จรัญ มะลูลีม : จากเนห์รูถึงโมดี นโยบายต่างประเทศของอินเดียที่เปลี่ยนไป (จบ)

จรัญ มะลูลีม

ในขณะที่ผู้นำของจีนอย่าง สี จิ้น ผิง เป็นผู้นำคนแรกๆ ที่ไปเยือนกรุงวอชิงตัน ภายใต้ผู้นำคนใหม่ของสหรัฐมีเสียงสนับสนุนอินเดียจากสหรัฐอยู่บ้าง เมื่ออินเดียมีปัญหาชายแดนกับจีนว่าด้วยเมืองโดคลาม ดินแดนโดคลาม (Doklam) เป็นเขตแดนที่อยู่ใกล้จุดผ่านระหว่างอินเดีย จีนและภูฏาน ซึ่งดินแดนดังกล่าวได้รับการยอมรับให้เป็นของอินเดียภายใต้ข้อตกลงปี 1890 ระหว่างจีนกับอังกฤษ

เหตุการณ์ในโดคลามเกิดขึ้นทันทีหลังจากอินเดียและปากีสถานได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การความร่วมมือชังไห่ (Shanghai Cooperation Organisation) หรือ SCO

ในองค์กรนี้จีนและรัสเซียเป็นสมาชิกแนวหน้าของกลุ่ม องค์กรดังกล่าวประเทศตะวันตกมองว่าเป็นแรงบันดาลใจที่จะให้เป็นนาโต้ของเอเชีย

รัฐบาลโมดีเริ่มหาคะแนนของตนด้วยการเรียกร้องให้มีการพัฒนาความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านที่อยู่ติดกันตามนโยบาย “เพื่อนบ้านมาก่อน” (neighboruhood first)

อดีตนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน นาวาส ชารีฟ (Navas Sharef) เป็นหนึ่งในผู้นำเอเชียใต้ที่เข้าร่วมอยู่ในงานพิธีสาบานตนของโมดี

อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์กับปากีสถานต้องลงเหวไปอย่างรวดเร็วหลังจากโมดีขึ้นมาเป็นผู้นำของอินเดีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกการประชุมในระดับปลัดกระทรวงการต่างประเทศในปี 2014 มีผลให้เกิดความร้าวฉานทางการทูตระหว่างสองประเทศ

เนปาลโกรธการปิดล้อมของอินเดียที่นำมาใช้ในปี 2015 ภูฏานก็ถูกรบกวนภายใต้ความเย็นชาที่ยาวนานระหว่างกองทัพของอินเดียและจีนตามชายแดนของสองฝ่าย

บังกลาเทศรู้สึกไม่สบายใจกับความไม่สามารถของรัฐบาลโมดีที่ไม่ทำตามข้อตกลงว่าด้วยการใช้น้ำแห่งตีสตา (Teesta) รัฐบาลมัลดีฟส์ แม้จะอยู่ติดกับอินเดียแต่มีความใกล้ชิดกับซาอุดีอาระเบียมากกว่า

 

ในเวลาเดียวกันจีนได้ใช้เงินจำนวนมหาศาลในการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือทุกประเทศในเอเชียใต้ ซึ่งดูขนาดทางเศรษฐกิจของจีนแล้วอินเดียยังอยู่อีกไกลพอควร

รัฐบาลอินเดียเองไม่พอใจเมื่อบริษัทจีนได้สัญญาก่อสร้างถนนท่าเรือและโครงการสาธารณูปโภคในเอเชียใต้

การประท้วงมีเสียงดังขึ้นเมื่อเรือของนาวิกโยธินและเรือดำน้ำของจีนได้เข้ามาที่ท่าเรือของเอเชียใต้เป็นช่วงๆ ภายใต้สิ่งที่เรียกกันว่าลัทธิโมดี เรือของนาวิกโยธินสหรัฐได้รับการต้อนรับอย่างเต็มที่จากท่าเรือของเอเชียใต้

อินเดียเองเป็นสมาชิกของกลุ่มประเทศที่มีประชากรจำนวนมากและกำลังเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องที่เรียกกันว่า BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดียจีนและแอฟริกาใต้ โดยในบางครั้งจะรวมประเทศที่มีน้ำมันจำนวนมากของตะวันออกกลางเข้าไปด้วย) ในจำนวนนี้พบว่าจีนและรัสเซียมีบทบาทสำคัญที่สุด

อินเดีย จีนและรัสเซียได้รับการคาดหมายว่าจะร่วมมือกันในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่มีความสำคัญได้เป็นอย่างดี แต่แทนที่จะเป็นเช่นนั้น ดูเหมือนว่าอินเดียต้องการจะอยู่กับมหาอำนาจที่กำลังอ่อนแรงลงอย่างสหรัฐ เนื่องจากสหรัฐได้แสดงพลังอย่างกว้างของตนออกมาเป็นพันๆ ไมล์ในทวีปเอเชีย

ประธานาธิบดีของจีนใช้ความพยายามติดต่อกันมาถึงสามปี เพื่อให้อินเดียมีทัศนคติแห่งการร่วมมือมากขึ้นและกระตุ้นให้เกิดความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนโมดีจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโครงการ One Belt One Road ของประธานาธิบดี สี จิ้น ผิ” สักเท่าไหร่นัก

ในการประชุมว่าด้วย One Belt One Road ในกรุงปักกิ่งเมื่อเดือนพฤษภาคม (2016) อินเดียเป็นประเทศสำคัญเพียงประเทศเดียวที่ไม่ได้เข้าร่วม สหรัฐและญี่ปุ่นก็ส่งตัวแทนเข้าร่วมเช่นกัน การเข้าร่วมประชุมว่าด้วย One Belt One Read จะช่วยอินเดียให้ได้รับพลังงานจากเอเชียกลางราคาถูกลงโดยพลังงานดังกล่าวจะผ่านมาทางท่าเรือบันดาร์ อับบาส (Bandar Abbas) และชาบาฮาร์ (Chabahar)

ทั้งนี้ สองท่าเรือดังกล่าวอยู่ในอิหร่านและท่าเรือกวาดาร์ (Gwadar) ของปากีสถาน

 

สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนในเวลานี้คือความไม่สบายใจในความสัมพันธ์กับอินเดียของรัสเซีย ซึ่งเป็นมิตรกับอินเดียในทุกฤดูกาล ความใกล้ชิดทางทหารของอินเดียกับสหรัฐ รวมทั้งอัตราการขายอาวุธของรัสเซียที่ตกต่ำลงทำให้รัสเซียมีความระมัดระวังมากขึ้น

รัสเซียและจีนในเวลานี้มีความใกล้ชิดทางทหารและทางยุทธศาสตร์มากกว่าเดิมและมีศัตรูในเวทีโลกอย่างสหรัฐร่วมกัน “ความสัมพันธ์พิเศษ” กับรัสเซียซึ่งทำให้อินเดียยืนหยัดอยู่ได้ระหว่างช่วงเวลาของสงครามเย็นนั้นได้กลายเป็นอดีตไปแล้ว

การสนับสนุนของสหภาพโซเวียตมีความสำคัญในประเด็นของแคว้นแคชมีร (Kasmir) ในช่วงสงครามเย็นเมื่ออินเดียมีผู้สนับสนุนในเรื่องนี้อยู่เพียงไม่กี่ประเทศ

อันเนื่องมาจากสัญญาป้องกันประเทศระหว่างอินเดียและโซเวียต (Indo-Soviet defence Treaty) ในระหว่างสงครามบังกลาเทศ (Bangladesh War) ทำให้สหรัฐและมหาอำนาจอื่นๆ ที่ยืนอยู่ข้างปากีสถานไม่เข้ามาก้าวก่าย

ทุกวันนี้อินเดียกับรัสเซียมีทรรศนะที่แตกต่างกันในหลายเรื่อง รวมทั้งนโยบายที่มีต่ออัฟกานิสถานและปากีสถาน

การเป็นสมาชิกถาวร
ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ

หนึ่งในเป้าหมายของรัฐบาลอินเดียก็คือการได้เข้าไปเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ (U.N.Security Council)

ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียเคยประสบความสำเร็จในการลอบบี้ให้มีการเยือนอินเดียของหัวหน้ารัฐต่างๆ มาแล้วเพื่อให้อินเดียได้มีโอกาสเป็นสมาชิกถวารของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม หากอินเดียมีโอกาสได้เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่มีการจัดโครงสร้างใหม่แล้ว อินเดียก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากประเทศที่กำลังพัฒนาด้วยในเวลาเดียวกัน โดย 120 ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศสำคัญของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

อย่างไรก็ตาม สมาชิกกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดมีความกังวลที่จะสนับสนุนอินเดียที่เปลี่ยนไป ซึ่งเหนืออื่นใดประเทศเหล่านี้ก็เป็นประเทศที่เลือกจะอยู่กับตะวันตกในประเด็นสำคัญๆ

การที่นายกรัฐมนตรีอินเดียไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดที่เวเนซุเอลาในปี 2015 ได้รับการจับตาอยู่ ทั้งนี้ โมดีไม่สนใจที่จะส่งรัฐมนตรีต่างประเทศอย่าง ชุสมา สวาราจ (Shusma Swaraij) ไปประชุม

ชุสมา สวาราช อยู่นิวยอร์กเพื่อเข้าประชุมสมัชชาใหญ่ในสหรัฐในช่วงเวลาใกล้กับการประชุมกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด

ในช่วงการประชุมกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในครั้งนี้พบว่าผู้นำอย่างแอฟริกาใต้และผู้นำคนสำคัญที่เป็นสมาชิกของกลุ่มได้เข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน

หากอินเดียไม่ได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกของกลุ่มไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดอินเดียก็มีโอกาสน้อยมากที่จะเข้าไปเป็นคณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติ

จากปฏิบัติการในขอบเขตของนโยบายต่างประเทศ โมดีได้แสดงให้เห็นว่าเขาต้องการจะเอาตัวเองและรัฐบาลของเขาให้ออกมาจากมรดกแห่งแนวทางของเนห์รู (Nehruvian lagay)

โมดีและรัฐมนตรีของเขาถึงกับมีความกระอักกระอ่วนใจที่จะเอ่ยชื่อของเนห์รูขึ้นมาในช่วงครบรอบปีที่มีการกล่าวถึงจุดหมายแห่งนโยบายต่างประเทศที่มีความสำคัญ