คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี

เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (3)

 

“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน 12 (SDG 12) ในด้านการบริโภคและการผลิตอย่างมีความรับผิดชอบกับศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและการหารือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (ACSDSD) เมื่อไม่นานมานี้ ซึ่งเราได้แลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดระหว่างบริษัท วิสาหกิจเพื่อสังคม และสถาบันในท้องถิ่น เช่นเดียวกับการต่อสู้กับปัญหาขยะอาหาร (food waste) ในเมืองมิลาน อิตาลี และไทย ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ”

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลี กล่าวถึงปัญหาขยะอาหาร

ซึ่งนอกจากปัญหาขยะพลาสติกที่ใช้เวลานานหลายปีในการย่อยสลายแล้ว ยังมีขยะอีกกองหนึ่ง ที่เป็นปัญหาสำคัญแต่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็นหรือมองข้ามปัญหานั้นไป เพราะยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการเทอาหารในจานทิ้งลงถังขยะ ได้แก่

ขยะอาหารที่เกิดจากอาหารที่เหลือจากการบริโภคทั้งในครัวเรือน อาหารที่เหลือจากการจำหน่ายในร้านค้าปลีก อาหารบุฟเฟ่ต์ และอาหารที่ใช้เพื่อปรุงแต่งจานในร้านอาหารหรือโรงแรม

รวมทั้งขยะที่สร้างขึ้นในภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จากกระบวนการผลิตที่มีวัตถุดิบเหลือใช้ และการจัดเก็บวัตถุดิบที่ไม่ดีทำให้เกิดการเน่าเสีย

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

จากสถานการณ์ปัญหาขยะอาหาร เริ่มกลายเป็นประเด็นใหญ่ทั่วโลก ที่ทุกประเทศกำลังร่วมมือกันในการลดการสร้างขยะจากอาหาร

เพราะแท้จริงแล้วอาหารที่ผลิตออกมา เพียงพอสำหรับคนทั้งโลก แต่ไม่สามารถส่งไปถึงมือผู้ที่ต้องการหรือขาดแคลนอาหารได้ อาหารส่วนเกินเหล่านี้จึงเกิดการเน่าเสียและถูกทิ้ง สร้างมลพิษที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการสร้างก๊าซเรือนกระจก อย่างเช่น ก๊าซมีเทนและคาร์บอนไดออกไซด์

ในขณะที่ประเทศไทยก็พบปัญหานี้เช่นกัน โดยขยะอาหารคิดเป็น 64% ของขยะทั้งหมด จากข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ (Pollution Control Department) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (Ministry of Natural Resources and Environment) พบว่าขยะส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้น้อย เนื่องจากการแยกขยะที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีระบบจัดการที่ถูกสุขาภิบาล

ท่านทูตกับนาง ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ ภริยา

อิตาลีกับเวิลด์เอ็กซ์โป ปี 2030 (World EXPO 2030)

“เราได้เสนอให้กรุงโรมเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World EXPO ปี 2030 ภายใต้ธีมงานว่า ประชากรและดินแดน การฟื้นฟูเมือง การมีส่วนร่วมและนวัตกรรม (People and Territories. Urban Regeneration, Inclusion, Innovation)” เอกอัครราชทูตอิตาลีชี้แจง

“มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2050 ประชากรโลกประมาณ 70% จะอาศัยอยู่ในเขตเมือง หากเป็นเช่นนั้น เราต้องการให้เมืองของเรามีลักษณะอย่างไร ให้มีความน่าสนใจ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นเมืองสีเขียว คุ้มค่าแก่การอยู่อาศัย มีความสัมพันธ์ที่สมดุลระหว่างพื้นที่ในเมืองและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม ตามแนวทางของสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยให้สอดคล้องกับแนวความคิดของพลเมืองส่วนมากได้อย่างไร”

“เนื่องจากกรุงโรมมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,600 ปีและมีการฟื้นฟูเมืองอย่างต่อเนื่องโดยสามารถอนุรักษ์ รักษามรดกทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี ทั้งยังมีการก่อสร้างอาคารและย่านใกล้เคียงใหม่เป็นกรณีไป”

งานแสดงสินค้าระดับโลกนี้มีการเสนอให้จัดขึ้นในปี 2030 โดยรัสเซีย เกาหลีใต้ อิตาลี ยูเครน และซาอุดีอาระเบีย เป็นประเทศที่เสนอชื่อเข้าแข่งขันเพื่อจัดงานดังกล่าว

“เราเป็นประเทศที่สามที่เสนอเรื่องให้กรุงโรมเป็นเมืองเจ้าภาพ โดยแข่งขันกับอีกสี่ประเทศ ดังที่กล่าวมาข้างต้น เรารณรงค์อย่างแข็งขันกับทุกรัฐสมาชิกขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE)”

การได้จัดงานระดับโลกนี้ นอกจากประเทศที่ได้เป็นเจ้าภาพจะมีภาพลักษณ์ระดับนานาชาติดีขึ้นแล้ว ยังได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

งานนิทรรศการโลก (World Fair) บ้างก็เรียกมหกรรมนานาชาติ (International exposition) จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1851 ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เป็นชื่อของงานนิทรรศการระดับโลก อยู่ภายใต้การจัดการขององค์การนิทรรศการนานาชาติ (BIE) ซึ่งเป็นองค์กรที่รับรองสิทธิการจัด

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

สําหรับงานด้านการทูตสาธารณะกับวัฒนธรรม นายโลเรนโซ กาลันตี ชี้แจงว่า

“การทูตสาธารณะของเรามีความเกี่ยวข้องมากกับวัฒนธรรม ผมเชื่อมั่นว่าเราส่งเสริมวัฒนธรรมของตัวเองในประเทศ ดังเช่นประเทศไทยมีวัฒนธรรมที่เข้มแข็งและมีความอ่อนโยนในตัวเอง เป้าหมายของเราจึงไม่ควรเป็นเพียงการแสดงวัฒนธรรมของเราเท่านั้น แต่เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคอนเสิร์ต นิทรรศการ การประชุม การสัมมนาทางเว็บ เทศกาลภาพยนตร์ การอภิปรายวรรณกรรม หรือการติดตามนำตัวเอกของภาควัฒนธรรมของทั้งสองประเทศมาแสดงร่วมกัน นั่นคือเหตุผลที่ทำให้เราสนับสนุนการมีส่วนร่วมของศิลปินอิตาลีในงานศิลปะกรุงเทพฯ ( Bangkok Biennale) ตั้งแต่ครั้งแรกที่จัด”

ปัจจุบัน คำนิยาม การทูตสาธารณะ (Public Diplomacy) มีหลายแบบ หนังสือคำศัพท์ของกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความหมายว่า

การทูตสาธารณะ เป็นการดำเนินการทางการทูตแบบหนึ่งเพื่อโน้มน้าวชักจูงให้สาธารณชน กลุ่มเป้าหมาย และกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในต่างประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของรัฐ มีความชื่นชมและเข้าใจถึงแนวทางและการดำเนินนโยบายต่างประเทศของประเทศใดประเทศหนึ่ง ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ระดับประชาชนให้มีความใกล้ชิดแน่นแฟ้นและประสบความสำเร็จอย่างแนบเนียน โดยจะมีความแตกต่างจากการดำเนินการทางการทูตแบบดั้งเดิม ที่เน้นการสื่อสารระหว่างรัฐต่อรัฐ

แต่การทูตสาธารณะจะเน้นวิธีการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หรือสื่อมวลชนในต่างประเทศ หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง

“ในทำนองเดียวกัน เราได้ตระหนักถึงบทกวีสั้นๆ โดยนักเขียนชาวอิตาลีและชาวไทยที่บรรยายถึงการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมอื่น หรือเข้าถึงสิ่งที่กำหนดพวกเขาในวัฒนธรรมของพวกเขาเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของพวกเขา ชื่อของกวีนิพนธ์นี้คือ ‘เรื่องราวของตะวันออก เรื่องราวของตะวันตก’ (Stories of the East Stories of the West) และเราได้นำเสนอไปแล้วเมื่อปีก่อนๆ ตามมาด้วยวิดีโอสี่รายการที่เผยแพร่บนช่องทางโซเชียลมีเดียของเราซึ่งอิงจากบทกวีสั้นบางตอน”

การเสวนาในหัวข้อ Stories from the East Stories from the West จัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2019

การเสวนาในหัวข้อ “Stories from the East Stories from the West” ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตอิตาลี เมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2019 ได้มีการอภิปรายเชิงโต้ตอบในหัวข้อเหล่านี้และการนำเสนอกวีนิพนธ์เรื่องจุลภาคที่รวบรวมและตีพิมพ์ในโอกาสนี้ โดยมีผู้คนกว่า 200 คนจากหลากหลายเชื้อชาติเข้าร่วมในการสนทนาอย่างมีชีวิตชีวาและสร้างแรงบันดาลใจระหว่างตะวันออกและตะวันตก

“เรายังได้นำเสนอภาพยนตร์สารคดีพิเศษเกี่ยวกับงานและมรดกของสถาปนิกชาวอิตาลีหลายคนที่ทำงานอยู่ในสยามเมื่อต้นศตวรรษที่ 20 โดยส่วนใหญ่ได้รับเชิญจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5”

งานฉายภาพยนตร์สารคดีรอบปฐมทัศน์ Me and the Magic Door
แขกผู้มีเกียรติได้รับเชิญเข้าชมภาพยนตร์

“โดยเหตุที่ภาพยนตร์สารคดีมีคุณค่าทางวัฒนธรรม เราจึงได้รับการอุปถัมภ์จากกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พวกเราเข้าไปถ่ายทำในวังบางแห่ง และรัฐบาลไทยก็ได้อนุญาตให้เราเข้าไปถ่ายทำ ณ สถานที่ราชการ เช่น ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก และอื่นๆ รวมทั้งสถานที่ส่วนตัวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอาคารที่ออกแบบและสร้างขึ้นโดยสถาปนิก วิศวกร และศิลปินชาวอิตาลีที่ทำงานในสยามเมื่อ 100 กว่าปีที่แล้ว”

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานฉายภาพยนตร์สารคดีรอบปฐมทัศน์ Me and the Magic Door การมองความสัมพันธ์อิตาลี-ไทยผ่านสถาปัตยกรรมแบบอิตาลีในกรุงเทพฯ จัดโดย สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวเปิดงานฉายภาพยนตร์สารคดีรอบปฐมทัศน์ Me and the Magic Door

“ผลที่ได้คือ สารคดีที่น่าชมในความยาวหนึ่งชั่วโมงเรื่อง “Me and the Magic Door” โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการค้นพบสถาปัตยกรรมแบบอิตาลีในกรุงเทพฯ กำกับโดยมาร์โก กัตตี (Marco Gatti) สารคดีเรื่องนี้เกิดจากความคิดและบทภาพยนตร์ที่ทำให้ผมเป็นหนี้ภรรยาของผมคือ ฟรานเชสกา อังเดรนี (Francesca Andreini) ซึ่งเขียนเรื่องที่มีสาวลูกครึ่งไทย-อิตาลี เป็นผู้แสดงนำ ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ดังที่กล่าวมาและได้เผชิญกับสิ่งที่อาจเป็นวิญญาณของสถาปนิก เมื่อนานมาแล้ว ณ สถานที่เหล่านั้น”

(จากซ้าย) กำกับโดย มาร์โก้ กัตติ (Marco Gatti) เขียนบทภาพยนตร์โดย ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ (Francesca Andreini) แสดงนำโดย สเตฟาเนีย คิม การ์ดินี่ (Stephania Kim Gardini)
นาง ฟรานเชสก้า อันเดรอินิ ภริยาเอกอัครราชทูตอิตาลี

“สถานเอกอัครราชทูตอิตาลีจะเปิดการฉายภาพยนตร์อีกหลายครั้ง โดยจะประกาศกำหนดวันเวลาการฉายในเว็บไซต์และหน้าโซเชียลมีเดียของเรา”

 

ไทยและอิตาลีมีความร่วมมือด้านวัฒนธรรมมานาน ในอดีต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ไทยได้ว่าจ้างสถาปนิก จิตรกร และศิลปินชาวอิตาเลียนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบอาคาร สถานที่สำคัญๆ ของไทย อาทิ พระที่นั่งอนันตสมาคม ทำเนียบรัฐบาล บ้านพิษณุโลก กระทรวงกลาโหม สถานีรถไฟหัวลำโพง วังบางขุนพรหม พระที่นั่งอภิเษกดุสิต พระที่นั่งสวนอัมพร ห้องสมุดเนลสัน เฮยส์

สำหรับชาวอิตาเลียนที่มีบทบาทในวงการศิลปะของไทยมากที่สุดคือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี (Corrado Feroci) ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม และความร่วมมือในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เป็นความร่วมมือในการจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ระหว่างสถานเอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทยและบริษัทต่างๆ ของอิตาลีในไทย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ของไทยทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยของไทย

“ในช่วงที่มีการระบาดใหญ่ เรามีส่วนร่วมอย่างมากกับหน่วยงานการค้าของอิตาลีในกรุงเทพฯ ในด้านการส่งเสริมอาหาร ไวน์ แฟชั่น และการออกแบบของอิตาลี เราเริ่มใช้เครื่องมือส่งเสริมการขายใหม่ๆ ร่วมกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ เช่น Central Retail ซึ่งรวม Tops หรือ Big C และทางออนไลน์ กับลาซาด้า (Lazada)”

“เทศกาลและโปรโมชั่นของอิตาลีส่วนหนึ่งก็ได้จากแคมเปญในลาซาด้า โดยการสร้างศาลาอิตาลีเสมือนจริง (Virtual Italian Pavilion) เพื่อเป็นที่ซึ่งสามารถพบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากอิตาลี เรายังได้ให้ความช่วยเหลือแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมของอิตาลีในการเข้าถึงแพลตฟอร์ม เช่น ลาซาด้า โควิดทำให้ Leeได้กระตุ้นการพัฒนาและความนิยมอย่างมากของตลาดและเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ ในบางครั้ง นับเป็นการท้าทายสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เป็นกระดูกสันหลังของระบบการผลิตของอิตาลีในการเข้าถึงแพลตฟอร์มเหล่านั้น”

“นั่นคือเหตุผลในการลงทุนนี้ที่เราให้การสนับสนุนสูงสุด”

นายโลเรนโซ กาลันตี (H.E. Mr. Lorenzo Galanti) เอกอัครราชทูตอิตาลีประจำประเทศไทย

“ขณะที่เรากำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 และเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ เช่น สงครามในยูเครน ซึ่งเป็นความท้าทายต่อระเบียบโลก เราตระหนักดีว่าโลกาภิวัตน์มีขีดจำกัด การจัดการเชิงกลยุทธ์สำหรับบริษัทต่างๆ จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อต้องเลือกตลาดที่มีความสำคัญสำหรับการค้าและการลงทุน ในการจัดหาสินค้าสำหรับห่วงโซ่อุปทาน”

“ในโลกหลังโลกาภิวัตน์ เศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างแบ่งส่วนซึ่งเกิดขึ้นจากวิกฤตการณ์ต่างๆ นานา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงสามารถกลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการค้าและการลงทุน ผมเชื่อว่าบริษัทต่างๆ จะให้ความสำคัญกับส่วนนี้ของโลกและเศรษฐกิจหลักมากขึ้นเมื่อหันไปทบทวนกลยุทธ์ของตน”

“ผมคิดว่าความสัมพันธ์ทางธุรกิจของไทย-อิตาลีจะมีศักยภาพแห่งการเติบโตไปได้อีกไกล การจะทำธุรกิจในระบบเศรษฐกิจอย่างประเทศไทยนั้น ต้องใช้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับบริบททางวัฒนธรรม ประชาชน และการสร้างความสัมพันธ์ต่อการลงทุนครั้งใหญ่ ดังนั้น การลงทุนจึงต้องใช้ระยะเวลามาก แต่จะได้รับผลตอบแทนทั้งในความสัมพันธ์กับผู้คนและธุรกิจ ในที่สุดก็จะพบว่าคนอิตาลีและคนไทยนั้นมีค่านิยมเดียวกันหลายอย่าง และค่อนข้างง่ายที่จะเข้าใจซึ่งกันและกันได้เป็นอย่างดี”

“นอกจากนี้ เรายังประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งคณะกรรมการผู้แทนชุมชนชาวอิตาลี (Committee for Italians Abroad) ในประเทศไทย กัมพูชา และลาวเป็นครั้งแรกด้วย นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์คณะกรรมการที่เรียกว่า ComItEs (ตัวย่อของอิตาลี) ได้รับการเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ในช่วงการระบาดใหญ่” •

 

อ่าน คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (1) ได้ที่นี่

คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (1)

 

อ่าน คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (2) ได้ที่นี่

คุยกับทูต : โลเรนโซ กาลันตี เตรียมโบกมืออำลาประเทศไทย (2)