ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

ดาราศาสตร์ในคัมภีร์กุรอาน (1)

 

คัมภีร์กุรอานเต็มไปด้วยการใคร่ครวญถึงเรื่องท้องฟ้า ได้มีการกล่าวถึงความมีจำนวนมากของฟากฟ้าและผืนแผ่นดินรวมทั้งสิ่งที่กุรอานเรียกว่า “การสร้างสิ่งที่อยู่ในระหว่างฟากฟ้ากับผืนแผ่นดิน”

วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้พิสูจน์แล้วว่าสิ่งเหล่านี้มีจริง โองการต่างๆ ที่กล่าวถึงการสร้างสรรค์นั้นบรรจุไว้ซึ่งความคิดกว้างๆ ของสิ่งที่จะพบได้ในฟากฟ้านั่นคือทุกสิ่งที่อยู่นอกโลก

นอกจากโองการที่บรรยายถึงการสร้างโดยเฉพาะแล้วก็ยังมีโองการอีกประมาณ 40 โองการในกุรอานซึ่งได้ให้คำบอกเล่าในเรื่องดาราศาสตร์เป็นการเพิ่มเติมสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว

บางโองการก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าข้อใคร่ครวญถึงบารมีของพระผู้สร้าง พระผู้รวบรวมระบบดวงดาวและระบบดาวพระเคราะห์ทั้งหมด

เรารู้ว่าทั้งหมดนี้ถูกจัดไว้ตามตำแหน่งที่สมดุลซึ่งนิวตัน (Newton) ได้อธิบายถึงความมั่นคงของมันไว้ในกฎแห่งการดึงดูดกันและกันของเทหวัตถุของเขาแล้ว

โองการแรกๆ ที่ยกมาอ้างไว้ ณ ที่นี้มิได้มีวัตถุดิบสำหรับการวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์อะไรมากนัก จุดมุ่งหมายคือเพื่อจะดึงดูดความสนใจถึงความมีอำนาจทุกอย่างของพระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น

อย่างไรก็ตามจะต้องกล่าวถึงเพื่อให้แลเห็นวิธีที่ข้อความในกุรอานบรรยายถึงการรวบรวมสิ่งต่างๆ ของจักรวาลซึ่งมีอยู่เมื่อสิบสี่ศตวรรษมาแล้ว (1443 ปี จนถึงปี 2565)

 

การกล่าวถึงเหล่านี้ทำให้เกิดข้อเท็จจริงใหม่ๆ ในการเปิดเผยของพระผู้เป็นเจ้า การจัดรวมของโลกไว้ อย่างไรก็ดีคัมภีร์กุรอานก็ได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง สิ่งที่กุรอานบรรยายไว้นั้นมีความสำคัญแต่สิ่งที่กุรอานมิได้กล่าวถึงก็สำคัญเหมือนกัน

อันที่จริงนั้นกุรอานมิได้กล่าวถึงเรื่องราวของทฤษฎีต่างๆ ที่มีอยู่ในสมัยของการลงวะหฺยุ (เปิดเผย) ที่เกี่ยวกับการรวบรวมสิ่งต่างๆ ในโลกแห่งฟากฟ้าอันเป็นทฤษฎีที่ในตอนหลังวิทยาศาสตร์ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ถูกต้อง

ซูเราะฮ์ที่ 50 โองการที่ 6 เนื้อหาโดยทั่วไปเกี่ยวกับมนุษย์ “พวกเขามิได้มองดูท้องฟ้าเหนือพวกเขาดอกหรือว่าเราได้สร้างมันขึ้นและประดับประดามันอย่างไรบ้าง และไม่มีช่องแยกอยู่ในท้องฟ้าเลย”

“พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างฟากฟ้าโดยไม่มีเสาค้ำให้พวกเจ้าแลเห็นเลย…”

“พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่ทรงยกฟากฟ้าขึ้นโดยไม่มีเสาค้ำใดๆ ให้พวกเจ้าได้เห็นเลย ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงสถาปนาพระองค์เองบนบัลลังก์และพระองค์ทรงควบคุมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์…”

สองโองการนี้ปฏิเสธความเชื่อที่ว่าครอบโค้งของท้องฟ้านั้นมีเสาค้ำไว้ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่จะป้องกันมิให้ท้องฟ้าตกลงมากระแทกพื้นดินได้

ซูเราะฮ์ที่ 55 โองการที่ 7 “อันท้องฟ้านั้น (พระผู้เป็นเจ้า) ทรงยกมันไว้…”

ซูเราะฮ์ที่ 22 โองการที่ 65 “พระผู้เป็นเจ้าทรงค้ำท้องฟ้าไว้มิให้ตกลงมาบนผืนแผ่นดินยกเว้นแต่พระองค์จะทรงอนุญาต…”

เป็นที่รู้กันว่าความห่างไกลของมวลสารทั้งหลายในท้องฟ้ามีระยะไกลเป็นอย่างมาก ได้สัดส่วนกับความใหญ่โตของมวลนั้นเองจึงทำให้เกิดความสมดุลขึ้น ยิ่งมวลต่างๆ อยู่ห่างไกลกันเท่าไร พลังที่ดึงดูดกันและกันไว้ก็ยิ่งอ่อนลงเท่านั้น

ถ้ามวลเหล่านั้นอยู่ใกล้กันแรงดึงดูดกันและกันก็ยิ่งแรงขึ้น นี่เป็นความจริงสำหรับดวงจันทร์ซึ่งอยู่ใกล้กับโลกมากกว่า (พูดในแบบดาราศาสตร์) และมีอิทธิพลต่อตำแหน่งแห่งที่ของห้วงน้ำของท้องทะเลโดยกฎแห่งการดึงดูด

ดังนั้น จึงเกิดปรากฏการณ์น้ำขึ้นน้ำลง ถ้าเทหวัตถุในท้องฟ้าสองสิ่งมาใกล้กันและกันมากเกินไป การชนกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้น การที่มันอยู่ใต้กฎระเบียบนั้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับไม่ให้มีความเดือดร้อนเกิดขึ้น

 

เรื่องการอยู่ใต้กฎระเบียบของฟากฟ้านั้นได้ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยๆ

ซูเราะฮ์ที่ 23 โองการที่ 86 พระผู้เป็นเจ้ากำลังตรัสกับท่านศาสดา “จงกล่าวเถิดว่าผู้ใดคือพระผู้อภิบาลชั้นฟ้าทั้งเจ็ด และเจ้าแห่งบัลลังก์อันมหึมา?”

เราได้เห็นแล้วว่าคำว่า “ชั้นฟ้าทั้งเจ็ด” นั้นไม่ได้หมายความว่ามี 7 จริงๆ แต่เป็นจำนวนของฟากฟ้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด

ซูเราะฮ์ที่ 45 โองการที่ 13 “พระผู้เป็นเจ้าทรงควบคุมทุกสิ่งในฟากฟ้าและบนผืนแผ่นดินเพื่อพวกเจ้า ทุกสิ่งมาจากพระองค์ จงดูเถิด! ในนั้นย่อมเป็นสัญญาณสำหรับผู้คนที่ใคร่ครวญ”

ซูเราะฮ์ที่ 55 โองการที่ 5 “ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ (ถูกควบคุม) เพื่อการคิดคำนวณ”

ซูเราะฮ์ที่ 6 โองการที่ 96 “พระผู้เป็นเจ้าทรงแต่งตั้งเวลากลางคืนไว้สำหรับพักผ่อนและทรงแต่งตั้งดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้สำหรับการคิดคำนวณ”

ซูเราะฮ์ที่ 14 โองการที่ 33 “เพื่อพวกเจ้า (พระผู้เป็นเจ้า) ทรงควบคุมดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไว้ ทั้งสองต่างก็โคจรไปตามทางของมันอย่างขยันขันแข็งและเพื่อพวกเจ้าพระองค์ทรงควบคุมเวลากลางคืนและกลางวัน”

ณ ที่นี้โองการหนึ่งทำให้อีกโองการหนึ่งเสร็จสมบูรณ์ คือการคิดคำนวณที่กล่าวถึงนั้นย่อมมีผลจากการโคจรอย่างสม่ำเสมอไปในหนทางซึ่งเทหวัตถุในฟากฟ้าได้โคจรไป

นี่แสดงโดยใช้คำว่า ดาอิบ อันเป็นกาลปัจจุบันที่ทำแล้ว (present perfect tense) ของคำกริยาซึ่งความหมายดั้งเดิมของมันคือ “การทำงานอย่างกระตือรือร้นและอย่างพากเพียรพยายามในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง” ในที่นี้มันมีความหมายว่า “ใช้ตัวเองในสิ่งใดสิ่งหนึ่งด้วยความเอาใจใส่ในลักษณะที่อุตสาหะพากเพียรสม่ำเสมอให้สอดคล้องกับนิสัยที่ติดตัว”

 

ซูเราะฮ์ที่ 36 โองการที่ 39 พระผู้เป็นเจ้าตรัสว่า “และสำหรับดวงจันทร์ เราได้แต่งตั้งคฤหาสน์ไว้ให้จนกระทั่งมันกลับมาเหมือนกับก้านอินทผลัมเก่าๆ ที่แห้งเหี่ยว” นี่กล่าวถึงรูปร่างโค้งๆ ของก้านอินทผลัมซึ่งเมื่อมันแห้งเหี่ยวลงก็จะมีรูปร่างเหืมอนดวงจันทร์เสี้ยว

ซูเราะฮ์ที่ 16 โองการที่ 12 “เพื่อพวกเจ้า (พระผู้เป็นเจ้า)” ทรงควบคุมเวลากลางคืนและเวลากลางวัน ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ดวงดาวก็อยู่ใต้คำบัญชาของพระองค์ แน่แท้นิสิ่งนี้ย่อมมีสัญญาณสำหรับผู้คนที่ฉลาด”

การแลเห็นระเบียบอันสมบูรณ์ของฟากฟ้าได้ถูกเน้นให้เห็นเนื่องจากคุณค่าของมันในการเป็นเครื่องช่วยเหลือให้มนุษย์เดินทางไปบนบกและในทะเลได้และเพื่อคำนวณเวลา ข้อสังเกตนี้จะชัดเจนเมื่อเราจำไว้ในใจถึงเรื่องที่ว่าคัมภีร์กุรอานนั้นแต่เดิมเป็นคำสอนที่กล่าวกับมนุษย์ผู้เข้าใจภาษาง่ายๆ ในชีวิตประจำวันของพวกเขาเท่านั้น

ซูเราะฮ์ที่ 6 โองการที่ 97 “พระผู้เป็นเจ้า คือผู้ที่วางดวงดาวไว้สำหรับพวกเจ้าเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้ใช้มันนำทางให้พวกเจ้าฝ่าความมืดของแผ่นดินและท้องทะเลไป เราได้ให้รายละเอียดของสัญญาณทั้งหลายสำหรับผู้คนที่รู้”

ซูเราะฮ์ที่ 16 โองการที่ 16 “พระผู้เป็นเจ้าทรงทำที่หมาย (ไว้บนผืนแผ่นดิน) และทำให้ (มนุษย์) นำตัวพวกเขาเองไปโดยดวงดาว”

ซูเราะฮ์ที่ 10 โองการที่ 5 “พระผู้เป็นเจ้าคือผู้ที่ทำให้ดวงอาทิตย์เป็นสิ่งที่ส่องแสงรุ่งโรจน์และทำให้ดวงจันทร์เป็นแสงสว่างและทรงสร้างคฤหาสน์ไว้ให้ดวงจันทร์ เพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รู้จำนวนของขวบปีและการนับ (เวลา) พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างสิ่งนี้ด้วยสัตย์จริง พระองค์ทรงอธิบายถึงสัญญาณต่างๆ เป็นรายละเอียดเพื่อคนที่รู้”

 

ลักษณะของเทหวัตถุในฟากฟ้า

ดวงอาทิตย์คือสิ่งที่ส่องแสงรุ่งโรจน์ และดวงจันทร์คือแสงสว่าง (นูรฺ) การแปลเช่นนี้คงจะถูกต้องกว่าที่คนอื่นๆ แปลโดยใช้ศัพท์สองคำสับเปลี่ยนกัน

อันที่จริงนั้นมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในความหมาย เนื่องจากคำว่า ซิยา ซึ่งตามปทานุกรมอาหรับ/ฝรั่งเศสของ Kazimirski หมายถึง “สดใส ส่องแสง” (คือเหมือนไฟ) ผู้เขียนปทานุกรมคนเดียวกันนั้นให้ลักษณะความเป็นตัวเป็นตนไว้ในความหมายของคำว่า “แสงสว่าง” ด้วย

ความแตกต่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์จะชัดเจนขึ้นโดยการยกกุรอานมาอ้างต่อไป

ซูเราะฮ์ที่ 25 โองการที่ 61 “ผู้ที่ได้วางหมู่ดาวไว้ในฟากฟ้าและวางชวาลาไว้ในนั้นรวมทั้งดวงจันทร์ที่ให้แสงสว่างนั้นคือผู้ประเสริฐ”

ซูเราะฮ์ที่ 71 โองการที่ 15-16 “พวกเจ้าเห็นไหมว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงสร้างชั้นฟ้าเจ็ดชั้นไว้เหนือกันและกันและทำให้ดวงจันทร์เป็นแสงสว่างอยู่ในนั้นและทำให้ดวงอาทิตย์เป็นดวงโคม?”

“เราได้สร้าง (ชั้นฟ้า) ที่แข็งแรงเจ็ดชั้นไว้เหนือพวกเจ้าและได้วางตะเกียงอันลุกโพลงไว้ดวงหนึ่ง”

ตะเกียงที่ลุกโพลงนั้นคือดวงอาทิตย์อย่างแน่นอน ณ ที่นี้ดวงจันทร์ถูกนิยามว่าเป็นเทหวัตถุที่ให้แสงสว่าง (มุนีรฺ) ซึ่งมาจากรากศัพท์คำเดียวกับคำว่านูรฺ (คือแสงที่ใช้กับดวงจันทร์) อย่างไรก็ตาม ดวงอาทิตย์ถูกเปรียบกับคนเพลิง (สิรอจ) หรือตะเกียงที่กำลังลุกโพลง (วะฮาจ)

คนในสมัยท่านศาสดามุฮัมมัดสามารถแลเห็นความแตกต่างระหว่างดวงอาทิตย์อันเป็นเทหวัตถุในท้องฟ้าที่ลุกโพลงอยู่อันเป็นที่รู้จักกันดีของบรรดาผู้ที่อาศัยอยู่ในทะเลทราย และดวงจันทร์เป็นเทหวัตถุอันเยือกเย็นในเวลากลางคืน

เพราะฉะนั้น การเปรียบเทียบที่พบได้ในกุรอานเกี่ยวกับเรื่องนี้จึงออกจะเป็นปกติธรรมดา สิ่งที่น่าสนใจที่จะกล่าวไว้ในทีนี้คือลักษณะอันกลมกล่อมของการเปรียบเทียบ และการที่ในข้อความของกุรอานไม่มีการเปรียบเทียบใดๆ ที่อาจจะมีอยู่ในสมัยนั้นซึ่งคงจะดูแปลกประหลาดพิสดารในสมัยของเรานี้

เป็นที่รู้กันว่าดวงอาทิตย์คือดวงดาวที่ให้ความร้อนอันรุนแรงและให้แสงสว่างจากการเผาไหม้ภายในของมันเอง และรู้ว่าดวงจันทร์ซึ่งมิได้ให้แสงสว่างด้วยตัวมันเองและเป็นเทหวัตถุที่เฉลี่ย (อย่างน้อยก็ที่ผิวชั้นนอกของมัน) มันเพียงแต่สะท้อนแสงที่ได้รับจากดวงอาทิตย์ออกมาเท่านั้น

ไม่มีสิ่งใดในกุรอานที่ขัดแย้งกับสิ่งที่เรารู้อยู่ทุกวันนี้เกี่ยวกับเทหวัตถุในฟากฟ้าสองสิ่งนี้