ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ล้านนาคำเมือง
ชมรมฮักตั๋วเมือง
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“วัดปงยางคก”

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “วัดปงยางคก”
วัดปงยางคก เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ใน ต.ปงยางคก อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง สร้างขึ้นเมื่อราว พ.ศ.1243
มีตำนานเล่าว่า ครั้งเมื่อพระนางจามเทวี ผู้ครองนครหริภุญชัย มาเยี่ยมเจ้าอนันตยศ ราชบุตร ผู้มาครองนครเขลางค์ลำปาง
ระหว่างเดินทางนำฉัตรทองไปบูชาที่พระธาตุลำปางหลวง ช้างพระที่นั่งย่อตัวหมอบชูงวงคารวะ พระนางเห็นเป็นอัศจรรย์ จึงพักพล ณ ที่นั้น ตกกลางคืน พระนางอธิษฐานว่า หากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอให้ปรากฏขึ้น จากนั้นมีแสงพุ่งออกมาจากจอมปลวก
พระนางจามเทวีจึงทรงให้ปลูกมณฑปปราสาท ครอบจอมปลวกไว้ ตลอดจนสร้างสิงห์คาบนาง สร้าง กู่จ๊างนบ ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ก่อโขงประตูไว้พร้อมสรรพ พร้อมให้นามอารามแห่งนี้ว่า “วัดปงจ๊างนบ”
ซึ่งหมายถึงวัดที่ช้างแสดงความเคารพ
ต่อมาหลายร้อยปีนามนี้ก็เพี้ยนเป็น “วัดปงยางคก” มาจนทุกวันนี้
ปัจจุบันมณฑปปราสาทประดิษฐานอยู่ในวิหารพระแม่เจ้าจามเทวี สร้างในสมัยที่พระยาสุรวฤๅไชยสงคราม (หนานทิพย์ช้าง) ครองเมืองลำปาง
วิหารมีขนาดกว้าง 3 ห้อง ยาว 5 ห้อง ไม่มีประตูหน้าต่าง หลังคาลดชั้น ด้านหน้า 3 ชั้น ด้านหลัง 2 ชั้น ผืนหลังคา 2 ตับ ช่อฟ้า ป้านลม
โครงสร้างของวิหารทั้งขื่อคานเสาเขียนลงรักลายทอง หน้าบันผนังด้านยาวเป็น ฝาย้อย คือ ทำด้วยไม้เข้าเดือยเป็นแผง ปิดลงมาประมาณครึ่งเสา ฝาด้านในเขียนภาพและลวดลายรูปต่างๆ ด้วยน้ำรักปิดทองบนพื้นสีแดงถือว่า เป็นจิตรกรรมเสาวิหารที่สวยงามลวดลายละเอียดประณีตวิจิตรบรรจงมีลายบูรณฆฏะหรือปูรณกลศ หมายถึง หม้อดอก ในภาษาล้านนาสื่อความหมายถึงหม้อที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ใส่ดอกบัวที่ใช้สักการบูชาองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเป็นหนึ่งในมงคล 108 อย่าง
ในรอยพระพุทธบาทไม้เลื้อยนั้นหมายถึงความงอกงามของชีวิตและการสร้างสรรค์ห้องท้ายวิหารก่อผนังทึบ ด้านทิศใต้ของห้องที่สามและห้องที่สี่ ก่อผนังเจาะช่องแสง เพื่อกันฝนสาด ห้องท้ายวิหารเป็นที่ตั้งของมณฑปประดิษฐานพระประธาน มณฑปทรงปราสาท หรือเรียกว่า โขงพระเจ้า งดงามด้วยปูนปั้นและลวดลายประดับ
ปัจจุบันวิหารจามเทวีได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และเป็นสถาปัตยกรรมด้านอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม เมื่อ พ.ศ.2543
ส่วนกู่จ๊างนบได้มีการบูรณะเมื่อ ปี พ.ศ.2507

ปงยางคกนี้เป็นถิ่นกำเนิดของเจ้าหนานติ๊บจ๊าง (หนานทิพย์ช้าง) หรือเจ้าพระยาสุรวฤาไชยสงคราม ตั้งแต่ พ.ศ.2110 ซึ่งล้านนาตกอยู่ในปกครองของพม่า แต่ละเมืองก็มีการแข็งเมืองอยู่เนืองๆ
และที่เขลางค์นคร (ลำปาง) มีการซ่องสุมผู้คนทางการจึงส่งท้าวมหายศที่ครองลำพูนยกทัพมาปราบสำเร็จและตั้งทัพอยู่ที่วัดพระธาตุลำปางหลวงหนานติ๊บจ๊าง คนปงยางคก ที่มีอาชีพเป็นพรานป่าได้รวมผู้คนได้ 300 คน ล้อมวัดพระธาตุลำปางหลวงแล้วลอบเข้าไปในวัดทางท่อระบายน้ำทิศตะวันตก ปลอมตัวว่าถือหนังสือมาจากชายาท้าวมหายศ เมื่อส่งให้แล้วถอยมาพอระยะจึงใช้ปืนยิงท้าวมหายศตายคาวงหมากรุก
ลูกปืนนั้นทะลุไปถูกกรงเหล็กที่ล้อมพระธาตุลำปางหลวงซึ่งยังคงปรากฏเป็นหลักฐานมาจนถึงปัจจุบัน •