ในหลวงอานันทฯ ทรงอวยพรในงานวันชาติ 2482/My Country Thailand ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

My Country Thailand

ณัฐพล ใจจริง

 

ในหลวงอานันทฯ

ทรงอวยพรในงานวันชาติ 2482

 

“วันที่ 24 มิถุนายนว่าให้ชัด เป็นวันจัดฉลองชาติศาสนา ทั้งไพร่บ้านพลเมืองเรืองฦๅชา ไชโยมโหฬาร จะดูไหนก็วิไลขบวนแห่ ทั้งเสียงแตรดังก้องท้องสนาม รถธงชาติออกหน้ามหาฤกษ์ เอิกเกริกครื้นครั่นสนั่นไหว จะดูไหนก็วิไลไปทั้งนั้น สารพันจัดเสร็จเด็ดหนักหนา ไปดูแล้วเพลิดเพลินเจริญตา ชาวประชาร่าเริงบันเทิงใจ ให้ชาติไทยรุ่งเรืองกระเดื่องเดช ทั่วประเทศเกรงอำนาจไม่อาจหาญ ต่อไปภายหน้ากล้าสงคราม ขนานนามเรืองเดชประเทศไทย”

(หงส์ ภัทรนาวิก , 2482, คำนำ)

กลอนข้างต้น แต่งโดยชาวบ้านธรรมดาคนหนึ่ง ในช่วงเวลานั้น เขาแต่งขึ้นและพิมพ์แจกเป็นพุทธบูชา ให้พระสงฆ์และเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายทราบถึงการเปลี่ยนแปลงนี้

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2481 รัฐบาลพระยาพหลฯ มีมติให้วันที่ 24 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันชาติ”

ต่อมา รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้ผนวกการฉลองการแก้ไขสนธิสัญญากับต่างประเทศที่ไทยเคยทำมาแต่สนธิสัญญาเบาว์ริ่งจนหมดสิ้นเมื่อปี 2481 ให้จัดฉลองพร้อมกันในคราเดียวกับวันชาติในปี 2482 ด้วยชื่อ งานฉลองวันชาติและสนธิสัญญา อันสะท้อนให้เห็นว่า ชาติไทยได้มีเอกราชอย่างแท้จริงแล้ว

ควรบันทึกด้วยว่า ก่อนที่ความหมายของคำว่า “ชาติ” จะหมายถึง ความสำนึกถึงอัตลักษณ์ร่วมกันของกลุ่มคนขนาดใหญ่ว่าพวกตนเองนั้นมีสิทธิและเสรีภาพในฐานะสมาชิกของชุมชนนั้นและยังมีความชอบธรรมในการกำหนดความเป็นไปของชุมชนนั้นๆ อีกด้วย อันเป็นความหมายของชาติทางการเมืองตามแบบสมัยใหม่ตามข้อเสนอของแอร์เนสต์ เรอนอง (Ernest Renan) ที่รับรู้กันทั่วไปนั้น (แอร์เนสต์ เรอนอง, 2561)

“ชาติ” ในความหมายดั้งเดิมของไทยมิได้หมายถึงประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ แต่ชาติหมายถึง ชา-ติ อันแปลว่า กำเนิด ต่อมาคำดังกล่าวถูกนำมาผูกโยงเข้ากับความชอบธรรมทางการเมืองจนกลายมามีความหมายในเวลาต่อมาว่า ชาติ หมายถึง พระมหากษัตริย์

และเมื่อความรู้และวิทยาการไหลสมัยใหม่หลั่งไหลเข้าสู่ประเทศ ชาติตามความหมายเดิมจึงเริ่มถูกตั้งคำถามจากปัญญาชนมากยิ่งขึ้น

สมุดภาพและเข็มที่ระลึกงานวันชาติ 2482

การประชันขันแข่งของ “ชาติ”

ในช่วงปลายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เกิดการแข่งขันของแนวคิดเรื่องชาตินิยมดังที่แมตธิว โคปแลนด์ (Matthew Copeland) (1993) นักประวัติศาสตร์ที่เชี่ยวชาญเรื่องไทยเสนอว่า นับแต่ช่วงปลายระบอบเก่า เริ่มเกิดกระแสการต่อสู้ของแนวคิดชาตินิยม 2 กระแส

กล่าวคือ ชาติในความหมายแรกนั้น เกิดจากเหล่าปัญญาชนในราชสำนักได้รับคติความเชื่อดั้งเดิมที่ครอบงำสังคมอยู่อย่างยาวนานว่า พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงบุญญาบารมีเป็นหลักของอาณาจักร จนนำไปสู่ความเชื่อว่า สยามอยู่รอดปลอดภัยด้วยพระปรีชาสามารถของพระมหากษัตริย์ อันเป็นที่มาของความชอบธรรมแห่งการปกครองประชาชน และนับแต่รัชสมัยพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงได้พัฒนาแนวคิดเรื่องชาติ คือ พระมหากษัตริย์ ขึ้นมา จวบจนสมัยพระปกเกล้าฯ หนังสือพิมพ์และเหล่าปัญญาชนเริ่มนำเสนอแนวคิดว่าด้วยชาติในความหมายใหม่ว่า ชาติ คือ ประชาชน เพื่อโต้แย้งแนวคิดจากราชสำนัก (Matthew Phillip Copeland,1993, 209-210)

ดังเบน แอนเดอร์สัน (Ben Anderson) เสนอว่า ชาติเป็นจินตนาการร่วมกันของสังคม โดยชนชั้นนำมีบทบาทสำคัญในการสร้างจินตนากรรมเรื่องชาติให้กับสังคมนั้นยึดถือ (เบน แอนเดอร์สัน, 2552)

จะเห็นได้ว่า แนวคิดเรื่อง ชาติในสมัยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นเป็นชาติที่มีช่วงชั้นสูงต่ำที่ไม่เสมอภาคกันส่งผลทำให้ชาติตามความหมายเก่าถูกท้าทายจากปัญญาชนในช่วงปลายระบอบเก่า พวกเขาพยายามสร้างชาติตามความหมายใหม่โต้แย้งแนวคิดเดิมอย่างต่อเนื่อง แม้รัฐบาลและปัญญาชนในระบอบเก่าพยายามจะใช้ทุกกลไกในการปิดกั้น แต่ก็มิอาจหยุดยั้งแนวคิดใหม่ที่แพร่หลายมากยิ่งขึ้นจนในที่สุดเกิดการปฏิวัติ 2475 ขึ้น

สำหรับคนหนุ่มร่วมสมัยหลังการปฏิวัติเห็นว่า วันที่ 24 มิถุนายน คือ วันชาติอย่างแท้จริง เพราะเป็นวันที่ไทยเริ่มการปกครองใหม่ในระบอบประชาธิปไตย และเป็นวันที่เปลี่ยนชีวิตจิตใจชาวไทยทั้งชาติให้เป็นคนระบอบใหม่ มีสิทธิอิสระเสรี มีความเสมอภาคทั่วหน้ากันตามรัฐธรรมนูญ และอำนาจอธิปไตยอันเป็นอำนาจสูงสุดในการปกครอง แต่เดิมเป็นของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว มาบัดนี้เป็นของประชาชาติไทย ทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพ สมภาพและภราดรภาพทั่วหน้ากัน (บุญเรือน เกิดศิริ, 2483, 50-51)

อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานั้น บริบทสงครามโลกครั้ง 2 ที่เริ่มก่อตัวในยุโรปแล้ว เมื่อเยอรมนีบุกโปแลนด์ (2482) ส่วนในเอเชียเมื่อญี่ปุ่นเริ่มก้าวขึ้นมามีอำนาจด้วยบุกรุกแมนจูเรีย (2474) และติดตามด้วยการปะทะกันที่สะพานมาร์โคโปโล (2480) อันเป็นสัญญาณของสงครามใหญ่และกระแสชาตินิยมแพร่สะพัดมากขึ้น

ผนวกกับช่วงเวลานั้น ไทยเกิดการปฏิวัติ 2475 ติดตามด้วยการต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษนิยม แต่ในที่สุด คณะราษฎรสามารถปราบปรปักษ์ทางการเมืองปราบปรามปรปักษ์ทางการเมืองลงได้ นับแต่การล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ ลง (2476) การปราบกบฏบวรเดช (2476) ติดตามด้วยการสละราชย์สมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (2478) จนทำให้การเมืองของระบอบใหม่มีเสถียรภาพมากขึ้น

และเมื่อรัฐบาลประกาศให้วันที่ 24 มิถุนายนเป็นวันชาติ ซึ่งชาติมีความหมายใหม่ว่า คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ด้วยเหตุจากความมั่นคงทางการเมือง รัฐบาลคณะราษฎรที่ได้รับจากประชาชน ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจในความชอบธรรม ติดตามด้วย ประกาศให้มีการใช้ “เพลงวันชาติ” เป็นเฉลิมฉลองในวันชาติด้วย

ดังในเพลงมีข้อความที่สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงคติของชาติแบบเก่ามาสู่แบบใหม่ว่า

“ยี่สิบสี่มิถุนา- ยนมหาศรีสวัสดิ์ ปฐมฤกษ์ของรัฐธรรมนูญของไทยเริ่มระบอบแบบอารยประชาธิปไตย ทั่วราษฎรไทย ได้สิทธิเสรี…ชาติประเทศเหมือนชีวา ราษฎร์ประชาเหมือนร่างกาย…” (กรมโฆษณาการ, 2482, ก)

ในหลวงอานันทฯ ทรงเสด็จเปิดงานฉองรัฐธรรมนูญ 2481 และพระราชโทรเลขอวยพรงานวันชาติ 2482 เครดิตภาพ ชิษณุพงศ์ แจ่มปัญญา

“ขอให้ประชาชาติของเราและชาวไทย

จงมีความสุขสมบูรณ์ทุกประการ”

การจัดงานฉลองวันชาติที่เกิดขึ้นครั้งแรกในไทยขึ้น โดยขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงประทับอยู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงได้มีพระราชโทรเลขอวยพรประชาชนชาวไทยในโอกาสวันชาติ ซึ่งทางคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระนครก็ได้มีโทรเลขโต้ตอบกลับการอวยพรในวันชาติเป็นโทรเลขไปถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยช่นกัน

ทั้งนี้ พระราชโทรเลขฉบับนั้น พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสอวยพรถึงประชาชนไทยผ่านคณะผู้สำเร็จราชการฯ ว่า

“คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

กรุงเทพฯ

“เนื่องในโอกาสอันเป็นมหามงคลแห่งวันชาติของเรานี้ ข้าพเจ้าขอแสดงความปรารถนามาด้วยความยินดียิ่ง ขอให้ประชาชาติของเราและชาวไทยจงมีความสุขสมบูรณ์ทุกประการ”

(พระปรมาภิไธย) อานันท” (silpa-mag.com)

ทั้งนี้ พระองค์ทรงมีพระราชโทรเลขอวยพรประชาชนชาวไทยอย่างต่อเนื่อง จวบกระทั่งเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรป ส่งผลทำให้การติดต่อผ่านโทรเลขไม่สะดวก ดังนั้น พระราชโทรเลขอวยพรเมื่อคราวปี 2484 จึงเป็นคราวสุดท้าย

กล่าวโดยสรุป คำอวยพรที่ปรากฏในพระราชโทรเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณใส่พระทัยต่อกิจการบ้านเมือง อีกทั้งทรงยอมรับและร่วมยินดีกับ “ชาติ” ตามความหมายใหม่ของระบอบประชาธิปไตยด้วย