ทราย เจริญปุระ : ดั่งชั้นของหัวหอม

แน่นอนว่าหนังสือก็เหมือนกับผู้คน

นั่นคือการมีลักษณะเฉพาะของตัวเอง

บางเล่มนั้นเปิดกว้างและอ่อนโยน ไม่ข่มขู่ให้เรากลัวหงอ ไม่มองเราด้วยสายตาสงสัยหรือหยามเหยียดยามที่เรารีบพลิกผ่านบางหน้าที่เกิน ความเข้าใจ และเพียรพยายามอธิบายเราซ้ำๆ จนเรากระจ่างในความหมาย แม้จะไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้ง

แต่บางเล่มก็ตรงกันข้าม

มันเก็บตัวจนเกือบเย่อหยิ่ง เห็นว่าความมารยาทดีและเอื้ออาทรแบบง่ายๆ เป็นของราคาถูกดาษดื่นที่ใครๆ ก็มี ติดตัวโดยไม่ต้องใช้อะไรแลกมาประดับชีวิต ความพยายามจะสื่อสารตัวเองต่อโลกนั้นมีน้อยนิดจนคนที่เข้าหาก็พากันท้อ

และต่อให้อ่านจนจบก็ยังไม่ได้รับรอยยิ้มตอบจากเรื่องราวของมัน

 

“ชีวิตอยู่หนอื่น” เป็นหนังสือเล่มที่อยู่ตรงกลางระหว่างบุคลิกทั้งสองแบบนั้น

มันไม่ได้เย่อหยิ่ง แต่ดูจะขี้อายเกินกว่าจะเล่าอะไรออกมาโพล่งๆ ค่อยๆ บอกอะไรออกมาทีละนิดแบบไม่ง้อความเข้าใจของคนส่วนใหญ่

แต่ก็เหมือนทุกคนที่ต้องการมีใครสักคนในชีวิต

ชีวิตอยู่หนอื่นคือการเฝ้ารออะไรเช่นนั้น

“ความอ่อนโยนถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาที่เราถูกทอดทิ้งอยู่ ณ ธรณีประตูสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นช่วงที่เรารู้ตัว หวาดกังวลถึงข้อได้เปรียบต่างๆ ของเด็กๆ ที่เราไม่เข้าใจตอนเป็นเด็ก

ความอ่อนโยนนี้ เป็นความหวาดกลัวซึ่งวัยผู้ใหญ่ทำให้เรารู้สึก

ความอ่อนโยนนี้ เป็นความพยายามสร้างพื้นที่สังเคราะห์ซึ่งคนอื่นๆ ต้องถูกปฏิบัติเหมือนเป็นเด็ก

ความอ่อนโยนนี้ เป็นความหวาดกลัวต่อผลทางร่างกายที่ตามมาของความรักด้วย เป็นความพยายามหลบหนีความรักในโลกของผู้ใหญ่ (ซึ่งเต็มไปด้วยกับดัก มีข้อจำกัด หนักหน่วงด้วยเรื่องทางโลกย์และความรับผิดชอบ)…”*

เหมือนค่อยๆ ลอกเปลือกของหัวหอมออกทีละชั้น

กะเทาะสิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมาจนเราเป็นเราในตอนนี้

มันไม่ได้มีเฉพาะความรักและปรารถนาดี แต่ยังเจือไปด้วยความหลงใหล ความคาดหวังและความเห็นแก่ตัว ทั้งจากตัวเราที่อยากทำเพื่อจะได้รางวัลเป็นเสียงชื่นชมที่เรากระหาย เริ่มจากความรักใคร่ชื่นชมจากแม่ โลกแคบๆ ของเรามีกันอยู่แค่ไม่กี่คน คำชื่นชมจากคนที่ยังไงก็ชื่นชมเราอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน จากนั้นโลกก็กว้างใหญ่ขึ้น คำชื่นชมนั้นไม่ตรงไปตรงมาเช่นในวัยเด็ก เราไม่ได้เป็นคนสำคัญที่สุดอีกต่อไป มีคนที่ดีกว่า งดงามกว่า ถ้อยคำที่ไพเราะกว่าที่เราเอ่ย ระดับชั้นของความรักความชื่นชมยิ่งซับซ้อน เราอยากจะได้มันทุกชั้น ทุกขั้นตอน แต่เราไม่มีวันทำได้

เราเริ่มเกลียดตัวเองที่ทำไม่ได้เหมือนคนอื่น

เราเริ่มสงสัยความรักอันไร้เงื่อนไขของพ่อแม่ ว่าพวกเขารักเราได้ยังไง ทั้งที่เราไม่เห็นจะดีได้อย่างใครๆ ที่เราเฝ้ามอง

เราเริ่มกังวลใจกับตัวเอง เราควรจะรักเราที่เป็นเราหรือไม่ เราจะดีกว่านี้ หรือจะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า เรารักตัวเองเพราะเราคู่ควรกับความรักนั้นจริงๆ หรือเพราะเราสิ้นไร้คนที่เรา จะให้ความรัก

นั่นล่ะ ชีวิตดั่งชั้นของหัวหอม

เมื่อลอกออก ก็ทำเราน้ำตาเอ่อ

“…และนวนิยายเล่มนี้ เหนืออื่นใดเป็นมหากาพย์ของความเป็นหนุ่มสาว มหากาพย์แนวเสียดสีซึ่งค่อยๆ กัดกร่อน ลอกเปลือกคุณค่าที่สำคัญต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความเป็นเด็ก ความเป็นแม่ การปฏิวัติ แม้กระทั่งกวีนิพนธ์”*

แด่นักฝันและผู้เปลี่ยนแปลงโลก

ผู้ครองวิญญาณขบถแห่งวัยระเริงตลอดกาล

“ชีวิตอยู่หนอื่น” (La Vie est Ailleurs) เขียนโดย Milan Kundera แปลโดย อธิชา มัญชุนากร กาบูล็อง ฉบับพิมพ์ภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่, 2559

 


*ข้อความจากในหนังสือ