นักร้องและเวที | นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

หมายเหตุ : เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับวันที่ 10/06/2022

คําตอบของคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ต่อผู้สื่อข่าวว่า ไม่คิดจะฟ้องร้องคุณศรีสุวรรณ จรรยา และต้องขอบคุณที่ช่วยตรวจสอบ เพราะทำให้การขึ้นดำรงตำแหน่งของคุณชัชชาติสง่างาม

นี่ไม่ใช่คำตอบที่แสดงการได้รับการอบรมมาดีของคุณชัชชาติเท่านั้น แต่เป็นจังหวะก้าวทางการเมืองที่ฉลาดมากๆ ด้วย

ลองคิดดูเถิดครับ หากเป็นคดีฟ้องร้องกันในศาล นอกจากคุณศรีสุวรรณจะได้โอกาสเจื้อยแจ้วในสื่อรายวันแล้ว คุณชัชชาติหรือทีมงานยังต้องมาคอยตอบโต้ นอกจากทำงานได้น้อยลงแล้ว ความสง่างามของคุณชัชชาติยังลดน้อยถอยลงไปด้วย

แต่การตรวจสอบเกิดขึ้นได้เพราะนักร้องจริงหรือ

 

กิจการสาธารณะจะถูกตรวจสอบได้สองทาง

1. องค์กรที่เป็นอิสระจากรัฐ ซึ่งมีสมรรถนะในการตรวจสอบข้อมูลได้กว้างและลึกกว่าที่รัฐนำมาเปิดเผย เช่น สื่อประเภทต่างๆ เพราะสื่อทำธุรกิจขายข้อมูลข่าวสาร จึงเป็นธรรมดาที่จะจัดองค์กรของตนให้มีสมรรถภาพจะทำเช่นนั้นได้

นอกจากเจาะหาข้อมูลจริงที่ไม่ถูกเปิดเผยแล้ว สื่อยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลจากผู้คนหลากหลายกลุ่มและหลากหลายมิติ จนอาจสร้าง “เรื่องราว” ที่ถูกปิดบังขึ้นมาให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมและน่าเชื่อถือ

ถ้าผู้คนภายนอกระแคะระคายอะไรบางอย่าง แล้วให้ร่องรอยของข่าวแก่สื่อ (ที่เรียกว่า lead) สื่อก็อาจเจาะคนหรือข้อมูลได้ถูกต้อง จนเปิดเผยเรื่องราวที่เป็นจริงให้แก่การตรวจสอบของประชาชนได้

แต่ยากที่คนให้ร่องรอยข่าวจะเป็น “นักร้อง” เพราะสื่อยินดีจะรับร่องรอยข่าวโดยไม่กระโตกกระตาก เพื่อความสะดวกในการเจาะ แต่ตัว “นักร้อง” อยากเป็นข่าวเองมากกว่า ให้ร่องรอยข่าวแก่ใครแล้วเงียบหายไปเป็นเดือน กว่าเรื่องจะแดงขึ้นมา ก็ปรากฏบทบาทของตนนิดเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น “นักร้อง” จึงไม่เลือกทางนี้แน่

นอกจากนี้ ให้น่าสงสัยอย่างมากว่า ยังเหลือกึ๋นในสื่อไทยเวลานี้พอจะเจาะความจริงที่ถูกปกปิดได้จริงหรือ สื่อแบบเก่าทั้งโลกกำลังเสื่อมความนิยม ในหลายประเทศสื่อคิดว่าทางรอดคือ พยายามรักษามาตรฐานทางวิชาชีพของตนให้สูงส่งเอาไว้ แต่ในประเทศไทยกลับเป็นตรงกันข้าม แข่งกันขายความ “สะใจ” ในข่าวมโนสาเร่ทั้งหลายไว้ ก็จะทำให้พอมีตลาดเหลือสำหรับตนบ้าง

อีกองค์กรหนึ่งซึ่งที่จริงก็เป็นองค์กรของรัฐ แต่เป็นอิสระจากฝ่ายบริหารของรัฐอย่างน้อยก็โดยทฤษฎี นั่นคือรัฐสภา (แต่รัฐสภาไทยมีความเป็นอิสระจากรัฐน้อยแม้ในทางทฤษฎี เพราะรัฐตั้งฝ่ายตนไปเป็นวุฒิสมาชิก ซึ่งมีอำนาจหน้าที่มากเท่ากับวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง) ประชาชนทั้งที่โดยตัวบุคคลหรือกลุ่มสามารถนำเรื่องเข้าสู่รัฐสภาได้ เช่น ผ่านพรรคการเมือง, ผ่านกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ, ผ่านคณะกรรมการซึ่งรัฐสภาอาจตั้งขึ้นตามแต่ละกรณี ฯลฯ

แต่รัฐสภาไม่ค่อยเป็นเวทีที่นิยมของ “นักร้อง” เพราะมันมักไปปะปนกับเรื่องที่ประชาชนทั่วไปร้องเรียนจึงทำให้เสียงของ “นักร้อง” ไม่ดังอย่างที่ต้องการ ซ้ำร้ายสภา, คณะกรรมาธิการ ฯลฯ อาจลงมติรับเรื่องหรือไม่รับเรื่องก็ได้อีก เพราะถึงอย่างไรคณะกรรมาธิการก็มีเรื่องต้องพิจารณาอยู่มากแล้วเป็นธรรมดา เสียงของ “นักร้อง” ก็อาจไม่มีใครได้ยินเอาเลย

ยิ่งกว่านี้ สำนึกของรัฐสภาไทยว่าเป็นอีกสาขาหนึ่งของอำนาจอธิปไตยปวงชนที่แยกออกจากฝ่ายบริหารยังไม่สู้จะคมชัดนัก เสียงข้างมากที่ทำให้เกิดฝ่ายบริหารกลายเป็นเสียงที่เข้ามากำกับบทบาทของรัฐสภาไปในทุกด้าน นอกเหนือจากนิติบัญญัติ เช่นมี “องครักษ์” ของนายกฯ ไปเที่ยวป่วนคณะกรรมาธิการซึ่งมีประธานเป็นฝ่ายค้าน อันที่จริงก็ไม่จำเป็นเลยเมื่อดูจากเสียงของฝ่ายรัฐบาลในคณะกรรมาธิการ และถ้าเลือกจะทำให้กรรมาธิการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นศักดิ์ศรีของฝ่ายสภาและฝ่ายบริหารที่ถูกตรวจสอบไปพร้อมกัน

ถ้าสภาเป็นเวทีที่มีนักการเมืองดังๆ จับจองไปแล้วเช่นนั้น ก็จะเหลือพื้นที่ให้ “นักร้อง” น้อยลง จนไม่คุ้มที่จะฟันฝ่าขึ้นไปแย่งเวที

2.องค์กรตรวจสอบอีกประเภทคือองค์กรของรัฐ นับตั้งแต่สถานีตำรวจขึ้นไปถึงศาล, กระทรวงทบวงกรมต่างๆ และคณะกรรมการที่รัฐตั้งขึ้นรับเรื่องร้องทุกข์ประเภทต่างๆ องค์กรเหล่านี้ไม่เป็นที่นิยมของ “นักร้อง” นัก เพราะในหลายกรณี ร้องแล้วก็ไม่เป็นข่าว และในอีกหลายกรณีร้องเป็นข่าวแล้ว ก็ต้องรับผิดชอบต่อการร้องด้วย เพราะถ้าหน่วยงานรัฐเห็นว่าผู้ถูกร้องไม่ผิด “นักร้อง” ก็ต้องรับผิดชอบกับการหมิ่นประมาทผู้อื่นทั้งทางแพ่งและอาญาเอง

อันที่จริงในประเทศประชาธิปไตย ยังมีองค์กรอิสระ (จากรัฐ) ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีก รวมทั้งองค์กรที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายนิติบัญญัติ (เช่น สถาบันพระปกเกล้าฯ ในเมืองไทย) ซึ่งควรจะมีอีกมากเพื่อให้รัฐสภาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เมื่อเกิดรัฐประหารขึ้นในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรัฐประหารเป็นผู้ตั้งคณะกรรมการเหล่านี้เอง (โดยตรงหรือโดยผ่านองค์กรอื่นที่คณะรัฐประหารเป็นผู้แต่งตั้งอีกทีหนึ่ง) และยังคงดำรงสืบมาจนถึงทุกวันนี้ แม้แต่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อกองทัพทำรัฐประหาร ศาลรัฐธรรมนูญก็ควรถูกยุบหรือยุบตัวไปโดยปริยาย เพราะไม่มี “รัฐธรรมนูญ” ให้ต้องปกป้องรักษาอีกแล้ว แต่คณะรัฐประหารให้ศาลรัฐธรรมนูญดำรงอยู่ต่อไป ตั้งแต่นั้นศาลรัฐธรรมนูญจึงแปรสภาพตนเองเป็นศาลรัฐประหารไปโดยอัตโนมัติ

องค์กรอิสระ (ที่ไม่อิสระ) เหล่านี้แหละครับ คือเวทีซึ่ง “นักร้อง” นิยมชมชอบเป็นพิเศษ เพราะทันทีที่ส่งเสียงเจื้อยแจ้ว ก็ได้เป็นข่าวในทันที ยิ่งถ้าคณะกรรมการรับลูกไปตรวจสอบเองต่อ ก็จะกลายเป็นข่าวต่อเนื่องกันนานหลายเดือน ยิ่งเป็นผลให้เกิดการยุบพรรคหรือปลดนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง “นักร้อง” ก็ยิ่งเกิดบารมีมากขึ้น สร้างอนาคตที่มั่นคงของตนเองได้ว่าจะได้รับว่าจ้างให้เป็นที่ปรึกษาขององค์กรอิสระที่ไม่อิสระ (เช่น ผู้ตรวจการรัฐสภา, หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ฯลฯ) ดีๆ ร้ายๆ ก็อาจได้รับเชิญไปนั่งเป็นคณะกรรมาธิการชั่วคราวของสภา

(ผมคิดว่าน่าสนใจนะครับ หากไปดูรายชื่อของคนเหล่านี้ว่าวนเวียนกันอยู่ในกลุ่มคนประเภทใด ข้ามภพ, ข้ามชาติ, ข้ามพรรค, ข้ามรัฐบาล, ข้ามระบอบมาอย่างยาวนานอย่างไร)

ในแง่นี้ ชื่อขององค์กรที่คุณศรีสุวรรณใช้ในการเป็น “นักร้อง” นับว่าน่าสนใจมากนะครับ

“สมาคมองค์กรพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ผมคิดว่าหลายคนคงอุทานว่า “ไอ๊หย่า รัฐธรรมนูญ 2560 นี่ล่ะนะที่จะพิทักษ์ไว้!”

รัฐธรรมนูญหมายถึงอะไรกันแน่ เอกสาร (หรือประเพณี) ที่ถูกบัญญัติไว้โดยไม่เคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน และไม่ได้จัดวางอำนาจเพื่อป้องกันมิให้ฝ่ายใดละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ก็ถือเป็นรัฐธรรมนูญเหมือนกันหมดกระนั้นหรือ ถ้าอย่างนั้นไม่มีประเทศใดในประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญมาก่อน

ผมคิดว่า “รัฐธรรมนูญ” ต้องหมายถึง Constitutional Democracy เท่านั้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีความหมายอะไรเลย หนังสือของ Tom Ginzburg & Aziz Z. Huq เรื่อง How to Save a Constitutional Democracy ชี้ให้เห็นว่า ในหลายประเทศทั่วโลก แม้ว่าเอกสารที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญยังอยู่ แต่ประชาธิปไตยตามระบอบรัฐธรรมนูญได้พังสลายไปแล้ว หรืออย่างในสหรัฐเองก็เสี่ยงจะพังสลายลงในอนาคตได้อย่างไม่ยากเย็นด้วย

ในนามของการ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เรากำลังพิทักษ์อะไรกันแน่ การช่วยป้อนลูกให้องค์กรอิสระซึ่งไม่อิสระจริง ได้บั่นรอนกำลังของฝ่ายตรงข้ามรัฐประหารก็ตาม หรือช่วยเสริมสร้างอำนาจให้แก่ฝ่ายรัฐประหารก็ตาม จะเท่ากับเป็นการพิทักษ์รัฐธรรมนูญในฐานะเอกสารอำนาจรัฐประหาร หรือรัฐธรรมนูญในฐานะประชาธิปไตยตามระบอบรัฐธรรมนูญ

องค์กรอิสระแต่เพียงในนามเหล่านี้ได้สำแดงธาตุแท้ของตนเองให้เห็นในคำตัดสิน และการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ทาง”กฎหมาย”ของตนมาหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกรณียืมนาฬิกาเพื่อน, กรณีเลือกปฏิบัติการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.แตกต่างกัน, กรณีการตัดสินยุบพรรคที่สร้างความงุนงงและสูญสิ้นศรัทธาให้แก่ประชาชนทั่วไป

องค์กรเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของ “รัฐธรรมนูญ” ในความหมายใดกันแน่ เอกสารแห่งอำนาจหรือประชาธิปไตยตามระบอบรัฐธรรมนูญ เราอยากให้องค์กรเหล่านี้ขยับทำงานปกป้องระบอบรัฐประหารตามที่มันถูกออกแบบมากระนั้นหรือ

 

ความปรารถนาเป็นที่ยอมรับของคนหมู่มากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เข้าใจได้ แต่การทำอะไรเพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาโดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่ออุดมคติของคนอื่นอีกจำนวนมาก ดูจะพิลึกพิลั่นอยู่สักหน่อย เพราะมันขัดกับประโยชน์ที่ตนมุ่งหมายโดยตรง

“นักร้อง” มิได้ร้องเรียนให้เกิดการตรวจสอบเฉยๆ เพราะนั่นจะไม่ทำให้เป็นข่าวนัก แต่มักจะชี้ผิดลงไปเลย ก่อนจะยื่นให้องค์กรอิสระดำเนินการตามกฎหมาย และด้วยเหตุดังนั้น วิธีใช้กฎหมายของ “นักร้อง” จึงเป็นเรื่องของลายลักษณ์อักษรมากกว่าเจตนารมณ์ เหมาะที่องค์กรอิสระที่ไม่อิสระทั้งหลายจะเลือกดำเนินการ คือจะอ่านกฎหมายตามอักษรหรือตามเจตนารมณ์

แต่ความพิลึกพิลั่นนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นถ้าไม่มีองค์กรอิสระที่ไม่อิสระจริง คอยรับลูก “นักร้อง” ไปใช้ประโยชน์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ เรื่องไหนที่ดูจะถูกประณามคัดค้านต่อต้านจากประชาชนเกินไป ก็ไม่รับเรื่องหรือยุติเรื่องเสีย เรื่องไหนที่เป็นโอกาสจะดำเนินการต่อเพื่อปรามหรือปราบศัตรูทางการเมืองของผู้มีอำนาจ ก็จะรับเรื่องไว้ดำเนินการต่อ

องค์กรอิสระที่ทำงานอย่างพิลึกพิลั่นนี้เกิดขึ้นได้ก็จากรัฐธรรมนูญที่พิลึกพิลั่น สถาปนาองค์กรที่เป็นอิสระจากประชาชน 100% เต็ม เพราะดำรงอยู่ด้วยอำนาจรัฐประหาร แต่งตั้งสืบต่อได้ด้วยวุฒิสภาที่คณะรัฐประหารแต่งตั้ง

เกิดเวทีให้ “นักร้อง” ขึ้นเปิดการแสดงได้ง่ายๆ เต็มไปหมด จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม “นักร้อง” จึงช่วยทำให้เวทีซึ่งขาดความชอบธรรมเหล่านี้ กลายเป็นเวทีที่มีบทบาทในสื่อระดับหนึ่งตลอดมา

ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ เหล่า “นักร้อง” ต่างใช้เวทีแสดงเหล่านี้ในนามของการรักษาการปกครองในระบอบประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข), หรือ “พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” เพราะเวทีที่พวกเขาใช้ทั้งหมดเหล่านี้ล้วนเป็นปฏิปักษ์ต่อระบอบประชาธิปไตยหรือระบอบรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น ต่างก็เป็นองค์กรอิสระจากประชาชนโดยสิ้นเชิงเหมือนๆ กัน

นักร้องและเวทีจึงเป็นของคู่กัน ที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้เกิดขึ้นมาแต่แรกแล้ว