บทความนี้ เพื่ออาจารย์ฝ่ายปกครอง | ธงทอง จันทรางศุ

ธงทอง จันทรางศุ

สองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา มีหลายเรื่องที่เข้ามาสู่ความรับรู้ของผมและเกิดประเด็นคำถามขึ้นในใจหลายอย่าง

วันนี้จะขออนุญาตนำมาแบ่งปัน และชวนแฟนานุแฟนลองช่วยกันคิดตรึกตรอง

คิดแล้วจะได้ข้อสรุปอะไรเหมือนกันหรือไม่ ไม่เป็นไรครับ มนุษย์เราไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกันทุกคน

ผมอยากจะขึ้นต้นการเล่าเรื่องวันนี้ด้วยการย้อนหลังไปถึงประสบการณ์เมื่อครั้งที่ผมทำงานอยู่ในกระทรวงยุติธรรม

ในช่วงเวลาดังกล่าวผมมีภารกิจต้องแวะเวียนไปที่บ้านกาญจนาภิเษก ซึ่งเป็นศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิดและต้องมาอยู่ในความดูแลของกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน

แต่ที่บ้านกาญจนาภิเษกนี้มีวิธีทำงานที่แตกต่างจากศูนย์ฝึกอื่นๆ เพราะเราทำงานร่วมกันกับคนนอกที่เข้ามาเป็นผู้บริหารตามสัญญาจ้าง

คนนอกที่ว่านี้คือ คุณทิชา ณ นคร ซึ่งเด็กๆ เรียกว่าป้ามล

 

สิ่งที่เห็นสะดุดตาข้อแรกเมื่อผมเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานของบ้านกาญจนาภิเษก คือการแต่งกายของเด็กในบ้านนั้นเป็นการแต่งกายตามอัธยาศัยจริงๆ ใครจะแต่งตัวอย่างไร ไว้ผมอย่างไร พูดภาษาวัยรุ่นก็ต้องบอกว่า ได้หมดถ้าสดชื่น ในขณะที่ความทรงจำของผมส่งสัญญาณเตือนว่าเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกแห่งอื่น ต้องตัดผมสั้นเกรียน ใส่เสื้อนุ่งกางเกงแบบเดียวกันหมดร้อยละร้อย

เมื่อเห็นความแตกต่างอย่างนี้ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองที่ผมจะต้องคุยกับป้ามลว่าเกิดอะไรขึ้น

ป้ามลอธิบายว่า ตามความเห็นของเธอแล้วสิทธิในเนื้อตัวร่างกายของเด็กแต่ละคนเป็นเรื่องที่มีความสำคัญยิ่ง

ตัวของเขา หัวของเขา เขาจะแต่งตัวอย่างไร ไว้ผมอย่างไร ถ้าไม่เป็นที่เดือดร้อนกับคนอื่นแล้ว เราก็ต้องเคารพในความเป็นตัวตนของเขา

อีกทั้งประสบการณ์เหล่านี้จะหล่อหลอมให้เขามีความพร้อมที่จะเดินกลับไปสู่สังคมภายนอกเพื่อเป็นสมาชิกที่มีคุณภาพต่อไปในวันข้างหน้า

เพราะในสังคมภายนอกรั้วบ้านกาญจนาภิเษกนั้น เด็กๆ ต้องรับผิดชอบตัวเขาเอง

 

ป้ามลเล่าด้วยว่า แรกที่มีแนวปฏิบัติอย่างนี้ เมื่อถึงวันที่เด็กจะต้องไปรายงานตัวกับศาลเด็กฯ ซึ่งเวลานั้นตั้งอยู่ที่ใกล้กับท้องสนามหลวง ด้วยข้อจำกัดในเรื่องยานพาหนะของบ้านกาญจนาภิเษกซึ่งมีรถยนต์อยู่เพียงแค่คันเดียวแต่ต้องใช้งานสารพัด ป้าจึงให้เด็กขึ้นรถเมล์ไปกันเองจากบ้านกาญจนาภิเษกซึ่งตั้งอยู่ที่ศาลายา ลึกล้ำตำบลพอสมควรครับ เพื่อเดินทางไปที่ศาลโดยไม่ต้องมีครูหรือผู้คุมกำกับไป

ป้ามลอธิบายเพิ่มเติมอีกนิดหนึ่งว่า การที่เด็กแต่งกายชุดลำลองขึ้นรถเมล์ไปอย่างนั้น เห็นได้ชัดว่าเด็กได้ฝึกการอยู่ร่วมกับสังคม ซึ่งเป็นชีวิตจริงที่จะต้องพบในอนาคต ขณะเดียวกันผู้โดยสารรถเมล์คนอื่นก็ไม่รู้สึกหวาดกลัวระแวงภัยกับเด็กๆ เหล่านี้

การแต่งกายลำลองของเด็กแต่ละคนซึ่งเลือกเอาชุดหล่อที่สุดสำหรับเดินทางไปศาลเป็นดุลพินิจของเด็กเองโดยอิสระ

เมื่อเด็กเดินทางไปถึงศาล ผู้พิพากษาท่านตื่นเต้นและตกใจมากกับภาพที่ได้เห็น เพราะเป็นการลบล้าง “วินัย” ที่ผู้พิพากษาศาลเด็กฯ ได้เคยเห็นมาตลอดชีวิต นี่มันอะไรกัน ทำไมเด็กถึงแต่งกายเลอะเทอะ ไม่แต่งเครื่องแบบ ไม่ตัดผมสั้น แล้วนี่จะปกครองดูแลกันอย่างไร ใครเป็นผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ปล่อยปละละเลยอย่างนี้ได้อย่างไร

ว่าแล้วท่านก็โทรศัพท์หาป้ามลเป็นการด่วนเพื่อขอคำอธิบาย

 

ป้ามลก็อธิบายอย่างที่อธิบายให้ผมฟังนี่แหละครับ พร้อมทั้งอธิบายเพิ่มเติมเรื่องความเชื่อมั่นว่า เด็กจำนวนนี้เมื่อเสร็จภารกิจที่ต้องรายงานตัวต่อศาลแล้ว ทุกคนจะขึ้นรถเมล์เดินทางกลับมาที่บ้านกาญจนาภิเษกตามกำหนดเวลา ภายในเวลา 4 โมงเย็นทุกคนจะมาอยู่ที่บ้านเรียบร้อย

การที่เด็กสามารถรับผิดชอบตัวเองได้ เดินทางไปศาลตามกำหนดนัดหมาย เสร็จเรื่องราวแล้วก็ขึ้นรถเมล์กลับมาบ้านกาญจนาภิเษกโดยไม่มีใครหลบหนีไปไหน ทั้งหมดนี้คือ “วินัย” ในสายตาของป้ามล

วินัยคือการที่เด็กแต่ละคนรับผิดชอบชีวิตของตัวเองได้ ซื่อตรงต่อหน้าที่ ทั้งหมดนี้โดยไม่ต้องมีใครบังคับกะเกณฑ์ หากแต่เกิดขึ้นจากการตะล่อมของผู้ใหญ่ทีละเล็กทีละน้อยเพื่อให้เด็กคิดได้เองโดยไม่ต้องใช้ไม้เรียวหรือการลงโทษเป็นเครื่องมือ

เย็นวันนั้นทุกอย่างก็เรียบร้อยตามที่ป้ามลให้คำยืนยันไว้กับท่านผู้พิพากษา

ตรงนี้แหละครับที่ผมจะชวนท่านทั้งหลายคิดประเด็นต่อเนื่องไป

 

เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา โรงเรียนประถมมัธยมหลายแห่งเปิดภาคการศึกษา นักเรียนกลับมาเรียนในห้องตามปกติ เด็กที่เคยอยู่บ้านมาเกือบสองปีได้กลับมาสู่ห้องเรียนอีกครั้งหนึ่ง ผมจึงได้พบข่าวตามสื่อมวลชนบ่อยครั้งเรื่อง “ศึกทรงผม” ระหว่างครูกับนักเรียน ทั้งๆ ที่กฎระเบียบส่วนกลางของกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ผ่อนผันเรื่องนี้ลงไปมากแล้ว

แต่คุณครูจำนวนไม่น้อยก็ยังสนุกกับการกล้อนผมนักเรียน

สนุกเป็นบ้า แล้วก็เป็นบ้าไปจริงๆ เสียด้วย

 

ผมมานั่งคิดต่อไปอีกนิดหนึ่ง วินัยนั้นเป็นของดีและจำเป็นสำหรับคนบางกลุ่มและในบางสถานการณ์ เช่น กองทัพต้องมีวินัย พระภิกษุสงฆ์ต้องอยู่ในความประพฤติที่ตรงตามพระวินัยบัญญัติ

สำหรับนักเรียนเองผมก็คิดว่าต้องมีวินัยในบางเรื่องบางสถานการณ์ เช่น การตรงต่อเวลา มารยาทในการอยู่ร่วมกันกับคนหมู่ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนหรือกิจกรรมอื่น

แต่ขณะเดียวกัน ผมก็อดคิดไม่ได้ว่า วินัยนั้นควรมีเท่าที่จำเป็นแก่กรณี และต้องมีการทบทวนความเหมาะสมอยู่ตามวาระโอกาส

อย่าให้การดำรงอยู่ของกฎกติกามีคำอธิบายเพียงแต่ว่าเพราะเคยทำกันมาอย่างนี้

ข้อสำคัญคือต้องตอบคำถามให้ได้ว่า วัตถุประสงค์ของการมีวินัยในเรื่องเหล่านั้นมีขึ้นเพื่ออะไร และควรมีอยู่ต่อไปหรือปรับปรุงอย่างไรบ้าง

ซ้ำยังต้องชั่งน้ำหนักถ่วงดุลกันด้วยว่า ในแง่มุมหนึ่ง วินัยได้กดทับความคิดสร้างสรรค์บางเรื่อง วินัยบางเรื่องกระทบถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และโอกาสที่จะพัฒนามนุษย์ให้เต็มศักยภาพ

และพูดไปทำไมมี จริงหรือไม่ถ้าจะถามตัวเองว่า วินัยบางเรื่องบางกลุ่มเป็นการเพิ่มพูนอำนาจนิยมขึ้นโดยไม่มีเหตุผลที่สมควรเพียงพอ

เราจึงจำเป็นต้องทบทวนตัวเองอยู่เสมอว่า วินัยที่เราเห็นว่าเป็นของดีเลิศประเสริฐศรี มีเหตุผลอย่างไรสำหรับความจำเป็นต้องรักษาวินัยในเรื่องนั้นให้คงอยู่ตลอดไป มนุษย์น่าจะฉลาดเพียงพอที่จะคิดประเด็นเหล่านี้ได้โดยรอบด้าน และหาคำตอบที่เป็นปัจจุบัน

ไม่ใช่คำตอบหลงยุคหลงอดีตอย่างที่เราชอบตอบกันอยู่เสมอ

 

ผมจะรู้สึกเป็นพระคุณมากถ้ามีใครสำเนาบทความนี้ไปให้อาจารย์ฝ่ายปกครองตามโรงเรียนต่างๆ ได้อ่านเพื่อช่วยกันตอบคำถาม ว่าการที่เด็กนักเรียนบ้านเราต้องตัดผมสั้นติดหนังศีรษะ หรือต้องอะไรอีกสารพัดต้อง สร้างคุณค่าอะไรขึ้นมาได้บ้าง ขณะเดียวกันกับที่ลดทอนคุณค่าอะไรลงไปบ้าง

ถ้าการตัดผมสั้นเป็นของดีจริง รบกวนอาจารย์ฝ่ายปกครองช่วยกล้อนผมท่านผู้อำนวยการก่อนเถิด

เผื่อว่าการศึกษาของประเทศไทยจะได้เจริญก้าวหน้าดีกว่าทุกวันนี้ ฮา!