจำจริงที่หยางหมายถึง คงเป็น “ความรู้สึก” นั่นเอง เขาอาจจะอยากมีความรู้สึกแบบมนุษย์ก็ได้

ฉากสนทนาระหว่างเจคกับหยางถึงเรื่องของชาที่เจคหลงใหล ได้สะท้อนให้เราเห็นภายใต้ประโยคที่ถามตอบและสนทนากัน

และหนึ่งในนั้นก็คือสิ่งที่หยางแสดงออกว่า เขาอยาก “รู้สึก” เป็น

 

อีกสิ่งหนึ่งที่เจคได้เห็นในจักรวาลความจำของหยางคือ สาวน้อยคนหนึ่งที่ปรากฏขึ้นบ่อยครั้ง จนทำให้เขาต้องออกตามหาตัว ในที่สุดเขาก็ได้พบ และจากการพูดคุยกันของคนทั้งสองมันทำให้ผู้ชมได้พลอยคิดตามไปด้วย

เอด้า คือเธอคนนั้น เอด้าบอกว่าหยางมาที่ร้านขายกาแฟที่เธอทำงานอยู่บ่อยครั้ง เมื่อรู้ว่าหยางเป็นมนุษย์หุ่นยนต์ก็รู้สึกตลกดี แต่ก็ยินดีที่จะพูดคุยเจอะเจอ ซึ่งก็เป็นการเจอะเจอกันของคนกับมนุษย์หุ่นยนต์ ที่เอด้าเริ่มมีความรู้สึกดีๆ ให้ สะท้อนได้จากการร้องไห้ของเธอเมื่อรู้ว่าหยางต้องจากไปแล้ว

ที่หยางบอกว่าอยากมีความทรงจำจริงๆ ก็อาจจะเกี่ยวกับที่อยากจะรู้สึกจริงๆ กับเอด้าก็ได้ เขาเห็น สัมผัส รับรู้ แต่ไม่สามารถลงลึกถึงอารมณ์ ความรู้สึกแบบมนุษย์ได้

ที่ชอบมากๆ คือ เมื่อเจคถามเอด้าว่า หยางเคยอยากเป็นมนุษย์ใช่ไหม?

เอด้าหัวเราะแบบขื่นๆ และบอกว่า “คำถามดูมนุษย์มากเลย ว่าไหม? มนุษย์ชอบคิดว่าตัวเองดีจนใครต้องอยากเป็นงั้นเหรอ?”

จริงๆ แล้วกลับกัน เอด้ารู้สึกว่ามนุษย์นี่แท้จริงแล้วไม่มีอะไรเลย

โดยเฉพาะมนุษย์ที่เอาแต่ตนเองเป็นหลัก คิดเพื่อตัวเอง ทำเพื่อตัวเอง อยากเป็นอยากมีก็เพื่อตัวเอง เหมือนอย่างเจค ที่ไม่เคยรู้เลยว่าลูกสาวมักตื่นขึ้นมาตอนกลางคืนเพื่อลุกออกมาดื่มน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาเธอจะมีหยางเดินออกมาจากห้องเป็นเพื่อนด้วยเสมอ

และมนุษย์เองก็ยึดติดและรับไม่ได้กับความสูญเสียต่างๆ เช่น ความตาย และการจากพราก

 

ในความทรงจำหนึ่งเห็นถึงบทสนทนาระหว่าง หยาง และไครา แม่ที่เป็นมนุษย์ของเขา ถึงเรื่องผีเสื้อที่หยางเก็บสะสมไว้ หยางยกคำสอนของเล่าซือ นักปราชญ์ชาวจีนมาถ่ายทอดให้ไคราฟังว่า

“สิ่งที่หนอนผีเสื้อเรียกว่าจุดจบ คนทั้งโลกต่างเรียกมันว่าผีเสื้อ”

คำสอนนี้บอกถึงความเป็นจริงของการเกิดและดับ เมื่อสิ่งหนึ่งดับลง สิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้น การดับ การตาย จึงเป็นเรื่องปกติ และเมื่อสิ่งหนึ่งสูญสิ้นไป สิ่งใหม่ก็จะเกิดขึ้นมาตามธรรมชาติ

เหมือนหยางที่วันนี้ก็ต้องจากครอบครัวนี้ไป แต่ “สิ่งใหม่” ที่เกิดขึ้นต่างหากล่ะ ควรเป็นสิ่งที่คนในคอบครัวต้องเรียนรู้ รับรู้ และอยู่กับมัน มากกว่าการวนเวียนอยู่กับการสูญเสียจากพรากนั่น

หวังว่าเจคจะได้เรียนรู้ถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว หวังว่าไคราจะได้เรียนรู้ถึงการเป็นแม่ที่ดี หวังว่ามิก้าจะได้เรียนรู้ถึงการยืนอยู่ให้ได้ด้วยตัวเอง

 

After Yang จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง

เพราะการจากพรากเป็นธรรมชาติของชีวิต

เจคบอกกับหยางว่าเขาประทับใจคำพูดของคนในสารคดีเรื่องชาที่ว่า “บอกไม่ได้ว่ารสของชานี้เป็นอย่างไร เพราะสรรหาคำมาบรรยายไม่ได้”

ต่อไปนี้เจคก็อาจจะต้องหาคำตอบให้กับตัวเองให้ได้ว่า แล้วรสชาติของชีวิตเป็นเช่นไร ไม่ว่าจะมีคำมาบรรยายได้เท่าเทียมแค่ไหนหรือไม่ อันนี้อยู่ที่ตัวของเขาเองแล้ว

ปิดท้ายด้วยการให้เครดิตว่า เรื่องนี้กำกับการแสดงโดย “โคโกนากะ” ผู้กำกับฯ ชาวอเมริกัน แต่ไปเติบโตที่เกาหลี ดัดแปลงจากหนังสืออ่านของเด็กที่ชื่อ Children of The New World ของอเล็กซานเดอร์ ไวน์สตีน

ตอนที่มติชนสุดสัปดาห์นี้ตีพิมพ์ อาจจะยังพอมีเหลือโรงที่ฉายอยู่ ถ้าสนใจลองไปชมดูนะครับ เราอาจจะได้คิดว่า แล้ว After Yang ของเราจะเป็นอย่างไร •

 

ชมตัวอย่างภาพยนตร์ After Yang ได้ที่นี่