7 ต่อ 1.38 ล้านเสียง ‘กกต.’ หรือจะกล้าฝืน กระแสหนุน ‘ชัชชาติ’ ‘ทำงาน-ทำงาน-ทำงาน’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

7 ต่อ 1.38 ล้านเสียง

‘กกต.’ หรือจะกล้าฝืน

กระแสหนุน ‘ชัชชาติ’

‘ทำงาน-ทำงาน-ทำงาน’

ผ่านมาครบ 8 วันแล้ว คนกรุงเทพฯ ก็ได้ผู้ว่าราชการชื่อ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” หลังมีการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยการเลือกตั้งครั้งนี้ ชัชชาติ ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ คะแนนเลือกตั้งชนะถล่มทลาย เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. กวาดคะแนนได้มากถึง 1,386,215 คะแนน

สะท้อนชัดเจนว่าชัชชาติได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงมากที่สุด นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มา

1.38 ล้านคะแนน ที่ชัชชาติได้มา ยังทำลายสถิติของ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ที่ชนะด้วยคะแนนเสียง 1.25 ล้านคะแนน ในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2556 สะท้อนถึงความอัดอั้นในหัวใจคนกรุงที่อยากเลือกผู้ว่าฯ ในแบบที่อยากได้อย่างชัดเจน

น่าสังเกตว่าแม้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. จะยังไม่ได้รับรองผลอย่างป็นทางการ แต่ชัชชาติก็เดินหน้า “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตามสโลแกนที่ถูกสกรีนอยู่บนเสื้อยืดที่สวมใส่ลงพื้นที่อยู่เป็นประจำ

เริ่มต้นวันแรกด้วยการลงพื้นที่พร้อม “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ บริเวณคลองลาดพร้าว เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมให้กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้ ชัชชาติยังบอกอีกว่าหลังจากรับตำแหน่งเต็มตัว จะลงพื้นที่ทุกวันอาทิตย์ เพื่อติดตามและสำรวจปัญหาเป็นรายเขต โดยจะไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่ล่วงหน้า เพราะอยากเห็นปัญหาจริงๆ และไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ทำป้ายหรือเกณฑ์คนมาต้อนรับอย่างเอิกเกริก ให้มาเฉพาะคนที่เกี่ยวข้อง ไม่อยากรบกวนเวลาทำงานของเจ้าหน้าที่คนอื่น

ยิ่งทำให้สังคมขานรับและชื่นชมทัศนคติ กระบวนการทำงานของ “ชัชชาติ” มากขึ้นกว่าเดิม

ถึงขั้นมีประชาชนบางคนออกมาตะโกนบอกไม่อยากให้เป็นผู้ว่าฯ แต่อยากให้เป็นนายกรัฐมนตรีเลยทีเดียว

 

แต่ทว่ายังไม่ทันที่ชัชชาติจะขึ้นมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คนที่ 17 แบบเต็มตัว ก็ต้องเจอกับดราม่ามากมายต้อนรับ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายตรงข้ามที่เตรียมตรวจสอบการทำงาน มาจนถึงการร้องเรียนจากนักร้อง (เรียน) แห่งชาติ อย่าง “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ที่ยกเรื่องป้ายหาเสียงของชัชชาติที่สามารถนำไปทำเป็นกระเป๋ารีไซเคิลได้ เข้าข่ายจูงใจให้ลงคะแนนให้เจ้าของป้าย

ซึ่งเรื่องนี้นายศรีสุวรรณได้ยื่นคำร้องถึง กกต. ขอให้ไต่สวนไปตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม โดยให้ความเห็นว่า การจัดทำแผ่นป้ายหาเสียงในลักษณะดังกล่าว อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

นอกจากนี้ยังพบเรื่องร้องเรียนเพิ่มอีกประเด็น ซึ่งเป็นการแจ้งผ่านหน่วยงานอื่นไม่ใช่ กกต.โดยตรง อ้างว่านายชัชชาติพูดทำนองว่า ระบบราชการอาจจะส่งผลต่ออุปสรรคการปฏิบัติงาน เพราะมีขั้นตอนเยอะ โดยผู้ร้องอ้างว่าการระบุเช่นนี้เหมือนเป็นการดูถูกระบบราชการไทย

ทั้ง 2 ประเด็นถูก กกต.นำไปเป็นข้อพิจารณาว่าจะเข้าข่ายทำผิดกฎเลือกตั้งหรือไม่ ท่ามกลางประชาชนจำนวนมากที่รอแสดงความยินดีกับผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างเป็นทางการ แต่ทว่าทาง กกต.กลับยังไม่พิจารณารับรองผลเลือกตั้งให้กับชัชชาติ แต่กลับรับรองผล ส.ก. ทั้ง 40 จากทั้งหมด 50 คนเป็นที่เรียบร้อย

ทำให้มีการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้กันอื้ออึง อาทิ

“ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ” แสดงความคิดเห็นผ่านบัญชีทวิตเตอร์ ระบุว่า “ปัญหาซีเรียสคือ องค์กรอย่าง กกต.และศาล รธน. กลายสภาพเป็น ‘อำนาจที่ 4’ (นอกเหนือจากนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) = คน 7-9 คนสามารถล้มล้างเสียงและเจตนารมณ์ของ ปชช.เป็นล้าน ผ่านการยุบพรรค ตัดสิทธิคนที่ ปชช.เลือก ด้วยหลักเหตุผลพิสดาร โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อใครและ ปชช.ก็กำกับควบคุมไม่ได้ #กกต.”

รวมถึง “รศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี” ทวีตข้อความระบุ “การให้ กกต. มีเวลารับรองผลเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 60 วัน เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.+ส.ก. 30 วัน เป็นเรื่องไม่จำเป็น หากไม่พบว่านับคะแนนผิดรวมคะแนนพลาด ก็ควรประกาศรับรองทันที ส่วนการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนสามารถทำภายหลังได้ ปชช.ลุ้นผลเลือกตั้งแล้ว ยังต้องลุ้นว่า กกต.จะใช้อำนาจเที่ยงธรรมหรือไม่”

ไม่เพียงแค่นักวิชาการที่รู้สึกรับไม่ได้กับการเตะถ่วงการรับรองผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ประชาชนเจ้าของ 1.38 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้กับชัชชาติต่างก็รู้สึกคับแค้น ที่เสียงของพวกเขาถูกละเลย เป็นเหตุให้มีประชาชนบางกลุ่มโทรศัพท์เข้าไปเบอร์สายด่วน กกต. หมายเลข 1444 เพื่อสอบถามการรับรองผลการเลือกตั้งของชัชชาติอย่างเป็นทางการ บ้างก็วิจารณ์การทำหน้าที่ของ กกต. รับเงินเดือนจากภาษีประชาชน แต่กลับไม่เห็นหัวประชาชน

ร้อนถึงขั้นสายด่วน 1444 สายแทบไหม้ เนื่องจากสังคมมองว่า กกต.ดึงเวลาการรับรองผลโดยไม่ฟังเสียงประชาชน

 

ด้าน “ชัชชาติ” เมื่อทราบถึงเรื่องนี้ ก็เปิดใจกับสื่อมวลชนที่เฝ้าติดตามการลงพื้นที่ ระบุมองว่าเป็นเรื่องดี จะได้มีเวลาลงพื้นที่ต่อไป คนร้องเรียนก็มีหน้าที่ร้องเรียน ส่วนคนตัดสินก็มีหน้าที่ตัดสิน ตอนนี้ยังเป็นว่าที่ผู้ว่าฯ ก็ลงพื้นที่หาข้อมูลไปเรื่อยๆ เรื่องการร้องเรียนได้มีการชี้แจงไปหมดแล้ว ขึ้นอยู่กับทาง กกต.จะพิจารณาอย่างไร

“กกต. เราก็ให้เกียรติท่าน ผมเชื่อว่าท่านมีวิจารญาณ มีความคิด ก็เป็นไปตามกฎระเบียบ สบายๆ ไม่ได้กดดันอะไร”

และเมื่อถามว่า กังวลเรื่องการรับรองเกิน 30 วันตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า “คนที่ต้องกังวลคือ กกต. ซึ่งมีกฎระเบียบอยู่ ผมไม่ใช่คนที่ต้องกังวล”

ความไม่พอใจของประชาชนยังทำให้เกิดการลงชื่อผ่านเว็บไซต์ Change.org เชิญชวนลงชื่อถอดถอน “นายศรีสุวรรณ จรรยา” ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการกระทำของนายศรีสุวรรณที่ไปร้องเรียนในเรื่องที่ไม่ควรจะร้อง

โดยประชาชนมองว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นการขัดขวางความเจริญก้าวหน้าต่อบ้านเมือง และสร้างความแตกแยกในสังคมไทย มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนกว่า 1 แสนคนอย่างรวดเร็ว

เรื่องนี้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊ก Wiroj Lakkhanaadisorn – วิโรจน์ ลักขณาอดิศร กรณี กกต.ยังไม่ยอมรับรอง “ชัชชาติ” ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. โดยใจความช่วงหนึ่งระบุว่า

“นี่คือเวลาที่เหมาะสมที่สุด ที่นับจากนี้ประชาชนทุกคนจะร่วมกันตรวจสอบการทำงานของ กกต.ชุดนี้ และหากพบหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการใช้ช่องว่างทางกฎหมายหยุมหยิม ในการดำเนินการใดๆ ที่ไม่เป็นธรรม หรือขัดต่อเจตจำนงที่มาจากประชาชน ก็จำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรม ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เพื่อดำเนินการกับ กกต.ชุดนี้”

“สิ่งที่สำคัญที่สุดในตอนนี้คือ การเฝ้าระวังปกป้องผลการเลือกตั้ง ที่เป็นเจตจำนงของประชาชน เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีอำนาจบาตรใหญ่นอกระบบ หรืออำนาจที่มาจากผู้มีอำนาจกลุ่มใด เข้ามาแทรกแซง บิดเบือนมติจากประชาชน”

 

ก่อนที่ไฟจากความโกรธของประชาชนจะลุกโชนไปมากกว่านี้ ช่วงบ่ายของวันที่ 31 พฤษภาคม มีรายงานข่าวว่า ที่ประชุม กกต. ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาผลคะแนนการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ต่อเนื่องเป็นวันที่สอง มีมติรับรอง “นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้สมัครหมายเลข 8 ในนามอิสระ ซึ่งได้รับคะแนนสูงสุดเป็นอันดับ 1 ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน เป็นที่เรียบร้อย หลังคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ชาว กทม.ไม่รอช้ารีบโพสต์แสดงความยินดีถึงผู้ว่าฯ คนใหม่อย่างพร้อมเพรียง

ฟาก “ศรีสุวรรณ” เมื่อทราบผลการรับรองของ กกต.ก็ได้กล่าวแสดงความยินดีถึงชัชชาติ พร้อมบอกจะยังคงเดินหน้าตรวจสอบ 200 นโยบายของชัชชาติต่อไป ด้าน “ชัชชาติ” ก็ได้กล่าวคำขอบคุณส่งถึงทุกฝ่าย พร้อมบอก “ยิ่งตรวจสอบ ยิ่งมีความชอบธรรม ยิ่งสง่างาม”

ท้ายที่สุดการขัดขวาง เตะถ่วง ดึงเวลา การขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.ของชัชชาติก็ไร้ผล เสียงประชาชน 1.38 ล้านคน ยังคงดังและมีพลัง พร้อมช่วยกันหนุนให้ชัชชาติขึ้นมาทำหน้าที่ผู้ว่าฯ ขณะเดียวกันความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในระยะ 1 สัปดาห์หลังผ่านการเลือกตั้ง คือหลายเขตใน กทม.ต่างขยับเตรียมรับการตรวจเยี่ยมจากผู้ว่าฯ ที่ชื่อ “ชัชชาติ” อย่างแข็งขัน

และหนึ่งล้านสามแสนเสียงคือตัวสะท้อนชัดว่าคนกรุงคาดหวังคุณภาพชีวิตดีๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้การบริหารงานของ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้มาจากเสียงของประชาชนอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ หลังจาก กกต.รับรอง เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 1 มิถุนายน นายชัชชาติ ได้ไปรับใบรับรองจาก กกต.

และในช่วงบ่ายก็เดินทางไปยังศาลาว่าการ กทม. และเปิดตัวทีมงาน โดยเป็นรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 4 ราย ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล, นายจักกพันธุ์ ผิวงาม, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ทวิดา กมลเวชช และนายศานนท์ หวังสร้างบุญ

นอกจากนี้ยังแต่งตั้งคณะที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล เป็นประธานที่ปรึกษา, ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์, พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก, พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์, พล.ต.อ.อดิศร์ งามจิตสุขศรี, ดร.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ, นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี, นายภาณุมาศ สุขอัมพร และนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์

โดยนายภิมุข สิมะโรจน์ เป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งให้นายเอกวรัญญู อัมระปาล เป็นโฆษกกรุงเทพมหานคร

โชว์ความพร้อมที่จะ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” ตามคำมั่นสัญญา ที่ให้ไว้กับประชาชน