ผู้ว่าฯ ชัชชาติ-นายกฯ ชัชชาติ | วงค์ ตาวัน

วงค์ ตาวัน

ไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างการเดินถนนเพื่อพบปะประชาชนทุกวี่ทุกวันของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะมีเสียงชาวบ้านทักทาย เรียก “ผู้ว่าฯ ชัชชาติ” บ้าง หรือเรียก “นายกฯ ชัชชาติ” ก็มีอยู่มากมาย เพราะคนจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่า คุณสมบัติเช่นนี้ มีประชาชนลงคะแนนให้ถึงเกือบ 1.4 ล้านเสียงเช่นนี้

ไม่ควรเป็นแค่ผู้ว่าราชการ กทม.แล้ว

น่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีบริหารประเทศไปเลย

นั่นแสดงว่า ข้อวิเคราะห์หรือการสำรวจผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ในเมืองหลวงนั้น

ที่มีการบ่งชี้ว่า เป็นการสะท้อนภาพการเมืองใหญ่ไปในตัว เป็นการส่งสัญญาณว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องเกินเลย

เพราะเลือกทั้งนายชัชชาติเป็นผู้ว่าฯ ด้วยคะแนนเสียงที่เหนือกว่า ผู้สมัครจากค่าย กปปส. จากสายพันธมิตรเสื้อเหลือง และจากคนสนิท พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แบบหลายเท่าตัว

แล้วยังเลือก ส.ก.สังกัดพรรคฝ่ายค้านเป็นเสียงข้างมาก ทั้งเพื่อไทยที่ได้ 20 ส.ก. และก้าวไกลที่ได้ 14 ส.ก.

เป็นการส่งสัญญาณถึงการเลือกตั้งใหญ่ ถึงการเมืองระดับชาติไปในตัว

เพราะสถานการณ์ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เป็นช่วงที่ยากลำบากสุดขีด จากปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง

รัฐบาลไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่มีอะไรบ่งบอกว่า จะแก้ไขราคาน้ำมันที่พุ่งทะยานไปเรื่อยๆ ได้ และส่งผลให้สินค้าทุกชนิด แพงขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยเช่นกัน

แม้กระทั่งอาหารง่ายๆ ริมถนน ก็ต้องพาเหรดขึ้นราคาถ้วนหน้า ไม่ว่าโจ๊ก ข้าวต้ม ก๋วยเตี๋ยวริมถนน ปาท่องโก๋ กล้วยทอด เจอพิษราคาน้ำมันปาล์ม น้ำมันพืช ก็ไม่สามารถจะตรึงราคาเอาไว้ได้

คนที่เดินเข้าคูหาเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. จะเต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกเช่นไร!?

แม้จะมีการโต้แย้งว่า ก็แค่เลือกตั้งผู้ว่าฯ และสภาท้องถิ่น เป็นการเลือกเพียงจังหวัดเดียว จะเป็นตัวสะท้อนการเมืองใหญ่ได้อย่างไร

พูดแบบนี้คงลืมไปว่า กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางการบริหารการปกครอง

ทำเนียบรัฐบาล ที่นั่งทำงานของนายกฯ กระทรวงกรมกองต่างๆ ที่นั่งทำงานของเหล่ารัฐมนตรี อยู่ใน กทม.ทั้งสิ้น

จนเปรียบกันว่ากรุงเทพฯ ก็คือประเทศไทย หมายถึงการเป็นศูนย์รวมอำนาจทุกสิ่งทุกอย่าง

เพราะฉะนั้นการเลือกผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก.ย่อมสามารถเป็นเครื่องสะท้อนการเลือกตั้งใหญ่ได้

นี่จึงเป็นที่มา ของเสียงจากประชาชนที่เรียกผู้ว่าฯ ชัชชาติบ้าง และจำนวนมากเรียกว่านายกฯ ชัชชาติกันไปเลย

ความจริง การเลือกนายชัชชาติแบบถล่มทลาย ไม่ใช่แค่กระแสเห่อตามกันไปแต่อย่างใด เนื่องจากคนส่วนใหญ่ได้เห็นท่วงทำนองการทำงานด้านบริหาร การวางตัวในทางการเมือง มาอย่างยาวนานแล้ว จนเกิดฉายาบุรุษผู้แข็งแกร่งในปฐพีมาก่อนหน้านี้แล้ว

เห็นกันตั้งแต่เป็นรัฐมนตรีคมนาคม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเป็นผู้คุมกระทรวงคมนาคมที่ไม่มีเรื่องเสียหายอะไรเลย แถมเดินหน้าทำงานอย่างหนัก นั่งรถไฟไทยสัมผัสข้อเท็จจริง และเป็นตัวจักรในโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่ถูกล้มไปเพราะเกมการเมือง

ทั้งขยันแข็งแกร่ง ติดดิน มากด้วยความรู้และวิสัยทัศน์ สุภาพอ่อนน้อมเข้าหาประชาชน เพื่อรับฟังรับรู้ปัญหา

เมื่อตั้งใจจะลงสมัครตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. ก็เริ่มลงเดินถนนทั่วกรุงเทพฯ มาหลายปี ร่วมรับรู้และแก้ปัญหาของชาวบ้านตามชุมชนต่างๆ มาตลอด แล้วยังคงเส้นคงวาดังเดิม คือ ขยัน ติดดิน ทุ่มเท และอ่อนน้อม

ดังนั้น ผลเลือกตั้งที่ได้รับคะแนนอย่างท่วมท้นล้นหลาม จึงเป็นเสียงที่มั่นอกมั่นใจว่าต้องคนนี้แน่ๆ

จึงทำให้มีเสียงสะท้อนว่า หลังการเลือกผู้ว่าฯ แล้ว ขั้นต่อไปต้องเลือกชัชชาตินี่แหละเป็นนายกฯ แก้ไขปัญหาประเทศชาติ

กล่าวกันว่าคุณสมบัติ ติดดิน ขยันขันแข็ง ทุ่มเท และอ่อนน้อม แถมด้วยความรู้ความคิดวิสัยทัศน์

ยิ่งเป็นข้อเปรียบเทียบกับผู้นำการเมือง จึงยิ่งต้องการให้นายชัชชาติไปเป็นนายกฯ มากกว่า

เพราะทำงานไม่มีหยุดเสาร์-อาทิตย์ ไม่เก็บตัวในกรมกอง จึงไม่รู้ร้อนรู้หนาวปัญหาสังคม วิสัยทัศน์ระดับเท่าทันโลก และไม่บ้าอำนาจ ใช้อำนาจ จนยิ่งปิดหูปิดตาตัวเอง

เวลานายชัชชาติอธิบายโครงการโครงงานต่างๆ ต่อสาธารณะ มีทั้งท่วงทำนองของอาจารย์ที่บรรยากาศตำราวิชาการยากๆ ให้คนฟังเข้าใจได้ง่ายๆ และมีทั้งท่วงทำนองของคนที่รอบรู้งานบริหารอย่างเป็นจริง

ไม่ใช่ก้มหน้าก้มตาอ่านเอกสารแบบลิ้นรัวๆ รีบๆ จนจบไปเมื่อไหร่คนฟังก็ตามไม่ทัน

ยิ่งกว่านั้นคือแนวคิดและจุดยืนทางการเมือง เป็นนักประชาธิปไตยเต็มตัว เติบโตมาในฝ่ายประชาธิปไตย

เป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกจับถุงดำคลุมเมื่อตอนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

รัฐประหารที่ใช้อำนาจกองทัพใช้กำลังอาวุธ นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนปัจจุบันนี้นั่นเอง

เมื่อผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มีผลสะเทือนไปยังการเมืองใหญ่ ทำให้หลายคนต้องนึกย้อนถึงเส้นทางการเมืองของนายชัชชาติ โดยเมื่อย้อนไปดูการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ซึ่งชัชชาติมีชื่อเป็น 1 ใน 3 ของบัญชีแคนดิเดตนายกฯ พรรคเพื่อไทย

ที่สำคัญพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้ง มี ส.ส.จำนวนมากที่สุดด้วย ควรจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาล

แต่เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เขียนในยุครัฐประหาร ได้กำหนดกติกาพิลึกพิลั่น ให้ 250 ส.ว.ร่วมโหวตนายกฯ ด้วย นั่นแปลว่า พล.อ.ประยุทธ์ มีเสียงโหวตของตัวเอง 250 เสียง ได้เปรียบกว่าทุกพรรคไปก่อนแล้ว ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคต้องทิ้งอุดมการณ์โดดเข้าร่วมกับพลังประชารัฐ จนได้เป็นรัฐบาล

เพราะมี 250 ส.ว. เป็นหวยล็อกล่วงหน้า ส่งผลกดดันให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องเข้ามาสยบยอม

แต่ถ้าการเมืองไทยมีกติกาเป็นประชาธิปไตยปกติ พรรคเพื่อไทยต้องได้จัดตั้งรัฐบาล อาจจะมีโอกาสได้นายกฯ ชื่อชัชชาติแล้วก็ได้

เหตุที่หลายคนคิดถึงการเลือกตั้ง 2562 เพราะชื่อชัชชาติ เป็นคู่ชิงนายกฯ ด้วย

ถ้าหากชัชชาติเป็นผู้นำการเมืองไทยตั้งแต่ 2562 เชื่อกันว่า เมื่อประเทศเจอวิกฤตโควิด เจอวิกฤตเศรษฐกิจ เจอวิกฤตน้ำมันแพง เราจะมีรัฐบาลที่มากด้วยวิสัยทัศน์ ลงมือแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ดีกว่านี้

ไม่ใช่อ้างว่า เป็นปัญหาระดับโลก ทั้งโลกก็เจอแบบนี้ แล้วปล่อยไปตามยถากรรมเช่นนี้

ที่สำคัญถ้าการเมืองไทยไม่มีพิษภัยรัฐประหารตั้งแต่ปี 2557 ที่ฉุดเศรษฐกิจให้ถดถอย และความเป็นรัฐบาลทหาร ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อนักธุรกิจการค้าทั่วโลกได้

ภาพรวมทางเศรษฐกิจคงไม่เริ่มดิ่งลงตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา

ครั้นมาเจอโควิดในปี 2563 ทำให้ต้องล็อกดาวน์ ธุรกิจการค้าหยุดชะงัก การท่องเที่ยวหยุดนิ่ง แถมการบริหารจัดการวัคซีนยังล่าช้าในช่วงต้น ทำให้การฟื้นตัวล่าช้า

ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ ไม่ใช่รัฐบาลท่านนายพล จะมากด้วยความรู้และวิสัยทัศน์ ในการคลี่คลายได้รวดเร็ว

เมื่อดูท่วงทำนองของนายชัชชาติ ในสนามผู้ว่าฯ กทม. และเริ่มลงมือทำงานแล้วอย่างได้ใจชาวบ้าน

หลายคนอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเลือกตั้งปี 2562 ไม่มีอำนาจ 250 ส.ว.อยู่เหนือเสียงเลือกตั้งของประชาชน

ถ้าได้ชัชชาติเข้ามาเป็นผู้นำการบริหารประเทศ อะไรต่อมิอะไรย่อมดีกว่านี้!