วงค์ ตาวัน : เจตนาเล็งเห็นผล

วงค์ ตาวัน

 

เวลาหลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ย่างเข้าสู่วันที่ 15 พฤษภาคม นายสมร ไหมทอง ขับรถตู้กลับจากนำนักท่องเที่ยวไปส่งเข้าที่พักในโรงแรมย่านราชปรารภ แล้วมุ่งหน้าไปบ้านพักของตนเอง โดยขับไปตามถนนราชปรารภ มุ่งหน้าแยกมักกะสัน โดยไม่รู้ว่า ศอฉ. ได้เข้าควบคุมพื้นที่ย่านนั้น เป็นเขตห้ามผ่าน ห้ามนำพาหนะเข้า

กองกำลังทหารที่รักษาการณ์บริเวณนั้น เห็นรถตู้สีขาววิ่งฝ่าแนวหวงห้ามเข้ามา จึงได้ใช้โทรโข่งประกาศเตือนให้หยุด แต่รถตู้ก็ไม่หยุด เพราะนายสมรคนขับไม่ได้ยินเสียงประกาศ และไม่รู้มาก่อนว่ามีการควบคุมพื้นที่

เมื่อรัฐบาลให้ ศอฉ. มีอำนาจดำเนินการแก้ไขสถานการณ์อย่างเด็ดขาด เมื่อมีการใช้เจ้าหน้าที่ทหารเข้าตรึงพื้นที่ต่างๆ พร้อมอาวุธจริงและกระสุนจริง

“ภายใต้ความหวาดระแวงว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ปะปนอยู่กับผู้ชุมนุม พร้อมจะยิงใส่เจ้าหน้าที่ตลอดเวลา”

เพียงรถตู้สีขาว ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่วิ่งเข้าเขตหวงห้าม โดยไม่รู้เรื่อง ไม่ได้ยินเสียงจากโทรโข่ง

แต่เมื่อใช้ทหารเข้ามาปฏิบัติ พร้อมอาวุธสงครามและกระสุนจริง ไม่ได้ใช้ตำรวจปราบจลาจลพร้อมแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

“ในนาทีฉุกเฉินนั้น ทหารก็ต้องใช้อาวุธสงครามในมือที่รัฐบาลและ ศอฉ. อนุญาตให้ใช้ ก็คือระดมยิงใส่รถตู้!”

กระสุนจากมือเจ้าหน้าที่ ศอฉ. ชุดนั้น ถูกนายสมรหลายจุดได้รับบาดเจ็บสาหัส รถตู้พรุนทั้งคัน

ต่อมาเจ้าหน้าที่ได้กรูกันเข้าตรวจค้นรถคันนั้น ไม่พบอาวุธหรือหลักฐานอะไรว่าจะเป็นรถของผู้ก่อการร้าย มีเพียงร่างคนขับเลือดท่วม จึงให้รถพยาบาลกู้ภัยนำส่งโรงพยาบาล

แต่ห่างจากรถตู้ไม่ไกลนัก มีอีก 2 ร่างที่โดนกระสุนชุดเดียวกันนี้เข้าด้วย

นายสมรคนขับรถตู้ยังโชคดีที่เพียงสาหัส แต่อีก 2 คนที่ยืนอยู่ริมถนน โดนกระสุนนอนตายเลือดนองอยู่กับพื้นถนน

“คนหนึ่งชื่อ นายพัน คำกอง อาชีพขับรถแท็กซี่ อีกรายเป็นเด็กชายวัย 12 ปี ชื่อ ด.ช.คุณากร ศรีสุวรรณ หรือ “อีซา” เด็กกำพร้าจากบ้านสงเคราะห์ ซึ่งออกมาดูเหตุการณ์และวิ่งเล่นสนุกสนานอยู่แถวนั้น”

นี่เพียงเหตุเดียวในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ในช่วงกระชับพื้นที่ของ ศอฉ.

เพียงกระสุนจริงชุดเดียวก็ทำให้บาดเจ็บสาหัส 1 ตายอีก 2 ศพ

ถ้ารัฐบาลขณะนั้น ยึดตามหลักสากลในการแก้ปัญหาม็อบ ก็ต้องใช้ตำรวจปราบจลาจล ใช้ปืนยิงกระสุนยาง และแก๊สน้ำตา

แล้วถ้านายสมรขับรถเข้าเขตหวงห้ามก็อาจโดนยิงด้วยกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตาที่ไม่ทำให้ถึงแก่อันตรายต่อชีวิต นายพัน คำกอง และน้องอีซา ก็ไม่ต้องตายไปด้วย

และทั้งเหตุการณ์ 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 มีคนตาย 99 คน ก็ไม่พบว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำแม้แต่ศพเดียว

มีตัวเลขที่เผยแพร่โดยทั่วไป หลังเหตุการณ์สลายม็อบแดงเมษายน-พฤษภาคม 2553 ระบุว่า ศอฉ. ใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการรวมกว่า 6 หมื่นนาย ใช้กระสุนจริงไปทั้งสิ้นเกือบ 2 แสนนัด และกระสุนของหน่วยซุ่มยิงราว 500 นัด

ถ้าเป็นการใช้กำลังและกระสุนจริง ไปในภารกิจเพื่อศึกสงครามปกป้องอธิปไตยตามแนวชายแดน ก็ไม่น่าแปลกอกแปลกใจ

“แต่นี่คือตัวเลขที่ใช้ในการแก้ไขสถานการณ์การชุมนุมประท้วงของ นปช. ที่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา เหตุเกิดใจกลางเมืองกรุงเทพฯ โดยรัฐบาลและ ศอฉ. อ้างเหตุผลว่ามีผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ ลอบสังหารเจ้าหน้าที่ จึงต้องใช้ทหารและกระสุนจริง”

เริ่มความรุนแรงตั้งแต่ 10 เมษายน ไปจบลงในวันที่ 19 พฤษภาคม เป็นเวลาเดือนเศษ ลงเอยตายไป 99 ศพ ไม่มีผู้ก่อการร้ายแม้แต่ศพเดียว

อย่างนี้ถือว่าผิดพลาดร้ายแรงหรือไม่ ข้ออ้างที่นำมาใช้ ถูกต้องชอบธรรมแล้วหรือ

“อ้างว่าจะจัดการกับผู้ก่อการร้าย ชายชุดดำ สุดท้ายที่ตายเป็นชาวบ้านทั้งนั้น อย่างนี้แล้วจะจบลงไปเฉยๆ โดยไม่ต้องรับผิดชอบได้หรือ!?”

กล่าวกันว่า เพราะผู้นำการเมืองนั้นยังอ่อนหัด จึงไม่คาดคิดว่า การปล่อยให้มีการนำกำลังเจ้าหน้าที่หน่วยรบพร้อมอาวุธจริงและกระสุนจริง กระจายไปตามพื้นที่ต่างๆ ทั่ว กทม. ประจันหน้ากับผู้ชุมนุม

โดยกองกำลังพร้อมอาวุธจริงหลายหมื่นคนนั้น แยกซอยออกเป็นหลายชุด หลายทีม พร้อมจะลั่นไกปืนตลอดเวลา

“สภาพการณ์เช่นนี้ใครจะสามารถควบคุมปฏิบัติการไม่ให้ผิดพลาดบานปลายได้”

“เอาอะไรมาคิด ว่าปล่อยคนถืออาวุธหลายหมื่นไปลงภาคสนาม แล้วจะไม่มีความผิดพลาด!!”

ปล่อยให้คนหลายหมื่นถือปืนพร้อมคำอนุญาตให้ใช้ได้ เข้าไปอยู่ในเขตเมืองหลวง ที่ยังมีทั้งผู้ชุมนุมที่เป็นชาวบ้านจำนวนมากมาย มีทั้งประชาชนที่อยู่อาศัยในย่านนั้น มีทั้งคนที่อยากรู้อยากเห็นเหตุการณ์

ผู้มีอำนาจสั่งการ มีอะไรมั่นใจว่า จะยิงโดนเฉพาะชายชุดดำและผู้ก่อการร้ายเท่านั้น

ดังเหตุการณ์รถตู้รับส่งนักท่องเที่ยวถูกระดมยิง จนบาดเจ็บสาหัส แล้วคนที่เดินอยู่ริมถนน ตายไปอีก 2 ในจำนวนนี้มี ด.ช.อีซา วัย 12 ปี

หรือที่ปากซอยรางน้ำ มีน้องเฌอ วัย 17 ปี สวมเสื้อยืดกางเกงยีนส์ขาสั้น ถูกสไนเปอร์ยิงเข้าที่ศีรษะนอนตายบนฟุตปาธ

ที่วัดปทุมวนาราม น้องเกด พยาบาลอาสา ไปช่วยชาวบ้านในวัดแท้ๆ ก็ถูกยิงตาย

เหตุที่โลกนี้ มีมาตรการใช้ตำรวจปราบจลาจลในการควบคุมการชุมนุมประท้วง เพราะมีข้อสรุปชัดเจนแล้วว่า การให้เจ้าหน้าที่รัฐเผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมประท้วง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ย่อมต้องใช้อาวุธในมือเพื่อแก้ไขวิกฤต หรือเพื่อปกป้องตัวเอง

ถ้าให้เจ้าหน้าที่ถือปืนจริง ก็ต้องยิงคนตาย

ถ้าให้เจ้าหน้าที่ถือโล่ป้องกันตัว มีกระบองใช้ตอบโต้ อย่างมากก็ปืนกระสุนยาง แก๊สน้ำตา ก็จะไม่มีผลทำให้ผู้ชุมนุมต้องล้มตาย

“มีข้อสรุปทั่วโลก ให้ใช้ตำรวจปราบจลาจล โล่ กระบอง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา จะได้ไม่มีชาวบ้านตาย”

ประเทศไทยก็มีข้อสรุปเช่นนี้หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 โดยรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน มีมติให้ยกเลิกอำนาจทหารในการเข้ามาปฏิบัติการใน กทม. ให้ทุ่มงบประมาณจัดตั้งหน่วยปราบจลาจล ซื้ออุปกรณ์สลายม็อบที่ไม่ทำให้คนตาย ตามมาตรฐานโลก

รัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ สลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 ก็ใช้มาตรการตามหลักสากลนี้ แต่ก็มีคดี จนป่านนี้ยังไม่เสร็จสิ้น

“แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์-สุเทพ กลับย้อนไปใช้มาตรการหน่วยรบพร้อมกระสุนจริง อ้างว่าป้องกันตัวจากก่อการร้าย”

ผลสุดท้ายที่ตายทั้งหมดไม่มีผู้ก่อการร้ายตามข้ออ้างในการอนุญาตให้ใช้กระสุนจริงเลย เป็นบทสรุปที่ประจานความจริงชัด

หากรัฐบาลไหนตัดสินใจใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาย่อมเล็งเห็นผลว่า ไม่ต้องการให้ผู้ชุมนุมต้องเสียเลือดเนื้อและชีวิต

“ส่วนรัฐบาลไหนที่ให้ใช้กระสุนจริง จะไร้เดียงสาไม่รู้เลยหรือว่าจะเกิดอะไร ย่อมเล็งเห็นผลที่ตามมาได้อย่างแน่นอน”

แล้วเคยคิดว่าจะรับผิดชอบอะไรบ้างไหม

“ผมไม่นึกไม่ฝันว่าเรามีรัฐที่ได้ทำร้ายประชาชนถึงขั้นเสียชีวิต บาดเจ็บสาหัสแล้ว เรายังมีรัฐที่พยายามยัดเยียดความผิดกลับไปให้ประชาชนอีก เป็นพฤติกรรมที่รับไม่ได้ครับ”

นี่คือคำกล่าวจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต่อรัฐบาลนายสมชาย หลังเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551

ทั้งยังกล่าวด้วยว่า

“ไม่มีที่ไหนในโลกที่ประชาชนถูกทำร้ายจากภาครัฐแล้วรัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่แสดงความรับผิดชอบ ไม่มี”