ว่าด้วย ‘ข้าวสาลี’ และ ‘วิกฤตอาหาร’ ในสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’/บทความพิเศษ จักรกฤษณ์ สิริริน

บทความพิเศษ

จักรกฤษณ์ สิริริน

 

ว่าด้วย ‘ข้าวสาลี’ และ ‘วิกฤตอาหาร’

ในสงคราม ‘รัสเซีย-ยูเครน’

 

“ข้าวสาลี” ธัญพืชที่ผูกพันกับ “วัฒนธรรม” ของคนยุโรปมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ก่อนส่งทอดไปยังชาวตะวันตกที่สืบเชื้อสายต่อๆ กันมาทั่วทุกมุมโลก

“วัฒนธรรม” ที่ว่าก็คือ “การกินขนมปัง” นั่นเอง

เพราะ “ขนมปัง” ทำมาจาก “แป้งข้าวสาลี” ที่มีอยู่ใน “เมล็ดข้าวสาลี” มากถึง 70%

ด้วยรากฐานการบริโภค “ขนมปัง” ของชาวยุโรป “วัฒนธรรมยุโรป” จึงผูกพันกับ “ข้าวสาลี” อย่างแยกไม่ออก

นับตั้งแต่กรีก ที่รับวัฒนธรรมการปลูกข้าวสาลีจากอียิปต์ พัฒนานวัตกรรมการอบขนมปังด้วยเตา ก่อนส่งต่อมายังโรมัน และกระจายไปทั่วยุโรป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อังกฤษ ฝรั่งเศส ที่อพยพไปยังอเมริกา ทำให้ขนมปังแพร่หลายไปทั่วโลกในพื้นที่ซึ่งชาวอังกฤษและชาวยุโรปเดินทางไปถึง

ต้องไม่ลืมว่า อารยธรรมยุโรปนั้นมี “รัสเซีย” อยู่ในสายธารวัฒนธรรมด้วย

เพราะ “รัสเซีย” อยู่ในยุโรป จึงย่อมมี “วัฒนธรรมขนมปัง” เช่นเดียวกับชาวยุโรป ดังนั้น “รัสเซีย” จึงเป็นประเทศหนึ่งซึ่งมีการผลิต “แป้งข้าวสาลี”

และแน่นอนอีกเช่นกัน ว่า “รัสเซีย” มีการปลูก “ข้าวสาลี” มาตั้งแต่ยุคโบราณ ตราบจนกระทั่งปัจจุบัน

ปัจจัยสำคัญ คือพื้นที่เพาะปลูกที่กว้างใหญ่ไพศาล มีดินอันอุดมสมบูรณ์ และสภาพอากาศที่เหมาะกับการเพาะปลูก “ข้าวสาลี”

ซึ่ง “รัสเซีย” พัฒนานวัตกรรมการปลูก “ข้าวสาลี” ควบคู่ไปกับเทคโนโลยีการผลิต “แป้งข้าวสาลี” เพื่อนำไปทำ “ขนมปัง” อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสนับสนุนทุกทางจากภาครัฐ ในการผลักดัน “รัสเซีย” ให้เป็นผู้ผลิตและส่งออก “ข้าวสาลี” ชั้นแนวหน้าของโลก

จนกระทั่งปัจจุบัน “รัสเซีย” แซงหน้า “สหรัฐอเมริกา” ในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวสาลีอันดับหนึ่งของโลก ที่ 40 ล้านตันต่อปีเป็นผลสำเร็จ

คิดเป็นสัดส่วนการส่งออก “ข้าวสาลี” มากถึง 20% สูงกว่าอันดับ 2 คือสหรัฐอเมริกาถึง 10 ล้านตันต่อปี

โดย “รัสเซีย” ได้ชื่อว่า เป็นชาติที่ผลิต “ข้าวสาลี” อันดับ 3 ของโลก ด้วยปริมาณ 90 ล้านตัน รองจาก “จีน” และ “อินเดีย”

ท่ามกลางสภาวะสงครามระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ครั้งนี้ “รัสเซีย” ใช้หมาก “ข้าวสาลี” กดดันยุโรปและโลก ที่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า “ข้าวสาลี” จาก “รัสเซีย”

ทำให้ “รัสเซีย” ถือไพ่เหนือกว่าพันธมิตรของ “ยูเครน” โดย “ข้าวสาลี” ถือเป็น “ไพ่ใบที่ 2” รองจาก “ไพ่พลังงาน” ที่ “รัสเซีย” ใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองทางเศรษฐกิจ และการเมืองในปัจจุบัน

เพราะทั้งยุโรปและทั้งโลก หลายชาติล้วนพึ่งพาทั้ง “พลังงาน” ของ “รัสเซีย” และทั้ง “ข้าวสาลี” เพื่อที่จะอยู่ต่อกันไปแบบวันต่อวัน พร้อมกับการมีวิถีชีวิตที่ดี

ยุโรปหลายประเทศต้องใช้พลังงานของ “รัสเซีย” ในการให้ความอบอุ่น ไม่ว่าจะเป็น “เครื่องทำความร้อน” หรือ Heater โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เครื่องทำน้ำอุ่น” เนื่องจากยุโรปเป็นเมืองหนาว

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวสาลี” ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการแปรสภาพเป็น “แป้งสาลี” สำหรับนำไปผลิต “ขนมปัง” ที่เป็นอาหารหลักของชาวยุโรป

ในท่ามกลางสภาวะสงครามระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ที่กำลังดำเนินอยู่นี้ ราคา “ข้าวสาลี” ในตลาดโลก ได้พุ่งทะยานมากถึง 40%

ส่งผลให้มีการคาดการณ์กันถึง “วิกฤตการณ์อาหาร” ที่กำลังจะเกิดขึ้นตามมาเป็นโดมิโน

ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า “สงครามครั้งนี้ อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารโลกครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2” เลยทีเดียว!

 

David Beasley ผู้อำนวยการ World Food Program ระบุว่า สงครามระหว่าง “ยูเครน” กับ “รัสเซีย” ครั้งนี้ อาจนำไปสู่ “วิกฤตการณ์อาหารโลก” ครั้งร้ายแรงที่สุด นับตั้งแต่ยุคสงครามโลกครั้งที่ 2

“ธัญพืช 50% ที่ World Food Program ซื้อเพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชน 125 ล้านคนทั่วโลก มาจากยูเครน” David Beasley กระชุ่น

ปัจจุบัน World Food Program เริ่มลดอาหารที่เคยแจกจ่ายในประเทศที่มีสงคราม เช่น เยเมน ซึ่งหลังจากเกิดสงคราม “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” World Food Program ได้ลดการแจกจ่ายอาหารลงไปถึงครึ่งหนึ่งแล้ว

“ปัญหาที่เราเผชิญก็คือ อัตราวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ราคาเชื้อเพลิง และค่าขนส่งถีบตัวสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด” David Beasley กล่าว และว่า

“รัสเซีย” และ “ยูเครน” ผลิต “ข้าวสาลี” รวมกันมากถึง 30% ของปริมาณ “ข้าวสาลี” ทั่วโลก นอกจากนี้ ยังผลิต “ข้าวโพด” รวมกัน 20% ของทั่วโลก และผลิต “น้ำมันเมล็ดทานตะวัน” รวมกัน 90% จากปริมาณทั่วโลก

“สงครามครั้งนี้ บีบให้เกษตรกรยูเครนต้องออกไปสู้รบ แทนที่จะได้ดูแลพืชผลในช่วงฤดูเพาะปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูเครนกำลังเผชิญภาวะขาดแคลนปุ๋ยจากรัสเซียอย่างหนัก ซึ่งอาจทำให้ยูเครนมีผลผลิตทางการเกษตรลดลงถึง 50% ในปีนี้”

David Beasley ชี้ว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เกิด “หายนะซ้อนหายนะ” และจะนำไปสู่ “ยุคข้าวยากหมากแพง”

“ประเทศต่างๆ จะขาดเสถียรภาพ และความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่การอพยพครั้งใหญ่”

ท้ายที่สุด ผมหวังว่า World Food Program คงจะไม่นำอาหารจากเด็กที่หิวโหย เพื่อเอาไปให้เด็กที่ขาดอาหารนะ David Beasley ทิ้งท้าย

 

ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในทุกๆ วัน ระหว่าง “รัสเซีย” กับ “ยูเครน” ซึ่งทั้งคู่คือผู้เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรรายใหญ่ของโลก อาจส่งผลต่อราคาสินค้าทางการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำไปสู่ “วิกฤตการณ์ด้านอาหาร”

ราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็น “ข้าวโพด” “น้ำมันดอกทานตะวัน” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ข้าวสาลี” พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด จากที่เคยทะยานไปแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปีมาแล้วก่อนหน้านี้

บรรษัทซื้อขายพืชผลข้ามชาติ ต่างพากันวิตกกังวลว่าปฏิบัติการทางทหารบริเวณพรมแดนของทั้ง 2 ประเทศ อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิต และทำให้ต้องสั่งซื้อสินค้าจากพื้นที่อื่น หรือเปลี่ยนไปสั่งซื้อพืชผลทางเลือกเพื่อนำมาทดแทนมากขึ้นเรื่อยๆ

เห็นได้จากราคา “ข้าวสาลี” ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าเพิ่มขึ้นมากกว่า 2% ราคาข้าวโพดก็เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 7 เดือน เช่นเดียวกับราคาถั่วเหลือง ซึ่งผลผลิตสำคัญของโลกทั้ง 3 ประเภทนี้ มีการขึ้นราคาไปถึง 40% เมื่อเทียบกับปีกลาย

 

Phin Ziebell นักเศรษฐศาสตร์การเกษตรของ National Australia Bank เผยว่า ความกังวลต่อการส่งออกสินค้าทางการเกษตรของกลุ่มประเทศทะเลดำ ได้ส่งผลกระทบต่อราคาผลผลิต และปริมาณอาหารโดยรวมในตลาดโลก

สอดคล้องกับ Refinitiv บริษัทวิจัยชั้นนำ ที่ระบุว่า ตัวเลข 70% ของ “ข้าวสาลี” ที่ “รัสเซีย” ส่งออกในช่วงนี้ สร้างความตึงเครียดเพิ่มขึ้นให้กับลูกค้าหลายราย ที่ทยอยหันไปซื้อผลผลิตจากภูมิภาคอื่นแทน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลผลิตทางการเกษตรประเภทอื่นที่สามารถทดแทนกันได้ ทั้งจาก “แคนาดา” และ “สหรัฐอเมริกา”

ซึ่งก่อนหน้านี้ FAO (Food and Agriculture Organization of the United Nations) หรือ “องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ” ได้ออกมาระบุว่า ราคาอาหารโลกในขณะนี้ สูงขึ้นเฉียดระดับสูงสุดในรอบ 10 ปีแล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น

Wendy Sherman รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ชี้ว่า Vladimir Putin ประธานาธิบดีรัสเซีย คือต้นตอสาเหตุหลักของวิกฤตการอาหารโลก

“กองกำลังรัสเซียได้ระเบิดเรือขนส่งสินค้าเกษตรในทะเลดำหลายลำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปิดกั้นการเข้าถึงท่าเรือยูเครนของกองทัพเรือรัสเซีย เพื่อไม่ให้ยูเครนส่งออกธัญพืช”

อย่างไรก็ตาม Vasily Nebenzya ทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ได้ออกมาโต้ว่า ราคาอาหารที่สูงขึ้นเป็นผลจากมาตรการลงโทษที่สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรชาติตะวันตกกระทำต่อรัสเซีย!