นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ : โฮะคุไซ (1)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ข้อเขียนและภาพประกอบต่อไปนี้ใช้เนื้อหาหลักจากหนังสือ Hokusai ของ Sarah E Thompson สำนักพิมพ์ MFA Publication, Boston ปี 2015 เสริมด้วยข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ One Thousand Years of Manga ของ Brigitte Koyama-Richard สำนักพิมพ์ Flammarion, Paris ปี 2007 และหนังสือ Manga : Sixty Years of Japanese Comics ของ Paul Gravett สำนักพิมพ์ Laurence King Publishing, London ปี 2004

ตัวสะกดในภาษาญี่ปุ่นเขียนตามสูจิบัตรนิทรรศการมังงะ โฮะคุไซ มังงะ ต้นกำเนิดการ์ตูนญี่ปุ่น จัดโดยเจแปน ฟาวน์เดชั่น กรุงเทพฯ ที่กรุงเทพฯ เชียงราย และหาดใหญ่ ระหว่างเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม พ.ศ.2560

ผู้เขียนได้รับเอกสารรายละเอียดของนิทรรศการ รวมทั้งแนวคิดเบื้องหลังการจัดนิทรรศการหมุนเวียนครั้งนี้แล้ว พบว่าเป็นนิทรรศการที่ผู้จัดมีความตั้งใจที่จะเสนอผลงานของ คัทสึชิคะ โฮะคุไซ อย่างละเอียดโดยเชื่อมโยงกับรูปแบบของการ์ตูนญี่ปุ่นหรือมังงะในปัจจุบัน แม้ว่าผลงานของโฮะคุไซจะมิใช่มังงะในรูปแบบปัจจุบันก็ตาม

ข้อเขียนนี้เพื่อเติมเต็มส่วนนิทรรศการโดยมีทั้งเนื้อหาส่วนที่แปลมาโดยตรงและส่วนที่เขียนเพิ่มขึ้นด้วยความรู้ ความเข้าใจ ข้อคิดเห็น ทัศนคติและข้อเสนอแนะของผู้เขียนเอง (หากจะทำแค่แปลให้อ่านก็ไม่รู้จะเขียนทำไม) ผู้ที่ต้องการเอกสารอ้างอิงข้อมูลสามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง

 

คัทสึชิคะ โฮะคุไซ (Katsushika Hokusai : 1760-1849) เป็นศิลปินชาวญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งในยุโรปและอเมริกาเหนือ บ้างเขียนว่างานเขียนของโฮะคุไซเป็นส่วนหนึ่งของจุดเริ่มต้นของลายเส้นแบบมังงะ แม้ว่าเขาจะมิได้เขียนการ์ตูนช่องเพื่อเล่าเรื่องราวแบบมังงะก็ตาม

โอซามุ เท็ตซึกะ (Osamu Tetzuka : 1928-1989) เป็นเทพเจ้ามังงะ หรือ God of Manga ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มต้นวิธีการเขียนการ์ตูนช่องด้วยเทคนิคการตัดต่อแบบภาพยนตร์

นั่นทำให้ช่องการ์ตูนแต่ละช่องมิได้ถูกจ้องมองจากมุมมองเดียวคือจากที่นั่งของผู้อ่านเท่านั้น มุมมองของแต่ละช่องการ์ตูนมาจากหลายทิศทางทั้งบนหรือล่าง หน้าหรือหลัง และซ้ายหรือขวา อีกทั้งมีการตัดต่อเปลี่ยนช่องที่ฉับไว

นอกเหนือจากการเปลี่ยนมุมมองแล้ว โอซามุยังได้ชื่อว่ามีลายเส้นแบบคอมิกส์แท้ๆ เช่นเดียวกับการ์ตูนของวอลต์ ดิสนีย์ และมีการตัดเส้นที่คมชัดอย่างที่เรียกว่า clear line อันเป็นจุดสำคัญจุดหนึ่งที่การ์ตูนแยกตัวออกจากงานศิลปะอื่นๆ

ก่อนหน้าโอซามุประมาณหนึ่งศตวรรษ โฮะคุไซได้ชื่อว่าเป็นคนหนึ่งที่ได้ปฏิวัติการเปลี่ยนมุมมองในภาพเขียน

ตัวละครในภาพเขียนของเขาแสดงออกทางอารมณ์ด้วยสีหน้าและท่าร่างอย่างเห็นได้ชัด ประกอบกับการตัดเส้นที่ชัดเจน โดยที่มีผลงานนับพันชิ้นเป็นประจักษ์พยานอยู่ทั่วโลก

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือชุด Hokusai Manga อันเป็นหนังสือรวมภาพเขียนหลากหลายจำนวน 15 เล่ม นับได้มากกว่า 4,000 ภาพในบั้นปลายของชีวิตต่อเนื่องมาจนถึงหลังจากที่เขาจากไปแล้ว

โดยส่วนที่สำคัญในผลงานชุดนี้คือภาพคนและสัตว์ในท่าร่างต่างๆ มากมาย แม้ว่าจะมิได้ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวแบบมังงะ แต่ก็ให้ความรู้สึกได้ว่าเรากำลัง “ดู” มังงะอยู่ฉะนั้น

 

โฮะคุไซมีประวัติการทำงานที่พิเศษกว่าใครก่อนที่โลกยุคใหม่จะมาถึง

เขาไม่เพียงเขียนรูปได้ แต่เคยทำงานเป็นนักแกะแบบพิมพ์ไม้

ความสามารถทั้งสองประการทำให้เขาได้เรียนรู้และเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ภาพเขียนเพื่อการพาณิชย์ได้อย่างเชี่ยวชาญ

รวมทั้งรู้วิธีแสดงผลงานที่สามารถเรียกความสนใจ อันที่จริงต้องใช้คำว่ามากกว่าเรียกความสนใจ

ด้วยปรากฏเรื่องเล่าว่าเขาสามารถเขียนภาพพระโพธิธรรมที่สูงประมาณเท่าตึกสามชั้นได้โดยคงสัดส่วนไว้อย่างถูกต้อง

เขาเรียนรู้วิธีรวบรวมผลงาน พิมพ์หนังสือและเรียนรู้การใช้สี Prussian Blue ในงานพิมพ์ซึ่งช่วยให้ได้ภาพคมชัด ทนทาน และสามารถปรับเปลี่ยนสีพื้นได้หลากหลายในภายหลังด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ก้าวหน้าขึ้น โดยไม่ทำให้ลายเส้นและความชัดลึกของภาพต้นฉบับเปลี่ยนแปลงไป

ยิ่งไปกว่านั้นโฮะคุไซยังเป็นผู้มองการณ์ไกลถึงวิธีสืบทอดวิธีเขียนภาพแบบของเขาด้วยการเขียนคู่มือวาดเขียนแบบโฮะคุไซอีกด้วย

เทคนิคหนึ่งที่เขาได้ชื่อว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเริ่มต้นและลงหลักปักฐานเอาไว้คือการใช้รูปทรงเรขาคณิตและตัวอักษรคันจิเป็นโครงร่างของรูปภาพ ไม่ว่าจะเป็นวงกลม วงรี วงแหวน สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม รวมทั้งอักขระต่างๆ

ดังคำกล่าวที่ว่า “เขียนได้คือวาดได้”

ตำราเขียนรูปของโฮะคุไซไม่เพียงสอนการวิธีเขียนรูป แต่ยังแนะนำวิธีการมองท่าร่างของคนในอิริยาบถต่างๆ จากหลากหลายมุมมอง วิธีวางตำแหน่งของคนโดยสัมพัทธ์กับทิวทัศน์ที่เป็นฉากหน้าหรือฉากหลัง ทำอย่างไรที่จะทำให้ภาพวาดกลายเป็นสามมิติบนแผ่นกระดาษที่แบนราบมีเพียงสองมิติ เป็นหลักฐานว่าโฮะคุไซเติบโตมาเป็นบุคคลที่มีความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์ (spatial intelligence) อย่างมาก

ทำอย่างไรที่ภาพวาดนั้นจะสามารถแสดงออกทางอารมณ์ได้มากกว่าที่เขียนจริงนั่นคือเกิดปรากฏการณ์เห็นมากกว่าที่วาดคือ illusion

ประการหลังนี้เองคืออีกลักษณะหนึ่งของมังงะแท้ๆ ในเวลาต่อมาที่มีการแสดงออกอย่างฟูมฟายและเกินจริงอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่าการ์ตูนของประเทศอื่น

 

ปี1781-1789 One Hundred Ghost Stories in a Haunted House เป็นภาพแสดงการละเล่นอันเป็นที่นิยมในเวลากลางคืนนั่นคือการผลัดกันเล่าเรื่องผีคนละ 1 เรื่องพร้อมดับไฟโคมทีละดวง

โฮะคุไซเพิ่มความน่าสนใจของภาพด้วยการเพิ่มผีทีละตนหลังจากโคมไฟดับไป กว่าจะเล่านิทานครบทุกคนก็จะเห็นภาพผีปีศาจหลอกหลอนอยู่เต็มบ้าน ดูมุมมองสามมิติที่มีมากกว่าหนึ่งมุมและรายละเอียดที่ชัดแจ้งของฉากหลัง

1804 The Two Banks of the Sumida River เป็นภาพแสดงทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำสุมิดะตามขนบสามมิติสมัยใหม่ ขอให้สังเกตระยะชัดลึก มุมมอง และรายละเอียดของผู้คนบนฝั่งแม้กระทั่งที่อยู่บนสะพาน ส่วนผู้คนระยะใกล้ขอให้สังเกตการเคลื่อนไหวและสายฝนประหนึ่งภาพที่มีชีวิต คือจุดเริ่มต้นของสปีดไลน์ซึ่งจะพบว่ามีมากขึ้นและก้าวหน้ามากขึ้นหลังจากนี้

1808-1813 Interior of a House of Pleasure เป็นภาพต่อเนื่องบนแผ่นกระดาษ 5 แผ่น รวมความยาวทั้งสิ้น 130 ซ.ม. กว้าง 38.5 ซ.ม. แสดงบรรยากาศและวิถีชีวิตของผู้คนในบ้านสำราญ โดยคงมุมมองจากหลายตำแหน่งและรายละเอียดของแต่ละส่วนของบ้าน อีกทั้งอากัปกิริยาของผู้คนตามที่เป็นจริงอย่างละเอียด โฮะคุไซชอบเขียนภาพต่อเนื่องบนกระดาษ 2-3 แผ่น มีจำนวนไม่มากที่จะเขียนติดต่อกันถึง 5 แผ่น

1808-1813 Dance of the Gods at the Heavenly Cave แสดงภาพคัตเอาต์หมู่เทพเจ้าเริงระบำหน้าถ้ำ เมื่อตัดภาพตามรอยปรุมาติดกาวตั้งเป็นโรงละครกระดาษ จะเห็นความอัศจรรย์ของการคะเนระยะห่างและขนาดของฉากหน้าและฉากหลังอย่าแม่นยำ คือการฝึกฝีมือเรื่องการวางตำแหน่งฟอร์กราวด์และแบ๊กกราวด์อย่างดีที่สุด โฮะคุไซจะมีภาพคัตเอาต์ลักษณะนี้อีกหลายภาพ

1812-1814 Quick Lessons in Simplified Drawing Part 1-2 เป็นหนังสือคู่มือสอนวาดรูปแสดงเทคนิคการวาดรูปโดยมีโครงสร้างเรขาคณิตหรืออักขระเป็นพื้นฐาน

เขียนได้คือวาดได้